ภาคประชาชนออกแถลงการณ์ 'คืนความเป็นธรรม หยุดแทรกแซงผู้พิพากษา สร้างหลักประกันความเป็นอิสระของตุลาการ'

8 มี.ค. 2563 ภาคประชาชน 12 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ 'คืนความเป็นธรรม หยุดแทรกแซงผู้พิพากษา สร้างหลักประกันความเป็นอิสระของตุลาการ' ระบุว่าจากกรณีการเสียชีวิตของนายคณากร เพียรชนะ โดยนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้แถลงว่าได้รับรายงานว่า นายคณากร เพียรชนะ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ ศาลจังหวัดยะลา ได้ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองเข้าที่บริเวณหัวใจ เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2563 และได้เสียชีวิตลงในเวลา 10.45 น. ที่โรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่ องค์กรที่ลงชื่อข้างท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ ขอแสดงความไว้อาลัยและความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ และขอเรียกร้องให้สำนักงานศาลยุติธรรมจัดให้มีการเยียวยาและดูแลครอบครัวอันเป็นที่รักของผู้พิพากษาท่านนี้อย่างเต็มกำลังและเหมาะสมตามฐานานุรูปของท่าน

ผู้พิพากษาท่านนี้เคยพยายามฆ่าตัวตายมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยใช้อาวุธปืนยิงที่หน้าอกของตนเอง ในห้องพิจารณาของศาลจังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2562 เพื่อเรียกร้องให้ยุติระบบของศาลยุติธรรมที่ให้ “ผู้บริหาร” ศาลยุติธรรมสามารถใช้อำนาจเข้าแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีของตุลาการในองค์คณะได้ แต่ในครั้งนั้นแพทย์ได้ช่วยชีวิตผู้พิพากษาไว้ได้ หลังจากนั้นผู้พิพากษาท่านนี้ได้ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนและถูกย้ายไปช่วยราชการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ แต่คำถามและข้อกังขาของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ในเรื่องการแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีขององค์คณะโดยผู้บริหารของศาลยังไม่มีคำตอบ แต่กลับมีการสอบสวนและตั้งข้อหาในคดีอาญาต่อผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ทำให้เห็นว่ากลไกการร้องเรียนเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมของระบบตุลาการบกพร่องไปอย่างมาก ไม่มีข้อมูลว่าผู้พิพากษาระดับอธิบดีภาค  ที่เป็นผู้บริหารศาลที่ถูกพาดพิงว่าแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีองค์คณะของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ถูกตั้งกรรมการสอบสวนด้วยหรือไม่ และเหตุใดจึงมีการตั้งข้อหาในคดีอาญาต่อผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ดังปรากฎเป็นข้อความหนึ่งในจดหมายลาที่เผยแพร่ในเฟสบุ๊กของผู้พิพากษาท่านนี้เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2563 ว่า “ผมถูกศาลยุติธรรมตั้งกรรมการสอบสวน และยังถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา เป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา”

ตามหลักนิติธรรม และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อที่ 14 และภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้รับรองความเป็นอิสระของศาลในมาตรา 188 วรรคแรก การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอํานาจของศาล ซึ่งต้องดําเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ และวรรคสอง ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง แต่ระเบียบว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกาและการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ. 2562 กำหนดให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจตรวจสำนวนคดีหลายประเภทของผู้พิพากษา รวมถึงอำนาจในการตรวจร่างคำพิพากษาหรือคำสั่ง

เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 2560 กับรัฐธรรมนูญ 2540 พบว่ารัฐธรรมนูญ 2540 มีบทบัญญัติรับรองและประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาที่กำหนดรายละเอียดเพื่อคุ้มครองความเป็นอิสระของผู้พิพากษา รวมทั้ง บทบัญญัติ มาตรา 236 ที่ว่าการนั่งพิจารณาคดีของศาลต้องมีผู้พิพากษาหรือตุลาการครบองค์คณะ และผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งมิได้นั่งพิจารณาคดีใด จะทำคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยคดีนั้นมิได้ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ  มาตรา 249 วรรคสอง การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาและตุลาการไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น มาตรา 249 วรรคสาม การจ่ายสำนวนคดีให้ผู้พิพากษาและตุลาการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ และมาตรา 249 วรรคสี่ การเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดี จะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี เป็นต้น

แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และ 2560 ที่ถูกนำมาใช้แทนก็ยังคงไว้ซึ่งหลักการและเจตนาใน “ความเป็นอิสระของตุลาการ” รวมทั้งหลักการสี่ประการนี้จะเป็นหลักประกันไม่ให้ผู้พิพากษาที่เป็นระดับผู้บังคับบัญชา แต่ไม่ใช่องค์คณะในคดีหนึ่งหรือมิได้นั่งพิจารณาในคดีใด เข้ามาแทรกแซงการทำคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยได้ ยืนยันให้ผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ไม่ถูกเรียกคืนสำนวนหรือการโอนสำนวนคดี ไม่ให้ผู้บริหารของศาลมีอำนาจมอบหมายคดีหนึ่งให้กับผู้พิพากษาบางรายเป็นการเฉพาะ และให้การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาและตุลาการไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น ดังนั้นระเบียบว่าด้วยการรายงานคดีฯ ดังกล่าวข้างต้น น่าจะขัดแต่หลักความเป็นอิสระของศาลและตุลาการ การพิจารณาพิพากษาคดีขององค์คณะที่รับผิดชอบสำนวนคดี กระทำอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่การตรวจร่างคำสั่งหรือคำพิพากษาโดยผู้บริหารของศาลยุติธรรมซึ่งอาจมีผลทำให้องค์คณะที่พิจารณาพิพากษาต้องเปลี่ยนแปลงคำสั่งพิพากษา กระทำในลักษณะที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ จึงอาจง่ายที่จะถูกแอบแฝงโดยบุคคล หน่วยงาน หรือฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลเพื่อแทรกแซงหรือครอบงำตุลาการได้

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงที่กองทัพยึดอำนาจรัฐและจัดตั้งระบอบเผด็จการทหารขึ้นปกครองประเทศ มีเหตุการณ์ การดำเนินคดี และการพิจารณาพิพากษาคดีโดยกระบวนการยุติธรรมไทยถูกตั้งข้อสงสัยจากทั้งในประเทศและโดยนานาประเทศ ถึงความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง โปร่งใสและความสามารถของกระบวนการยุติธรรมไทยตลอดมา ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมลดน้อยถอยลงโดยลำดับ  ในคดีความมั่นคงและคดีที่เรียกกันในหมู่นักกฎหมายว่า “คดีนโยบาย” ก่อนที่องค์คณะจะผ่านคำพิพากษา จะต้องส่งร่างคำพิพากษาให้ผู้บริหารของศาลตรวจสอบเสียก่อนและสามารถที่จะขอหรือ “แนะนำ” ให้องค์คณะปรับเปลี่ยนคำพิพากษาได้ โดยที่ระบบของศาลยุติธรรมเป็นระบบ “แบบราชการ” (Bureaucracy)  “คำแนะนำ” ย่อมมีผลไม่แตกต่างจาก “คำสั่ง” ของผู้บังคับบัญชา  เมื่อ “คำแนะนำ” ของผู้บริหารของศาลยุติธรรม มีผลในการปรับเปลี่ยนคำพิพากษาขององค์คณะได้ ทำให้ผู้เสียหาย จำเลยและทนายความในคดีอาญาบางท่าน ได้ตั้งคำถามว่า รัฐบาล กองทัพซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร สามารถแทรกแซงฝ่ายตุลาการโดยผ่าน “ผู้บริหาร”ของศาลยุติธรรมได้หรือไม่ กรณีคำสั่งคดีการไต่สวนการตายในเหตุการณ์ตากใบ คดีความมั่นคงหลายคดี ทั้งในจังหวัดชายแดนใต้และในช่วงการครองอำนาจของรัฐบาลทหาร คสช. เป็นคำสั่งหรือคำพิพากษาที่สะกิด กระทั่งตอกย้ำความรู้สึกดังกล่าว

ดังนั้น ศาลยุติธรรม จึงควรพิจารณาทบทวนและยกเลิก ระเบียบ คำสั่ง การดำเนินการใดๆที่อาจมีผลเป็นการแทรกแซง ครอบงำ ความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีของตุลาการในองค์คณะผู้พิพากษาโดยเร็ว โดยยึดมั่นหลักการ “ความเป็นอิสระของตุลาการ” ตามหลักสิทธิมนุษยชน นิติธรรม และหลักการและเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเคร่งครัด นอกจากนี้ยังขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนบางสื่อ บางคน ได้โปรดเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของผู้ตายและครอบครัว ละเว้นการใช้ถ้อยคำดูหมิ่นเหยียดหยามและเสียดสีเยาะเย้ยผู้ตาย โดยโปรดยึดมั่นในจรรยาบรรณทางวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด

การทำอัตวินิบาตกรรมของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะในวันที่ 7 มี.ค. 2563 มิใช่สิ่งที่บุคคลทุกคนพึงปรารถนาที่จะเห็น แต่ข้อเรียกร้องของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ที่ให้ยกเลิกระบบการแทรกแซงความเป็นอิสระของตุลาการยังไม่สำเร็จ และนี่คือสิ่งที่ทุกคนปรารถนา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ฯพณฯ ประธานศาลฎีกาและคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) จะต้องปฏิรูประบบตุลาการโดยทันที เพื่อประกันความเป็นอิสระของตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดี ทั้งจากฝ่ายบริหารและจากบุคคลนอกองค์คณะ เรียกความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อศาลคืนมา และเพื่อให้ประชาชนแน่ใจว่าการละเมิดหรือละเลยหลักแห่งความยุติธรรม การปิดบังความไม่เป็นธรรมที่ยังดำรงอยู่อย่างซ่อนเร้นในสถาบันศาลยุติธรรม จะได้รับการแก้ไข เพื่อให้ศาลสามารถทำหน้าที่ตามหลักนิติธรรม เป็นสถาบันหลักของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน สามารถเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนคืนมา จนประชาชนสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากและภาคภูมิใจว่า ศาลจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนได้

ด้วยจิตคารวะ
8 มี.ค. 2563
กรุงเทพมหานคร

องค์กรที่ลงชื่อ:
1.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
2.มูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
3.ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 
4.มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
5.สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
6.สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)
7.เครือข่ายปฏิรูปตำรวจ (Police Watch)
8.เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP)
9.กลุ่มด้วยใจ (Duayjai Group)
10.สถาบันเพื่อการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม(สปยธ.)
11.เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) 
12.กลุ่มโรงน้ำชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท