Skip to main content
sharethis

นักศึกษาและประชาชนที่ 'มธ.-มช.' จัดไว้อาลัย 'คณากร' ผู้พิพากษาที่ยิงตัวตายประท้วงความอยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม

8 มี.ค.2563 จากกรณี คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ที่เคยก่อเหตุยิงตัวเองได้รับบาดเจ็บสาหัสในห้องพิจารณาคดี ที่ศาลจังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2562 หลังจากออกมาร้องเรียนและกล่าวหาบุคคลในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 9 ว่ามีพฤติกรรมแทรกแซงคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถูกนำส่งโรงพยาบาลเช้าวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากยิงตัวเองอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้เขาเสียชีวิต โดยที่ก่อนก่อเหตุดังกล่าว คณากร โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ค ถึงความอยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง โดยตนถูกศาลยุติธรรมตั้งกรรมการสอบสวน และยังถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา เป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาและเขาเชื่อว่าต้องถูกลงโทษออกจากราชการเป็นแน่ นั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ช่วงเย็น ที่ลานประติมากรรม 6 ตุลา (ข้างคณะนิติศาสตร์) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  มีการจัดงานรำลึกถึงคณากร โดยในงานมีการปราศรัย เชิญชวนบริจาคเงินเป็นทุนการศึกษาให้บุตรของคณากร และร่วมกันร้องเพลง แสดงออกทางสัญลักษณ์ โดยมีประชาชนมาร่วมงานราวหนึ่งร้อยกว่าคน

นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยรักษาชาติ มาร่วมงานรำลึกพร้อมนำภาพสเก็ตช์ของคณากรมาร่วมงาน เขากล่าวว่าการเสียชีวิตของคณากร สะท้อนถึงกระบวนการยุติธรรมที่สั่นคลอน นึกย้อนถึง สืบนาคะเสถียร ที่เสียสละชีวิตเพื่อให้คนตระหนักถึงเรื่องธรรมชาติและป่าไม้

คณากรเสียสละตนให้คนมองถึงระบบยุติธรรมว่ามีปัญหาอะไรที่ต้องได้รับการแก้ไข ตรวจสอบอย่างจริงจัง บุคลากรฝ่ายยุติธรรมเองก็ต้องลงจากหอคอยงาช้าง เพราะว่าพวกเขาก็กินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน ศาลก็คือมนุษย์ อย่าวางตัวเป็นเทวดาแลถต้องยอมรับการตรวจสอบ

ตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย มหิดล ศาลายา กล่าวปราศรัยว่า คณากรไม่ได้เป็นเพียงผู้พิพากษา แต่ยังเป็นพลเมืองดี เคารพกฎหมายบ้านเมืองและเชื่อในความยุติธรรม การเสียชีวิตของเขาที่จุดให้คนตระหนักถึงปัญหาในกระบวนการยุติธรรมนั้นถือเป็นเกียรติสูงสุด แสดงให้เห็นว่าประเทศนี้ไม่เหลือความยุติธรรมเลย จะยังเหลืออะไรในประเทศนี้บ้างที่พอจะพูดได้ในทางที่ดี สิ่งที่คณากรบอกเราเมื่อวานก็คือ มันไม่มีอะไรอีกแล้ว ท่านเหมือนไฟที่ลุกโชนขึ้นวินาทีหนึ่ง ที่จุดเทียนให้คนในประเทศนี้เห็นแสงสว่างต่อไป ให้เห็นว่าเราสู้เพื่ออะไร ก็คือเพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนที่อยุ่ใต้ระบอบอยุติธรรมเช่นนี้ เพื่อทวงคืนความยุติธรรมของประเทศนี้

สหรัฐ จันทสุวรรณ ศิลปากรวังท่าพระ หนึ่งในผู้ปราศรัยกล่าวว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงอำนาจที่ไร้ความชองธรรมได้อย่างประจักษ์แจ่มแจ้ง ชัดเจน ขอแสดงความอาลัยสุดซึ้งแก่คณากร ผู้เสียสละชีวิตเพื่อคงไว้เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจตุลาการ หนึ่งใน 3 อำนาจหลักที่ประชาชนเป็นเจ้าของ

สหรัฐ ชี้ว่า เราเห็นถึงความอยุติธรรม อำนาจที่กดขี่ข่มเหงประชาชน เห็นถึงการที่ผู้ใช้อำนาจผู้ไร้ซึ่งมนุษยธรรม ทำการแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ของบางคน โดยต้องแลกกับหนึ่งชีวิตที่สามารถสร้างประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนมากมายมหาศาล อยากจะเปรียบความถูกต้องให้เป็นเสมือนทองคำ แม้ถูกไฟเผาแรงแค่ไหน ถูกตี ตะบันให้ยีย่ำสักเท่าใด ทองคำก็คือทองคำอยู่วันยังค่ำ คณากรก็จะเป็นเช่นทองคำ อำนาจที่เหยียบย่ำผู้บริสุทธิ์อย่างไร้มนุษยธรรม จะต้องแพ้อำนาจความชอบธรรมจากประชาชนในที่สุด

อารีฟีน โซ๊ะ นักกิจกรรมจากปัตตานี กล่าวว่า พื้นที่สาม จ. ชายแดนใต้อยุ่ภายใต้อำนาจกระบอกปืน ท็อบบู๊ตมา 16 ปี คณากรเองก็เคยทำงานใน จ.ยะลา หนึ่งในพื้นที่ที่เกิดเหตุการความมั่นคง

วันที่ 7 มี.ค. จะถูกจารึกไว้เหมือนที่ สมชาย นีละไพจิตร ทนายความที่ไม่ต้องการให้อำนาจทหารเหนือไปกว่าอำนาจยุติธรรมปกติ ผู้หายตัวไปในวันที่ 12 มี.ค. 2547

อารีฟีน เล่าว่า ตนมาจากพื้นที่ทดลองความมั่นคง ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้มาตรการความมั่นคงกับพลเมืองตัวเอง เจอการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด จับแพะ ตรวจดีเอ็นเอโดยจำยอม เหวี่ยงแหจับกุม ข่มขู่คุกคามและปฏิบัติการไอโอ สิ่งเหล่านี้หล่อเลี้ยงความรุนแรงมาตลอด 16 ปี

สิ่งที่คณากรพบเป็นเพียงยอดขภูเขาน้ำแข็ง เราจะขุดทำลายภูเขานี้อย่างไร เาต้องร่วมกันทำลายและสร้างอนาคตที่ดี วันนี้พื้นที่ทดลองความมั่นคงได้ขยายไปทั่วประเทศ ทหารมีอำนาจนำในทุกพื้นที่แล้ว ขอไว้อาลัยให้คุณคณากร สดุดีผู้กล้าที่เสียสละเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ถึงผู้ที่ตายแล้ว ผู้ที่ตายทั้งเป็น จากนี้เราจะต่อสู้ไปด้วยกันเพื่ออนาคตที่ดีกว่า

ผู้ปราศรัยคนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า คุกไทยถูกกล่าวขานไว้ว่ามีไว้ขังคนจน เพราะความยุติธรรมอยู่สุดเอื้อมมือคนจน การขึ้นศาล จ้างทนาย ดำเนินคดีใดๆ หมายความว่าคนจนต้องหยุดงาน มีค่าใช้จ่าย ในขณะที่เจ้าสัวถูกอุ้มไว้ด้วยกฎหมายที่เหมือนอำนาจศักสิทธิ์ อารักขาไว้ในผืนป่าที่แทบไร้รอยต่อ

การรัฐประหารครั้งแล้วเล่า กระตุกไม่ให้เราลุกขึ้นยืน กลืนฝัน อนาคตและชีวิต สิ่งนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย ไม่ใช่ความยุติธรรม การปิดปาก ปิดตา หู และแม้กระทั่งความคิดของประชาชนไม่ให้เลือกเส้นทางเดินตัวเอง ไม่ให้มีผู้แทนที่รับฟังเสียงของเราคือระบอบเผด็จการ ขอให้ทุกท่านจำไว้ว่าเขาชื่อคณากร เพียรชนะ ทุกคำสบประมาทอำนาจประชาชน จะไม่ชนะเหนือประชาชนได้ กาฝากประชาธิปไตยคงใกล้สิ้นเผ่าพงษา ทุกชีวิตวีรชนจะเป็นตำนาน แม่ไม่มีอนุสาวรีย์ แต่เรื่องเล่าจะเล่ากันปากต่อปากชั่วนิรันดร์

เมื่อปราศรัยเสร็จสิ้น ผู้ชุมนุมเปิดแฟลชโทรศัพท์ ร่วมร้องเพลง 'เพื่อมวลชน' และ Do you hear the people sing? จากนั้นจึงแยกย้ายกัน

มช.จัดไว้อาลัย

ขณะที่ลานคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วงเย็นที่ผ่านมา ก็มีการจัดกิจกรรมร่วมไว้อาลัยแด่ผู้พิพากษา คณากร #กับความยุติธรรมที่หายไป มีผู้เข้าร่วมจุดเทียนวางดอกไม้ไว้อาลัย

เพจ ชมรมประชาธิปไตย สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำข้อความบางส่วนของ คณากร ที่โพสต์ไว้ก่อนเสียชีวิตมาเผยแพร่ต่อว่า “ในอดีตเราใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ถูกร่างขึ้นโดย สสร. ประชาชนและนักวิชาการทั้งหลายต่างยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่ประเทศเราเตยมีมา ท่านคงสงสัยว่าขณะใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าวทำไมจึงไม่ให้มีการตรวจร่างคำพิพากษาในศาลชั้นต้น เพราะอะไร หรือ สสร. รู้ว่า การตรวจร่างคำพิพากษาในศาลชั้นต้นอาจเปิดโอกาสให้มีการแทรกแซงผลคำพิพากษาโดยอธิบดีผู้พิพากษาภาค”(คณากร เพียรชนะ, 2020)

บรรยากาศงานบำเพ็ญกุศล

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก วัดสันทรายมูล อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ โดยช่วงค่ำวันนี้มีการแสดงพระธรรมเทศนาและพระอภิธรรม ผู้พิพากษา คณากร โดย ตามกำหนดการจะมีพิธีประชุมเพลิงในวันที่ 11 มี.ค.นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net