Skip to main content
sharethis

ผู้หญิงทั่วเอเชีย-แปซิฟิกกว่า 20 ประเทศร่วมการสไตรค์ของผู้หญิงทั่วโลก ภายใต้คำขวัญ "เมื่อผู้หญิงหยุด โลกก็หยุดด้วย" เรียกร้องการทำงานที่มีคุณค่า การเข้าถึงทรัพยากร อธิปไตยด้านอาหาร และยุติความรุนแรงเนื่องจากเหตุทางเพศสภาพ โดยการณรงค์เกิดขึ้นทั้งที่ฮ่องกง เชียงใหม่ มะนิลา กาฐมาณฑุ นิวเดลี ฯลฯ

การชุมนุมเนื่องในวันสตรีสากลที่เชียงใหม่ (ที่มา: APWLD)

การชุมนุมและการสไตรค์ของผู้หญิงทั่วโลกในวันสตรีสากลปี 2020 ที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ (ที่มา: APWLD/AMIHAN) 

สมาคมผู้หญิง กฎหมาย และการพัฒนาแห่งเอเซียแปซิฟิก (Asia Pacific Forum on Women, Law and Development – APWLD) เปิดเผยว่าเนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม ผู้หญิงทั่วเอเชีย-แปซิฟิกกว่า 20 ประเทศร่วมการสไตรค์ของผู้หญิงทั่วโลก ภายใต้คำขวัญ "เมื่อผู้หญิงหยุด โลกก็หยุดด้วย" เพื่อต่อสู้กับระบบที่ไม่ยุติธรรมและความรุนแรงที่พวกเขาเผชิญอยู่

โดยการรณรงค์นี้เกิดขึ้นทั้งในฮ่องกง เชียงใหม่ มะนิลา กาฐมาณฑุ นิวเดลี ฯลฯ ทั้งนี้ผู้จัดระบุว่ามีผู้ร่วมรณรงค์มากถึง 2 แสนคนทั่วภูมิภาค และมีการออกแถลงการณ์เผยแพร่มีรายละเอียดดังนี้

 

การสไตรค์ของผู้หญิงทั่วโลกวันที่ 8 มีนาคม 2563

วันสตรีสากลที่เนปาล (ที่มา: NAWHRD)

กิจกรรมการสไตรค์ของผู้หญิงที่ฟิจิ (ที่มา: APWLD/FWRM)

พวกเราซึ่งเป็นองค์กรและเครือข่ายที่ทำงานเรื่องสิทธิผู้หญิง เรียกร้องให้มีการนัดหยุดงานของผู้หญิงทั่วโลกในวันที่ 8 มีนาคม 2563 เราขอเชิญชวนทุกคนที่สนับสนุนสิทธิเท่าเทียมของผู้หญิงและข้อเรียกร้องของพวกเราให้ร่วมกันหยุดทำงานด้วยในวันนั้น เพื่อรำลึกถึงที่มาและต้นกำเนิดของวันสตรีสากลที่นำโดยกรรมกรหญิงที่นัดหยุดงานในประวัติศาสตร์ และเพื่อพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า เมื่อผู้หญิงหยุด โลกก็หยุดด้วย

เหตุใดจึงต้องทำเช่นนี้?

เพราะรัฐบาลของพวกเราที่สัญญาว่าจะนำมาซึ่งความเท่าเทียม การพัฒนาและสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและประชาชน ล้มเหลวในการผลักดันเรื่องดังกล่าว หากแต่ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยกลับขยายตัวมากขึ้น ความไม่เท่าเทียมในหลายประเด็นเพิ่มมากขึ้น [1] แม้ว่าผู้หญิงจะเป็นผู้สร้างความมั่งคั่งส่วนใหญ่ แต่ผู้หญิงกลับได้รับส่วนแบ่งเพียงเล็กน้อย พวกเราอาศัยอยู่ในระเบียบเศรษฐกิจที่เอาเปรียบผู้หญิง แสวงหาประโยชน์จากผู้หญิงที่ต้องทำงานเพื่อดูแลคนอื่นโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน หรือได้รับค่าตอบแทนน้อย หรือได้รับค่าตอบแทนต่ำจากงานแบบอื่น รวมทั้งงานที่เสี่ยงอันตราย

เพราะว่าความโลภของบริษัทพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ทำลายสิ่งแวดล้อม และผู้หญิงกลายเป็นคนแบกรับผลกระทบส่วนใหญ่จากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศเนื่องจากเสี่ยงด้านต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น [2] เราต้องเดินทางไกลขึ้นเพื่อไปตักน้ำ ถูกบังคับให้ต้องอพยพย้ายถิ่น ต้องประสบภัยจากอันตรายด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ จากน้ำทะเลที่ความเป็นเกลือเข้มข้นขึ้น จากน้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้น อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นถี่มากขึ้น [3]

เพราะผู้หญิงทั่วโลกยังคงต้องทำงานดูแลคนอื่นและทำงานบ้านมากขึ้น เป็นงานที่ไม่มีคนเหลียวแล ไม่มีใครให้คุณค่า เป็นงานที่ไม่ได้ถูกรวมไว้ในการคำนวณผลผลิตมวลรวมประชาชาติ แม้ว่าเศรษฐกิจไม่อาจเดินหน้าต่อไปได้หากขาดผู้ทำงานเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ในเอเชียแปซิฟิก ผู้หญิงต้องทำงานดูแลโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน มากกว่าผู้ชายถึงสี่เท่า มากกว่าผู้หญิงในพื้นที่อื่นของโลก ช่องว่างของรายได้ระหว่างเพศหญิงและเพศชายในหลายประเทศยังคงหยุดนิ่ง ซ้ำร้ายยังดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นด้วย

ปี 2563 ในโอกาสครบรอบ 25 ปีของการแสดงพันธกิจที่มีต่อสิทธิสตรีในการประชุมระดับโลกว่าด้วยผู้หญิงครั้งที่ 4 หรือที่เรียกว่า เวทีปฏิบัติการกรุงปักกิ่ง [4] ถึงเวลาที่เราต้องรวมตัวกัน จากหลายรุ่นคน จากหลากหลายขบวนการ ยืนหยัดต่อสู้เคียงข้างกัน และทำให้โลกต้องหยุดนิ่งในวันนี้

เราเชื่อว่าทุกคนในโลกมีความเรียกร้องต้องการเหมือนกันดังนี้

งานที่มีคุณค่าและค่าจ้างที่อยู่ได้ (Decent Work and Living Wage)
ยุติความรุนแรงเนื่องจากเหตุทางเพศสภาพ
การเข้าถึงทรัพยากร อำนาจ และโอกาสอย่างเป็นธรรม
อธิปไตยด้านอาหารสำหรับทุกคน

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การนัดหยุดงานประท้วงเป็นยุทธวิธีที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง วันสตรีสากลไม่ใช่แค่กลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่งทำให้ผู้หญิงรู้สึกสวยงามขึ้น หากเป็นวันที่ผู้หญิงต้องลุกขึ้นยืนหยัดและประท้วง เสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ขอให้เราน้อมรำลึกประวัติศาสตร์ร่วมกัน ฟื้นฟูศักดิ์ศรีของวันสตรีสากล และฟื้นฟูพลังของขบวนการสตรี เพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของเรา

 

[1] “คนที่อยู่ด้านบนสุด 1% มีรายได้มากกว่าคนที่อยู่ด้านล่าง 50% ถึงสองเท่า ตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา” World Inequality Report 2561 จาก https://wir2018.wid.world/files/download/wir-presentation.pdf

[2] “80% ของผู้ที่พลัดถิ่นจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศคือผู้หญิง” Halton, Mark. BBC (2561) Climate change ‘impacts women more than men’. Retrieved from https://www.bbc.com/news/science-environment-43294221

[3] “ปัจจุบันมีการทุ่มงบประมาณจำนวนมากให้กับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ […] แต่เงินส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกใช้ไปเพื่อการทำวิจัย หรือสร้างผลกระทบด้านสาธารณสุข ทุกคนกำลังหมกมุ่นกับภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อม แต่ไม่มีใครคิดถึงเรื่องสาธารณสุขเลย” BBC (2561) How climate change could be causing miscarriages in Bangladesh. จาก https://www.bbc.com/news/world-asia-45715550

[4] Fourth World Conference on Women จาก  https://www.un.org/womenwatch/daw/beijing/platform/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net