Skip to main content
sharethis

ศาลจังหวัดนครพนมนัดพร้อมสอบคำให้การ ตรวจสอบพยานหลักฐาน กรณีอัยการฟ้องผู้จัด "วิ่งไล่ลุง" จ.นครพนม เหตุไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า นัดสืบพยาน 7-8 พ.ค. 2563

10 มี.ค. 2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุยชนรายงานว่า เมื่อวานนี้ (9 มี.ค.) ศาลจังหวัดนครพนมนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน คดีที่พนักงานอัยการ จ.นครพนมเป็นโจทก์ฟ้องพิศาล บุพศิริ อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่ ข้อหาจัดชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อน 24 ชั่วโมง กรณีจัดงาน "วิ่งไล่ลุง" จ.นครพนม เมื่อ 12 ม.ค. 63

หลังศาลอ่านคำฟ้องและถามคำให้การ พิศาลยืนยันให้การปฏิเสธ และได้ยื่นคำให้การเป็นเอกสารต่อศาล ทางโจทก์ขอนำพยานเข้าสืบรวม 6 ปาก ได้แก่ ตำรวจผู้กล่าวหา 1 ปาก พนักงานสอบสวน 2 ปาก ตำรวจผู้ตรวจสอบเฟสบุ๊คจำเลย 1 ปาก ผู้เข้าร่วมกิจกรรม 2 ปาก และอัยการยังนำส่งพยานเอกสารอีก 4 ฉบับ

จำเลยแถลงว่า การกระทำของจำเลยไม่ได้อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และจะนำพยานเข้าสืบ 2 ปาก ได้แก่ ผศ.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายชุมนุมสาธารณะ ใช้เวลาสืบครึ่งนัด และยื่นพยานเอกสารรวม 4 ฉบับ ได้แก่ ข่าวเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์การวิ่ง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และความเห็นทั่วไปหมายเลข 34 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยมีกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 7-8 พ.ค. 63

สำหรับที่มาของคดีนั้น บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาได้ระบุพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 พิศาลได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า “วิ่งไล่ลุง 12 ม.ค. 2020 นครพนมกะแล่นนำเดียว เวลา 06.00 น. ณ ลานพญาศรีสัตตนาคราช #มาพ้อกันเด้อ” จากนั้นมีประชาชนเข้ามาดูและแชร์ข้อความต่ออีกหลายคน และในวันที่ 12 ม.ค. 2563 เวลา 06.15 น. พิศาลมารวมตัวกันกับพวกจำนวน 14 คน บริเวณหน้าลานพญาศรีสัตตนาคราช และอ่านข้อเรียกร้องมีใจความสำคัญคือ 1. เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแก้ไขปัญหาปากท้องของพลเมืองไทยอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม 2. เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายภายใต้หลักประชาธิปไตยสากลด้วยการเคารพซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 3. เรียกร้องให้ “ลุง” หรือผู้มีอำนาจในสังคมดำเนินนโยบายในการพัฒนาประเทศโดยตระหนักถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลก  จากนั้นผู้ต้องหากับพวกได้ร่วมกันออกวิ่งจากลานพญาศรีสัตตนาคราชไปทางอุโมงค์พญานาคและสลายตัวไป การกระทำดังกล่าวถือเป็นการชุมนุมสาธารณะตามคำนิยาม มาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งผู้จัดการชุมนุมสาธารณะจะต้องแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตามมาตรา 10 แต่ผู้ต้องหาไม่ได้แจ้งการชุมนุมดังกล่าวต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครพนม 

พิศาลกล่าวหลังพบพนักงานสอบสวนเมื่อ 22 ม.ค. 63 ว่า การที่เขายืนยันปฏิเสธ เท่ากับเป็นการต่อสู้ในหลักการ เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมเป็นเพียงการออกกำลังกาย แม้ในวันดังกล่าวมีการอ่านแถลงการณ์แต่ก็เป็นไปโดยสงบ ถือเป็นเสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติ ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net