เลขาฯ สนง.ศาลเผยมี อนุฯ กก.พัฒนาแนวตรวจร่างคำพิพากษาของภาคแล้ว - ผู้พิพากษาประเมินสุขภาพจิตทุก 5 ปี 

 

หลังผู้พิพากษาคณากรยิงตัวตายประท้วง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเร่งตรวจสิทธิประโยชน์ทายาท แจงตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาและพัฒนาหลักเกณฑ์แนวทางและวิธีการตรวจร่างคำพิพากษาของภาคแล้ว รวมทั้งประธานศาลฎีกาออกระเบียบให้มีการประเมินสุขภาพจิตของผู้พิพากษาทุกๆ 5 ปี 

แฟ้มภาพ กิจกรรมไว้อาลัย คณากร ที่ มธ. เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา

10 มี.ค.2563 จากกรณี คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ที่เคยก่อเหตุยิงตัวเองได้รับบาดเจ็บสาหัสในห้องพิจารณาคดี ที่ศาลจังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2562 หลังจากออกมาร้องเรียนและกล่าวหาบุคคลในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 9 ว่ามีพฤติกรรมแทรกแซงคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถูกนำส่งโรงพยาบาลเช้าวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากยิงตัวเองอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้เขาเสียชีวิต โดยที่ก่อนก่อเหตุดังกล่าว คณากร โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ค ถึงความอยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง โดยตนถูกศาลยุติธรรมตั้งกรรมการสอบสวน และยังถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา เป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาและเขาเชื่อว่าต้องถูกลงโทษออกจากราชการเป็นแน่ นั้น

วานนี้ (9 มี.ค.63) สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงสิทธิประโยชน์จากราชการถึงทายาท กรณี คณากร ที่ยิงตัวเองเข้าที่บริเวณอกข้างซ้ายเสียชีวิตที่บ้านพัก จ.เชียงใหม่ ว่า จากการตรวจสอบพบว่า สิทธิที่ทายาทจะได้รับ ประกอบด้วย 1. เงินช่วยพิเศษ 3 เดือน 2. บำเหน็จตกทอด 30 เท่า เเละ 3. เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ศาลยุติธรรมที่นายคณากรเป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมจะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายเพื่อให้สิทธิต่างๆ ตกแก่ทายาทของนายคณากรโดยเร็ว

ในส่วนของข้อสังเกตที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีมติเห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุ ก.ต. วิสามัญในเรื่องการตรวจสำนวนนั้น ในช่วงหลังเกิดเหตุ คณากร ยิงตัวเองครั้งแรกก็ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาและพัฒนาหลักเกณฑ์แนวทางและวิธีการตรวจร่างคำพิพากษาของภาค รวมทั้งมาตรการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการของคณะอนุกรรมการดังกล่าว

สำหรับการดูแลในเรื่องของความเครียดของผู้พิพากษานั้น เดิมในการตรวจสุขภาพของผู้พิพากษามีอยู่แล้ว ส่วนการประเมินสุขภาพจิตก็จะมี 2 ช่วง คือเมื่อสอบผ่านเข้ามาเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา กับช่วงที่พ้นจากตำแหน่งบริหารแล้วจะแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาอาวุโส ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์เพื่อเป็นการระวังป้องกันและดูแลผู้พิพากษา ประธานศาลฎีกาจึงให้มีการออกระเบียบที่ชัดเจนเพื่อให้มีการประเมินสุขภาพจิตของผู้พิพากษาทุกๆ 5 ปี เพราะที่ผ่านมาไม่มีการกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ ซึ่งเรื่องนี้ ก.ต. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ โดยมี นางวาสนา หงส์เจริญ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา เป็นประธาน ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนี้ ได้นำเสนอร่างระเบียบหลักเกณฑ์และแนวทางการประเมินสมรรถภาพทางกายและจิตใจข้าราชการตุลาการ ให้ที่ประชุม ก.ต.พิจารณาไปแล้วเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุม ก.ต.ได้ตั้งข้อสังเกตไปบางจุดให้ปรับปรุงแก้ไข โดยจะมีการนำร่างระเบียบฯ นำเสนอที่ประชุม ก.ต.พิจารณาอีกเป็นครั้งที่สองในวันที่ 16 มี.ค.นี้.

ที่มา ไทยรัฐออนไลน์และไทยโพสต์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท