Skip to main content
sharethis
กองทัพยกเลิกศูนย์กักตัวผู้เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 เกรงกักตัวรวมกันเชื้อยิ่งแพร่กระจาย ให้เป็นสังเกตอาการที่บ้านแทน กรมศุลกากรเผยไทยส่งออกหน้ากากอนามัย 2 เดือน 330 ตัน แต่เชื่อว่าหลังจากนี้การส่งออกจะชะลอตัว ขณะที่รมว.พาณิชย์ เจรจาขอซื้อหน้ากากอนามัยจากจีน หลังไม่พอใช้

กองทัพยกเลิกศูนย์กักตัวผู้เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 เกรงเชื้อยิ่งแพร่กระจาย

11 มี.ค. 2563 วันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เรียกประชุมด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด19

ภายหลังการประชุม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย แถลงข่าวมีเนื้อหาดังนี้

-สั่งยกเลิกศูนย์ควบคุมโรคทั้งในความรับผิดชอบของกองทัพ และ กระทรวงมหาดไทยกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ เนื่องจากเกรงว่า การให้กักตัวรวมกันจะยิ่งทำให้การแพร่กระจายของเชื้อเป็นไปได้ง่ายขึ้น

- ส่งผู้เสี่ยงติดเชื้อที่ต้องกักกันโรค กลับไปกักตัวตามภูมิลำเนาของตัวเอง พร้อมแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ ท้องถิ่นคอยดูแลร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข 

-ให้เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ที่สามารถลงโทษตามกฏหมายได้ทันทีหากไม่ให้ความร่วมมือ

-ครอบครัวของผู้เสี่ยงติดเชื้ออาจจะต้องกักตัวด้วย 14 วัน

-กลุ่มเสี่ยงที่อยู่ระหว่างการกักกันตัว ที่ศูนย์ควบคุมโรคทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 3-7 มี.ค.63 จำนวน 1,882 คน และหลังวันที่ 7 มี.ค. อีก 98 คนจะได้รับความร่วมมือจากกระทรวงคมนาคมจัดรถไปส่งตามภูมิลำเนาโดยเป็นรถระบบปิด ไม่อนุญาตให้จอดระหว่างทางโดยเด็ดขาด

"อยากขอร้องไปยังคนในชุมชนว่า คนไทยทุกคนมีสิทธิ์อยู่ในผืนแผ่นดินไทย โดยเฉพาะภูมิลำเนาของตัวเอง พร้อมยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่แวดล้อม เพราะกลุ่มเสี่ยงจะต้องกักตัวในบ้าน หากพบว่ามีไข้ เจ้าหน้าที่จะส่งตัวไปโรงพยาบาลทันที"พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า เพื่อให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองสะดวกมากยิ่งขึ้นและมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมผู้ที่ต้องไปเฝ้าสังเกตอาการที่บ้าน จากนี้จะมีการแต่งตั้งผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอสาธารณสุขจังหวัด หรือใครก็ตามที่รมว.สาธารณสุขเห็นว่ามีความเหมาะสม ซึ่งอยู่ในมาตรา 5 ของพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ว่าด้วยการให้อำนาจรมว.สาธารณสุขแต่งตั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

 

กรมศุลกากรเผยไทยส่งออกหน้ากากอนามัย 2 เดือน 330 ตัน แต่เชื่อว่าหลังจากนี้จะชะลอตัว 

วันเดียวกัน ชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกหน้ากากอนามัยในเดือน ม.ค. 2563 อยู่ที่ 150 ตัน และเดือน ก.พ. 2563 อยู่ที่ 180 ตัน รวมแล้ว 2 เดือน มีการส่งออกหน้ากากอนามัยทั้งสิ้นกว่า 330 ตัน คิดเป็นมูลค่า 160 ล้านบาท โดยยืนยันว่ากรมศุลกากรให้มีการส่งออกหน้ากากอนามัยตามใบอนุญาตของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งการส่งออกดังกล่าวเป็นการดำเนินการของผู้ประกอบการไม่กี่ราย ไปในหลายประเทศทั้ง จีน ฮ่องกง อเมริกา

ขณะที่การนำเข้าหน้ากากอนามัยในเดือน ม.ค. 2563 อยู่ที่ 145 ตัน มูลค่า 55 ล้านบาท และเดือน ก.พ. 2563 อยู่ที่ 71 ตัน มูลค่า 45 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าประเทศจากจีน ในส่วนนี้จะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 5% ของมูลค่าที่สำแดง โดยการนำเข้ามาเพื่อใช้ในประเทศ หรือเป็นการนำเข้ามาเพื่อส่งออกต่อนั้น กรมศุลกากรไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ และประเมินได้ยากว่าจำนวนหน้ากากอนามัยที่นำเข้ามาคิดเป็นจำนวนกี่ชิ้น เพราะการสำแดงสินค้าให้ทำตามน้ำหนัก

"การส่งออกเป็นไปตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ที่บอกว่าห้ามส่งออก เว้นแต่ได้รับการอนุญาต ถ้าผู้ประกอบการมีใบอนุญาต กรมศุลกากรก็คงไปห้ามไม่ให้ส่งออกไม่ได้ แต่เชื่อว่าหลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์เข้มงวดเรื่องนี้มากขึ้น ยอดการส่งออกหน้ากากอนามัยจะชะลอตัวลง" ชัยยุทธ กล่าว

ชัยยุทธ เปิดเผยว่า กรณีที่มีข่าวในเพจของโซเชียลมีเดีย เรื่อง หน้ากากอนามัย จำนวน 5 ล้านชิ้นถูกกักโดยกรมศุลกากรขอแบ่งจำนวน 2 ล้านชิ้น ว่า ทางผู้บริหารของกรมฯ ได้มีข้อสังการให้ตรวจสอบไปยังพื้นที่ที่อาจมีการนำเข้าหน้ากากดังกล่าว ซึ่งพบว่า ไม่พบกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้นเรื่องดังกล่าวจังไม่เป็นความจริง

"กรมฯ ได้ทำการตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่า ภาพที่ทางเพจของโซเชียลมีเดียได้นำมาลงนั้น เป็นภาพที่เหมือนกับการลงขายหน้ากากอนามัยในต่างประเทศ โดยกรมฯ ให้ความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าการทำงานของกรมศุลกากรเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม" ชัยยุทธ กล่าว

ไทยส่งออกหน้ากากอนามัย 330 ตันไม่เป็นความจริง

วันเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกสารชี้แจงจากกรมศุลกากรออกมาอย่างเร่งด่วนภายหลังจากนายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร แถลงข่าวข้อมูลผิดพลาด ทำให้เกิดความปั่นป่วน โดยเอกสารทางการของกรมศุลกากรออกมาทันที  ก่อนเวลา 19.30น. เนื้อหาความว่า  

ในการแถลงข่าวกรมศุลกากร ประจำเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งกรมศุลกากรได้ชี้แจงว่า ข่าวในโซเชียลมีเดีย เรื่อง หน้ากากอนามัยจำนวน 5 ล้านชิ้นถูกกัก โดยกรมศุลกากรขอแบ่งจำนวน 2 ล้านชิ้นนั้น ไม่เป็นความจริง และสื่อมวลชนได้มีการสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับในประเด็นสถิติการนำเข้าส่งออก-หน้ากากอนามัยในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีการเขียนข่าวว่ามีการส่งออกหน้ากากอนามัยเป็นจำนวน 330 ตัน

ในการนี้กรมศุลกากร ขอชี้แจงว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขจากพิกัดศุลกากร ซึ่งรวมสินค้าชนิดอื่นนอกจากหน้ากากอนามัยอีกหลายชนิด เช่น ชุดผ้าหุ้มเบาะ เชือกผูกรองเท้า ผ้ากันเปื้อน ผ้าคลุม สายคล้องคอทำด้วยผ้าทอ เป็นต้น

โดยที่ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขในช่วงเดือนมกราคมถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ก่อนที่จะมีประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เรื่อง การควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งหน้ากากอนามัย ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัย เพื่อลดการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในประเทศ

กรมศุลกากร ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยนับตั้งแต่กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัยตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา มีปริมาณการส่งออกน้อยมาก

ต่อมา 12 มี.ค. 2563 เวลา 10.00 น. ระชาชาติรายงานว่า วิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้เดินทางไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ณ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อแจ้งความดำเนินคดี ในข้อหาการหมิ่นประมาทโดยการประชาสัมพันธ์ เพราะเอาข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงมาออกสื่อ ทำให้กรมการค้าภายใน ได้รับความเสียหาย กับนายชัยยุทธ คำคูณ  ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร ที่รายงานการส่งออกหน้ากากอนามัยในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2563 ว่ามีการส่งออกหน้ากากอนามัยทั้งสิ้นกว่า 330 ตัน คิดเป็นมูลค่า 160 ล้านบาท โดยเป็นการให้ส่งออกหน้ากากอนามัย ตามใบอนุญาตของกรมการค้าภายใน

โดยย้ำว่า ข้อมูลดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนเพราะหลังจากมีการประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมและ ก็ไม่ได้อนุญาตให้มีการส่งออกแล้ว ยกเว้นกรณีที่หน้ากากอนามัยที่ไม่ใช้ในไทยและหน้ากากที่มีลิขสิทธิ หรือมีเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งมียื่นขออนุญาตส่งออก รวม 53 ล้านชิ้น แต่คณะกรรมการฯ พิจารณาให้ส่งออกได้เพียง 12.7  ล้านชิ้น  ซึ่งจำนวนการส่งออกจะสำแดงเป็นชิ้น ไม่ใช่คิดเป็นปริมาณตัน

“ซึ่งหากผู้ให้ข่าว ไม่มั่นใจในข้อมูล ก็ควรสอบถามมายังกรมการค้าภายในก่อน เพื่อไม่ให้เกิดประเด็นคลาดเคลื่อน เพราะขณะนี้หากมีเรื่องของหน้ากากอยามัย จะประเด็นขึ้นทันที พร้อมยืนยันว่า ดำเนินการครั้งนี้เพื่อรักษาเกียรติของกรมการค้าภายใน และดำเนินคดีภายใต้กรมการค้าภายใน และยื่นยันว่าเรื่องนี้ ไม่ได้ไปโยงกับประเด็นทางการเมือง เพราะเป็นเรื่องในแนวทางปฎิบัติที่กรมฯ รับผิดชอบ แต่หากใครจะตำหนิส่วนตัวก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นเรื่องของกรมฯ จึงยอมไม่ได้ และอยากให้สังคมรับรู้ความถูกต้องเท่านั้น พร้อมยืนยันว่าไม่ได้มีความบาดหมางหรือรู้จักเป็นการส่วนตัว หรือมีความแค้นส่วนตัวแต่เป็นการดำเนินเพื่อรักษาเกียรติของกรมการค้าภายใน”

รมว.พาณิชย์ เจรจาขอซื้อหน้ากากอนามัยจากจีน หลังไม่พอใช้

วันเดียวกัน เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์, นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข, นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แบละนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน หารือกับ นายหยาง ซิน อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

หลังการหารือ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ได้เชิญท่านอุปทูต หารือเรื่องที่จีนมีนโยบายที่จะให้ความช่วยเหลือกับมิตรประเทศ เพราะสถานการณ์ โควิด-19 ในจีนขณะนี้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น โดยท่านอุปทูตแจ้งว่า ประเทศไทยถือเป็นมิตรประเทศ และได้สอบถามว่าต้องการให้ช่วยเหลืออะไรบ้าง ตนจึงแจ้งว่าสิ่งที่เราอยากได้จากประเทศจีนไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือหรือการที่จะซื้อจากจีนคือ

1.หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากที่ใช้ทางการแพทย์ที่เรามีกำลังการผลิตเพียงวันละ 1.2 ล้านชิ้น
2.หน้ากากแบบ N95 (ขนาดหนา)
3.ชุด PPE (Personal Protection Equipment) หรือชุดคลุมทั้งตัวที่ต้องใช้ในห้องติดเชื้อ ซึ่งมีความจำเป็นมากสำหรับประเทศไทย
4.ชุดคัดกรองไวรัส โควิด-19 ที่สามารถตรวจในสถานที่ต่างๆ ได้เลยไม่ต้องรอส่งไปห้องแล็บ
5.ขอให้จีนผ่อนคลายเรื่องการส่งออกวัตถุดิบต่างๆ ที่เรามีความจำเป็นที่จะต้องใช้ รวมทั้งเรื่องราคาที่ขยับขึ้นไปสูงมาก

ด้านนายหยาง ซิน อุปทูตจีน กล่าวว่า จีนได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและพี่น้องคนไทยมากมายทั้งกำลังใจและสิ่งของต่างๆ ที่ช่วยเหลือในการทำสงครามกับ โควิด-19 จนปัจจุบันนี้มีข่าวดีคือมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดน้อยลงมากสถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ และจีนมีประสบการณ์ในการทำสงครามกับ โควิด-19 และเรามีกำลังเพียงพอที่จะช่วยเหลือมิตรประเทศต่อ ซึ่งเราซาบซึ้งใจในไมตรีจิตของรัฐบาลไทยและพี่น้องคนไทยหลังจากที่จีนประสบความยากลำบาก
.
“วันนี้ผมมาเพื่อที่จะรับทราบสถานการณ์ของไทยว่าเป็นอย่างไรบ้างความต้องการของรัฐบาลไทยมีอะไรบ้าง สถานทูตเราจะพยายามทำเท่าที่ทำได้ นอกจากรักษาผู้ป่วยที่ประเทศจีนแล้วเราจะพยามช่วยเหลือซึ่งกันและกันทำสงครามกับ โควิด-19 และก่อนหน้านี้จีนกับไทยแลกเปลี่ยนวิธีการรักษาระหว่างทีมแพทย์จีนกับไทยมาโดยตลอด ได้มาพบและคุยเรื่องยา หลังจากนี้เรื่องวัตถุดิบประเทศจีนยินดีที่จะช่วยเหลือ”

ขณะที่นายจุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องหน้ากากอนามัยที่เราผลิตได้วันละ 1,200,000 ชิ้น มีสองแนวทางที่จะดำเนินการต่อ คือ 1.การขอความสนับสนุนจากรัฐบาลจีน 2.เร่งรัดประสานงานกับโรงงานผลิตทั้ง 11 แห่งว่าจะเปลี่ยนไลน์การผลิตสินค้าชนิดอื่นมาผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ได้หรือไม่ ซึ่งมีบางแห่งสามารถจะปรับเปลี่ยนได้

 

อ้างอิง: โพสต์ทูเดย์, ไทยโพสต์, เวิร์คพอยท์

 

หมายเหตุ : ประชาไทได้อัพเดทข้อมูลเพิ่มเติมในเนื้อหาข่าว ล่าสุดวันที่ 12 มี.ค. 2563 เวลา 14.35 น.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net