10 ปีเสื้อแดง : ศาลสั่งจำคุกคนฟ้องเอาผิด 'สุเทพ-อภิสิทธิ์' แต่คดีสลายชุมนุมถูกดองหลังรัฐประหาร 57

เปิดวาระครบรอบ 10 ปี การชุมนุมและการสลายการชุมนุมเสื้อแดง ศาลอุทธรณ์ สั่งจำคุก ธาริต และทีมตำรวจ 'ฐานกลั่นแกล้งเพื่อเอาใจรัฐบาล' จากการฟ้อง 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' ข้อหาความผิดฐานฆ่าเล็งเห็นผล ขณะที่คดีสลายชุมนุมแดงกลับไม่มีความคืบหน้าตั้งแต่รัฐประหาร 57 พร้อมย้อนรอยศาลสั่งตายจากกระสุนทหาร แต่ยังไม่มีใครถูกลงโทษ ฟ้องอาญา ศาลก็บอกให้ไปฟ้อง ป.ป.ช. ฟ้อง ป.ป.ช.ก็ตีตก

แฟ้มภาพ

จากกรณีเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 4 ปี (คำเบิกความเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก จำเลยรายละ 2 ปี) ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ 3 ตำรวจที่ทำคดีเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553 ฐานกลั่นแกล้งเพื่อเอาใจรัฐบาล จากการฟ้องข้อหาความผิดฐานฆ่าเล็งเห็นผลจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ต่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แม้ก่อนหน้านั้น ศาลชั้นต้นจะยกฟ้อง ธาริตและพวก นั้น

ผู้สื่อข่าวประชาไท สอบถามความคืบหน้าคดีที่ ศอฉ. สลายชุมนุมเสื้อแดง หรือ นปช.ปี 53 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก กับ โชคชัย อ่างแก้ว หนึ่งในทนายความกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว ยืนยันว่าตั้งแต่รัฐประหารมาเกือบ 6 ปี คดีไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด 

ทนายความกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตปี 53 กล่าวว่า ภายหลังจากที่ฟ้อง อภิสิทธิ์และสุเทพ แล้วศาลพิจารณาแล้วว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลในข้อหาเจตนาเล็งเห็นผล จากนั้นมีการส่งสำนวนกลับไปที่ดีเอสไอ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องไม่เพียงผู้สั่งการ แต่รวมถึงผู้กระทำด้วย จากนั้นสำนวนเหมือนถูกตัดตอนไป และเหมือนว่าคดีจะกลายเป็นหาตัวผู้กระทำความผิดไม่ได้ หรือญาติผู้ตายคดี 6 ศพ มีการฟ้องคดีกับทหาร แล้วส่งสำนวนไปที่อัยการทหารก็สั่งไม่ฟ้อง อีก

สำหรับเมื่อปีที่แล้ว กรณีที่ทนายโชคชัย พาญาติ 2 ใน 6 ศพวัดปทุม ไปกล่าวหา ตัวผู้กระทำการความผิดกับพนักงานดีเอสไอซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสอบสวนคดีนั้น โชคชัย กล่าวถึงความคืบหน้าว่า ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด 

โชคชัย กล่าวด้วยว่า พวกเรามองว่าหากคนกลุ่มนี้ยังคงมีอำนาจอยู่ก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้ คงต้องรอเวลาให้มีการเปลี่ยนแปลงแล้วค่อยดำเนินการต่อไป

โชคชัย กล่าวอีกว่า ปกติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหลังไต่สวนการตายก็จะส่งสำนวนกลับไปให้พนักงานสอบสวนในพื้นที่ ตาม สน.ต่างๆ แต่เนื่องจากคดีพวกนี้เป็นคดีพิเศษจึงกลับไปที่ดีเอสไอทั้งหมดทุกสำนวนที่จะไปหาตัวผู้กระทำความผิดก็จะไปที่ดีเอสไอทั้งหมด และก็ออกแนวเดียวกับที่ระบุไปคือไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย 

ย้อนรอยศาลสั่งตายจากกระสุนทหาร แต่ยังไม่มีใครถูกลงโทษ

สำหรับการไต่สวนการตายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ในคดีสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 2553 นั้น ศาลมีคำสั่งในหลายคดีว่ากระสุนมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานเช่น กรณี 10 เม.ย.53  เกรียงไกร คำน้อย ที่ถูกยิงบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ข้างกำแพงกระทรวงศึกษาธิการช่วงบ่ายวันที่ 10 เม.ย.53  จรูญ ฉายแม้น และสยาม วัฒนนุกูล  ถูกยิงเสียชีวิตหน้า ร.ร.สตรีวิทยา ถ.ดินสอ วันที่ 10 เม.ย. เช่นกัน 

ช่วงเดือน พ.ค.53 เช่น พัน คำกอง และ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ศาลได้มีคำสั่งแล้วว่าทั้งคู่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร ชาญณรงค์ พลศรีลา ที่เป็นคลิปดังซึ่งถ่ายภาพจากมุมสูงศาลได้มีคำสั่งว่าเสียชีวิตจากกระสุนของ เจ้าหน้าที่ทหารเช่นกัน 6 ศพวัดปทุมฯ ศาลก็มีคำสั่งว่าทั้งหมด ถึงแก่ความตายเนื่องจากกระสุนปืนที่มาจากทหาร หรือแม้แต่ พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ที่ถูกยิงขณะปฏิบัติหน้าที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เขตบางเขน ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2553 ศาลก็มีคำสั่งในการไต่สวนการตายว่าถูกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฎิบัติหน้าที่ โดยกระสุนถูกที่ศรีษะด้านซ้ายหางคิ้วผ่านทะลุกะโหลกศีรษะทำลายเนื้อสมองเป็นเหตุให้เสียชีวิต

ขณะที่พะเยาว์ อัคฮาด ผู้เป็นมารดาของ กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกทหารยิ่งเสียชีวิตที่บริเวณวัดปทุมวนาราม ได้แจ้งความเพิ่มเติมเพื่อเอาผิดนายทหารที่ปฏิบัติหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าในวันนั้น (19 พ.ค.53)ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น นั้น เมื่อ 3 พ.ค.ปีที่แล้ว พะเยาว์ เปิดเผยว่าอัยการศาลทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องนายทหารทั้ง 8 นาย โดยอัยการให้เหตุผลที่สั่งไม่ฟ้องว่าเพราะไม่มีพยานหลักฐาน ไม่มีพยานแวดล้อม และไม่มี พยานบุคคล ว่าทหารทั้ง 8 ได้กระทำการยิงปืนเข้าไปในวัดเพื่อฆ่าผู้อื่น 

ฟ้องอาญา ศาลก็บอกให้ไปฟ้อง ป.ป.ช. ฟ้อง ป.ป.ช.ก็ตีตก

ขณะที่ย้อนกลับไปดูความคืบหน้าคดีล่าสุดหลัง 31 ส.ค. 2560  ศาลฎีกา พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องสำนวนคดีที่ อัยการ ฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ กับสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ฐานร่วมกันก่อให้ฆ่าผู้อื่นเหตุสลายการชุมนุม นปช. โดยศาล เห็นว่าไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้

สำหรับคดีนี้ตั้งแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องโดย ศาลพิจารณาว่าอยู่ในอำนาจการสืบสวนสอบสวนของ ป.ป.ช. ทำให้กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ต่อมาเมื่อวันที 29 ธ.ค.58 ป.ป.ช. ได้มีมติให้ คำร้องตกไป กรณีการขอให้ถอดถอนและคำกล่าวหา อภิสิทธิ์ สุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กับพวก ในข้อหา ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ปี 53 ดังกล่าว

สำหรับประเด็นผู้สั่งการมีส่วนร่วมในการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่หรือไม่ ในอดีตประชาไทเคยนำเอกสาร “ศอฉ.” เผยแนวทางปฏิบัติการใช้อาวุธเพื่อรักษาที่ตั้งสำคัญ จุดตรวจ ด่านตรวจ ของช่วงสลายชุมนุม เม.ย. – พ.ค. 53 ระบุหากมีผู้ก่อเหตุใช้อาวุธแล้วอยู่ปะปนกับผู้ชุมนุม ให้เจ้าหน้าที่งดใช้อาวุธยกเว้นถ้าในหน่วยมี “พลแม่นปืน” ให้ทำการยิงเพื่อหยุดยั้งการก่อเหตุได้ และหากไม่สามารถยิงได้ สามารถร้องขอ “พลซุ่มยิง (Sniper)” จาก ศอฉ. ได้  (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คำสั่งรักษาด่านศอฉ.ใช้ "พลแม่นปืน" หากผู้ก่อเหตุปะปนผู้ชุมนุม - หากยิงไม่ได้ให้ใช้ "สไนเปอร์")

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท