Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความรับผิดชอบต่อมหาวิทยาลัย สังคมและประเทศชาติ อาจารย์พึงมีแนวปฏิบัติดังนี้

2. เป็นผู้ชี้นำการเปลี่ยนแปลงที่ถูกต้องและชอบธรรมแก่สังคม

จรรยาบรรณอาจารย์ (Code of Ethics) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

****

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี เป็นอีกครั้งที่พรรคการเมือง สถาบันซึ่งรวมกลุ่มผลประโยชน์ แสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองและเป็นตัวแทนของประชาชนถูกอำนาจที่แทบไม่มีความยึดโยงกับประชาชนเลยทำลายลง ภายในระยะเวลาไม่กี่วันเกิดกระแสการลุกฮือนัดจัดกิจกรรมแฟลชม๊อบของนิสิต นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศอย่างคับคั่ง และในระยะถัดมายังปรากฎการเคลื่อนไหวของนักเรียนมัธยมในสถานศึกษาต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวเช่นกัน สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ยอมรับในความอยุติธรรมหลายมาตรฐานที่เกิดขึ้นจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งระยะหลังยังรวมถึงความไร้เถียรภาพของรัฐบาลในการตอบโต้การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาด้วย  

ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา นักเรียนหรือ “คนรุ่นใหม่” ที่กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์แถลงการณ์ของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อคคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคอนาคตใหม่[1]

โดยมีความตอนหนึ่งที่น่าสนใจว่า

“คณาจารย์ประจำของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน ๓๖ คน เห็นพ้องร่วมกันว่าควรมีการตั้งข้อสังเกตและแสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในบางประเด็น เพื่อชี้ให้สาธารณชนได้ทราบว่าอาจมีแนวทางในการใช้และการตีความอื่นที่เหมาะสมและเป็นธรรมกว่า นอกจากนี้ พวกเราเห็นว่าในช่วงเวลาที่สังคมเกิดความแตกแยกแบ่งฝักฝ่ายและตั้งคำถามถึงความชอบธรรมและความชอบด้วยกฎหมายของการวินิจฉัยขององค์กรตุลาการ นักวิชาการทางนิติศาสตร์จำเป็นต้องแสดงจุดยืนและแสดงความคิดเห็นทางวิชาการที่ถูกต้อง เป็นธรรม และตรงไปตรงมา เพื่อมีส่วนร่วมในการช่วยให้สังคมผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งนี้ไปได้ด้วยความรู้และเหตุผล และเพื่อธำรงไว้ซึ่งความเชื่อความศรัทธาที่สังคมและนักศึกษากฎหมายมีต่อสถาบันการศึกษากฎหมายและวิชาชีพกฎหมาย ด้วยเหตุนี้คณาจารย์นิติศาสตร์จึงได้ออกแถลงการณ์ฉบับนี้ขึ้น”

การออกแถลงการณ์ดังกล่าว ซึ่ง “เป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระภายใต้หลักนิติศาสตร์” และ “ดำเนินการในนามส่วนตัว” ต่อคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคอนาคตใหม่นั้นเป็นปรากฎการณ์ที่เรียกศรัทธาในวิชากฎหมายขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ระยะหลังนี้เรามักได้ยินคำวิจารณ์สาขาวิชานิติศาสตร์ว่าเป็นเนติบริกรรับใช้ผู้มีอำนาจ หรือวิจารณ์คำตัดสินของศาลซึ่งใช้อำนาจตุลาการว่าเป็นการตัดสินที่ไม่มีมาตรฐาน ทั้งนี้ประเด็นเรื่องข้อกฎหมายเป็นพื้นที่ที่มีการใช้ภาษาเฉพาะทาง ต้องอาศัยการตีความจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือก็คือนักกฎหมาย การที่คณาจารย์นิติศาสตร์ได้ออกมาวิจารณ์คำตัดสินของศาล ใช้ความรู้และวิชาชีพของตนเพื่อชี้ให้เห็นถึงการตีความที่เหมาะสมและเป็นธรรมเพื่อให้สังคมได้พิจารณา ทั้งยังเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน และธำรงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐนั้นถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เนื่องจากโจทย์สำคัญประการหนึ่งของการเมืองไทยนับตั้งแต่การรัฐประหารในปีพ.ศ. 2549 เป็นต้นมาคือเรื่อง “ตุลาการภิวัตน์” (ซึ่งตอนนี้มีคำอธิบายอื่นๆ เช่น ตุลาการนิยมล้นเกิน[2] หรือนิติสงคราม[3]) หรือประเด็นการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในทางการเมืองที่นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ศาลรัฐธรรมนูญได้กลายเป็นที่ระงับข้อพิพาทสุดท้ายหรือเป็นผู้พิพากษาในคดีการเมืองสำคัญในระยะหลังโดยเฉพาะประเด็นเรื่องการยุบพรรค การพิจารณาตัดสิทธิทางการเมือง หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนเกี่ยวข้อง เป็นเครื่องมือหรือวิถีทางของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น สิ่งที่ต้องพิจารณาประการหนึ่งคือที่มาของศาลรัฐธรรมนูญมีความเชื่อมโยงกับประชาชนน้อยแต่ทว่ากลับมีอำนาจในเรื่องที่กระทบกับสิทธิการใช้อำนาจของประชาชนมาก การใช้อำนาจเช่นนี้ของศาลนั้นมีความเหมาะสมได้สัดส่วนหรือไม่

ในฐานะนักวิชาการซึ่งมีอำนาจปลายปากกาในการเขียนงาน สื่อสาร สร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนและสังคม ทว่าอำนาจของนักวิชาการอาจมิได้อยู่แค่ปลายปากกา ความรู้ก็มิได้อยู่แค่บนหอคอยงาช้างเท่านั้นแต่อาจกลายเป็นแสงสว่างนำพาปัญญาให้แก่สังคมในสถานการณ์ที่สังคมมืดมิดไร้ความหวังดังเช่นแถลงการณ์ของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่ที่นักวิชาการสามารถทำได้โดยมิได้ “ครอบงำทางความคิด”[4] นิสิต นักศึกษา นักเรียน แต่เป็น “การนำเสนอแนวทางอื่นที่เป็นไปได้ หรือทางออก” ให้แก่สังคม เป็นอีกหนทางที่สร้างความหวังให้สังคมไทยที่เต็มไปด้วยความสิ้นหวัง และต้องการแนวคิดบางอย่างในการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่แค่นักนิติศาสตร์เท่านั้นหรือที่ควรออกมาแสดงจุดยืนตามหลักวิชาของตนในเรื่องนี้ “นักวิชาการ” (ทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัยและนักวิชาชีพ) อื่นๆ โดยเฉพาะนักรัฐศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจ ระบอบการเมือง สถาบันการเมืองควรออกมาให้ความรู้ สร้างเข้าใจ สื่อสารกับสังคมและประชาชน หรือนักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนโยบายและเครื่องมือทางเศรษฐกิจนั้นก็มีอาจดำรงอยู่ได้หากไม่สนใจสภาพสังคม การเมือง สถาบันต่างๆ ที่ดำรงอยู่ ถึงเวลาแล้วที่นักวิชาการจะออกมาแสดงจุดยืนตามหลักวิชาเพื่อนำเสนอแนวทางอื่นที่เป็นไปได้หรือทางออกให้แก่สังคมไทยที่กำลังอยู่ในวิกฤตและมืดมิดเสียเหลือเกิน  

             

อ้างอิง

[4] สำหรับข้อครหานี้โปรดดูเฟสบุ๊ค Kasian Tejapira ที่ได้อธิบายชัดเจนแล้ว  https://www.facebook.com/kasian.tejapira/posts/10221804833692939

"นักศึกษาบริสุทธิ์," "นักการเมืองสกปรก," "อาจารย์มหาลัยครอบงำ"

%%%%

ในสังคมไทยเรา คุ้นเคยกับวาทกรรมกระแสหลักของรัฐราชการอนุรักษนิยมที่ว่า:

-"นักเรียนนิสิตนักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์" (ฟังเหมือนคำชมด้วยความเอ็นดู แต่ด้านกลับคือคำปรามาสแบบคุณพ่อคุณแม่รู้ดีว่าอ่อนหัดไร้เดียงสาถูกหลอกง่ายคิดเองไม่เป็น ฯลฯ)

-"การเมืองและนักการเมืองสกปรก" (เฉพาะที่มาจากการเลือกตั้ง และดังนั้นจึงควรให้ "คนดี" ที่ผู้ใหญ่รับประกันมาทำหน้าที่แทนโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง และที่สำคัญ ห้ามนักการเมืองยุ่งเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนนอกสภาเด็ดขาด)

-"พวกอาจารย์มหาลัยครอบงำความคิดนักศึกษา" (ฮา ๆ พ่อเจ้าประคุณเอ๊ย แสดงว่าพูดโดยไม่สำรวจเลย นักศึกษาทุกวันนี้นั้นมาเข้าชั้นเรียนให้อาจารย์ครอบงำอย่างสม่ำเสมอสักครึ่งห้องได้มังครับ ที่เหลือไม่โผล่มาให้ครอบงำหรอก หรือถึงมาก็อาจคุยกันหรือหลับหรือ ฯลฯ ก็ได้ ส่วนหนังสือบทความตำราที่อาจารย์มอบหมายให้อ่านนั้น ส่วนใหญ่ก็อ่านบ้างไม่อ่านบ้าง และที่อ่านก็ไม่ค่อยเข้าใจนัก สรุปคือ การพยายามครอบงำความคิดนักศึกษาหนุ่มสาวในสังคมไทยด้านหลักแล้ว เกิดขึ้นนอกห้องเรียน ไม่ใช่โดยอาจารย์มหาลัยกระจอก ๆ แต่โดยสื่อกระแสหลักทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนนั่นแหละ)

ดังนั้น ความเกร็งและกลัวจะแปดเปื้อนภาพลักษณ์ให้เป็นมลทินว่าเข้าไปเกี่ยวพันข้องแวะกับการเคลื่อนไหวของนักเรียนนิสิตนักศึกษาจึงแทบจะกลายเป็นสัญชาตญาณที่สอง (second nature) ของนักการเมืองและอาจารย์ ท่ามกลางความหวาดระแวงและครหาอันเลื่อนลอยที่ถูก "ครอบงำ" จากวาทกรรมกระแสหลักข้างต้น

ผมเห็นต่างออกไปนะครับ ผมเห็นว่าที่นักเรียนนิสิตนักศึกษาคนหนุ่มสาวออกมาเคลื่อนไหวประท้วงแสดงออกในทางการเมืองก็เพราะความรับรู้ ความรู้สึกและประสบการณ์ของพวกเขาที่เจอมาจริง ๆ และพวกเขาพบว่าคำอธิบายเก่าของวาทกรรมกระแสหลักมันไม่ make sense อีกต่อไป เขาไม่ไว้ใจและไม่เห็นความหวังในสถาบันการเมืองการปกครองทางการของประเทศว่าจะอำนวยความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพและสวัสดิภาพให้พวกเขาและครอบครัวได้จริง พวกเขาจึงออกมา "ขอมีส่วนร่วม/ขอมีส่วนแบ่ง" ด้วยตัวเขาเองในการกำหนดความเป็นไปและอนาคตของบ้านเมืองมั่ง เพราะปล่อยให้ผู้หลักผู้ใหญ่ทำกันไปเองแบบผูกขาดเลอะเทอะเละเทะเหลวไหลเห็นทีจะไม่ไไหวแล้ว

เพราะมันเป็นชาติบ้านเมืองของพวกเขาด้วยเหมือนกันและเท่ากัน

หากมองแบบนี้ การออกมาเคลื่อนไหวของเขาเป็นเรื่องน่ายินดีและดีใจที่พวกเขารักหวงแหนประเทศชาติจนลงแรงลงใจออกมา สมควรที่จะหาทางร่วมมือเพื่อเป็นพลังสร้างสรรค์ชาติส่วนรวมร่วมกับพวกเขาต่อไป

ผมจึงเห็นว่าท่าทีที่ควรเป็นคือ "รัก" พวกเขาครับ รับฟัง เห็นอกเห็นใจ เอาใจช่วยและสนับสนุน เราอาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับพวกเขา แต่พวกเขาไม่ใช่ศัตรูหรือเชื้อไวรัสโคโรนาทางการเมือง พวกเขาคือญาติมิตรลูกหลานของเรา ไม่ใช่คนแปลกหน้า ต่างชาติหรือศัตรู

แต่ขณะเดียวกันก็ไม่พึง "อยากครอบครองเป็นเจ้าของ" พวกเขาไปด้วย เราสามารถสนทนาแลกเปลี่ยนกับเขา แสดงความเห็นตรงไปตรงมากับเขา แต่พวกเขาโตพอควรแล้ว เป็นเจ้าของชีวิตตัวเองแล้ว คิดเองเป็น เราควรปล่อยให้พวกเขาเป็นตัวของตัวเอง ตัดสินใจเลือกทางของเขาเองและเรียนรู้เอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net