Skip to main content
sharethis

ในวาระครบรอบ 10 ปี การสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เราขอย้อนทบทวนจุดเริ่มต้นของการชุมนุมเสื้อแดงวันที่ 12 มีนา 53 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่ พร้อมย้อนดูพลวัตก่อนหน้านั้นตั้งแต่ปมยึดทรัพย์ ‘ทักษิณ’ 4.6 หมื่นล้าน การเป็นกลุ่มต้านระบอบอํามาตย์และการตั้งรัฐบาล ‘อภิสิทธิ์’ ในค่ายทหาร กลุ่มปกป้อง รบ.จากการเลือกตั้ง กลุ่มต้านรัฐประหาร+เปรม และไม่รับร่าง รธน. และปฐมบทชุดแรกในฐานะกลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณ-ไทยรักไทย ต้าน พธม.และนายก ม.7

ภาพการชุมนุมวันแรกๆ 13 มี.ค.2553

ยุบสภา-เลือกตั้งใหม่

วันที่ 12 มี.ค.2553 หรือวันนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็นวันแรกที่เสื้อแดงหรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ชุมนุมโดยเวทีตั้งอยู่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และชุมนุมตลอดแนวถนนราชดำเนินกลางไปจนถึงลานพระราชวังดุสิต ก่อนขยายไปยังแยกราชประสงค์ในเวลาต่อมาเพื่อเรียกร้องให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่กลับถูกสลายการชุมนุม หรือตามภาษาของ คอฉ.ใช้ขณะนั้นคือ ‘ขอคืนพื้นที่’ ‘กระชับพื้นที่’ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากนั้น

ในวาระนี้เราขอย้อนทบทวนว่าด้วยเหตุผลอะไรที่เสื้อแดงถึงนัดชุมนุมและมีข้อเรียกร้องดังกล่าว

ยึดทรัพย์ ‘ทักษิณ’ 4.6 หมื่นล้าน

วันที่ 24 ก.พ. 53 แกนนำ นปช. ประกาศนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 12 มี.ค. นัดหมายเกิดขึ้น 2 วัน ก่อนที่ในวันที่ 26 ก.พ.53 องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 4.6 หมื่นล้านบาท

ซึ่งในครั้งนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ  ที่ได้จากเงินค่าขายหุ้นและเงินปันผล ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ ตกเป็นของแผ่นดิน โดยให้ยึดเฉพาะเงินค่าขายหุ้น ของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ส่วนที่เพิ่มขึ้น หลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเงินปันผลเป็นเงินทั้งหมด 46,373 กว่าล้านบาท จากจำนวน 76,261.6 ล้านบาท และคืนส่วนที่เหลือจำนวน 30,247 ล้านบาท เพราะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เงินที่มีอยู่แต่เดิม

โดยที่ศาลฎีกาฯ ได้มีมติเสียงข้างมาก จากการดำเนินการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 สมัย โดยมิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์ธุรกิจครอบครัว รวม 5 กรณี คือ 1. พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้บริษัท เอไอเอส หลังแปลงสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ทำให้รัฐเสียหายกว่า 6 หมื่นล้านบาท 2. ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้บริษัท เอไอเอส หลังปรับลดส่วนแบ่งค่าสัมปทานโทรศัพท์ระบบเติมเงิน หรือพรีเพด 3. ได้รับประโยชน์จากการแก้สัญญาให้รัฐร่วมรับผิดชอบค่าใช้เครือข่ายร่วมกับเอไอเอส ทำให้ ทศท และ กสท ได้รับความเสียหาย 4.การสนับสนุนธุรกิจดาวเทียมไอพีสตาร์เอื้อประโยชน์บริษัทชินคอร์ปและไทยคม และ 5. สั่งให้เอ็กซิมแบงก์อนุมัติเงินกู้ให้พม่า 4,000 ล้านบาท เอื้อประโยชน์บริษัทไทยคม และชินคอร์ป

ภาพการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง 28 ธ.ค.51 (ภาพโดย Nick Nostitz ที่มา : https://www.newmandala.org/red-shirts-and-civil-disobedience/)

ต้านระบอบอํามาตย์และการตั้งรัฐบาล ‘อภิสิทธิ์’ ในค่ายทหาร

อย่างไรก็ตามความไม่พอใจต่อระบบการเมืองขณะนั้นจนมีข้อเรียกร้องให้ อภิสิทธิ์ ยุบสภา ไม่ได้เพิ่งเกิดจากการยึดทรัพย์ทักษิณ หากแต่ความไม่พอใจสั่งสมมามากกว่านั้น ย้อนไปหลัง อภิสิทธิ์ ขึ้นเป็นนายกฯ กับข้อครหา ‘นายกฯในค่ายทหาร’ ที่มีข่าวลือว่ามีการไปหารือจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารปลายปี 51 นำไปสู่การโหวตในสภาให้ อภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ ใหม่  พรรคร่วมรัฐบาลเดิมและสมาชิกของพรรคพลังประชาชนเดิมจำนวนหนึ่งหันไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบ พรรคพลังประชาชน (แกนนำรัฐบาลขณะนั้น) พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย  รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรค ท่ามกลางการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ กดดันอย่างหนักของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ยึดทั้งสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง

การเจรจาย้ายค่ายนี้ดูมีความชัดเจนมากกว่าข่าวลือหลัง สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ผู้เปรียบเสมือนพ่อบ้านจัดตั้งรัฐบาลขณะนั้น ออกมาพูดหลังจากที่ อภิสิทธิ์ ประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 62 โดยสุเทพ บอกว่า ตัวเองเป็นคนไปเจรจากับ เนวิน (แกนนำพรรคภูมิใจไทย) ที่ประเทศอังกฤษ และบรรหาร ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา รวมทั้ง เจรจากับ สุวิทย์ คุณกิตติ, สมศักดิ์ คุณเงิน และสุชาติ ตันเจริญ โดย สุเทพ บอกด้วยว่า ตนมีวิธีการเจรจาจนได้รับการสนับสนุน ก่อนถึงเวลาจะลงมติเลือกนายกฯ ในสภา

หลังจาก อภิสิทธิ์ ขึ้นเป็นนายกฯ ครอบครัวความจริงวันนี้ออกมาเปิดโปงการแทรกแซงทางการเมืองของ “อํามาตย์” โดยการรัฐประหารและเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา และยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลใหม่ใน 4 ประเด็น ได้แก่ (1) ดําเนินคดีกับพันธมิตรฯ ที่ทําการยึดทําเนียบรัฐบาลและสนามบิน (2) ปลด กษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ซึ่งเป็นแกนนําสําคัญและมีส่วนในการยึดสนามบิน (3) ให้นํารัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ และ (4) ให้ยุบสภา จากนั้นจึงเดินสายจัดงาน “แดงทั้งแผ่นดิน” สัญจรในต่างจังหวัด ก่อนจะกลับมาปักหลักชุมนุมใหญ่บริเวณรอบทําเนียบรัฐบาลในวันที่ 26 มี.ค.52 ต่อมาในวันที่ 8 เม.ย. 52 ประกาศเรียกร้องให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์, ชาญชัย ลิขิตจิตถะ องคมนตรี และอภิสิทธิ์ ลาออกจากตําแหน่ง พร้อมกับขยายพื้นที่ชุมนุมไปยังหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์และพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อเพิ่มแรงกดดัน แต่สุดท้ายจบลงด้วยการถูกปราบปรามอีกครั้งในเดือน เม.ย. 2552 หรือ “สงกรานต์เลือด”

ปกป้อง รบ.จากการเลือกตั้ง

จากที่กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ออกเคลื่อนไหวอีกครั้งหลังจากพรรคพลังประชาชนมีชัยชนะ ในการเลือกตั้ง ปลายปี 50 โดยอ้างว่ารัฐบาลสมัครเป็น “นอมินี” ของทักษิณ-ไทยรักไทย กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลสมัคร จึงออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน จัดกิจกรรมชุมนุมสัญจร โดยผู้จัดชุมนุมรายการ “ความจริงวันนี้สัญจร”ครั้งแรกที่อาคารธันเดอร์โดม

เมืองทองธานี 11 ต.ค.51 โดยผู้จัดได้ประกาศให้ผู้เข้าร่วมใส่ 'เสื้อสีแดง' เข้าร่วมกิจกรรม จากสัญจรไปตามสถานที่ต่างๆ เช่น สนามราชมังคลากีฬาสถาน วัดสวนแก้ว จ.นนทบุรี และลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการ กทม. ฯลฯ จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคพลังประชาชนพร้อมกับพรรคร่วมรัฐบาลรวม 3 พรรค ในวันที่ 2 ธ.ค.51 ดังกล่าว

การชุมนุมของ นปก. เดือน ก.ค.2550 ที่ท้องสนามหลวง (ภาพจาก wikipedia)

ต้านรัฐประหาร+เปรม และไม่รับร่าง รธน.

ย้อนกลับไปอีกเมื่อครั้ง รัฐประหาร 19 ก.ย.49 ช่วงแรก การต่อต้านรัฐประหารเกิดขึ้นจากกลุ่มกิจกรรมเล็ก ๆ ที่จัดตั้งกันเองและค่อนข้างอิสระ หลายกลุ่ม โดยมีจุดยืนทางการเมืองที่หลากหลายคือมีทั้งผู้ที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ เช่น “เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร” และ “กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมและประชาชนธรรมดา กลุ่มเหล่านี้ได้เริ่มเปิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์บทบาททางการเมืองของประธานองคมนตรีในการรัฐประหารและการแทรกแซงทางการเมือง รวมทั้งมีการรวมตัวกันเดินขบวนประท้วงไปยังหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์

ขณะที่กลุ่มผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ People’s Television (PTV) หรือพีทีวี นําโดย วีระ มุสิกพงศ์, จตุพร พรหมพันธุ์, จักรภพ เพ็ญแข, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และก่อแก้ว พิกุลทอง ซึ่งถือได้ว่าเป็น “เครือข่าย” ทักษิณ-ไทยรักไทยโดยตรงในขณะนั้น ออกมาจัดชุมนุมครั้งแรกที่สนามหลวงในวันที่ 23 มี.ค. 2550 (จากนั้นจึงจัดการชุมนุมทุกสัปดาห์) โดยจํากัดประเด็นไว้ที่การตรวจสอบคณะรัฐประหารในนามคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

จนกระทั่ง พ.ค.50 กลุ่มย่อยต่างๆ รวมกันก่อตั้งองค์กรร่มขึ้นเพื่อต้านรัฐประหาร คือ แนวร่วมประชาชนต้านรัฐประหาร ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ควํ่า โค่น ล้ม” แต่ไม่นานสถานการณ์ก็เปลี่ยนเข้าสู่ช่วงที่สอง หลังจากตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย 30 พ.ค.50 กลุ่มพีทีวีเริ่มต้นปักหลักชุมนุมใหญ่ทันทีที่สนามหลวงในวันที่ 2 มิ.ย. 50 โดยได้ประกาศ “ขับไล่ คมช.” และจัดองค์กรการนําใหม่ในนามของ “แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.)” เพื่อโค่นล้ม คมช. นอกจากนี้ นปก. ยังได้เคลื่อนขบวนไปกดดัน พล.อ. เปรมให้ลาออกจากตําแหน่งที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ แต่ก็สลายการชุมนุมในวันที่ 22 ก.ค.50

จากนั้นเข้าสู่ช่วงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จึงหันมารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวในระยะสุดท้าย แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก็ผ่านประชามติวันที่ 19 ส.ค.50 จนมีการเลือกตั้งในเวลาต่อมา

กลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณ-ไทยรักไทย ต้าน พธม.และนายก ม.7

อย่างไรก็ตามก่อนรัฐประหาร 49 หลังพันธมิตรฯ ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลไทยรักไทย โดยมีการรวมตัวและเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นหลังจากที่รัฐบาลประกาศยุบสภา ในวันที่ 24 ก.พ.49 และให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เม.ย. 2549 แต่กลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ยอมรับกระบวนการเลือกตั้ง ยืนยันที่จะขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ออกจากตําแหน่งอย่างไม่มีเงื่อนไข และต้องการให้เกิด “กระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2” ก่อนที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยอ้าง ม.7 ในรัฐธรรมนูญ 40 ขอ “นายกฯ พระราชทาน”

กลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณ-ไทยรักไทยนี้มี 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้สนับสนุนที่มีฐานมาจากชนบท - เกษตรกรในภาคเหนือและภาคอีสาน ในนามของ “คาราวานคนจน” และผู้สนับสนุนที่เป็น “คนรากหญ้า” ในเมือง- กรุงเทพฯ และปริมณฑลประกอบด้วยกลุ่มแท็กซี่และผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง ภายใต้การนําของ “กลุ่มสมาคมพิทักษ์ผลประโยชน์ผู้ขับแท็กซี่” ต้นเดือนมี.ค. 2549 คาราวานคนจน เริ่มเดินทางเข้ากรุงเทพฯ สมทบกับกลุ่มสมาคมพิทักษ์ผลประโยชน์ผู้ขับแท็กซี่ เปิด “หมู่บ้านคาราวานคนจน” ที่สวนจตุจักรในวันที่ 18 มี.ค.49  เป็นที่ปักหลักชุมนุม โดยประกาศหลักในการเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการว่า (1) สนับสนุนนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจนของรัฐบาล (2) สนับสนุนทักษิณ (3) สนับสนุนการแก้ปัญหาบ้านเมืองอย่างสันติด้วยการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และ (4) ร่วมหาแนวทางในการปรองดองของคนในชาติเพื่อเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ การดําเนินกิจกรรมของกลุ่มนี้มีลักษณะคู่ขนานและพุ่งเป้าไปที่การ “ต่อต้าน” การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ รวมทั้งนักวิชาการ-ปัญญาชนที่ออกมาต่อต้านทักษิณปฏิเสธการเลือกตั้ง และสนับสนุน ม.7

ขณะที่หลัง 2 เม.ย.49 แม้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่ทั้งพันธมิตรฯ และพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่บอยคอตการเลือกตั้ง นําไปสู่การแสดงบทบาทของ “ตุลาการภิวัตน์” ที่ทําให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย.49 เป็นโมฆะ ผนวกกับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อทําให้เห็นว่ากระบวนการการเมืองปกติไม่สามารถที่จะดําเนินการได้อีกต่อไป จนจบลงด้วยการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ในที่สุด

ที่มาข้อมูล :

รายงาน 'ความจริงคือหนทางสู่ความยุติธรรม' โดยศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) บทที่ 1 ‘กําเนิดและพลวัต “คนเสื้อแดง”’ โดย ยุกติ มุกดาวิจิตร อุเชนทร์ เชียงเสน https://drive.google.com/file/d/0B8JG0cmzBu9GSEphR0JSVDNHb0k/view

ย้อนรอยคดีประวัติศาสตร์ ยึดทรัพย์'แม้ว' 4 หมื่นล้าน https://www.thairath.co.th/content/405898

10 เมษา กับ 10 เรื่องพื้นฐานที่..อาจจำไม่ได้ อาจไม่เคยรู้ https://prachatai.com/journal/2017/04/70988

สุเทพเล่าเบื้องหลังตั้งอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ บินเจรจาลับกับเนวินที่อังกฤษ https://thestandard.co/thailandelection2562-suthep/

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net