Skip to main content
sharethis

กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน-ตาก ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร คัดค้านโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพล เหตุกระทบวิถีชุมชนและทรัพยากร ชูมติ ครม. ฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยงเป็นแนวทางจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน

13 มี.ค. 2563 ที่บ้านสบเงา ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอนชาวปกาเกอะญอเครือข่ายการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำยวม-เมย-เงา-สาละวิน ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อคัดค้านโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก ซึ่งจะสร้างผลกระทบให้ชุมชนในพื้นที่ภาคเหนืออย่างน้อย 36 ชุมชน

ไพโรจน์ พนาไพรสกุล ชุมชนบ้านท่าตาฝั่ง ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีผืนป่ามากที่สุดในประเทศ แต่กำลังได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติเกี่ยวกับป่าไม้สามฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ, พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 นอกจากนั้นขณะนี้ยังมีโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล ที่สร้างความกังวลใจให้ชุมชนเป็นอย่างมาก

“ทรัพยากรน้ำ ชุมชนต้องใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค และหาปลา แต่ว่าตอนนี้มีโครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะสร้างเขื่อนลุ่มน้ำยวม เมย เงา และสาละวิน และโครงการผันน้ำ ส่งท่อไปยังเขื่อนภูมิพล เป็นปัญหาของชาวบ้าน พื้นที่ต่างๆ ที่เกิดเหตุการณ์และมีโครงการแบบนี้ จะทับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ แต่ชาวบ้านไม่สามารถสะท้อนไปที่หน่วยงานต่างๆ ได้ เพราะเขาบอกว่าเราอยู่ในป่า ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เราจึงไม่เห็นด้วยกับโครงการเหล่านี้” ผู้แทนผู้ได้รับผลกระทบกล่าว

คำพอง เทพาคำ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีเขื่อนที่สร้างแล้ว 35 แห่ง ซึ่งทุกโครงการสร้างผลกระทบอย่างหนักต่อชุมชน เช่น เขื่อนปากมูล เขื่อนลำดวงน้อย และเขื่อนสิริกิติ์ ทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมในระดับภาค ผลดีที่ได้จากโครงการจึงไม่คุ้มกับสิ่งที่เสียไป เช่นเดียวกันหากเกิดโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของเขื่อนภูมิพล ชุมชนที่นี่ก็จะได้รับผลกระทบและถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

“ถ้าเขื่อนที่นี่เกิดขึ้น จะกระทบกับป่า กระทบกับสายน้ำ ตาน้ำ ต้นน้ำ และที่สำคัญคือวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่จะเปลี่ยนไปแบบสิ้นเชิง ผู้ที่มีสิทธิอาจไม่ได้สิทธิ เช่น มีสัญชาติควรจะได้สิทธิใช่ไหม แต่ไม่ได้ หรือผู้ที่ไม่มีสัญชาติเลยก็จะถูกถอนสภาพความเป็นคนออกไปอย่างสิ้นเชิง ถ้าสร้างเขื่อนโดยการผันน้ำจากสาละวิน จีนจะลงทุนให้ 1 แสนล้าน แล้วไปผันลงที่เขื่อนภูมิพล ไปหล่อเลี้ยงกรุงเทพฯ ภาคกลาง พวกกลุ่มทุนยอมไม่ได้เด็ดขาด เขาไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดนี้ เพราะเขามีความสัมพันธ์กันแนบแน่นในการประคับประคองให้รัฐบาลยังอยู่ เพื่อจะให้ตัวเองเป็นทุนใหญ่ที่สุด” รองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าว

ส่วน มานพ คีรีภูวดล ชาวปกาเกอะญอผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เห็นว่า ชุมชนชาวกะเหรี่ยงมีเครื่องมือในการต่อสู้สำคัญ คือมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ที่คุ้มครองสิทธิของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ตามองค์ความรู้และภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน

“เครื่องมือที่พวกเราทุกคนมีอยู่คือ มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ปัญหาคือ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยนำไปปฏิบัติการในพื้นที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเลย ผมคิดว่าแนวร่วมสำคัญคือควรสามัคคีกับเจ้าหน้าที่รัฐระดับพื้นที่ในการทำข้อมูล หมายถึงเจ้าหน้าที่ที่ดีๆ นะครับ ไม่ใช่คนที่ละเมิดสิทธิพี่น้องชาวบ้าน” มานพเสนอ

อภิชาติ ศิริสุนทร รองประธานกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การจัดการน้ำของรัฐไทยเป็นโมเดลแบบตะวันตกที่ผ่านการถอดบทเรียนไปแล้ว ว่าได้ไม่คุ้มเสียและสร้างผลกระทบอย่างมหาศาล แต่รัฐไทยยังงมงายคิดว่าเป็นนวัตกรรมในการจัดการน้ำ ทั้งที่ชุมชนมีองค์ความรู้และภูมิปัญญาของตนอยู่แล้ว แต่รัฐก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ ฉะนั้นจึงต้องแก้ปัญหาที่โครงสร้างอำนาจในการจัดการทรัพยากรให้ชุมชนมีสิทธิในการจัดการด้วยตนเอง ในกรณีชุมชนชาติพันธุ์นั้น ตนยืนยันว่าควรผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่อไป

“ผมดีใจที่ได้เห็นร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เป็นกฎหมายของพวกเราเอง ลองดูกฎหมายอุทยานฯ ใหม่ ที่ไม่ได้เพิ่มอำนาจให้พี่น้องเลย แต่ไปเพิ่มอำนาจให้กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ เราต้องพูดให้เสียงดังๆ หมายถึงว่าเครือข่ายทุกองคาพยพต่อไปนี้ทั่วประเทศ ต้องร้อยรักและพูดเสียงดังๆ ว่า ถึงเวลาที่จะต้องกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรให้พวกเราแล้ว อย่างร่าง พ.ร.บ. นี้ ที่เราเขียนจากประสบการณ์และวิถีชีวิตที่สั่งสมมายาวนาน เพื่อให้พวกเรามีสิทธิ มีเสียง รัฐเขาบอกว่า ทรัพยากรเป็นของรัฐ เขาก็ขีดเขียนกฎหมายขึ้นมาเพื่อให้อำนาจรัฐในการจัดการ เขาจะกีดกันพวกเราออกจากวงจรของอำนาจ วันนี้พวกเรามาถูกทางแล้วที่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ และผมจะเป็นคนแรกที่ลงนามสนับสนุน” อภิชาติ กล่าวย้ำ

อนึ่ง โครงการอุโมงค์ผันน้ำลงเขื่อนภูมิพลนั้นมีความเป็นมาตั้งแต่ปี 2520 จนเป็นรูปเป็นร่างเมื่อปี 2535 มีการศึกษาแนวทางการผันน้ำอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะการศึกษาความเหมาะสมของโครงการและรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในปี 2546 ต่อมาในช่วงปี 2560-2562 กรมชลประทานได้จัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการและรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมพร้อมกับออกแบบโครงการแนวส่ง ในชื่อ “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก” ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ ตำบลแม่วะหลวง จังหวัดตาก ตำบลแม่สวด ตำบลกองก๋อย และตำบลสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน, ตำบลนาเกียน ตำบลอมก๋อย อำเภอฮอด และตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ รวมหมู่บ้านที่อยู่ในบริเวณโครงการทั้งที่เป็นอ่างเก็บน้ำ สถานีสูบน้ำ จุดกองวัสดุ และอุโมงค์แล้วประมาณ 36 หมู่บ้าน

หนังสือยื่นถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ

บ้านแม่เงา ต.แม่สวด

อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

 

เรื่อง  คัดค้านโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล   จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก

เรียน คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ

เนื่องด้วยข้าพเจ้า ชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากโครงการทั้งในส่วนที่เป็นเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ สถานีสูบน้ำ จุดกองวัสดุ และอุโมงค์ส่งน้ำ

ซึ่งแนวคิดโครงการผันน้ำสาละวินลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้นมีมาตั้งแต่ราวปี 2520 จนเป็นรูปเป็นร่างเมื่อปี 2535 ที่รัฐบาลไทยต้องการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยได้ศึกษาการผันน้ำจากลำน้ำสาขาต่าง ๆ ของแม่น้ำสาละวินในฝั่งไทยได้แก่ แม่น้ำปาย แม่น้ำยวม และลำน้ำสาขาของแม่น้ำเมย ซึ่งพื้นที่ศึกษาอยู่ในเขตจังหวัดจังหวัดเชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน โดยมีการศึกษาแนวทางการผันน้ำอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะการศึกษาความเหมาะสมของโครงการและรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในปี 2546 แต่เนื่องด้วยเป็นโครงการที่ต้องใช้งบประมาณมากจึงไม่ได้มีการดำเนินการต่อ

ต่อมาในช่วงปี 2560-2562 กรมชลประทานได้จัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการและรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมพร้อมกับออกแบบโครงการแนวส่ง ในชื่อ “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก” ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ ตำบลแม่วะหลวง จังหวัดตาก ตำบลแม่สวด ตำบลกองก๋อย และตำบลสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน, ตำบลนาเกียน ตำบลอมก๋อย อำเภอฮอด และตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ รวมหมู่บ้านที่อยู่ในบริเวณโครงการทั้งที่เป็นอ่างเก็บน้ำ สถานีสูบน้ำ จุดกองวัสดุ และอุโมงค์แล้วประมาณ 36 หมู่บ้าน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมชลประทานได้เข้ามาในพื้นที่เพื่อศึกษาและจัดประชุม แต่ชุมชนที่อยู่รอบ ๆ บริเวณโครงการกลับไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการเหล่านั้นแต่อย่างใด พอรู้ตัวอีกทีกระบวนการศึกษาทั้งหลายก็เสร็จสิ้นแล้ว อีกทั้งที่ผ่านมาข้อกังวลต่าง ๆ ของชุมชนที่ปรากฏในเวทีประชุมแต่ละครั้งก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนและบางข้อกังวลก็ไม่ถูกเขียนลงในรายงาน ซึ่งทุกเวทีประชุมที่ผ่านมาตัวแทนชุมชนที่เข้าร่วมได้แสดงเจนาชัดเจนมาโดยตลอดว่าไม่ต้องโครงการผันน้ำยวม-เงา เนื่องจากกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมดังนี้

  1. กังวลเรื่องน้ำท่วมที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน พื้นที่ที่พวกเราอาศัยและที่ทำกิน ส่วนใหญ่อยู่ใกล้แม่น้ำเงา และแม่น้ำยวม ซึ่งรวมไปถึงลำห้วยสาขาของทั้งสองแม่น้ำด้วย ที่ผ่านมาพวกเราแสดงข้อกังวลนี้มาโดยตลอด ทุกเวที แต่ไม่เคยได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าจะมีมาตรการป้องกัน เยียวยาอย่างไร ได้เพียงตอบพวกเราว่ามีมาตรการแล้วและจะบริหารจัดการน้ำไม่ให้กระทบกับชุมชน
  2. น้ำอุปโภค-บริโภคของชุมชนใช้ระบบประปาภูเขา ดังนั้นหากดูจากโครงการก่อสร้างนี้แล้วย่อมกระทบถึงต้นน้ำอันเป็นแหล่งอุปโภค-บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่เคยมีการชี้แจงให้ชุมชนแต่อย่างใด
  3. หากเกิดความเสียหายต่อที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะชุมชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์และคนที่ยังไม่มีสัญชาติไทย ก็ไม่เคยได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าจะช่วยเหลือเยียวยากรณีนี้อย่างไร
  4.  เรื่องจุดกองวัสดุหลังจากมีการขุดเจาะ ชุมชนยังไม่ทราบแน่ชัดว่ากองดินเหล่านั้นจะใช้พื้นที่กว้างแค่ไหน สูงแค่ไหน และโดยเฉพาะในฤดูฝนจะมีมาตรการในการป้องกันการชะล้างของกองดินเหล่านี้อย่างไร หากเกิดการสไลด์ของดิน และจุดกองดินเหล่านั้นหากกองในพื้นที่ป่า ก็จะทำให้ชุมชนสูญเสียพื้นที่ป่าไปอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ และหากจุดกองดินไปทับกับที่ทำกินชาวบ้านซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็ไม่มีการยืนยันว่าจะมีการชดเชยค่าเสียหายอย่างไร
  5. เรื่องการก่อสร้างเขื่อน ไม่มีการพูดถึงเส้นทางที่จะเข้าไปยังจุดสร้างเขื่อนว่าใช้เส้นทางไหน ระหว่างการขนส่งจะก่อให้เกิดผลกระทบอะไรบ้าง และชุมชนระหว่างทางเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็ไม่เคยรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการและไม่ได้เข้าร่วมเวทีประชุม
  6. เรื่องการทำแบบประเมินที่ผ่านมามีผู้นำที่เห็นด้วยกับโครงการเป็นผู้ดำเนินการแทนโดยวิธีการที่ใช้คือให้คนประเมินเก็บบัตรประจำตัวประชาชนของสมาชิกชุมชน แล้วเอาไปกรอกเอง และคำตอบในในแบบสำรวจก็ปรากฏว่าเจ้าของบัตรเห็นชอบกับโครงการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพราะไม่มีการอธิบายให้ชาวบ้านฟังว่าเนื้อหาในแบบสอบถามแต่ละคำถามนั้นถามว่าอย่างไร อีกทั้งยังไม่รู้ว่าข้อมูลที่กรอกลงในแบบสอบถามนั้นตรงตามเจตนารมณ์หรือไม่
  7. เรื่องจำนวนชุมชนที่ปรากฏในรายงานโครงการนั้นก็มีแต่ชุมชนหลัก ๆ ที่ปรากฏบนแผนที่ แต่ในบริเวณรอบ ๆ โครงการยังมีอีกหลายชุมชนที่ไม่ปรากฏในรายงาน เพราะชุมชนเหล่านั้นเป็นหย่อมบ้านของบ้านหลักที่ปรากฏในรายงาน
  8. เรื่องการใช้ภาษาในที่ประชุม รายชื่อชุมชนที่ปรากฏในรายงานของกรมชล 36 ชุมชน ล้วนแล้วแต่ใช้ภาษาท้องถิ่น คือภาษากะเหรี่ยง ซึ่งมีทั้งกะเหรี่ยงโปว์และกะเหรี่ยงสกอร์ แต่ในการดำเนินการประชุมผู้จัดประชุมใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก ผู้นำชุมชนที่ถูกเชิญเข้าร่วมประชุมอาจสื่อสารภาษาไทยได้ แต่ก็ไม่มีความเข้าใจเนื้อหาเพียงพอที่จะนำมาถ่ายทอดแก่สมาชิกชุมชนต่อได้  และในเวทีปัจฉิมนิเทศโครงการ ผู้เข้าร่วมก็ได้สะท้อนในที่ประชุมแล้วว่าสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องนำเสนอในเวทีนั้นผู้เข้าร่วมไม่เข้าใจ อีกทั้งยังไม่ปรากฏว่ามีการเขียนประเด็นนี้ลงในสรุปรายงาน ทั้ง ๆ ที่เป็นประเด็นสำคัญ 

พวกเราเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำเงา-ยวม และชุมชนที่อยู่รอบบริเวณโครงการ ซึ่งที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบหรืออาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวทั้งทางตรงและทางอ้อม ขอยืนยันเจตนารมณ์ว่าพวกเราไม่เห็นด้วยกับ“โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก”

เราต้องการให้คณะกรรมาธิการลุ่มน้ำ ทบทวนแนวทางการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยทั้งระบบเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดจากต้นเหตุ ไม่ใช่แก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเช่นโครงการนี้ ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมและแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปีชี้ชัดแล้วว่า โครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ตลอดจนการผันน้ำจากลุ่มน้ำหนึ่งไปยังอีกลุ่มน้ำหนึ่ง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมให้กับประชาชนได้ และต้องรับฟังเสียงของประชาชนอย่างจริงจังและจริงใจ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบหรืออาจจะได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่ทำรายงานการศึกษาเสร็จแล้วค่อยเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบเช่นโครงการนี้

ดังนั้นพวกเราประชาชนในนามเครือข่ายแม่น้ำเงา แม่น้ำยวม ชุมชนที่ปรากฏในแนวอุโมงค์ผันน้ำ ชุมชนที่อยู่ปลายอุโมงค์ขอเรียกร้องให้กรรมาธิการลุ่มน้ำมีมติทบทวนข้อกังวลและให้ยุติโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตากทันที

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net