ปชช.เดิน 4.4 กม. ไปสภา ร้องแก้ รธน. แบบมีส่วนร่วม ห้ามนิรโทษกรรมรัฐประหาร

ประชาชน ภาคประชาสังคมราว 300 คนเดินเท้า 4.4 กม. ไปรัฐสภา พบ ส.ส. และ กมธ.ศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญจากการเลือกตั้ง มีกระบวนการรับฟังความเห็นและประชามติ ย้ำ ห้ามนิรโทษกรรม-รับรองอำนาจให้คณะรัฐประหาร

รศ.อนุสรณ์ อุณโณ ตัวแทน ครช. ยื่นหนังสือให้กับทาง กมธ.

13 มี.ค. 2563 คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ร่วมกับเครือข่าย People go และกลุ่ม/องค์กร/เครือข่ายต่างๆ เดินเท้าจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) กำแพงเพชรไปยังรัฐสภา เกียกกาย ระยะทาง 4.4 กม. เพื่อยื่นข้อเสนอแนะและเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ) ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยที่ประชาชนมีส่วนร่วม มีผู้มาร่วมเดินขบวนราว 200-300 คน

เมื่อผู้ชุมนุมเดินทางถึงรัฐสภาก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส.ส. และสมาชิก กมธ. หลายคนรออยู่ เช่น วัฒนา เมืองสุข รองประธาน กมธ. และประธานคณะอนุฯ กมธ. รับฟังความคิดเห็นและประชาชน โภคิน พลกุล อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส. กรุงเทพ พรรคเพื่อไทย สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ วิเชียร ชวลิต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เป็นต้น 

ก่อนจะยื่นเอกสารให้กับพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธาน กมธ. ที่หน้ารัฐสภา ตัวแทนผู้ชุมนุมได้อ่านแถลงการณ์ ใจความว่า รัฐธรรมนูญ คือ กติกาสูงสุดที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ รับรองสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของบุคคล รัฐธรรมนูญจึงจำเป็นจะต้องมาจากความเห็นพ้องต้องการของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญ 2560 มีที่มาจากคณะบุคคลที่ก่อรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า แล้วก็ตั้งพรรคพวกของตนเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นเองโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม อีกทั้งกระบวนการทำประชามติก็ไม่ได้สะท้อนมติของประชาชน เพราะไม่ได้เปิดให้เกิดการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีตลอดกระบวนการ

เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน ยังไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน แต่ตอบสนองกระชับและขยายอำนาจรัฐ ควบคู่ไปกับการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งยังสร้างเงื่อนไขให้สถาบันการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนอ่อนแอ พร้อมกับให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ รวมถึงสมาชิกวุฒิสภาอย่างกว้างขวาง

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังเป็นเงื่อนไขให้วิกฤติการเมืองทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะเป็นที่มาของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่ได้อิงกับเสียงประชาชนส่วนใหญ่ ส่งผลให้สังคมไทยเผชิญวิกฤติครั้งใหญ่ จะมีก็แต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมเท่านั้นที่จะพาสังคมไทยให้หลุดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ได้ โดย ครช. เสนอหลักเกณฑ์และแนวทาง ดังนี้

  1. ให้ตราพระราชบัญญัติการรับฟังความเห็นของประชาชนว่าสมควรจะให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ความเห็นของประชาชนมีผลผูกพันในทางกฎหมายและทางการเมืองต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
  2. ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้จัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
  • ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้ง โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งและใช้จำนวนราษฎรเป็นเกณฑ์กำหนดจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละจังหวัด และให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยการรับฟังความเห็นตลอดกระบวนการ
  • ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เรื่อง หลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยเพียงเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
  • ให้เขียนในบทเฉพาะกาลของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า ให้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาใช้และจัดการเลือกตั้ง และให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ

3. หลังจากสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ให้มีการจัดทำประชามติว่าประชาชนเห็นชอบหรือไม่ หากประชาชนเห็นชอบก็ให้ประกาศใช้ต่อไป

สำหรับเนื้อหาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงและเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ร. ที่จะตั้งขึ้นตามกระบวนการที่ต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนต่อไป ในฐานะที่ ครช. ประกอบด้วยสมาชิกจากกลุ่มภาคประชาชนที่ทำงานในประเด็นหลากหลาย จึงมีประเด็นที่เห็นควรต้องให้ความสำคัญ ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง สร้างสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เข้มแข็ง ได้แก่

1. ข้อเสนอ ต่อการพัฒนาหลักการทั่วไป ต้องให้สิทธิประชาชนเป็นใหญ่กว่ารัฐ ไม่มีเงื่อนไขการจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยเหตุ “ความมั่นคงของรัฐ”​ ไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมายที่ออกภายหลัง

2. ข้อเสนอ ต่อการพัฒนาประเด็นรัฐสวัสดิการ ต้องสร้างหลักประกันรายได้ หลักประกันด้านสุขภาพ หลักประกันด้านการศึกษา คำนึงถึงการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค และการเข้าถึงการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐต้องเสมอกัน โดยไม่แบ่งแยกตามฐานะ

3. ข้อเสนอ ต่อการพัฒนาประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ต้องคุ้มครองผู้ถูกจับกุมไม่ให้ถูกควบคุมตัวเกิน 48 ชั่วโมง ต้องได้สิทธิประกันตัว สิทธิเข้าถึงทนายความ หลักประกันความเป็นอิสระของศาล โดยไม่แบ่งแยกตามฐานะ

4. ข้อเสนอ ต่อการพัฒนาประเด็นสิทธิชุมชน ต้องคุ้มครองสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิชุมชนและการมีที่อยู่อาศัย สิทธิในที่ดินทำกิน สิทธิในการเข้าถึงแหล่งอาหารที่ปลอดภัย สิทธิในการผลิตและการตลาดที่เท่าเทียม

5. ข้อเสนอ ต่อการพัฒนาสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้แก่ สิทธิของประชาชนที่จะเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่จำกัดอายุ รวมทั้งการปฏิรูปกองทัพให้อยู่ใต้อำนาจพลเรือนด้วย

ประเด็นที่สอง สร้างกลไกเข้าสู่อำนาจที่ยึดโยงกับประชาชน ได้แก่

1. ต้องไม่มีช่องทางสำหรับนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และกำหนดให้ชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. โดยพิจารณาหลักการที่สะท้อนเสียงของประชาชนได้ชัดเจนขึ้น เช่น การให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง

2. ต้องไม่มีระบบวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง หรือการคัดเลือกโดยบุคคลบางกลุ่ม แต่ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยพิจารณาสร้างระบบเลือกตั้งที่ไม่ทับซ้อนกับการเลือกตั้ง ส.ส. เช่น การใช้ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียว

3. ต้องไม่มีกระบวนการวางแผนปฏิรูปประเทศ หรือยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่ทำขึ้นโดยคนกลุ่มเดียว หรือมีที่มาจากคนกลุ่มเดียว

4. ต้องไม่มีผู้บริหารท้องถิ่นที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิกำหนดอนาคตตัวเอง สนับสนุนการกระจายอำนาจ โดยไม่ต้องรอ “ความพร้อม” ของท้องถิ่น

5. ต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหาร และไม่รับรองอำนาจคณะรัฐประหารให้มีผลชอบด้วยกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญ

ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญตามนี้เท่านั้นจึงจะสามารถคลี่คลายวิกฤติการเมืองรวมถึงวิกฤตด้านอื่นๆ ที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ตอนนี้ได้

หนึ่งในผู้ร่วมเดินขบวน

พีระพันธุ์กล่าวขอบคุณ ครช. และเครือข่ายที่มาพบคณะ กมธ. โดยเราตั้งใจจะรับฟังเสียงของประชาชนอยู่แล้ว ขอให้มั่นใจว่ารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และได้มอบหมายให้วัฒนา เมืองสุข รับผิดชอบในการทำหน้าที่ตรงนี้ การที่ทุกคนเดินทางมาไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด ขอบคุณที่ทำให้ทาง กมธ. ประหยัดเวลาในการออกไปรับฟังความคิดตามจุดต่างๆ อีกด้วย ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนมั่นใจว่าจะนำไปเป็นข้อมูลประกอบการการพิจารณาต่อไป (ที่มา:ไทยโพสท์)

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) หนึ่งในทีมจัดงาน กล่าวว่าจำนวนคนที่มาร่วมเดินมากเกินกว่าที่คาดเอาไว้แม้จะเป็นวัน เวลาทำงานและมีเรื่องโควิด-19 แสดงว่ามีคนตื่นตัวว่ารัฐธรรมนูญต้องถูกแก้ไขมากกว่าที่เห็น ขั้นตอนการแก้ไขหลังจากนี้นั้น ตัวแปรหลักคือ กมธ. ที่มารับหนังสือวันนี้ว่าจะใช้ช่องทางไหนและทำอะไรกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ทั้งนี้ การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังและเวลามากกว่านี้ และตอนนี้ก็ยังไม่มีร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นรูปธรรมเลย ยังต้องดูกันต่อไป

"หากเอาไปแล้วเขาไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญเลย หรือแก้ไขเล็กน้อยเอาให้ตัวเองได้ประโยชน์เหมือนเดิม มันก็มีภาพให้เห็นแล้วว่าคนที่พร้อมจะคัดค้านมีเยอะแค่ไหน" ยิ่งชีพกล่าว

รังสิมันต์ โรม ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญอาศัยเสียง ส.ส. ไม่พอ หลายคนใน ส.ส. เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ว่า ส.ว. นั้นยากที่สุด จุดนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ประชาชนส่งมา แต่ยังต้องการแรงกดดันจากประชาชนอีกมาก 

ต่อกรณีความกังวลว่าจะพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคใหม่จะถูกโยงเข้ากับการชุมนุมท้องถนน รังสิมันต์กล่าวว่าคงทำไม่ได้ ประชาชนมีอิสระในการตัดสินใจ

"พวกผมจัดตั้งใครไม่ได้นะ วันนี้จะจัดตั้งคน 55 คนยังไม่ได้เลย ถ้าจะให้ไปจัดตั้งประชาชนคงทำไม่ได้ พรรคเราก็ไม่มีระบบหัวคะแนนที่จะไปจัดตั้งอะไรแบบนั้น ถ้าเราไม่ดูถูกกันเกินไป วันนี้ประชาชนที่มาคือคนที่มีอิสระในการตัดสินใจจริงๆ"

เดินคุยกับคนร่วมกิจกรรม อยากเห็นอะไรเปลี่ยนแปลง

เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์ นักรณรงค์จากเครือข่ายความหลากหลายทางเพศกล่าวว่า รัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน ถ้าไม่แก้ก็ต้องออกไป รัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงความครอบคลุมและคุ้มครองความเสมอภาคทางเพศ เพศสรีระ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกและวิถีทางเพศด้วย อยากเห็นความจริงใจของรัฐบาลอยากให้รัฐธรรมมาจากประชาชนจริงๆ

เอกวัฒน์ยังอยากให้มีบทบัญญัติงบประมาณที่จัดการเรื่องมิติทางเพศอย่างเป็นรูปธรรม (gender responsive budgeting)

ชนินทร์ วงษ์ศรี อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำกิจกรรมอยู่ที่พรรคโดมปฏิวัติ บอกสาเหตุที่มาร่วมกิจกรรมว่าต้องการให้รัฐธรรมนูญมีความยึดโยงกับประชาชนมากกว่านี้ เพราะการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญมี่ผ่านมา ไม่มีความชอบธรรม มีการคุกคาม จับกุมคนรณรงค์ มีหลายข้อที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน ทั้งนี้ ม่อยากเห็นการรัฐประหาร ไม่อยากเห็นระบอบเผด็จการ อยากให้ประชาธิปไตยเป็นไปตามระบบของมันแล้วอย่างอื่นจะตามมาเอง แต่เผด็จการนั้นประชาชนทำอะไรไม่ได้เลย

นิ (ชื่อเล่น) อายุ 56 ปี อาชีพขายของทั่วไป เดินทางกับเพื่อนมาจาก จ.สมุทรปราการ บอกเหตุผลที่มาว่า รู้สึกแย่มากที่รัฐบาลนี้ไม่เป็นธรรม ตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญโดยที่ประชาชนไม่มีส่วนรู้เห็น ส.ว. ก็เลือกกันมาเอง เพราะรู้ว่าอย่างไรก็เเพ้การเลือกตั้ง จึงอยากให้แก้รัฐธรรมนูญให้มาจากเสียงของประชาชน ไม่สองมาตรฐานที่ฝ่ายประชาธิปไตยทำอะไรผิดหมด ฝ่ายรัฐบาลทำอะไรก็ไม่ผิด ขนาดค้ายายังเป็นรัฐมนตรีต่อได้

หนูเกน อินทะจัน อายุ 59 ปี เครือข่ายสลัมสี่ภาค มาจากคลองเตยกล่าวว่า มาร่วมกิจกรรมเพราะอยากให้แก้รัฐธรรมนูญเพราะฉบับ 2560 ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ภาคประชาชน มีแต่ส่วนเกี่ยวข้องจากรัฐ จึงต้องการให้มีการแก้ ให้มีเรื่องสิทธิชุมชน สวัสดิการ ไม่ใช่แบบที่รัฐแจกเงินให้ แต่เป็นหน้าที่ที่รัฐทำให้ประชาชน ให้บัญญัติไว้ว่า ทุกคน อายุ 60 ปี ได้รับสิทธิบำนาญเดือนละ 3000 บาท

ภาพบรรยากาศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท