ละคร ‘ซ้อม 6 ปียังไม่ได้เล่น’ เราฝันอยากปฏิวัติโลกที่ความเหลื่อมล้ำและเผด็จการกลืนกินเรา

 

คุยกับนักแสดงและผู้กำกับจากละครเรื่อง ‘ซ้อม 6 ปียังไม่ได้เล่น’ ละครที่ตระเวนแสดงทั้งในยุโรปและละตินอเมริกาก่อนจะมาแสดงที่ไทย เล่าถึงกลุ่มนักแสดงที่พยายามสร้างละครเวทีเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ ตั้งคำถามถึงความเหลื่อมล้ำ ความทุกข์ และการต่อสู้ของคนในเจเนเรชั่นที่ใครก็บอกว่า “ไม่เคยลำบากเลยสักนิดเดียว”

 


จากซ้ายไปขวา โจ้-ชลธภัจฐ์ นิ่มรัตนสิงห์, จุ้ย-พัฒนพงศ์ ปิ่นอมรรัตน์, แก๊ป-สิระ สิมมี, เซบาสเตียน เซบายอส, ออม-มานิตา ชอบชื่น, แทน-ณพล วรรณโชติ

 

“เราเกิดมาในเจเนอเรชั่น ที่ไม่เคยลำบากเลยสักนิดเดียว ไร้เป้าหมาย ไร้ความอดทน เราเกิดมาไร้ตัวตน และเติบโตอย่างไร้ค่า เรากลายมาเป็นแค่ก้อนขี้กลิ่นน้ำหอม เรายังลำบากไม่พอ….เรายังเจ็บปวดไม่พอ หิวโหยไม่พอ โกรธไม่พอ เราต้องเดือดดาลกว่านี้ ออกไปสู้กับแก๊ซน้ำตาและรถถัง พร้อมระเบิดขวดในมือ...

"พวกผู้ใหญ่ก็ใกล้ฝั่งแล้ว พวกเขาอ้วนขึ้น ผมบางลง พุงเผละและไขมันพอกตับ พวกเขาเริ่มเป็นริดสีดวง หลังจากหมดยุคเผด็จการ พวกเขาก็ขี้เกียจตัวเป็นขนและทอดทิ้งทุกสิ่งที่ต่อสู้กันมา พวกเขาดื่มกินอย่างเปรมปรีดิ์ พวกเขากิน พวกเขาขี้ พวกเขาปี้ พวกเขานอน พวกเขาบำเรอตัวเองด้วยสิ่งหรูหรา พวกเขาสำลักอ้วกตัวเอง และสิ้นลม พวกเขากินเค้กทั้งก้อน เหลือไว้แต่เศษเดนให้พวกเราแก่งแย่ง และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไม พวกเราถึงอยากได้อยากมี ในสิ่งที่เราไม่มี ก็เพราะเราไม่เคยมี

"พวกเขาเอกเขนกบนโซฟาหรู แล้วก็สร้างคำว่า ‘ระบบ’ ขึ้นมา สิ่งที่พวกเขาห้ามพวกเราก็คือสิ่งที่พวกเขาเคยพร่ำสอน จากนั้นก็กล่อมเกลาเราว่าควรประพฤติตัวอย่างไร พวกเขาเทศนาคำเหล่านี้ แต่ไม่เคยทำ”

หนึ่งในโมโนล็อก (บทพูดคนเดียว) ทรงพลังที่สะท้อนความเจ็บปวดของคนรุ่นใหม่จากละครเวทีเรื่อง ‘ซ้อม 6 ปี ยังไม่ได้เล่น’ หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘Trying to create a play that will change the world’ 

ละครเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากบทดั้งเดิมในภาษาสเปน กำกับโดย เซบาสเตียน เซบายอส ผู้กำกับชาวชิลี และ ออม-มานิตา ชอบชื่น ซึ่งทำเรื่องนี้เป็นธีสิสจบของพวกเขาที่ลอนดอน ก่อนจะมาเปิดการแสดงที่ไทยต่อ

แต่ก่อนหน้านี้บทละครดังกล่าวได้ถูกนำไปแสดงในหลายประเทศ ทั้งอังกฤษ อาร์เจนตินา สเปน อิตาลี เบลเยี่ยม เปรู เยอรมันนี บราซิล ฝรั่งเศส อาร์เจนตินา

ขณะที่ในไทยครั้งนี้นำแสดงและร่วมดัดแปลงบทโดยนักแสดงไทยทั้ง 5 คน ได้แก่ ออม-มานิตา ชอบชื่น, โจ้-ชลธภัจฐ์ นิ่มรัตนสิงห์, จุ้ย-พัฒนพงศ์ ปิ่นอมรรัตน์, แก๊ป-สิระ สิมมี และแทน-ณพล วรรณโชติ 

ละครเล่าเรื่องราวหลังเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศกำลังพัฒนาแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างไกล มีกลุ่มนักแสดงที่หนีลงใต้ดินเพื่อซุ่มซ้อมและคิดจะสร้างละครเวทีที่จะมีความหมายทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน พวกเขาอยู่ กิน นอน ด้วยกันที่ใต้ดินมาแล้วเป็นเวลา 6 ปี ด้วยความปรารถนาเดียวก็คือ “การเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้”

 

แทน หนึ่งในนักแสดง เจ้าของโมโนล็อกข้างต้น เล่าให้เราฟังว่า ละครเรื่องนี้ตามความเข้าใจของเขาคือการเล่าถึงความพยายามของคนรุ่นใหม่ที่เป็นชนชั้นกลางที่พยายามจะต่อสู้เปลี่ยนแปลงโลกตามแนวทางของพวกเขา โดยที่การต่อสู้ของเขามันอาจจะดูเล็กจ้อยมากเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อน แต่ขณะเดียวกันคนรุ่นก่อนเองก็ไม่ได้ส่งผ่านการต่อสู้เหล่านั้นมาสู่เขา 

“ความรู้สึกเรา มันหดหู่อยู่นะ มันเป็นความพยายามของคนกลุ่มเล็กๆ ที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงโลกเท่าที่พวกเขาจะทำได้ มันเหนื่อย และก็อาจจะยังไม่เห็นผลในรุ่นนี้ แต่เราคิดว่าเราควรจดจำช่วงเวลานี้เอาไว้ มันสะท้อนเรื่องความไร้อำนาจของนักต่อสู้ แต่ก็เป็นการจุดประกายบางอย่าง มันริบหรี่แต่ก็เป็นความหวังที่จำเป็น ก็เหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นในไทยตอนนี้ ก็เริ่มเห็นว่ามันจุดติดแล้ว รึเปล่านะ” แทนทิ้งคำถามไว้

 

“จริงๆบทเดิมมันเป็น 3 ปี เรามาเปลี่ยนให้เป็น 6 ปี เพราะมันตรงกับที่ ‘เขา’ อยู่มานานแล้ว” แก๊ป หนึ่งในนักแสดงเล่าให้เราฟัง

แก๊ปสนใจการเมืองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเห็นความทับซ้อนระหว่างบทละครกับชีวิตจริงที่ดำเนินไป แก๊ปเล่าว่า ส่วนตัวคิดว่าตลอด 6 ปีที่ผ่านมา สิทธิมนุษยชนในบ้านเรานั้นไม่ใกล้เคียงกับระดับขั้นพื้นฐานที่ควรจะเป็น 

“จริงๆ ละครเรื่องนี้เราอินกับมันหลายประเด็นมาก ตั้งแต่เรื่องชาติพันธุ์ เรื่องเพศ เรื่องสลายการชุมนุมปี 53 มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในสังคม แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะแตะต้องไม่ได้ แต่มันมีหลายชั้นมากในการทำความเข้าใจ แล้วมันยังมีเรื่องประวัติศาสตร์สากลด้วย บางทีต้องเปิดกูเกิ้ลไปด้วยตอนซ้อม พอได้เห็นโลกกว้างขึ้นมันทำให้เราเห็นว่าจริงๆ ชิลี ฝรั่งเศส ไทย มันก็มีบริบทบางอย่างที่คล้ายกัน ต่อให้เป็นประเทศไหน ชนชาติไหน วัฒนธรรมต่างกันแค่ไหน เผด็จการมันก็ยังมีพื้นฐาน วิธีการคิดที่เหมือนกัน พอเรารู้กว้างขึ้นมันก็มีประโยชน์ในการทำความเข้าใจประเทศเราเองและตัวเราเองมากขึ้น” แก๊ปเล่า

 

 

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น ผู้ริเริ่มโปรเจคละครเรื่องนี้คือเซบาสเตียน ซึ่งเคยทำละครเรื่องนี้เป็นธีสิส เล่าให้เราฟังว่าชิลีเองก็ไม่ต่างจากไทยเท่าไหร่นัก เคยเป็นประเทศที่ถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการมายาวนาน และจนถึงตอนนี้ความเหลื่อมล้ำและช่องว่างทางรายได้ของคนรวยและคนจนก็ยังติดอันดับโลกเช่นเดียวกับไทย 

เราจึงถือโอกาสนี้สัมภาษณ์เขาถึงจุดเริ่มต้นของละคร ความคิดของเขาที่มีต่อคนใน ‘เจเนเรชั่นที่ไม่เคยลำบากเลยสักนิดเดียว’ ไปจนถึงเรื่องการปฏิวัติ

 

แรงบันดาลใจในการทำละครเรื่องนี้?

พวกเราคุยกันเรื่องนี้ก่อนที่จะเริ่มทำละครกัน โมโนล็อกที่ว่า “เราเกิดมาในเจเนเรชั่นที่ไม่เคยลำบากเลยสักนิดเดียว” ผมหมายถึงอย่างนั้นจริงๆ บางครั้งคุณอาจรู้สึกว่าชีวิตคุณเจ็บปวดเหลือเกิน แต่ไม่ คุณมีชีวิตที่สะดวกสบาย จนคุณมองไม่เห็นความทุกข์ของคนอื่น

ในชิลี เรามีเผด็จการกระหายเลือดในปี 1973-1990 บางอย่างคล้ายกับที่นี่ ผู้คนหายตัวไป หลายคนถูกฆาตกรรม หลายคนโดนเซ็นเซอร์ ผู้หญิงหลายคนถูกข่มขืนโดยทหาร ที่เมืองไทยเองก็มีรัฐประหารหลายครั้งเช่นเดียวกับชิลี ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 แล้วก็ 6 ตุลา 2519 

ดังนั้นผมจึงรู้สึกดีมากที่ได้ทำการแสดงนี้กับนักแสดงชาวไทย เพราะตอนที่ผมแสดงรอบพรีเมียร์ที่ลอนดอน มันแตกต่างจากที่นี่ ความรู้สึกของคนที่นั่นไม่ได้เข้มข้นเท่ากับที่นี่ การแสดงครั้งนี้มันจึงเป็นการพูดถึงคนที่อยู่ที่นี่โดยตรง เพื่อจะบอกเล่าถึงความทุกข์ของพวกเขา เพื่อที่จะบอกว่าคุณไม่ได้ถูกลืม 

 

ในขณะที่รุ่นพ่อแม่เราเองก็มักจะบอกว่าเรานั้นอยู่ในยุคที่สะดวกสบาย แล้วคุณคิดว่าความทุกข์ของคนในรุ่นเราคืออะไร?

จริงๆ มันก็เป็นอะไรที่เหมือนมายาคติอย่างหนึ่ง พ่อแม่เรามักพูดว่าเรานั้นอยู่ในยุคที่สะดวกสบาย แต่นี่มันโหดร้ายมาก เพราะพวกเขากำลังบีบให้เรารู้สึกเกลียดตัวเอง ให้เรารู้สึกผิดกับสิ่งที่ไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา เราไม่ได้เลือกที่จะเกิดมาในเจเนเรชั่นนี้ ในละครก็จะมีตัวละครที่พูดถึงคนรุ่นก่อนว่า คุณบีบให้เรารู้สึกเกลียดตัวเอง และเมื่อมองดูรุ่นพวกคุณ คุณเองก็เคยต่อสู้มาก่อน แต่ตอนนี้คุณมีชีวิตที่สุขสบายแล้วคุณก็หยุดสู้ 

สิ่งที่ผมจะบอกคือ ใช่ ผมเกิดมาในเจเนเรชั่นที่ไม่เคยต้องต่อสู้ แต่คุณเองก็หยุดสู้เช่นกัน และเลี้ยงผมขึ้นมาให้เป็นแบบนี้ คุณบ่นว่ารุ่นของเราไม่เคยต้องลำบาก ไม่เคยต้องดิ้นรน แต่คุณก็ไม่เคยยอมรับว่าคนในเจเนเรชั่นนี้คือความรับผิดชอบของคุณด้วยเหมือนกัน 

ผมคิดว่าเจเนเรชั่นของพวกเรา ในหลายประเทศ โดยปกติทั่วไปแล้วไม่ได้เป็นรุ่นที่ยอมก้มหัวให้กับผู้มีอำนาจ เรากล้าที่จะล้อเลียนผู้มีอำนาจ เรามีความคิดเห็นของตัวเอง ที่รัฐไม่สามารถกล่อมเกลาเราได้ ซึ่งผมคิดว่าสิ่งนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้ เจเนเรชั่นเราไม่ได้ศรัทธาในสิ่งซึ่งเจเนเรชั่นก่อนเชื่อมั่นหรือยึดถือ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ กษัติรย์ หรือพระเจ้า 

สาเหตุหนึ่งต้องยอมรับว่าเจเนเรชั่นเราก็มีการศึกษาเฉลี่ยที่สูงกว่าเจเนเรชั่นก่อนหน้า อีกสาเหตุคือการที่ทุกคนเข้าถึงโซเชียลมีเดีย ทุกวันนี้ทุกคนสามารถเป็นนักข่าวได้ ถ้าคุณเห็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม คุณก็แค่บันทึกแล้วเผยแพร่มัน ทุกคนก็เห็นได้ ทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยที่รัฐไม่อาจปิดกั้นได้ รัฐไม่สามารถจะโกหกใครได้อีก 

โลกโดยตัวของมันเองแล้วไม่ได้เป็นที่ที่มีความยุติธรรมอยู่แล้วตั้งแต่แรกเริ่ม คุณจ่ายภาษีซึ่งถูกนำไปให้ ‘พวกเขา’ ใช้จ่าย นี่มันอะไรกัน ในเมื่อเราเองก็ต้องกิน ต้องใช้ ต้องจ่าย ผมไม่ได้อยากร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี ผมแค่ต้องการชีวิตที่มีศักดิ์ศรี   

และเพราะเราเข้าถึงความจริงได้มากขึ้น เรามีการศึกษากันมากขึ้น ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมจึงโผล่ขึ้นมาให้เราได้เห็นมากขึ้น เราเห็นมันได้อย่างชัดเจน แม้ว่าเราจะเป็น “เจเนเรชั่นที่ไม่เคยลำบากเลย”ก็ตาม เราก็ยังเห็นมัน คนในประเทศผมเผาสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน และบอกว่าเรามาสร้างประเทศใหม่กันเถอะ เพราะประเทศนี้มันห่วยสิ้นดี พวกเขาเห็นเจ้าหน้าที่รัฐคอร์รัปชั่น จึงไม่มีใครสนใจเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรืออำนาจรัฐ และผมเห็นสิ่งนี้ที่นี่เช่นกัน พวกคุณรู้สึกว่าเหล่าทหารนั้นคอร์รัปชั่น ตำรวจคอร์รัปชั่น 

อะไรคือสิ่งที่คนเจเนเรชั่นเราหรือทุกคนควรต่อสู้ นั่นคือความเท่าเทียม แค่นั้น ทำไมคนมากมายต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อได้รับเงินเพียงเล็กน้อย ขณะที่คนบางคนไม่ทำอะไรเลยแต่ได้ภาษีของพวกเราไป เอางานของพวกเราไป ทำไมเราต้องเดินทางไปทำงานเสียเวลาไปกลับรวม 4-6 ชั่วโมงต่อหนึ่งวัน แล้วครอบครัวคุณล่ะ ชีวิตคุณล่ะ สุขภาพคุณล่ะ การนอนคุณล่ะ นั่นไม่เป็นธรรมเลย ไม่เป็นธรรม

 

ในละครคุณพูดถึงว่าขบวนปฏิวัติโดยตัวมันเองก็มีปัญหา คุณคิดอย่างไรกับมัน?

คุณเห็นมันในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น เช่นการปฏิวัติในรัสเซีย เราเห็นสตาลินและทรอตสกีมีความขัดแย้งกันเองในการแย่งชิงความเป็นผู้นำ  มันเป็นกระบวนการที่เจ็บปวด เพราะคนในขบวนต่างก็มีความขัดแย้งภายในกันเสมอ และบางการปฏิวัติก็ไม่สำเร็จเพราะสาเหตุนี้ บางครั้งคุณอาจเห็นเพื่อนร่วมขบวนเป็นศัตรูมากกว่ารัฐด้วยซ้ำ ละครเรื่องนี้ก็สะท้อนถึงเรื่องนี้เช่นกัน คุณขัดแย้งกัน ทะเลาะกัน เกลียดกันในขบวน แต่บางทีก็หัวเราะกันได้ 

ในละครมีตัวละครที่ต้องการเป็นผู้นำ และทำตัวเผด็จการ แต่ผมไม่เคยคิดว่าความเป็นฟาสซิสต์นั้นดีต่อขบวน ในละครพวกเขาสู้กันแทบจะฆ่ากันเพื่อบอกว่า หยุดการเป็นฟาสซิสต์

เราสามารถพูดได้ว่าบางส่วนของความเป็นฟาสซิสต์นั้นมีอยู่ในตัวของทุกคน บางคนเหยียดเชื้อชาติ บางคนเหยียดเพศ บางคนเหยียดที่มา แต่เราไม่ควรปล่อยให้มันครอบงำเรา มันเป็นความรับผิดชอบของพวกเราทุกคนที่จะตระหนักถึงการกระทำแบบฟาสซิสต์แบบนี้ เมื่อไหร่ที่เราเห็นเมล็ดพันธุ์ของการเป็นฟาสซิสต์ เราก็ควรจะถอนรากถอนโคนมันซะ 

เราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ เพื่อจะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดแบบในอดีต และเราเห็นแล้วว่าฟาสซิสต์ได้ทำร้ายผู้คนไปมากมายขนาดไหน ดังนั้นฟาสซิสต์จึงไม่ควรมีอยู่ แต่แน่นอนว่าผมก็มีคำถามกับประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่ประชาธิปไตยที่เคารพความเท่าเทียมก็ย่อมดีกว่าการเป็นฟาสซิสต์

 

คุณมองเห็นถึงความขัดแย้งกันเองภายในขบวน แล้วคุณยังเชื่อเรื่องการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมโดยประชาชนไหม?

ผมเชื่อ แม้ว่าทุกวันนี้เราจะมีชีวิตที่สะดวกสบาย ทุกอย่างโอเค ไม่มีใครอยากต่อสู้ นี่อาจเป็นสิ่งที่ทำให้การต่อสู้เป็นเรื่องยากมากขึ้น แต่ยังมีคนที่ต้องการปฏิวัติ คนที่คิดว่าการปฏิวัติต้องเกิดจากประชาชน ซึ่งนี่เป็นเรื่องสำคัญ ผมยังคงเชื่อแม้ว่าผมจะเป็นคนสุดท้ายที่เหลืออยู่ ผมก็ยังเชื่อว่าประเทศของเรา โลกของเราเป็นของเราทุกคน ไม่ใช่ของใครเพียงไม่กี่คน 

ประเทศของผม มีเพียงแค่ 20 ตระกูลที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 50 % ของประเทศ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในละตินอเมริกา หรืออาจจะในโลก แม้เศรษฐกิจของชิลีจะดีมาก แต่เงินส่วนใหญ่ก็ยังไหลไปสู่คนเพียงไม่กี่คนที่เป็นมหาเศรษฐี คนรวยจากประเทศอื่นก็มาอยู่ชิลีเพราะไม่ต้องเสียภาษี ขณะที่คนจำนวนมากในชิลียังเป็นคนจน 

ดังนั้นเราต้องเชื่อว่าประเทศเป็นของพวกเรา เราเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ไม่ใช่ของกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมผมถึงเชื่อว่าการปฏิวัติทางสังคมโดยประชาชนจึงเป็นสิ่งจำเป็น 

 

Crystal Theatre เสนอ
ละครเวที ซ้อม 6 ปี ยังไม่ได้เล่น

ดัดแปลงจากบทละครเวทีชิลี เรื่อง
TRYING TO CREATE A PLAY THAT WILL CHANGE THE WORLD

เรื่องราวหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ในประเทศกำลังพัฒนาแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างไกลแสนไกล มีกลุ่มนักแสดงหนีลงใต้ดิน เพื่อซุ่มซ้อมละครเวทีที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เป็นเวลา 6 ปี ด้วยความปรารถนาเดียวของพวกเขาก็คือ "การเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้"

กำกับโดย Sebastian Zeballos ผู้กำกับชาวชิลี

เปิดแสดงวันที่ 12-15 / 19-22 / 26-29 มี.ค. 63
เวลา 19:30 น.
@Spark Drama Studio ชั้น 2 อาคารจัสมินซิตี้ สุขุมวิท 23

บัตรราคา 550 บาท (จำกัด 35 ที่นั่ง/รอบ)
พิเศษ! บัตร Early Bird ราคา 450 บาท (วันนี้ - 16 ก.พ. 63)

ซื้อบัตรได้แล้ววันนี้ ทาง inbox หรือ add line @CrystalTheatre

*แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 14 มี.ค. 2563 เวลา 19.20 น.

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท