Skip to main content
sharethis

สถ.แจ้งท้องถิ่นทั่วประเทศปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรค

14 มี.ค. 2563 นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 3) และ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2563 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 13 มีนาคม 2563 และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2563 โดยในประกาศทั้ง 2 ฉบับได้มีการแต่งตั้ง ผู้บริหาร ข้าราชการ และพนักงาน ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่

ในส่วนการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วย ให้ข้าราชการสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งดำรงตำแหน่ง ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด, ปลัดเทศบาล, ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล, ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล, นักบริหารงานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ​เป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 3) เฉพาะในเขตท้องที่ที่ตนมีอำนาจหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ

และให้ข้าราชการสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งดำรงตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด, นายกเทศมนตรี, นายกองค์การบริหารส่วนตำบล, ผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาล, ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาล, หัวหน้ากองหรือหัวหน้าฝ่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาล, ​ผู้อำนวยการกองหรือหัวหน้าฝ่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนตำบล,​หัวหน้ากองหรือหัวหน้าฝ่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนตำบล หรือตำแหน่งที่คล้ายคลึงกัน

ไปจนถึง ข้าราชการสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลหรือข้าราชการที่ได้รับมอบหมายให้ไปช่วยราชการหรือปฏิบัติราชการในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งดำรงตำแหน่งนายแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ นายสัตวแพทย์ เจ้าพนักงานเภสัชกรรม พยาบาลเทคนิค เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือสัตวแพทย์​ เป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 4) เฉพาะในเขตท้องที่ที่ตนมีอำนาจหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ

“การแต่งตั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 3) และ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2563 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งหลังจากนี้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จะได้ทำการชี้แจงถึงบทบาท และอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่อพี่น้ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการแต่งตั้งต่อไป เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างถูกต้อง ชัดเจน ทันต่อสถานการณ์ในเวลานี้” อธิบดี สถ.​กล่าว

ที่มา: M2F, 14/3/2563

ป่วยไข้ ไอเจ็บคอ อย่าละเลย ลูกจ้างใช้สิทธิวันลาป่วย-ลากิจหยุดงานกักตัวตรวจ COVID-19 ยังได้ค่าจ้าง

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2563 ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เนติบัณฑิตยสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการปฏิบัติตามกฎหมายของนายจ้างและลูกจ้างแรงงาน กรณีถูกกักตัวสังเกตอาการหรือป่วยจากไวรัส COVID-19

โดยกล่าวว่า หากมีลูกจ้างแรงงานถูกทางการกักตัวเพื่อสังเกตุอาการ COVID-19 เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เรื่องอำนาจของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม ม.34 (1) และ ม.52 เพราะมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งไม่ใช่ความผิดของทั้งฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายนายจ้าง ฉะนั้นสิทธิของลูกจ้างจึงไม่ต้องไปทำงานให้นายจ้าง และไม่ถือว่าเป็นการขาดงานหรือทิ้งงาน แต่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง นายจ้างก็ไม่มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง ตามหลักไม่มีงาน เงินไม่จ่าย หรือโนเวิร์ค โนเปย์

แต่หากลูกจ้างใช้สิทธิวันลาตามกฎหมาย เช่น ลากิจ ลาพักร้อน หรือลาป่วย กรณีมีอาการป่วยจาก COVID-19 ที่เกิดจากการตรวจวัดร่างกาย เพราะมีไข้เกิน 37.5 องศา ย่อมถือว่า "ลูกจ้างป่วย" ซึ่งสามารถใช้สิทธิลาป่วยได้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เมื่อลูกจ้างแจ้งการใช้สิทธิลาป่วยโดยชอบต่อนายจ้างแล้ว ย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันที่ลาป่วย เว้นแต่ลูกจ้างไม่ใช้สิทธิลาเพราะอาจจะไม่ได้รับค่าจ้างเนื่องจากลาป่วยเกิน 30 วันแล้วในรอบปี ทางออกคือลูกจ้างอาจใช้สิทธิหยุดพักร้อนได้และถ้าหากใช้สิทธิหยุดพักร้อนครบตามสิทธิตามกฎหมาย-กฎระเบียบแล้วก็อาจตกลงกับนายจ้างหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างก็ได้

ว่าที่ พ.ต.สมบัติ กล่าวต่อไปว่า ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากสำนักงานประกันสังคมกรณีขาดรายได้ หากใช้สิทธิลาที่มีอยู่และลาป่วยจนครบ 30 วันแล้วส่วนที่ลาป่วยเกิน 30 วันสามารถยื่นขอรับเงินทดแทนฯ จากประกันสังคมได้โดยจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างจริง ได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรังจะได้รับไม่เกิน 365 วัน และผู้ประกันตนตาม ม.39 (ประกันตนเอง) ที่ต้องขาดรายได้จากการประกอบอาชีพ ก็มีสิทธิรับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของรายได้จริง ได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรังจะได้รับไม่เกิน 365 วัน

"ผู้ประกันตนที่มีอาการป่วย มีไข้ ไอ เจ็บคอ อย่าละเลย ให้ไปเข้ารับการตรวจรักษา ซักประวัติในโรงพยาบาล ตามสิทธิการรักษาพยาบาล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และต้องให้ข้อมูลตามความเป็นจริงว่ามีประวัติไปต่างประเทศหรือไม่ หรือมีญาติป่วยเป็นไข้หวัดหรือไม่ เพื่อแพทย์ประเมินอาการได้ถูกต้อง หากแพทย์สงสัยว่าจะเข้าข่ายโรค COVID-19 แพทย์จะส่งตรวจเพาะเชื้อทางห้องแล็บ โดยผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายค่าตรวจหรือค่ายาใดๆ" ว่าที่ พ.ต.สมบัติ กล่าว

หากอาการไม่เข้าข่ายต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจเอง และกรณีผู้ประกันตนไม่สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิได้ เช่น อยู่ต่างจังหวัด ต่างพื้นที่ สามารถเข้ารักษาได้ในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ หรือโรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่งตามระบบประกันสังคม จะสามารถเบิกจ่ายได้เป็นกรณีฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมง

หากจำเป็นต้องถูกกักกันเพื่อไม่ให้มีการแพร่เชื้อ ให้แจ้งโรงพยาบาลตามสิทธิให้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรค COVID-19 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรค COVID-19 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 มี.ค. 2563 กำหนดให้ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินจากสถานพยาบาลตาม ม.36 พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งโรงพยาบาลและคลินิกตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 แล้ว จึงต้องช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วย ระดมทรัพยากร มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเยียวยา และการจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา: คมชัดลึก, 13/3/2563

'กรณ์' ชี้มาตรการรัฐยังแก้ปัญหา COVID-19 ไม่เข้าเป้า เสนอมาตรการยิงตรงประคองเงินหมุนช่วยธุรกิจขนาดเล็ก-คนทำงาน

นายกรณ์ จาติกวณิช ว่าที่หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตลาดคลองเตย รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของพ่อค้าแม่ค้าจากวิกฤติเศรษฐกิจว่า มาตรการทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลใช้อยู่ในขณะนี้ แม้จะเป็นมาตรการที่ดี แต่เป็นการเน้นตอบโจทย์ได้เพียงกลุ่มคนตัวโต ยังไม่เข้าเป้าคนตัวเล็ก ตอบโจทย์แก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่มีผลเท่าที่ควรกับพ่อค้าแม่ขายรายเล็กรายน้อย หลายรายไม่สามารถที่จะรอความช่วยเหลือตามรอบภาษีได้ เราต้องการมาตรการที่ยิงตรงถึงมือทันที

ปีนี้เศรษฐกิจโดนกระหน่ำด้วยโควิด-19 รัฐต้องพุ่งแป้าดูแลคนที่เดือดร้อนให้ครบทุกกลุ่ม และต้องเริ่มจากคนที่เจ็บ หนัก สุด ทันที โดยเฉพาะ SME รายเล็ก พ่อค้าแม่ขายรายย่อย ธุรกิจท่องเที่ยว กิจการทัวร์ ไกด์นำเที่ยว ร้านอาหาร รถเข็น หาบเร่ ตามสถานที่ท่องเที่ยว ลูกจ้างแรงงานภาคบริการ คนรับจ้างหาเช้ากินค่ำ ช่วงนี้มีความลำบาก เงินสดไม่พอใช้ หนี้ไม่มีจะจ่าย

"จากประสบการณ์ย้อนไปปี 2553 ไทยเราฟื้นจากวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ได้ทันท่วงที เพราะระบบการบริหารจัดการที่เข้าเป้า คือการประคองเงินหมุน ต่อทุนคนทำงาน ระงับพิษโควิด พลิกวิกฤตเป็นโอกาส" นายกรณ์ กล่าวย้ำถึงหลักคิดในการแก้ปัญหาเร่งด่วน" นายกรณ์ กล่าว

นายกรณ์ กล่าวว่า ช่วงนี้คือช่วงที่ทุกคนทุกพรรคการเมืองต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำงานเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และจากประสบการณ์ที่ผมและคณะ อยู่ในแวดวงเศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็กตัวน้อย จึงขอเป็นตัวแทนที่จะคิดและนำเสนอมาตรการที่เราเชื่อว่า จะสามารถต่อชีวิตให้พวกเขาได้โดยตรงและทันเวลา โดยรัฐบาลต้องพุ่งเป้าตรงไปที่ 4 เรื่องนี้เป็นหลักก่อนเท่านั้น

หลักคิดที่หนึ่ง "ประคองเงินหมุน" เป็นการเติม Cashflow หรือเงินสดในระบบ ห้ามให้ภาคธุรกิจขนาดเล็กหยุดชะงัก เพราะตายแล้วฟื้นยาก ต้องฉีดยาให้ถูกเส้นเพื่อพยุงลมหายใจทางเศรษฐกิจไว้ให้ได้ โดยผู้ที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากมาตรการคือ ผู้ประกอบการ SMEs เน้นที่รายเล็ก รายกลาง ร้านค้ารายย่อย หาบเร่ แผงลอย กลุ่มท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง-โลจิสติกส์และการบิน-ร้านอาหาร-โรงงานที่ขาด Supply Chain-ตลาดชุมชน

มาตรการ "ประคองเงินหมุน" ประกอบด้วย 1) ให้แบงก์รัฐและเอกชนช่วยดอก ปลอดต้น ในวงเงินดอกเบี้ย 30,000 บาทในระยะเวลาเศรษฐกิจชะงักจากโควิด 3 เดือน 2) ให้ออมสินปล่อยกู้โดยตรง แก่กิจการขนาดเล็ก พ่อค้าแม่ขายที่ร่อแร่ วงเงิน 5หมื่นบาท ดอกเบี้ย 1% ต่อเดือนใช้พยุงชีวิตและที่ทางในการทำกินต่อไป

หลักคิดที่สอง "ต่อทุนคนทำงาน" เป็นการช่วยปั๊มหัวใจคนทำงานจากภาวะรายได้ขาดมือ ให้กลับมาหายใจหายคอให้คล่องขึ้น โดยผู้ที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากมาตรการคือ มนุษย์เงินเดือนในกิจการ 5 ประเภทที่กระทบหนักได้แก่ ท่องเที่ยว-ขนส่ง-ร้านอาหาร-โรงงาน-SMEs รวมไปถึงพ่อค้าแม่ขายรายย่อย หาบเร่แผงลอย รับจ้างอิสระ แรงงานขั้นต่ำ แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ ที่ขาดรายได้จากการที่นักท่องเที่ยวไม่มา

มาตรการ "ต่อทุนคนทำงาน" ประกอบด้วย 1) รัฐจ่ายประกันสังคมแทนทั้งขานายจ้าง และลูกจ้างเป็นเวลา 6 เดือน เงินส่วนนี้จะกลับไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งตรงนี้ต่างจากของรัฐที่ทำไปแล้วแต่ให้แค่ลดอัตราเพียง 1% เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ และพนักงานเสียสิทธิในการสมทบที่ลดลง 2) สำหรับพนักงานบริษัท มนุษย์เงินเดือนให้มีการ ลดภาษีเงินได้ส่วนบุคคลในส่วนของรอบปี 2562 ทันที 20% สรรพากรคำนวณคืนย้อนหลังได้จากระบบ เพิ่มเม็ดเงินให้ระบบมากขึ้นโดยไม่ต้องแจก รัฐบาลหลายพรรคสัญญาเอาไว้นานแล้ว

3) นำค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในการดูแลตัวเองจากโควิด-19มาหักลดหย่อนได้ บุคคลธรรมดา 15,000 บาท นิติบุคคล 50,000 บาท 4) ปล่อยซอฟท์โลน รายละ 50,000 บาท สำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ พ่อค้าแม่ค้าที่สู้ภาวะเศรษฐกิจอันยากลำบาก ตรงนี้จำเป็นมากเพราะจะเป็นกันตัดวงจรหนี้นอกระบบที่เสี่ยงมากที่จะเกิดขึ้น หากวิกฤตยืดเยื้อ

หลักคิดที่สาม มาตรการ "ระงับพิษโควิด" ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการบูรณาการการจัดการปัญหาด้วย โมเดลถ้ำหลวงช่วยหมูป่า พร้อมทำทุกวิถีทางลดอัตราผู้ติดเชื้อเพิ่ม เตรียมพร้อมทุกการรับมือที่ภาคสาธารณสุขต้องการ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือมีขั้นตอนดูแลคนแข็งแรงให้ไม่ป่วยเพิ่มแบบเป็นระบบ

หลักคิดที่สี่ ซึ่งสำคัญที่สุดคือ การ "พลิกวิกฤตเป็นโอกาส" โดยยกตัวอย่าง เถาเป่าหรือตลาดออนไลน์ของจีนที่โตก้าวกระโดขึ้นมาได้จากวิกฤตโรคซาร์ส

"ถึงเวลาภาครัฐชู E-Commerce พร้อมพลิกโฉมการบริการภาครัฐเป็น GovTech" เพราะว่าตอนนี้ประเทศไทยเกิดภาวการณ์ที่เรียกว่า รถโล่ง คนหาย ห้างวาย ร้านเงียบ แต่การซื้อขายยังคงอยู่!! ดังนั้น สิ่งที่ทำทันทีได้คือ รัฐเอื้อระบบนิเวศน์ E-Commerce โดยมีการเสนอมาตรการหั่นค่าส่งไปรษณีย์ 50% ทันที พร้อมเจรจาเอกชนโลจิสติกส์รายอื่นๆ และต้องเปิด Platform ค้าออนไลน์ที่ใช้ง่าย ส่งง่าย สำหรับสินค้าจำเป็นเช่น หน้ากาก เจล...4 หลักคิดและมาตรการด่วนทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลทำเรื่องหลักที่สำคัญจำเป็นเร่งด่วนแก่คนตัวเล็กที่เดือดร้อนที่สุดก่อน โดยเรียกร้องให้เร่งทำทันทีก่อนที่พวกเราจะตายกันหมด" นายกรณ์ กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 13/3/2563 

ก.แรงงาน เตรียมหารือสมาคมโรงแรมไทยประเด็นผลกระทบกรณีว่างงานจาก COVID-19

นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เตรียมประชุมหารือกับนายกสมาคมโรงแรมไทย ประเด็นผลกระทบกรณีว่างงาน จากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด -19 ตอนนี้ พบว่า ธุรกิจท่องเที่ยว ทั้ง โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร สายการบิน สถานบันเทิง จำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงอยากให้ช่วยเหลืออย่างไร และมีรายงานลูกจ้างได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก

ตามการรายงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่ไปสำรวจมาจากทั่วประเทศ ลูกจ้างได้รับผลกระทบมากกว่า 2,400 คน โดยสถานประกอบการ หลายแห่งได้ใช้วิธีชะลอการเลิกจ้าง พักงาน หรือ หยุดการจ้างงานชั่วคราวไว้ก่อน โดยมีโรงแรม และธุรกิจท่องเที่ยว เลือกใช้มาตรา 75 ก็คือ ให้ลูกจ้างหยุดงานไปก่อนชั่วคราว และจ่ายค่าจ้าง 75 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อประคับประคองสถานการณ์การจ้างงานไว้ให้นานที่สุด

สำหรับประเด็นการช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายนายจ้างลูกจ้าง เรื่องการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม จาก 5 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 4 เปอร์เซ็นต์จะเริ่มตั้งแต่งวดสิ้นเดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป

ที่มา: news.ch7.com, 13/3/2563 

ส่งกลับแรงงานไทยที่กลับจากเกาหลีใต้ 240 คน ไปสังเกตอาการต่อที่บ้านแล้ว

13 มี.ค. 2563 ส่งกลับแล้ว 240 แรงงานไทยนอกระบบที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ และถูกพาตัวมาเฝ้าสังเกตอาการที่ศูนย์เฝ้าระวังของฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี โดยตั้งแต่เช้าแพทย์มาตรวจสุขภาพให้ผู้ที่จะเดินทางกลับ พร้อมมอบทรัพย์สินส่งคืนให้ และแจกอาหารเครื่องดื่มให้ติดตัวไปทานระหว่างเดินทาง เพราะจะไม่มีการจอดแวะระหว่างทาง

การเดินทางครั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจัดรถบัส 16 คัน รถโดยสารขนาดเล็ก 3 คัน พาส่งกลับไปสังเกตอาการต่อที่บ้านเกิดให้ครบ 14 วัน โดยมีสาธารณสุขในพื้นที่ และ อสม.เข้าไปดูแลใกล้ชิด ส่วนศูนย์เฝ้าระวังอาคารรับรอง หลังจากส่งแรงงานกลับแล้วจะมีการบิ๊กคลีนนิ่ง เตรียมพร้อมรับคนไทยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจากประเทศอื่นตามคำสั่งรัฐบาลต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 13/3/2563 

อนุมัติค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรสาธารณสุขสู้ ‘COVID-19’ ผลัดละ 1,000-1,500 บาท

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2563 นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง ลงนามในหนังสือที่ กค 0402.5/010816 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2563 เรียน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ขอตกลงการเบิกจ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 (Covid-19) โดยระบุว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งว่า ได้เกิดการระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน และจากการติดตามสถานการณ์การระบาดของโรค กระทรวงสาธารณสุขได้คาดการณ์จำนวนผู้ป่วยตามหลักการทางระบาดวิทยาว่าจะพบผู้ป่วยเข้าเกณฑ?สอบสวนโรค (PUI) ผู้ป่วยยืนยัน ผู้ป่วยที่มีประวัติเดินทางจากประเทศในกลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยในประเทศไทยที่มีลักษณะการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในวงจำกัด

ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สถานพยาบาลเทศบาลและท้องถิ่น จึงต้องบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้การเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมการระบาดของโรคให้อยู่ในวงจำกัด ลดโอกาสการแพร่เชื้อโรคเข้าสู่ประเทศไทย และสามารถดูแลคนไทยและผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยให้ผลอดจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงขอทำความตกลงเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะยุติ ดังนี้

1.ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

1.1 แพทย์และสัตวแพทย์ ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สถานพยาบาลเทศบาลและท้องถิ่น ผลัดละ 1,500 บาทต่อคน

1.2 พยาบาล นักวิชาการด้านการสาธารณสุข นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ นักรังสีการแพทย์ เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สถานพยาบาลเทศบาลและท้องถิ่น ผลัดละ 1,000 บาทต่อคน

ทั้งนี้ การปฏิบัติงานมีลักษณะเป็นเวรเป็นผลัด โดยกำหนดให้ผลัดละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง กรณีที่ปฏิบัติงานไม่เต็มผลัดให้ได้รับลดลงตามสัดส่วน โดยให้คิดเป็นรายชั่วโมง เศษของชั่วโมงถ้าไม่ถึงครึ่งชั่วโมงให้ตัดทิ้ง ถ้าถึงครึ่งชั่วโมงให้ปิดเศษเป็น 1 ชั่วโมง

2.ค่าตอบแทนบุคคลภายนอก หมายถึง ค่าตอบแทนบุคคลที่ไม่ใช่ข้าราชการหรือข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ในการประชุมครั้งละ 1,000 บาทต่อคน

3.ค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยตามที่เบิกจ่ายจริง

3.1 กรณีคนต่างชาติที่ไม่มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล ให้เบิกตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง

3.2 กรณีคนต่างชาติและคนไทยที่มีสิทธิเบิกสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลให้เบิกเฉพาะในส่วนที่เกินจากสิทธิ

โดยกำหนดคำจำกัดความของคำว่า “ผู้ป่วย” ดังนี้

ผู้ป่วยยืนยัน คือ ผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค (PUI) คือ ผู้ที่สัมผัสกับคนป่วยและเดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

กรมบัญชีกลางพิจารณาแล้ว ขอเรียนว่า เพื่อให้การเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสามารถควบคุมการระบาดของโรคให้อยู่ในวงจำกัด ลดโอกาสการแพร่เชื้อโรคเข้าสู่ประเทศไทยและสามาถดูแลคนไทยและผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยให้ปลอดภัย จึงอนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุขเบิกจ่ายค่าตอบแทนและค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยในกรณีดังกล่าวได้ตามที่ขอทำความตกลง

ที่มา: Hfocus, 12/3/2563 

ปิดศูนย์ฯ ทั่วประเทศ ให้แรงงานกักตัวตามภูมิลำเนา

11 มี.ค. 2563 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เปิดเผยภายหลังประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ว่า มีมติให้ปิดศูนย์สัตหีบ และศูนย์ควบคุมในจังหวัดต่าง ๆ พร้อมกำชับให้กระทรวงมหาดไทย ใช้อำนาจทางปกครองจัดส่งตัวบุคคลที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังกลับภูมิลำเนา และประสานกระทรวงสาธารณสุข แต่งตั้งผู้ช่วยเจ้าพนักงานเข้าติดตามการกักตัว และให้บังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมือง ตรวจการเข้า-ออกเมืองอย่างเข้มข้น

สำหรับแรงงานจากเกาหลีใต้ที่เข้ามากักตัว 14 วันในอาคารรับรองสัตหีบ จะกระจายไปกักตัวตามภูมิลำเนาแทน โดยมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดำเนินมาตรการตามกฎหมายอย่างเข้มข้น เพื่อให้การเฝ้าดูอาการมีประสิทธิภาพ หากแรงงานกลุ่มดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามและออกนอกพื้นที่ จะถูกลงโทษตามกฎหมาย

“หลายพื้นที่ยังไม่มีความพร้อมเพียงพอและประชาชนบางส่วนต่อต้าน อีกทั้งหากมีการรวมตัวจำนวนมากในสถานที่ใดที่หนึ่งอาจติดต่อโรคได้ง่าย เหมือนการแพร่ระบาดในเรือสำราญไดมอนด์ ปริ้นเซส”

ขณะที่ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันมาตรการกักตัวในบ้าน จะมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำคนในครอบครัว และเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบอำนาจจากการแต่งตั้ง เข้าร่วมตรวจสุขภาพ ตลอด 14 วัน พร้อมประสานฝ่ายปกครองในพื้นที่และทหารร่วมดูแล รวมทั้งส่งข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่น

ขณะที่นายชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล เปิดเผยว่า มาตรการที่ออกมาเป็นการคัดกรองตั้งแต่ต้นทาง 3 ขั้นตอน ตั้งแต่ที่สถานทูต การคัดกรองของระบบสายการบิน และการคัดกรองในประเทศ โดยจะดำเนินมาตรการดังกล่าวไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

ที่มา: ThaiPBS, 11/3/2563 

สรุป 40 อาชีพสงวนเฉพาะคนไทย ชง รมว.แรงงาน ลงนามก่อนประกาศใช้

11 มี.ค. 2563 สุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน "กระทรวงแรงงาน" เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยมี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกำหนดงานห้าม "แรงงานต่างด้าว" ทำเด็ดขาด 27 งาน และงานที่ให้ "คนต่างด้าว" ทำโดยมีเงื่อนไข 13 งาน รวม 40 งาน ทั้งนี้เพื่อให้การจ้าง "แรงงาน" ต่างด้าวมีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับความต้องการแรงงานต่างด้าวที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ

โดยจากนี้จะเสนอ รมว.แรงงานลงนามในประกาศ และจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 60 วัน จากนั้นจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจการทำงานของ "แรงงานต่างด้าว" ว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่

หากพบแรงงานต่างด้าวทำงานที่ไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษปรับ 5,000-50,000 บาท และจะถูกส่งกลับประเทศต้นทาง ส่วนนายจ้างมีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อการจ้างคนต่างด้าวหนึ่งคน และหากทำผิดซ้ำ จะมีโทษปรับ 50,000-200-0000 บาท โทษจำไม่เกิน 1 ปี และขึ้นบัญชีห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวอีก 3 ปี

40 อาชีพสงวนเฉพาะคนไทย ห้ามคนต่างด้าวทำ

บัญชีที่ 1 งานห้ามทำโดยเด็ดขาด ได้แก่

- งานแกะสลักไม้
- งานขับขี่ยานยนต์
- งานขายทอดตลาด
- งานเจียระไนเพชร/พลอย
- งานเสริมสวย
- งานทอผ้าด้วยมือ
- งานทอเสื่อ
- ทำกระดาษสาด้วยมือ
- ทำเครื่องเขิน
- ทำเครื่องดนตรีไทย
- ทำเครื่องถม
- ทำเครื่องเงิน/ทอง/นาก
- ทำเครื่องลงหิน
- ทำตุ๊กตาไทย
- ทำบาตร
- ทำผ้าไหมด้วยมือ
- ทำพระพุทธรูป
- ทำร่ม
- งานนายหน้า/ตัวแทน
- งานนวดไทย
- งานมวนบุหรี่
- งานมัคคุเทศก์
- งานเร่ขายสินค้า
- งานเรียงอักษร
- งานสาวบิดเกลียวไหม
- งานเลขานุการ
- บริการทางกฎหมาย

บัญชีที่ 2 งานห้ามโดยมีเงื่อนไขตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ได้แก่

- วิชาชีพบัญชี
- วิชาชีพวิศวกรรม
- วิชาชาชีพสถาปัตยกรรม

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 11/3/2563 

แรงงานพม่าที่แม่สอด เรียกร้องนายจ้างต่ออายุเอกสารรับรองแสดงตัวบุคคล (CI) ให้

เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2563 ได้มีกลุ่มแรงงานพม่าซึ่งเป็นพนักงานของ หจก.แม่สอดบอร์เดอร์ (ผลิตหรือจำหน่ายเครื่องประดับ ได้รวมตัวกันประมาณ 50 คน ณ บริเวณลานหน้า หจก.แม่สอด บอร์เดอร์ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อเรียกร้องให้ผู้ประกอบการต่ออายุเอกสารรับรองแสดงตัวบุคคล (CI) ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 31 มี.ค.2563 โดยบริษัทจะมีการปรับสถานะการจ้างแรงงานต่างด้าวจากเดิมเป็นเอกสารบัตรผ่านแดน (Border Pass) ตาม ม.64 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยแรงงานพม่าให้ข้อมูลว่า ถ้าเป็นสถานะเดิมจะสามรถเดินทางได้ทั่วราชอาณาจักรและได้ใช้สิทธิประกันสังคม

นายชัยพฤกติ์ เชียรธานรักษ์ นายอำเภอแม่สอด ได้สั่งการให้นายกันต์พงษ์ พิพัฒมนตรีกุล ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานความมั่นคง พร้อมด้วยสมาชิก อส.ร้อย อส.อ.แม่สอด 3 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย จัดหางานจังหวัดตาก สาขาแม่สอด ทหาร ฉก.ร.4 จนท.ตำรวจ สภ.แม่สอด ตม.จังหวัดตาก และผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 ต.ท่าสายลวด เพื่อร่วมชี้แจงทำความเข้าใจให้ผู้ชุมนุมทราบเกี่ยวกับระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทมีนโยบายและยืนยันที่จะเปลี่ยนสถานะการจ้างแรงงานตาม ม.64

ที่มา: เชียงใหม่นิวส์, 10/3/2563 

นักสิทธิจี้สหรัฐฯ ลดอันดับ ‘ไทย’ สู่ ‘เทียร์ 2 เฝ้าระวัง’ ในรายงานการค้ามนุษย์

ไทย ซีฟู้ด เวิร์คกิง กรุ๊ป (Thai Seafood Working Group - SWG) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรด้านสิทธิแรงงาน, สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อมเกือบ 60 กลุ่มที่ร่วมกันทำงานเพื่อยับยั้งการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมงของไทย ระบุว่า รัฐบาลไทยไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบที่รุนแรง

“ไทยยังคงเป็นประเทศที่แรงงานถูกล่วงละเมิดและฉกฉวยผลประโยชน์... โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการประมงและสิ่งทอ” เอสเมอรัลดา โลเปซ ผู้อำนวยการ อินเทอร์เนชันแนล เลเบอร์ ไรต์ส ฟอรัม (International Labour Rights Forum) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก SWG ระบุ

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ หลังมีการตรวจสอบพบว่าแรงงานถูกล่วงละเมิดอย่างกว้างขวาง กระทั่งสหภาพยุโรปขู่จะระงับนำเข้าอาหารทะเลจากไทย

ปีที่แล้วสหรัฐฯ จัดอันดับไทยเอาไว้ที่ ‘เทียร์ 2’ ในรายงานประเมินสถานการณ์การค้ามนุษย์หรือ Trafficking in Persons Report (TIP) โดยระบุว่าไทยได้เพิ่มความพยายามอย่างมีนัยยะสำคัญในการต่อต้านอาชญากรรมประเภทนี้

อย่างไรก็ดี SWG ได้เผยแพร่รายงานเรียกร้องให้สหรัฐฯ ลดอันดับไทยลงไปอยู่ที่ ‘เทียร์ 2 เฝ้าระวัง’ (Tier 2 Watch List) ซึ่งหมายถึงกลุ่มประเทศที่ไม่ได้มาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดปัญหาค้ามนุษย์ และสมควรถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ

SWG ชี้ว่า รัฐบาลไทยยังขาดความคืบหน้าในประเด็นสำคัญๆ เช่น จำนวนเหยื่อบังคับใช้แรงงาน, การตรวจสอบแรงงาน, การช่วยเหลือผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์, ปัญหาหนี้สินของแรงงาน และการที่แรงงานถูกนายจ้างยึดหนังสือเดินทาง

รายงานฉบับนี้ยังอ้างว่ารัฐบาลไทยไม่มีมาตรการปกป้องแรงงานและนักเคลื่อนไหวด้านแรงงานที่ออกมาเปิดโปงการล่วงละเมิด ขณะที่แรงงานอพยพก็ไม่ได้รับสิทธิ์ทางกฎหมายที่จะรวมตัวจัดตั้งองค์กรเพื่อต่อรองเงื่อนไขการทำงานที่ดีขึ้น

องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เผยแพร่รายงานเมื่อวันอังคาร (10 มี.ค.) ระบุว่าสภาพแวดล้อมการทำงานในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังพบปัญหาการล่วงละเมิดขั้นรุนแรงอยู่

เกือบ 10% ของแรงงานไทย, พม่า และกัมพูชาในภาคประมงและอาหารทะเลที่นักวิจัย ILO ได้เข้าไปสำรวจความคิดเห็นยอมรับว่าพวกเขาเคยตกเป็นเหยื่อการบังคับใช้แรงงานมาก่อน

“ผลการศึกษาเหล่านี้บ่งบอกว่ายังมีแรงงานหลายหมื่นคนในภาคประมงและการแปรรูปอาหารทะเลไทยที่ต้องทำงานในสภาพถูกบีบบังคับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้” นักวิจัย ILO ระบุ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 11/3/2563 

ครม.รับทราบรายงานข้อเสนอส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีปัญหาพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานของรัฐ

ครม.รับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีปัญหาพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานของรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติงาน

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีปัญหาพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานของรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติงาน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงแรงงาน (รง.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) สำนักงาน ก.พ.ร. กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2563 สรุปได้ ดังนี้

ข้อเสนอแนะ กสม.: 1. คณะรัฐมนตรีควรมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการจ้างเหมาบริการพิจารณาหาแนวทางหรือมาตรการในการคุ้มครองสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานของพนักงานจ้างเหมาบริการ

สรุปผลการพิจารณา: กำหนดแนวทางการแก้ปัญหา โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้ (1) ระยะสั้น (เร่งด่วนเฉพาะหน้า) กค. (กรมบัญชีกลาง) จะจัดทำหนังสือซักซ้อมเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับส่วนราชการ ให้ดำเนินการจ้างให้ถูกต้องตามประเภทการจ้างงาน หากเป็นการจ้างเหมาบริการ (จ้างทำของ) ต้องไม่ดำเนินการในลักษณะการจ้างแรงงาน โดยต้องไม่มีลักษณะการควบคุมบังคับบัญชา หรือการลงชื่อปฏิบัติงาน โดยให้พิจารณาตามวัตถุประสงค์ของการจ้างงานเป็นสำคัญ สำหรับการจ่ายอัตราค่าจ้าง ควรพิจารณาในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรม ต้องไม่จ่ายในอัตราที่ต่ำเกินไป โดยคำนึงถึงสภาพการทำงาน ลักษณะงาน และอัตราตลาด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้รับจ้าง และเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (2) ระยะยาว (เชิงระบบ) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รง. และกรมบัญชีกลางเป็นผู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพนักงานจ้างเหมาบริการ รายบุคคล โดยสำนักงาน ก.พ. จะเป็นผู้ประสานและสนับสนุนการรวบรวมข้อมูลดังกล่าว เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมต่อไป

ข้อเสนอแนะ กสม.: 2. คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงมาพิจารณาแก้ไขปัญหาการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อพนักงานจ้างเหมาบริการของส่วนราชการทั้งหมด ให้สอดคล้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานหรือมาตรฐานขั้นต่ำที่ลูกจ้างโดยทั่วไปพึงมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานและกฎหมายประกันสังคม

สรุปผลการพิจารณา: (1) กรมบัญชีกลางแจ้งว่า การจ้างเหมาบริการ (จ้างทำของ) ไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคม และไม่มีสิทธิการลา เนื่องจากขัดกับหลักกฎหมาย ต้องป้องกันไม่ให้ส่วนราชการจ้างงานในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นอีก
(2) กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือซักซ้อมส่วนราชการให้บริหารสัญญาจ้างให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการจ้าง คือ สัญญาการจ้างเหมาบริการ (จ้างทำของ) มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการผลผลิตหรือผลสำเร็จของงานเท่านั้น ดังนั้น ส่วนราชการต้องไม่ปฏิบัติต่อพนักงานจ้างเหมาบริการในฐานะผู้บังคับบัญชา (3) กรมบัญชีกลางจะซักซ้อมส่วนราชการให้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยคำนึงถึงราคากลางและความเหมาะสม สอดคล้องกับลักษณะงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับพนักงานจ้างเหมาบริการ รายบุคคล

ข้อเสนอแนะ กสม.: 3. สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ควรเร่งศึกษาและพิจารณาทบทวนกรอบอัตรากำลังคนภาครัฐในปัจจุบันให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับภาระหน้าที่ของส่วนราชการต่าง ๆ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรของส่วนราชการในระยะยาว

สรุปผลการพิจารณา: การใช้ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวทดแทนการจ้างเหมาบริการอาจไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นภาระงบประมาณของภาครัฐในระยะยาว และการจ้างลูกจ้างชั่วคราวในปัจจุบัน ดำเนินการได้เฉพาะ 4 ประเภท คือ 1) ลูกจ้างชาวต่างประเทศที่มีสัญญาจ้าง 2) ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการที่มีสำนักงานในต่างประเทศ 3) ลูกจ้างชั่วคราวตามระเบียบของสถาบันอุดมศึกษาว่าด้วยการจ้างผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา และ 4) ลูกจ้างชั่วคราวอื่นที่มีข้อตกลงพิเศษกับกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นไปตามมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562 – 2565)

ที่มา: มติคณะรัฐมนตรี, 10/3/2563 

ก.แรงงาน เคาะลดจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนายจ้าง-ลูกจ้างเหลือฝ่ายละ 4% เป็นเวลา 6 เดือน

นายจักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน แถลงผ่านศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้างและนายจ้างลดผลกระทบโควิด-19 ว่า กระทรวงแรงงานกำหนดให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน เหลือฝ่ายละ 4% จากเดิมที่กำหนดให้นำส่งฝ่ายละ 5% เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยลดภาระ

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่เตรียมไว้ช่วยเหลือ ได้แก่ 1) ตรวจสอบสิทธิประโยชน์การเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ให้แก่แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาด หากเป็นสมาชิกฯ มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเนื่องจากโรคระบาดที่ทางการของประเทศของประเทศนั้นๆ ประกาศแล้ว จำนวน 15,000 บาท

2) จัดหางาน ตำแหน่งงานว่าง 81,562 อัตรา และจ้างบัณฑิตจบใหม่มาเป็นผู้ประสานงานโครงการของกระทรวงแรงงานในระดับพื้นที่

3) พัฒนาทักษะฝีมือให้แรงงานในระบบจากเดิม 70,000 คน ฝึกอบรมเพิ่มอีก 30,000 คน รวมฝึกได้ทั้งสิ้น 100,000 คน

4) พัฒนาทักษะฝีมือให้แรงงานนอกระบบจากเดิม 100,000 คน ฝึกอบรมเพิ่มอีก 20,000 คนรวมฝึกได้ทั้งสิ้น 120,000 คน

5) โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานประกันสังคมและธนาคารพาณิชย์ โดยให้สถานประกอบกิจการยื่นขอสินเชื่อในดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด วงเงิน 30,000 ล้านบาท สิ้นสุดโครงการเดือน ธ.ค.63

6) อยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาร่วมกัน 3 กองทุนสุขภาพ (สปส. สปสช. และกรมบัญชีกลาง) สำหรับการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มให้กับสถานพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึงและเพียงพอ

7) แจ้งเวียน สปส.กทม./จังหวัด/สาขา และสถานพยาบาลประกันสังคมทั่วประเทศ เพื่อซักซ้อมแนวปฏิบัติในการให้บริการรักษาพยาบาล กรณีผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาโรคโควิด– 19

8) ส่งเสริมให้สถานประกอบการพัฒนาฝีมือแรงงานพนักงาน ตาม พ.ร.บ.ฯ โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เงินกู้และเงินอุดหนุนจากกองทุนฯ

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 10/3/2563 

ก.ดิจิทัล ผนึกเอกชนวางระบบทำงานออนไลน์

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีดำริให้เตรียมการหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีอุปสรรคต่อการเดินทางไปทำงานจึงหารือเรื่องแนวทางในการทำงานที่บ้าน work@home กับภาคเอกชน

กระทรวงได้เชิญผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) และผู้ให้บริการสื่อสาร 6 บริษัท รวมถึง ไมโครซอฟท์ ซิสโก้ และกูเกิล มาหารือถึงการใช้เทคโนโลยีและบริการที่จะอำนวยความสะดวกในการทำงานที่บ้านเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งบริษัทจะสนับสนุนแพลตฟอร์มให้ภาครัฐฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงานจะเลือกใช้แพลตฟอร์มของใคร ส่วนโอเปอเรเตอร์ทั้ง 5 รายและ 3BB จะให้บริการโดยไม่คิดค่าบริการรวมไปกับค่าแอร์ไทม์ของแต่ละคนในกรณีการประชุมทางไกล

หลังจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) จะทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อแจ้งลงทะเบียนผู้เข้าใช้ระบบ ทั้งนี้ระยะเวลาที่จะยกเว้นค่าบริการในการใช้ระบบในระยะแรกกำหนดเวลา 6 เดือน

นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 10 มี.ค. 2563 ตนเองจะไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อหารือมาตรการร่วมกันในการรองรับผู้เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงทั้งแรงงานและนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย โดยจะให้ลงทะเบียนกับระบบติดตามเมื่อเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองผ่านแอปพลิเคชัน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 9/3/2563 

มท.ออกมาตรการรับมือผู้เดินทางกลับจากเกาหลีใต้

9 ม.ค. 2563 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ออกหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท 0211.3/ว 1416 ลงวันที่ 8 มี.ค.2563 เรื่องมาตรการเพื่อรองรับผู้เดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลี โดยระบุว่า ตามที่ได้มีข่าวสารเกี่ยวกับผู้ที่เดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อ หรือเป็นพาหะของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เดินทางกลับมายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และกระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่นั้น

แรงงานผิด กม.กลับจากเกาหลีใต้ ตั้งแต่ 8 มี.ค.

เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทยขอแจ้งมาตรการเพื่อรองรับผู้เดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลีจากเมืองอื่นๆ ยกเว้นเมืองแทกู และเมืองคย็องซังเหนือ ดังนี้ 1. แรงงานผิดกฎหมายที่เดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลี ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.2563 เป็นต้นไป ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์พิจารณาให้อยู่ในสถานที่หรือพื้นที่สำหรับสังเกตอาการที่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการให้จังหวัดดำเนินการตามมาตรการฯ และหลักเกณฑ์ลักษณะและแนวทางจัดการสถานที่ควบคุมเพื่อสังเกตการเริ่มป่วย (Quarantine)

แรงงานผิด กม.กลับจากเกาหลีใต้ 23 ก.พ.-7 มี.ค.

2. แรงงานผิดกฎหมายที่เดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลี ก่อนวันที่ 8 มี.ค.2563 หรือตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ.-7 มี.ค.2563 ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดดำเนินการ ดังนี้ แจ้งนายอำเภอทุกอำเภอสั่งการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) และในเขตที่ไม่มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้นายอำเภอประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ร่วมกันสำรวจว่ามีผู้ที่เดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลี ตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ.2563 มาพำนักพักอาศัยในพื้นที่หรือไม่

ทั้งนี้ หากพบให้รายงานข้อมูลดังกล่าวมายังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ตามแบบรายงานข้อมูลผู้เดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลีที่พำนักพักอาศัยในพื้นที่ รวมทั้งขอให้สร้างความเข้าใจให้บุคคลเหล่านั้นไม่ให้สร้างพฤติกรรมเสี่ยงต่อสาธารณะ โดยขอความร่วมมือให้กักตัวอยู่ในที่พักอาศัยเพื่อสังเกตอาการ และมีบุคลากรทางการแพทย์ไปตรวจเยี่ยมเป็นประจำทุกวันจนครบ 14 วัน

ขณะเดียวกัน ตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สาธารณสุขจังหวัด และแรงงานจังหวัด เพื่อยืนยันและนำมาตรวจสอบร่วมกัน พร้อมทั้งรายงานมายังกระทรวงมหาดไทย ตามแบบสรุปรายงานข้อมูลผู้เดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลีที่พำนักพักอาศัยในพื้นที่ภายในวันที่ 10 มี.ค.2563 เวลา 12.00 น. ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ moi0211.3@gmail.com และทาง Line@อัษฎางค์ ตอบข้อสั่งการ

"แรงงานถูก กม.-คนทั่วไป" ที่กลับจากเกาหลีใต้

3. กรณีผู้เดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลีที่เป็นแรงงานถูกกฎหมาย และผู้ที่เดินทางทั่วไป หลังจากผ่านการคัดกรองที่ท่าอากาศยานแล้ว กระทรวงคมนาคมจะจัดพาหนะเพื่อส่งกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวไปยังจังหวัดภูมิลำเนา ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดตามศักยภาพและความเหมาะสมของพื้นที่

ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ดำเนินการจัดประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินสถานการณ์และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเตรียมความพร้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตลอดเวลา

ที่มา: Thai PBS, 9/3/2563 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net