Skip to main content
sharethis

บ้านสมเด็จโพลเผยผลสำรวจพบ คน กทม. 65.5% คิดว่าข่าวปลอม (Fake News) จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดและนำไปสู่ความขัดแย้งได้ 51.8% คิดว่าประชาชนสามารถแยกแยะ ข่าวปลอมได้ เชื่อมั่นข่าวจาก 'โทรทัศน์' มากที่สุดตามมาด้วย เว็บไซต์ และหนังสือพิมพ์ 

15 มี.ค. 2563 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาข่าวปลอม (Fake News)  โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,113 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 3 - 5 มี.ค. 2563 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต้องการสะท้อนความคิดเห็นในเรื่องปัญหาข่าวปลอม (Fake News) ในปัจจุบันการติดต่อสื่อสารได้พัฒนาทำให้เกิดการติดต่อสื่อสารจากหนึ่งคนไปยังคนจำนวนมากๆได้อย่างรวดเร็ว และการส่งต่อๆกันนั้นทำให้เกิดการแพร่กระจายข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างได้ ปัญหาข่าวปลอม (Fake News) เป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสนใจและหาแนวทางในการแก้ไข การตรวจสอบข่าวปลอมของคนในสังคมไทยนั้นมีการตรวจสอบหรือไม่ มีการตรวจสอบด้วยวิธีใด ภาครัฐจะต้องดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างไรในการกำกับดูแลและควบคุมข่าวปลอม (Fake News) ที่ส่งผลกระทบในเชิงลบกับสังคม ทำให้เกิดความแตกตื่นของคนในสังคม ในสถานการณ์ที่คนทุกคนในสังคมสามารถติดต่อสื่อสารจากหนึ่งคนไปยังคนจำนวนมากๆได้อย่างรวดเร็ว และมีการส่งต่อไปยังกว้างขวางและรวดเร็ว ความคิดเห็นของประชาชนต่อปัญหาข่าวปลอม (Fake News) ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยพบเห็นข่าวปลอม (Fake News) ร้อยละ 75.7 และเคยตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่ท่านคิดว่าเป็นข่าวปลอม (Fake News) ที่ได้รับผ่านทางสื่อต่างๆ ร้อยละ 54.2 โดยมีการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่คิดว่าเป็นข่าวปลอม (Fake News) ด้วยวิธีค้นหาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 59.2 อันดับสองคือ ไม่คิดจะตรวจสอบ ร้อยละ 23.9 อันดับที่สามคือ สอบถามผู้เชี่ยวชาญ ร้อยละ 16.9    

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่พบเห็นข่าวปลอม (Fake News) ผ่านเฟสบุ๊ค (Facebook) เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 50.1 อันดับสองคือ เว็บไซด์ (Website) ร้อยละ 12.5 อันดับที่สามคือ ไลน์ (Line) ร้อยละ 10 อันดับที่สี่คือ มีคนเล่าให้ฟัง ร้อยละ 8.6 อันดับที่ห้าคือ ทวิตเตอร์ (Twitter) ร้อยละ 7.7 และพบเห็นข่าวปลอม (Fake News) มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นการเมือง เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ  32.7 อันดับสองคือ หลอกขายสินค้า ร้อยละ 21.5 อันดับที่สามคือ สุขภาพ ร้อยละ 19.9

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าการนำเสนอข่าวสารจากสื่อมวลชน มีความน่าเชื่อถือในระดับปานกลาง ร้อยละ 47.5 รองลงมาคือมีความน่าเชื่อถือในระดับมาก ร้อยละ 33.4 และมีความน่าเชื่อถือในระดับน้อย ร้อยละ 19.1 โดยคิดว่าข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่น่าเชื่อถือมากที่สุดคือ โทรทัศน์ ร้อยละ 25.3 อันดับสองคือ เว็บไซด์สำนักข่าว ร้อยละ 23.9 อันดับที่สามคือ หนังสือพิมพ์ ร้อยละ 15.6 

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าประชาชนสามารถแยกแยะ ข่าวปลอม (Fake News) ได้ ร้อยละ 51.8 และคิดว่า ข่าวปลอม (Fake News) จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดและนำไปสู่ความขัดแย้ง ร้อยละ 65.5 โดยอยากให้ภาครัฐมีมาตรการในการป้องกันและปราบปราบ ข่าวปลอม (Fake News) ร้อยละ 82.1

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net