Skip to main content
sharethis

นักเศรษฐศาสตร์แนะนโยบายการเงิน การจัดการงบประมาณและการบริหารหนี้สาธารณะ และประเด็นการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น เมื่อประเทศเข้าสู่ระยะที่ 3 ของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และผลกระทบจากภัยแล้ง แนะรัฐนำงบซื้ออาวุธมาใช้กับการตรวจโรค COVID-19 ก่อน 

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง (แฟ้มภาพ)

15 มี.ค. 2563 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวถึงการเตรียมรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และภัยแล้ง ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยควรศึกษาเพื่อเตรียมนำเอาการใช้มาตการ QE หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณมากเป็นพิเศษ มาใช้หากมีความจำเป็นระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า หากคาดการณ์ว่าเมื่อประเทศไทยเข้าสู่การแพร่ระบาดระยะที่ 3 แล้วไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดจนส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะความถดถอยรุนแรงมากขึ้นจนถึงขั้นเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้ มีผลกระทบทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับอิตาลีหรือสหรัฐอเมริกาโดยไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีนัก มาตรการ QE จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจและชะลอความผันผวนรุนแรงในตลาดการเงินได้มีประสิทธิภาพกว่าการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายตามปรกติด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยในสถานการณ์วิกฤติแบบฉับพลันและมีความไม่แน่นอนสูง 

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่าหากควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีในระยะที่ 3 ก็ไม่ต้องนำมาตรการ QE มาใช้ แต่ขอให้คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมศึกษาไว้ก่อน มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณมากเป็นพิเศษหรือ QE พร้อมกับการลดอัตราดอกเบี้ยแรงๆของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของแบงก์ชาติจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้อีกช่วยกระตุ้นการส่งออก การท่องเที่ยวได้บ้างจากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นในภาวะการชะลอตัวของอุปสงค์ของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้จะช่วยดึงให้ราคาสินค้าเกษตรในรูปเงินบาทปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง โดยมีแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อน้อยมาก เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวอ่อนลงต่ำสุดในรอบหลายปี ส่วนภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตภาคเกษตรลดลงในไทยดันให้ราคาสูงขึ้นนั้นก็จะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อไม่มาก เพราะราคาผลผลิตทางด้านเกษตรกรรมหลายตัวในตลาดโลกยังคงเป็นทิศทางขาลงอยู่ ขณะที่ไทยมีอัตราเงินเฟ้อต่ำและมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืดมากกว่า มาตรการ QE การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนและการบริโภคได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งช่วยลดต้นทุนทางการเงินลง อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของนโยบายการเงินและกลไกการส่งผ่านการลดดอกเบี้ยจะส่งผลต่อเศรษฐกิจดียิ่งขึ้น โดยมั่นใจว่ากลไกการส่งผ่านนโยบายการเงิน (ดอกเบี้ย) และระบบธนาคารพาณิชย์ตอบสนองต่อการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยได้มากขึ้น ส่วนการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ QE ของธนาคารกลางและการใช้อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำนานกว่าปรกติจะทำให้หน่วยเศรษฐกิจต่างๆไม่ว่าจะเป็นครัวเรือนหรือภาคธุรกิจเอกชนอาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และเกิดความเสี่ยงในอนาคต ก็เป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากทิศทางดอกเบี้ยทั่วโลกจะไม่พลิกผันกลับมาเป็นขาขึ้นอีกหลายปีข้างหน้า จึงไม่เป็นประเด็นต่อการวิตกกังวลว่าจะเกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจได้ ระบบการเงินและระบบธนาคารของไทยสามารถมีภูมิต้านทานต่อความท้าทายต่างๆเหล่านี้ได้ดีเพราะมีการกำกับดูแลที่เป็นมาตรฐานสากลของธนาคารแห่งประเทศไทย และ การบริหารความเสี่ยงและการกำกับดูแลกิจการตามหลักธรรมาภิบาลของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย 

ส่วนแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นนั้น นายอนุสรณ์ ในฐานะอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าความผันผวนและความอ่อนไหวของตลาดการเงินเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงมากกว่าปรกติอยู่แล้วเมื่อเจอกับปัจจัยลบที่มีความไม่แน่นอนสูง การเตรียมการในการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดการเงินและนักลงทุน และ ชะลอผลกระทบจาก Wealth Effect ผลกระทบต่อความมั่งคั่งของนักลงทุนและส่งผลลบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่น ก็เป็นเรื่องที่สามารถนำมาพิจารณาดำเนินการได้เพื่อประคับประคองสถานการณ์ แต่การจัดตั้งกองทุนเหล่านี้ต้องไม่ใช้เงินภาษีประชาชนหรือเงินสาธารณะ และต้องมุ่งไปที่การดูแลผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม กองทุน กบข กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงานต่างๆ เป็นต้น เพราะการขาดทุนจำนวนมากเหล่านี้ส่งผลต่อทรัพย์สินและรายได้ของที่กำลังจะเกษียณอายุ แต่พึงเข้าใจว่า หุ้นเป็นทรัพย์สิน เป็นความมั่งคั่ง (Wealth) ของเอกชน การลงทุนในตลาดการเงิน ไม่ใช่การผลิต ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจ้างงานหรือการสร้างรายได้โดยตรงเช่นเดียวกับการลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง และเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลและนิติบุคคลแต่ละรายที่จะเลือกลงทุน จึงต้องรับความเสี่ยงตามราคาหุ้นที่ขึ้นลงอย่างผันผวนเอง การจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นจึงต้องไม่นำเงินสาธารณะมาดำเนินการ หรือ หากจะดำเนินการต้องทำอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดการขาดทุนในภายหลัง การหยุดภาวะตื่นตระหนกจากการเทขายหุ้นอย่างรุนแรงควรใช้มาตรการทางด้านกฎระเบียบจะมีต้นทุนต่ำสุดต่อเศรษฐกิจส่วนรวม 

ส่วนการจัดสรรงบประมาณ มาตรการทางการคลังและการบริหารหนี้สาธารณะนั้น นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ในฐานะอดีตกรรมการนโยบายหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง มีความเห็นว่า รัฐบาลจำเป็นต้องนำงบประมาณปี 2563 มาทบทวนใหม่ และ การจัดเตรียมงบประมาณปี 2564 โดยต้องนำผลกระทบของโรค COVID-19 มาพิจารณาในฐานะปัจจัยสำคัญด้วย ขอเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณปี 2563 ใหม่ โดยงบกลาง 518,770 ล้านบาทนั้นควรนำมาจัดสรรให้กับกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดในวงกว้างในระยะที่ 3 หากมีผู้ป่วยพร้อมๆกันในระดับมากกว่า 10,000 คนขึ้นไปเพราะหอแยกและอุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ แล้วโรงพยาบาลของรัฐไม่สามารถรองรับได้ รัฐบาลต้องจัดสรรงบให้โรงพยาบาลเอกชนที่มีศักยภาพมาร่วมให้บริการและทำให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องปรับลดงบประมาณการจัดซื้ออาวุธหรืองบประมาณอื่นๆ ที่สามารถเลื่อนการใช้จ่ายออกไปก่อนได้หรือไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนให้นำงบประมาณส่วนนี้ใช้สำหรับการตรวจโรค COVID-19 เพื่อให้ประชาชนชาวไทยทุกคนเข้าถึงสิทธิในการตรวจโรคและรักษาโรคฟรีทั้งหมด 

นายอนุสรณ์ ยังระบุให้นำงบประมาณมาจัดสรรเป็นค่าชดเชยการขาดรายได้สำหรับผู้ใช้แรงงานหรือลูกจ้างรายวันที่ต้องขาดรายได้จากการหยุดทำงานเพื่อกักตัวตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาด หากงบประมาณไม่เพียงพอขอให้พิจารณาก่อหนี้สาธารณะหรือกู้เงินเพิ่มเพื่อซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันแพร่ระบาด COVID-19 และรักษาโรคให้เพียงพอโดยเฉพาะในสถานพยาบาล นอกจากนี้ควรเตรียมจัดสร้างโรงพยาบาลภาคสนามเหมือนประเทศจีนทำ ไม่ควรซ้ำรอยความผิดผลาดในการดำเนินการของประเทศอิตาลีที่เกิดสภาวะไม่มีสถานพยาบาลเพียงพอสำหรับผู้ป่วย สภาวะดังกล่าวจะก่อให้เกิดความโกลาหลและการสูญเสียความเชื่อมั่นอย่างรุนแรง มีผลกระทบต่อชีวิต คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจมาก ขณะเดียวกัน ประเทศไทยจะเผชิญกับภัยแล้งค่อนข้างรุนแรง ซึ่งจะไม่ได้กระทบเฉพาะภาคเกษตรกรรมเท่านั้นแต่ภาคอุตสาหกรรมก็กระทบด้วยโดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก แม้นเอกชนรายใหญ่โดยเฉพาะโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานปิโตรเคมีจะมีการลงทุนหน่วยผลิตน้ำทะเลเปลี่ยนเป็นน้ำจืดเพื่อมาใช้ในกระบวนการผลิตก็ตาม แต่กำลังการผลิตมีจำกัดและมีต้นทุนสูง รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังควรจัดทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมจากระดับ 454,000 ล้านบาท เป็น 600,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้สำหรับป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วยการลงทุนภาครัฐ โดยเน้นไปที่การจ้างงานใหม่ๆและการลงทุนระบบชลประทาน การเพิ่มการขาดดุลมีความจำเป็นและยังไม่มีผลกระทบถึงความยั่งยืนทางการคลังเฉพาะหน้าหากเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 1% เพราะจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังคงต่ำกว่าร้อยละ 50 ในปีนี้และปีหน้า แต่หากเศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่ำและชะลอตัวต่อเนื่อง หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยมีโอกาสทะลุระดับร้อยละ 70-80 ในปี 2568-2570 ได้และมีความเสี่ยงเรื่องฐานะทางการคลังเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ควรให้ความเอาใจใส่ต่อการดำเนินมาตรการกึ่งการคลังผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐและกองทุนต่างๆให้เป็นไปตามเป้าหมายและยุทธศาสตร์เศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพด้วย เนื่องจากมาตรการเหล่านี้อาจก่อให้เกิดภาระผูกพันทางการคลังในอนาคตที่เพิ่มความเสี่ยงในเรื่องฐานะทางการคลังเพิ่มเติมหากไม่มีการกำกับที่ดีพอ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net