Skip to main content
sharethis

'ปิยบุตร​-พรรณิการ์-พิธา' เข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดี "แฟลชม็อบ" -​ "ปิยบุตร" ชี้ พรบ.ชุมนุม ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ​ ชงปรับแก้ในอนาคต -​ "พิธา" ยันการชุมนุมเป็นสิทธิ​พื้นฐานในระบอบ ปชต. ไม่หวั่น แม้เป็นคดีแรก

16 มี.ค.2563 ทีมสื่อคณะอนาคตใหม่ รายงานว่า วันนี้ เมื่อ เวลา 09.00 น. พิธา ลิ้ม​เจริญ​รัตน์​ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และ พรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วย กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ตามหมายเรียก เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในความผิด ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ​ พ.ศ.2558 กรณีจัดชุมนุมแฟลชม็อบที่บริเวณสกายวอล์ก หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2562

ปิยบุตร กล่าวว่า เรายืนยันถึงความเชื่อมั่นในสิทธิ​เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมมาโดยตลอด เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการปกครอง​ระบอบประชาธิปไตย​ ส่วนพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ​ พ.ศ.2558 ที่ออกมานั้น ตอนแรกตนคิดว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ดี แต่ปรากฎว่าในทางปฏิบัติ​กลับเป็นปัญหา​มากกว่าเดิม โดยในสมัยที่ตนเป็นประธานคณะกรรมการกฎหมาย​ การ​ยุติธรรม​ และสิทธิ​มนุษยชน​ ได้เคยเชิญท่านผู้บัญชาการ​ตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.จักรทิพย์​ ชัยจินดา มาหารือเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการใช้กฎหมายชุมนุมสาธารณะในทางปฏิบัติแล้วด้วย

ปิยบุตร กล่าวต่อว่า ประเด็นปัญหาของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ​ ที่ท่านผบ.ตร. ได้รับข้อมูลไปแล้วก็คือแม้กฎหมาย​ฉบับนี้จะใช้ระบบแจ้ง ไม่ใช้ระบบขออนุญาต​ แต่ทำไปทำมาในทางปฏิบัติการแจ้งกลับสร้างภาระให้กับการชุมนุมสาธารณะ​มากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะ​อย่างยิ่งเมื่อผู้จัดการชุมนุม​แจ้งไปแล้ว เจ้าหน้าที่มักจะวางเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด​ จนทำให้การชุมนุม​ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติ​ หรืออาจทำให้เป็นอุปสรรค​ต่อการจัดการชุมนุม​ ซึ่งในท้ายที่สุดอาจต้องทบทวนแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ต่อไป และนี่ยังไม่นับรวมว่าจะนิยามอะไรเป็นการ​ชุมนุม​ การวิ่งออกกำลังกายเป็นการชุมนุมหรือไม่ หลักใหญ่​ใจความต้องให้ความสำ​คัญ​กับการชุมนุม​สาธารณะ​เป็นหลักในฐานะ​เสรีภาพ​ในการแสดงออก 

​พิธา​ ระบุว่า การมา สน.ปทุมวัน วันนี้กลับเป็นภารกิจ​แรกในฐานะหัวหน้าพรรค​ก้าวไกล แทนที่ตนจะได้ใช้เวลาทำงานศึกษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับไวรัส covid-19 หรือปัญหาเศรษฐกิจ​ของประเทศที่กำลังประชุม​กันอยู่ในขณะนี้ แต่ตนต้องมาพบพนักงานสอบสวนที่นี่ อย่างไรก็ตามไม่ได้ทำให้กำลังใจหรือทำให้การทำงานเข้มข้นน้อยลงแต่อย่างใด 

"เราเชื่อมั่น​ในสิทธิ​เสรีภาพของการชุมนุมซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบอบประชาธิไตย​ ไม่ใช่แค่ 4 วินาทีตอนเข้าคูหาเลือกตั้ง ถ้าคนกลุ่มหนึ่งที่มีความเห็น​หรือมีความทุกข์​ร้อนอะไรจะรวมตัวกันเพี่อแสดงออก ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งสามารถทำได้ในประเทศที่มีระบอบ​ประ​ชาธิปไตย​ ผมคิดว่าการใช้วิธีทางกฎหมายในเกมการเมือง แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศ​ทางการเมืองของประเทศไทย​ที่ไม่ต้องการให้มีคนหน้าใหม่เข้ามา ผมอยากให้มีบรรยากาศที่เอื้อให้คนเก่งๆ ให้เลือดใหม่ หรือคนที่มีความสามารถจริงๆ มีโอกาสที่จะเข้ามาเล่นการเมืองมากขึ้น" ​พิธา​ กล่าว

กฤษฎางค์ ทนายความ กล่าวว่า วันนี้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาต่อ ปิยบุตร​ พิธา และพรรณิการ์​ จำนวน 5 ข้อกล่าวหา คือ 1.ทั้งสามท่านเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยมิได้แจ้งขอการชุมนุม 2.จัดการชุมนุมโดยกีดขวางสถานีรถไฟฟ้า ทำให้เกิดการขนส่งสาธารณะ​มีปัญหา 3.ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต​ 4.ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานที่สั่งให้ยุติการชุมนุม 5.จัดการชุมนุมสาธารณะ​ในระยะที่ต่ำกว่า 150 เมตร จากวังที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์​ โดยทั้ง 3 ท่านให้การปฏิเสธ​ทุกข้อกล่าวหา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net