Skip to main content
sharethis

นอม ชอมสกี พูดถึงหนึ่งในผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงประธานาธิบดี 'เบอร์นี แซนเดอร์ส' โดยเขาเสนอว่า แซนเดอร์สเป็นคนที่ถูกสื่อสร้างภาพให้เป็นผู้ร้าย เพราะคิดเปลี่ยนการเมืองสหรัฐฯ ให้เน้นผลประโยชน์คนทำงาน ขณะเดียวกันในด้านความหวัง แซนเดอร์สเป็นผู้จุดประกายให้เกิดการเคลื่อนไหวของมวลชน และมีโอกาสคัดง้างกับชนชั้นนำบรรษัทนิยมในสหรัฐฯ แม้ว่าจะต้องฝ่าฟันกับโฆษณาชวนเชื่อฝ่ายขวาและผลพวงจากการที่ขบวนการแรงงานถูกบ่อนเซาะ

นอม ชอมสกี้ (ซ้าย) นักวิชาการฝ่ายซ้ายวัย 91 ปี ผู้วิจารณ์ด้านอำนาจนิยมและทุนนิยมบรรษัทของสหรัฐอเมริกา ภาพถ่ายปี 2554 และเบอร์นี แซนเดอร์ (ขวา) วัย 78 ปี เขาเป็นวุฒิสมาชิกสหรัฐอเมริกาหลายสมัย ผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครต ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ  (ที่มา: [1] Wikipeida/Andrew Rusk [2] Wikipedia/Gage Skidmore)

นอม ชอมสกี เป็นนักวิชาการสหรัฐฯ ฝ่ายซ้ายผู้ที่เคยวิพากษ์วิจารณ์นโยบายอำนาจนิยมหลายเรื่องของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นสงครามเวียดนามหรือนโยบายการต่างประเทศอื่นๆ รวมถึงเคยพูดถึงเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อของสื่อบรรษัทหรือการวิพากษ์วิจารณ์ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ นิตยสารจาโคบิน สัมภาษณ์เขาในเรื่องเกี่ยวกับ เบอร์นี แซนเดอร์ส ผู้สมัครลงเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2563 ที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้า

ชอมสกีพูดถึงทั้งเรื่องอุปสรรคที่แซนเดอร์สต้องเผชิญ ความสำคัญของขบวนการแรงงานที่เป็นปัจจัยในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย และเรื่องที่ชนชั้นนำนักธุรกิจของสหรัฐฯ ที่จะพยายามต้านทานแซนเดอร์สอย่างขมขื่น

พูดถึงปรากฏการณ์เกี่ยวกับนักการเมืองสายก้าวหน้าของพรรคเดโมแครตอย่างเบอร์นี แซนเดอร์ส ที่ต้องเผชิญอุปสรรคจากการโฆษณาชวนเชื่อของสื่อบรรษัทที่ครองอำนาจในเรื่องเล่าทางการเมือง

ในบทสัมภาษณ์ของจาโคบินมีการตั้งสถานการณ์สมมุติว่าแซนเดอร์สสามารถขนะการเลือกตั้งได้และได้เป็นประธานาธิบดี โดยที่ชอมสกีบอกว่ามันมีความเป็นไปได้ถึงแม้จะยากมากๆ และต้องอาศัยทั้งลักษณะตัวบุคคล พลังงาน และการปฏิสัมพันธ์ต่อเนื่องกับขบวนการเคลื่อนไหวระดับประชาชนที่แซนเดอร์สเป็นผู้จุดประกายให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามขอมสกีบอกว่าการเคลื่อนไหวยังขาดกลุ่มแรงงานจัดตั้งที่จะคัดง้างกับการควบคุมของพวกบรรษัทอยู่ แต่ก็เป็นไปได้อย่างแน่นอนว่ากลุ่มทุนที่กุมอำนาจเข้มแข็งก็จะโต้ตอบกลับอย่างแข็งขัน

อย่างไรก็ตามผู้สัมภาษณ์จากจาโคบินมองว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ขบวนการแรงงานในสหรัฐฯ ไม่ได้มีความตื่นตัวมากเท่าในหลายสิบปีก่อนหน้านี้ จึงมีคำถามว่าแล้วขบวนการแรงงานกับฝ่ายซ้ายก้าวหน้าในสหรัฐฯ จะชี้ให้เห็นปัญหาข้อด้อยของตัวเองนี้อย่างไร และควรจะพูดถึงตรงจุดไหนบ้างก่อนที่จะต่อสู้กับอำนาจทุน

ชอมสกีพูดย้อนไปถึงสมัยของโรนัลด์ เรแกน และมาร์กาเร็ต แทชเชอร์ เขาบอกว่าคนเหล่านี้รู้ดีว่าถ้าจะออกนโยบายอะไรที่ส่งผลเสียต่อประชาชนทั่วไปพวกเขาต้องทำลายขบวนการแรงงานก่อน ชอมสกีระบุว่าในสหรัฐฯ และในแคนาดา ที่มีสหภาพแรงงานบางส่วนร่วมกันถูกเล่นงานจากฝ่ายชนชั้นนำทางเศรษฐกิจด้วยการสร้างความแตกแยกในหมู่ขบวนการแรงงาน ในขณะเดียวกันก็มีการทำให้สหภาพแรงงานบางส่วนได้รับสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการรักษาพยาบาล ขณะที่ผู้คนทั่วไปต้องเผชิญกับระบบสวัสดิการแย่ๆ ทั้งนี้ยังมีความไม่ลงรอยบางอย่างภายในกลุ่มสหภาพแรงงานเองเรื่องนี้จึงเป็นปัญหาความขัดแย้งที่ควรมีการแก้ไข

จาโคบินระบุว่า ประเด็นสหภาพแรงงานนี้นับเป็นเรื่องที่มีย้อนแย้งในตัวเองเพราะในขณะที่ขบวนการแรงงานสร้างขึ้นมาในฐานะกำลังการต่อสู้แบบรวมกลุ่ม แต่ในอีกแง่หนึ่งสหภาพแรงงานก็กลายเป็นระบบแบบราชการเจ้าขุนมูลนาย จาโคบินถามชอมสกีว่าปัญหาแบบนี้จะมีการแก้ไขได้หรือไม่

ชอมสกีชวนมองว่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของสหรัฐฯ มีลักษณะแตกต่างจากสังคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ตรงที่เป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยธุรกิจที่คนมีสำนึกเรื่องชนชั้นอย่างมากและมีการต่อสู้ทางชนชั้นอย่างหนักมาตลอดรวมถึงมีการใช้ความรุนแรงจากชนชั้นบนต่อชนชั้นแรงงาน มีแรงงานนับร้อยนับพันคนถูกสังหารเพราะเคลื่อนไหวด้านแรงงานในสหรัฐฯ เรื่องแบบนี้ไม่เกิดขึ้นในที่อื่นๆ เลยไม่ว่าจะเป็นในอังกฤษ แคนาดา หรือฝรั่งเศส ทั้งนี้การที่ขบวนการจะมีความเข้มแข็งได้จากความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชนชั้น ทำให้แรงงานกลุ่มหนึ่งสนับสนุนแรงงานกลุ่มอื่นๆ พวกอนุรักษ์นิยมในสหรัฐฯ เข้าใจในเรื่องนี้ดีจึงทำลายการสนับสนุนกันและกันของแรงงาน

ทั้งนี้ชอมสกียังพูดถึงลักษณะเฉพาะของสหรัฐฯ ที่มีโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านฝ่ายซ้ายในระดับหวาดกลัวเกินจริงที่เรียกว่าลัทธิแม็คคาธี (McCarthyism) ที่มีการผลักคนที่เป็นผู้นำแรงงานซ้ายจัดออกจากขบวนการแรงงาน เรื่องโฆษณาชวนเชื่อเช่นนี้ยังส่งผลต่อเนื่องมายังกรณีของเบอร์นี แซนเดอร์ส ด้วย เช่น มีแต่คำถามว่าแซนเดอร์ส เป็นพวกสังคมนิยมหรือไม่ ทำราวกับว่ามันเป็นคำที่ไม่ดี ทั้งๆ ที่ในสังคมอื่นๆ คำว่าสังคมนิยมไม่ใช่คำที่แย่ แต่ในสหรัฐฯ คำๆ นี้กลับเป็นคำที่ถูกตีตราให้ดูไม่ดี บางครั้งก็มีการอ้างใช้คำๆ นี้กล่าวให้ร้ายนโยบายปฏิรูปแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยแบบนโยบายนิวดีล (New Deal)

ชอมสกียังเปิดเผยถึงสถาบันที่ฝังรากในการเมืองสหรัฐฯ คือสถาบันการรวมกลุ่มของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่ทำการสอดใส้ทางการเมืองทั้งในการออกกฎหมายและการโฆษณาชวนเชื่อผ่านการใช้รัฐเป็นเครื่องมือ โดยเน้นใช้วิธีการกดดันสภานิติบัญญัติของรัฐ เพราะการกดดันวุฒิสภาทำได้ยากกว่า พวกเขาไม่เพียงแค่ออกกฎหมายที่ทำลายระบบการศึกษาสาธารณะเท่าน้ันยังมีการบล็อกกฎหมายที่คุ้มครองลูกจ้าง เช่น กฎหมายที่เอาผิดเจ้านายเบี้ยวค่าจ้างด้วย รากฐานเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมแซนเดอร์สถึงถูกทำให้ดูกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของสื่อกระแสหลักของสหรัฐฯ

"นั่นเป็นเพราะเขา (แซนเดอร์ส) เป็นผู้จุดประกายขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน ซึ่งไม่ได้แค่ปรากฏตัวออกมาทุกๆ 4 ปี เพื่อมากดปุ่ม (เลือกตั้ง) แต่เป็นขบวนการที่มีปฏิบัติการกดดันอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ได้มาซึ่งความเปลี่ยนแปลงและมีความสำเร็จบ้างในบางส่วน" ชอมสกีกล่าว เขาบอกอีกว่าเรื่องนี้สร้างความหวาดกลัวแก่ชนชั้นนำนักธุรกิจ เพราะชนชั้นนำเหล่านี้วางบทบาทของประชาชนไว้ให้เป็นผู้ชมที่ไม่ได้เข้าไปมีบทบาทอะไร

เมื่อถามถึงเกี่ยวกับเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อของระบอบบรรษัทนิยมสหรัฐฯ ชอมสกีกล่าวว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะสามารถหลุดพ้นออกจากวงจรการโฆษณาชวนเชื่อของสื่อกระแสหลักได้ในสหรัฐฯ เพราะแม้แต่ในรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จที่มีการลงโทษหนักและการควบคุมสื่ออย่างหนักก็ยังมีเสียงต่อต้าน

อย่างไรก็ตามชอมสกีบอกว่าในสหรัฐฯ มีการแบ่งค่ายการเสพสื่อที่ไม่เหมือนกันระหว่างฝ่ายคนสนับสนุนรีพับลิกันกับคนสนับสนุนเดโมแครต สำหรับรีพับลิกันแล้วพวกเขามักจะเสพพวกสื่ออนุรักษ์นิยมอย่างฟ็อกซ์นิวส์หรือไม่ก็สื่อขวาจัด คนพวกนี้มองว่าแม้แต่สื่อสายเสรีนิยมใหม่อย่างวอลล์สตรีทเจอนัลก็ "ซ้ายเกินไป" สำหรับพวกเขา คนกลุ่มที่ถูกฝังหัวซ้ำๆ จากสื่ออนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาก็จะไม่เชื่ออย่างอื่นรวมถึงวิทยาศาสตร์ เรื่องนี้จึงต้องทำงานหนักอย่างมากในเรื่องการศึกษาและการจัดตั้ง จากเดิมที่ขบวนการแรงงานเคยเป็นรากฐานในเรื่องนี้ แต่ในปัจจุบันมีกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นฐานการศึกษาและการจัดตั้งเหล่านี้ได้

ชอมสกีประเมินอีกว่าขบวนการเคลื่อนไหวมวลชนกำลังพัฒนาการก้าวกระโดดมากในหลายประเด็น เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าจะมีการกดดันจากกลุ่มบรรษัท แต่ในตอนนี้สภาคองเกรสก็ถูกกดดันจากกิจกรรมเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อให้แก้ปัญหาความล้าหลังตรงจุดนี้ เรื่องเหล่านี้อาจจะทำให้อะไรเปลี่ยนไปจากเดิมได้

ชอมสกียังพูดถึงเรื่องที่ชวนให้มองโลกในแง่ดีกว่า ในอดีตก็เคยมีช่วงเวลาที่ขบวนการเคลื่อนไหวถูกปราบปรามอย่างหนัก มีคนถูกสังหาร แต่หลังจากนั้นอีก 10 ปีต่อมาก็มีขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนที่พลิกฝ่ามือและเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ อย่างมาก และสำหรับเบอร์นี แซนเดอร์ส เองก็ได้รับความนิยมมากกว่าที่คาด ในการเลือกตั้งปี 2559 ไม่มีสื่อใดสนับสนุนหรือธุรกิจใดๆ หนุนหลังเขาเลย แต่เขาเกือบจะเอาชนะการเป็นผู้แทนเดโมแครตได้จากแรงสนับสนุนของประชาชน เขาอาจจะเอาชนะได้ด้วยซ้ำถ้าพรรคเดโมแครตเองไม่เล่นตุกติก แซนเดอร์สเป็นคนที่ได้รับความนิยมมากในสหรัฐฯ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมกลุ่มอำนาจสถาปนาฝังรากยังหวาดกลัวเขา

เรียบเรียงจาก

Noam Chomsky: “Bernie Sanders Has Inspired a Mass Popular Movement”, Jacobin, March 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net