โสภณ พรโชคชัย: มองต่างจากท่านพุทธทาส

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การมองต่างจากท่านพุทธทาสหรือพระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) ซึ่งเป็นพระที่ผมเองก็เคารพยิ่ง นั้นอาจเป็นการมองที่ผิดพลาดของผมเอง ผมต้องกราบขออภัยด้วยหากเป็นเช่นนั้น  และการมองต่างจากท่านนี้อาจเป็นอันตรายต่อตนเอง แต่เพื่อสังคมอุดมปัญญาและเพื่อจรรโลงหลักศาสนาพุทธ จึงขออนุญาตมองต่างมุมด้วยความเคารพ หวังว่าทุกท่านคงเมตตาให้ความเข้าใจ

ผมเห็นภาพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร และท่านพุทธทาสต่างกราบกันและกันแล้ว ทำให้นึกสาธุถึงจริยวัตรอันงดงามของพระผู้ใหญ่  แต่ถ้านึกตรึกตรองให้ดีๆ มีบางสิ่งที่ผมอาจขออนุญาตเห็นต่างจากท่านพุทธทาสในเรื่องการกราบพระสงฆ์ด้วยกันโดยเฉพาะการกราบผู้ที่อ่อนพรรษากว่า

ในการเสด็จของสมเด็จพระสังฆราชไปเยือนสวนโมขลาราม 2 ครั้งนั้น ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนกันยายน 2532 ท่านพุทธทาสทรุดลงกราบพระสังฆราช <1> และในการเสร็จอีกครั้งหนึ่งในเดือนมีนาคม 2534 <2> ท่านพุทธทาสก็กราบสมเด็จพระสังฆราชทั้ง 2 ครั้ง  พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ท่านผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ <3> ให้คำอธิบายว่า ในครานั้น ท่านพุทธทาสกล่าวว่า “ขอโอกาสกราบผู้บังคับบัญชา” สมเด็จพระสังฆราชทรงตรัสห้ามไว้ ตรัสว่าท่านพุทธทาสอาวุโสสูงกว่า แต่ท่านพุทธทาสก็กราบ  สมเด็จพระสังฆราชจึงรีบกราบตอบกันไปมาพักใหญ่ <4>  ภาพนี้เป็นภาพที่น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง


(http://www.dhammajak.net/board/files/__99_763.jpg)
การกราบครั้งที่ 1: กันยายน 2532 (ตามอ้างอิง <2>)


(http://www.dhammajak.net/board/files/__108_152.jpg)
การก้มกราบครั้งที่ 2: มีนาคม 2534 (ตามอ้างอิง <2>)

อย่างไรก็ตามในเชิงหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ให้เคารพกันตามอาวุโส พระบวชใหม่กว่าต้องกราบพระบวชก่อน  ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 7  พระวินัยปิฎก เล่มที่ 7 จุลวรรค ภาค 2 มีความว่า “[264] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล 10 จำพวกนี้ อันภิกษุไม่ควรไหว้ คืออันภิกษุผู้อุปสมบทก่อนไม่ควรไหว้ภิกษุผู้อุปสมบทภายหลัง 1. . .ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล 3 จำพวกนี้ ภิกษุควรไหว้ คือภิกษุผู้อุปสมบทภายหลัง ควรไหว้ภิกษุผู้อุปสมบทก่อน 1. . .” <5>

ในครั้งที่พระพุทธเจ้าบวชให้กับศากยกุมารทั้ง 6 ท่านและอุบาลี (ช่างตัดผม) ศากยกุมารยังได้กล่าวว่า “พวกพระองค์เป็นเจ้าศากยะยังมีมานะ ส่วนอุบาลีเป็นผู้รับใช้ เมื่ออุบาลีบวชก่อน พวกพระองค์จะทำการอภิวาท การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่อุบาลี เมื่อนั้น ความถือตัวว่าเป็นศากยะของพวกพระองค์ก็จะเสื่อมคลายลง พระผู้มีพระภาคทรงโปรดให้อุบาลีบวชก่อน แล้วให้ศากยกุมารเหล่านั้นผนวชต่อภายหลัง” <6>

เมื่อเปรียบเทียบอายุจะพบว่า สมเด็จพระสังฆราช ประสูติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2456 ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ปี 2469 กระทั่งพระชันษาครบจึงอุปสมบทเมื่อปี 2476 พระองค์ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทซ้ำในธรรมยุติกนิกายเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2476 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2477) <7>  ส่วนท่านพุทธทาส เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2449 (อายุมากกว่าสมเด็จพระสังฆราช 7 ปี) เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ 20 ปี (พ.ศ.2469 ก่อนสมเด็จพระสังฆราช 7 พรรษา) <8>

ที่ผ่านมา สมเด็จพระสังฆราชได้พบกับพระสงฆ์ที่มีพรรษาสูงกว่า ท่านก็กราบพระสงฆ์เหล่านั้นก่อนเสมอแม้เมื่อได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเมื่อปี 2532 แล้วก็ตาม เท่าที่สืบค้นมีภาพประกอบเป็นจำนวนมาก แต่ในที่นี้ขอยกตัวอย่างมาเพียง 3 กรณี ได้แก่:

    - 28 กุมภาพันธ์ 2533 สมเด็จพระสังฆราชได้เสด็จมาทรงกราบนมัสการพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) (เกิด 2445 บรรพชา 2466) <9> ณ วัดหินหมากเป้ง ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย <10>


(https://f.ptcdn.info/783/010/000/1381455628-paragraphp-o.jpg)

    - 29 พฤษภาคม 2536 สมเด็จพระสังฆราช  กราบหลวงปู่ชอบ ฐานสโม แห่งวัดป่าโคกมน ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย (เกิด 2444 บรรพชา 2467) <11> ที่ได้เดินทางมาเป็นองค์ประธานในพิธีเททองหล่อพระพุทธรูป ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร <12>


(https://f.ptcdn.info/783/010/000/1381455484-paragraphp-o.jpg)

    - 28 สิงหาคม 2537 สมเด็จพระสังฆราชทรงกราบนมัสการพระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป)  ณ วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี (เกิด 2454 บรรพชา 2474) <13> ในคราวเสด็จไปทรงประกอบศาสนกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ <14>


(http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=81&t=52855&start=15)

อาจกล่าวได้ว่าสมเด็จพระสังฆราชเสด็จไปสวนโมกขลารามนั้น ท่านพุทธทาสมีอายุ 83 ปีแล้วในครั้งแรก (ปี 2532) และอายุ 85 ปี ในครั้งที่ 2 (ปี 2534) ท่านมรณภาพในปี 2536 มีอายุถึง 87 ปี  ขณะนั้นท่านคงชราภาพมากแล้ว  หากยึดตามท่านพุทธทาสที่ “ขอโอกาสกราบผู้บังคับบัญชา” ต่อไปพระที่บวชมานานก็ต้องไหว้เจ้าอาวาสที่บวชไม่นาน อาจทำให้ไหว้ตามพัดยศ หรือในสังคมทหารที่รุ่นพี่ต้องทำความเคารพรุ่นน้องที่มียศสูงกว่า เป็นต้น

ดังนั้นหากเรายึดถือและมุ่งจะสืบต่อพระศาสนา เราจึงพึงยึดถือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก  ไม่ใช่พระสงฆ์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลายโดยกาลล่วงไปแห่งเรา” <15> เราต้องศึกษาพระธรรม พยายามปฏิบัติตามพระธรรม ไม่ยึดคำของสาวกที่อาจแตกต่างไปจากคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

ชาวพุทธต้องยึดพระไตรปิฎก ศึกษาด้วยกาลมสูตร สิ่งใดที่ไม่ต้องตามพระธรรมวินัย ต้องกล้ายืนหยัดในพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด

 

อ้างอิง
<1> ดูคลิปได้ที่ www.youtube.com/watch?v=Fryjsz6NPrQ และที่ www.youtube.com/watch?v=8DUQkm-1K5I
<2> ลานธรรมจักร. ประมวลภาพ “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” กับ “ท่านพุทธทาสภิกขุ”.  www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=51044
<3> Wikipedia. พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย). https://bit.ly/3aTEWEf
<4> Dhamma Talk. พระของประชาชน. www.youtube.com/watch?v=-5-N8ckZtEY&t=24s
<5> โปรดดู http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=7&A=2258&Z=2271
<6> อุทยานธรรม. เจ้าศากยะ 6 พระองค์ออกบวช. https://bit.ly/39TIaY7
<7> Wikipedia. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร. https://bit.ly/39TqBYh
<8> Wikipedia. พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ). https://bit.ly/3d2GYUe
<9> Wikipedia. พระราชนิโรธรังสี (เทสก์ เทสรํสี). https://bit.ly/2QhfXTD
<10> ชีวิตและปฏิปทา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ตอนที่ 2. https://pantip.com/topic/31094306
<11> Wikipedia. หลวงปู่ชอบ ฐานสโม. https://bit.ly/2TOS08i
<12> ตาม <10>
<13> Wikipedia. พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป). https://bit.ly/2QeiBti
<14> ลานธรรมจักร. สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 กับ วงศ์พระกรรมฐาน. http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=81&t=52855&start=15
<15> พุทธวจน. ให้ใช้ธรรมวินัยเป็นศาสดา. https://bit.ly/2WdKIfP
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท