Skip to main content
sharethis

กกต. ยกคำร้อง 4 ผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อชาติ ไม่ผิด พ.ร.ป. เลือกตั้งปมถือหุ้นสื่อ แจง บริษัทเป็นบริษัทร้าง สิ้นสภาพนิติบุคคลก่อนลงเลือกตั้ง ส่วนดามพ์ เผด็จดัสกร อดีตนักแสดงดังต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

17 มี.ค. 2563 เมื่อวานนี้ (16 มี.ค.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่คำวินิจฉัย กกต. ที่ 8/2563 เรื่องการเลือกตั้ง ส.ส. แบ่งเขตเลือกตั้งที่ 6 จ.นนทบุรี เขตเลือกตั้งที่ 5 ปทุมธานี เขตเลือกตั้งที่ 1 พระนครศรีอยุธยา เขตเลือกตั้งที่ 2 สุโขทัย โดยก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง กกต.ได้รับคำร้องว่า ดามพ์ เผด็จดัสกร ผู้สมัครรับเลือกตั้ง เขต 1 กาญจนบุรี พรรคเพื่อชาติ (ผู้ถูกร้องที่ 1) กิตติกร รุ่งสว่าง ผู้สมัครรับเลือกตั้งเขต 6 นนทบุรี พรรคเพื่อชาติ (ผู้ถูกร้องที่ 2) เบาหวิว มณีแจ่ม ผู้สมัครรับเลือกตั้งเขต 5 ปทุมธานี พรรคเพื่อชาติ (ผู้ถูกร้องที่ 3) เฉลียว บำรุงญาติ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเขต 1 พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อชาติ(ผู้ถูกร้องที่ 4) และพนาสันต์ สุนันต๊ะ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเขต 2 สุโขทัย พรรคเพื่อชาติ (ผู้ถูกร้องที่ 5) ได้มีการกระทำอันฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (1) โดยผู้ถูกร้องที่ 1-5 เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ

กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ถือหุ้นในบริษัทที่มีสถานะเป็นบริษัทร้าง ที่นายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนแล้วตามมาตรา 1273 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทำให้บริษัทสิ้นสภาพนิติบุคคลก่อนสมัครรับเลือกตั้ง จึงไม่เป็นบุคลต้องห้ามมิใช้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนผู้ถูกร้องที่ 5 ถือหุ้นในบริษัทซึ่งวัตถุประสงค์ของบริษัทไม่ได้ระบุว่าประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ประกอบกับข้อมูลตามคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.01 เมื่อปี 2559 ระบุว่าประเภทการประกอบกิจการเป็นการทำเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน

นอกจากนั้นสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้แจ้งผลตรวจข้อมูลว่า บริษัทดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้ได้รับอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ผู้ถูกร้องที่ 5 จึงไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องผู้ถูกร้องที่ 2 ผู้ถูกร้องที่ 3 ผู้ถูกร้องที่ 4 และผู้ถูกร้องที่ 5 ส่วนผู้ถูกร้องที่ 1 ให้รอผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องก่อน

ในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา มีนักการเมืองจำนวนมากถูกร้องเรียนว่าถือหุ้นสื่อ มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าปัญหาหนึ่งมาจากกระบวนการจดทะเบียนธุรกิจในประเทศไทย ที่หนึ่งกิจการจดเลือกที่จะจดทะเบียนบริษัทให้ทำได้หลายประเภทธุรกิจ สำนักข่าวประชาชาติรายงานเมื่อ 6 พ.ค. 2562 ว่ามีการร้องเรียนคดีการถือหุ้นสื่อทั้งสื่อกับ กกต. ทั้งสิ้น 32 คดี ผู้ถูกร้องเรียนสังกัดพรรคอนาคตใหม่จำนวน 12 คน พรรคเพื่อไทย 10 คน พรรคเพื่อชาติ 5 คน พรรคพลังปวงชนไทย 2 คน พรรคประชาชาติ 2 คน และพรรคพลังประชารัฐ 1 คน

ที่มา: มติชน ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net