Skip to main content
sharethis

แม้แฮชแท็ก​ #เว้นเซเว่นทุก​Wednesday จะไม่ได้มาแรงติดอันดับ​ของประเทศแล้ว​ แต่หากลองเข้าไปดูจะพบว่าในทุก​ ๆ​ วัน​ ผู้ใช้ทวิตเตอร์​ยังคงแชร์ประสบการณ์​ของการงดเข้าร้านเซเว่น​และช่วยกันปักหมุดร้านโชห่วยในแอพพลิเคชั่นต่าง​ ​ๆ​ อย่างต่อเนื่อง​

วันนี้ประชาไทขอชวนผู้อ่านมาถอดรหัสพลังเงียบกลุ่ม​นี้ จากกระแส​ #แบนทรูมูฟ​ หลังการจับกุม​ "นิรนาม_" สู่ เชื่อมโยงมาสู่การรณรงค์​งดเข้าเซเว่น​ท่ามกลางกระแสการเปิดโปงมูลนิธิป่ารอยต่อ​ ฯ​ และการเสนอ #pausemob เป็นทางเลือกในช่วงการประท้วงของนักศึกษา​ ทั้งนี้ งานวิจัยต่างประเทศเผยว่าการบอยคอตแม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขาย แต่ก็มีโอกาสสำเร็จ​ได้ด้วยปัจจัยอื่น

ถอดรหัส​ #pausemob

ในช่วงสองสามสัปดาห์​ที่ผ่านมา​ นักศึกษา​และภาคประชาชน​จัดชุมนุม​อย่างต่อเนื่อง​ ข้อเรียกร้อง​ของกลุ่มต่าง​ ๆ​ มีหลากหลาย​ ตั้งแต่การประนาม​ ส.ส.​ งูเห่า​ การเรียกร้องให้นายกยุบสภาหรือลาออก​ การเรียกร้องสิทธิแรงงาน​ สิทธิ​สตรี​ จนไป​ถึง​ การแก้รัฐธรรมนูญ​ทั้งฉบับ​ 

อย่างไรก็ตาม​ มีอีกกระแสหนึ่งที่เป็นพลังเงียบอยู่เช่นกัน​ ได้แก่​ กระแส​ #pausemob ในทวิตเตอร์​ คำนี้หลัก​ ๆ​ แล้วมีสองความหมาย​ ความหมายแรกเป็นการร้องขอให้หยุดก่อม็อบลงถนนก่อน​ เพราะเกรงว่ารัฐบาลจะนำไปเป็นข้ออ้างในการปราบปราม​สังหารประชาชนหรือการรัฐประหารซ้อน​ หรืออาจทำให้สถานการณ์​โรคระบาดโควิด​ 19​ แย่ลง

แต่คำนี้ก็มีอีกความหมายเช่นกัน​ ได้แก่​ การรวมตัวกันเพื่อไม่ทำอะไรบางอย่าง​จนผู้มีอำนาจได้รับผลกระทบ เช่น​ การไม่จ่ายภาษี หรือ​ การคว่ำบาตรสินค้าและบริการต่าง​ ๆ​ ทั้งนี้ ​แฮชแท็ก​ #pausemob​ มักปรากฏ​อยู่ร่วม​กับ​แฮชแท็ก​ #เว้นเซเว่น​ทุก​Wednesday หลาย​ ๆ​ คนยกระดับไปสู่การงดเข้าเซเว่นเป็นเวลา​ 30​ วัน​ หรืองดเข้าเซเว่นทุกวัน​ด้วย เพื่อต่อต้านบริษัท​ซีพีเพราะเหตุผลต่าง​ ๆ​ กันไป แต่พลังเงียบกลุ่มนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากไหน?

#แบนทรูมูฟ​ หลังการจับกุม​ "นิรนาม_" 

จุดเริ่มต้นของกระแส​ #pausemob ระลอกล่าสุด​เกิดขึ้นหลังผู้ใช้ทวิตเตอร์​ "​นิรนาม_" ถูกจับกุมที่บ้านพักจังหวัดชลบุรีเมื่อวันที่ 19 ก.พ.​ 2563 โดยตำรวจไม่มีหมายจับ​และใช้ข้อความทวีตเพียง​โพสต์​เดียว​เป็นหลักฐานในการจับกุม​ในข้อหาละเมิดมาตรา​ 14​ ของ​ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์​ หลังการจับกุม​เป็น​เวลา​ 27​ ชั่วโมง​ มีการบริจาคช่วยเหลือ​เพื่อนำไปสู่การประกันตัวเป็นจำนวนเงินกว่า​ 1.6 ล้านบาท​ และมีการประกันตัวเกิดขึ้นในที่สุดเมื่อวันที่​ 24​ ก.พ. หลังถูกจับกุมขังเป็นเวลา​ 5 วัน

สิ่งที่เกิดขึ้นคู่ขนานกับการจับกุมและช่วยเหลือคือปรากฏการณ์​ในโลกทวิตเตอร์​ แฮชแท็ก #Freeนิรนาม ติดเทรนด์อันดับต้น​ ๆ​ ของไทย​ และต่อมาปรากฏ​ในป้ายประท้วงของนักศึกษาและภาคประชาชนหลังกรณียุบพรรคอนาคตใหม่​ อย่างไรก็ตาม​ พลังเงียบก็เริ่มก่อตัวขึ้นด้วย​ หลังจากตำรวจแถลงข่าว​ว่าการจับกุม​เกิดขึ้นได้เพราะบริษัททรูมูฟ​เอชให้ความร่วมมือ​กับเจ้าหน้าที่โดยการให้ข้อมูล​ IP Address ของผู้ใช้กับทางการ​ ซึ่ง​สามารถกระทำได้ภายใต้​กรอบของ พ.ร.บ. คอม​ ฉบับปัจจุบัน​โดยไม่ต้องขอหมายศาล​ 

การเปิดเผยดังกล่าว​สร้างความไม่พอใจ​แก่ผู้ใช้ทวิตเตอร์​อย่างมาก​ จนก่อให้เกิด​แฮชแท็ก#แบนทรูมูฟ​ ขึ้นมา​  พร้อมกับการที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์​โพสต์ว่าจะย้ายหรือได้ย้ายค่ายบริการไปใช้ของเจ้าอื่นแล้ว แม้ในช่วงดังกล่าว​จะยังไม่มีการพูดถึง​แนวคิด​ #pausemob​ และยังไม่เป็น​ที่ตระหนักรู้อย่างแพร่หลายมากนักว่า​ ค่ายทรูมูฟมีบริษัทซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่​มาตั้งแต่​ปี​ 2558​ แต่นี่ถือเป็น​จุดเริ่มต้นของกระแสต่อต้านซีพีที่จะลุกลามขึ้นในเวลาต่อมา

มูลนิธิ​ป่ารอยต่อ ฯ ​: จุดเริ่มต้น #เว้นเซเว่นทุก​Wednesday

หลังเพิ่งมีการเคลื่อนไหว​เพื่อ #แบนทรูมูฟ​ ได้ไม่นาน​ กระแสต่อต้านซีพีก็ลุกลามอีก​ครั้ง เมื่อรังสิมันต์  โรม​ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่​ที่เพิ่งถูกยุบ​ จัดเวทีอภิปราย​ไม่ไว้วางใจ​หน้าอาคารรัฐสภา​ โดยเปิดโปงเกี่ยวกับ​ความ​ไม่ชอบมาพากลของมูลนิธิป่ารอยต่อ​ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งมี พล​ อ​ ประวิตร​ วงษ์​สุวรรณ​เป็น​ประธาน​ และมีการรับเงินบริจาค​จากนายทุนรายใหญ่​จำนวนมาก​นำไปสู่​ผลประโยชน์​ทางด้านสัมปทานและธุรกิจ​ต่าง​ ๆ​ โดยหนึ่งในนั้นมีซีพีรวมอยู่ด้วย​ 
 
การเปิดโปงข้อมูล​ดังกล่าว​นำไปสู่​การรณรงค์​ #เว้นเซเว่นทุก​Wednesday โดยชาวทวิตเตอร์​ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะบริษัท​ซีพีคือ "ท่อน้ำเลี้ยงของเผด็จการ" บางคนยกระดับ​ไป​สู่​การ​งดเข้าเซเว่น​ 30​ วัน​ หรือไม่เข้าเซเว่นทุกวันเลยก็มี​ ในช่วงเดียวกันนั้น​ เริ่มมีนักศึกษา​ออกมาประท้วงเพื่อประนาม​ ส.ส.​ งูเห่า​ และแสดงความไม่เห็นด้วย​ต่อการยุบพรรค​อนาคต​ใหม่​ ผู้ใช้ทวิตเตอร์​บางส่วนกังวลว่าการลงถนนจัดประท้วงอาจนำไปสู่การปราบปรามหรือรัฐประหารซ้อนเพื่อสืบทอดอำนาจ​ ไม่นานนักจึงเริ่มมีการใช้แฮชแท็ก​ #pausemob​ พร้อมกับเสนอให้ใช้การงดเข้าเซเว่นเป็นวิธีการต่อสู้แทนการประท้วง​บนถนน
 
 

ที่จริงความสัมพันธ์ระหว่างซีพีกับรัฐบาลของ พล. อ. ประยุทธ์ มีร่องรอยให้เห็นอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ตัวอย่างเช่น การที่ซีพีได้สัมปทานรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินมูลค่าราวสองแสนล้านบาท ในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 หรือการที่บริษัทซีพีออลล์เป็นผู้นำร่องโรงเรียนต้นแบบภายใต้โครงการ “สานพลังประชารัฐ” ของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการเปิดเผยมูลนิธิป่ารอยต่อจะเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ของชาวทวิตเตอร์ จนนำไปสู่การงดเข้าเซเว่นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ขยายผล: โยงคดีโต๊ะจีน ช่วยร้านโชห่วย ผลกระทบต่อพนักงาน และการไม่แจกถุงพลาสติก 

ขณะเดียวกัน การรณรงค์งดเข้าเซเว่นก็เริ่มขยายผลไปสู่ประเด็นอื่น ๆ เช่น การโจมตีบริษัทอื่น ๆ ที่มีส่วนสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ การต่อต้านบริษัททุนผูกขาด และ การสนับสนุนร้านโชห่วย แต่ในระหว่างนั้นผู้งดเข้าเซเว่นก็ถูกตั้งคำถามในหลาย ๆ ประเด็นเช่นกัน เช่น การที่บางคนงดเข้าเซเว่นเพราะร้านเซเว่นไม่ยอมแจกถุงพลาสติก ผลกระทบต่อพนักงานร้านเซเว่น และโอกาสความสำเร็จของการคว่ำบาตรซีพี 

คดีโต๊ะจีน - ในประเด็นเรื่องการต่อต้านบริษัทอื่น ๆ ที่มีส่วนกับการสนับสนุนรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ เราจะพบว่าชาวทวิตเตอร์เริ่มเอาภาพรายชื่อผู้บริจาคเงินใน “งานโต๊ะจีน” ของพรรคพลังประชารัฐมาเผยแพร่กันอย่างแพร่หลาย แม้ว่าบริษัทซีพีจะไม่ได้อยู่ในรายชื่อผู้บริจาคก็ตาม ในครั้งนั้นมีบริษัทที่บริจาคกว่า 26 บริษัท นับเป็นจำนวนเงินกว่า 90 ล้านบาท ในครั้งนั้นมีการขอให้ตรวจสอบว่าหน่วยงานรัฐเป็นผู้บริจาคด้วยหรือไม่ แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่รับฟ้อง   

ภาพรายชื่อผู้บริจาคคดีโต๊ะจีนที่มีการเผยแพร่กันในทวิตเตอร์ท่ามกลางกระแส #เว้นเซเว่นทุกWednesday
ที่มา: @kobkoon3

ต่อต้านทุนผูกขาด - อีกประเด็นหนึ่งที่ชาวทวิตเตอร์พูดถึงกันตอนรณรงค์งดเข้าเซเว่น คือเรื่องการต่อต้านทุนผูกขาด โดยข้อมูลที่นำมาเผยแพร่คือแผนผังของกิจการต่าง ๆ ที่ซีพีเข้ามาเป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเกษตรและอาหาร ธุรกิจค้าปลีก อีคอมเมิร์ซและธุรกิจดิจิทัล พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจเวชภัณฑ์ และการเงินและการธนาคาร นอกจากนี้ ชาวทวิตเตอร์ยังแสดงความไม่พอใจหลังจากที่ล่าสุดซีพีชนะประมูลเข้าเป็นเจ้าของกิจการเทสโกโลตัสในประเทศไทยและมาเลเซียด้วย 

ส่งเสริมร้านโชห่วย - วิธีการที่ชาวทวิตเตอร์ใช้เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการผูกขาดตลาดของซีพีคือการไปเข้าร้านโชห่วยหรือร้านสะดวกซื้อที่เป็นคู่แข่งแทน พร้อมกับรณรงค์ให้ทุกคนช่วยกันปักหมุดร้านโชห่วยในแอพลิเคชั่นแผนที่ต่าง ๆ เช่น Google Map, Grab Food, และ Longdo Map สาเหตุที่ชาวทวิตเตอร์ไปเข้าร้านโชห่วยหรือร้านสะดวกซื้ออื่น ๆ แทนการเข้าเซเว่นเป็นเพราะเห็นว่าผู้ค้าเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากเซเว่นมากที่สุด 

เหตุผลของผู้ใช้ทวิตเตอร์กลุ่มนี้นับว่าค่อนข้างมีน้ำหนัก เพราะจากรายงานของไทยพับลิกาที่อ้างอิงการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2562 พบว่าแม้ประเทศไทยจะมีร้านโชห่วยโดยประมาณมากถึง 400,000 ราย เมื่อเทียบกับร้านเซเว่นในปัจจุบันที่มีอยู่ทั้งหมด 11,700 ราย แต่ร้านโชห่วยกลับมีรายได้เฉลี่ยต่อร้านน้อยกว่าร้านสะดวกซื้อถึง 10 เท่า หากนับจำนวนร้านสะดวกซื้อที่มีทั้งหมด 18,000 แห่งในปี 2562 จะพบว่าคู่แข่งทุกเจ้าของร้านเซเว่นรวมกันแล้วมีอยู่ประมาณ 8,000 รายเท่านั้น 

ผลกระทบต่อพนักงาน - ประเด็นซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันในช่วงที่ผ่านมาคือหากงดเข้าเซเว่นมาก ๆ เข้า พนักงานของเซเว่นที่หาเช้ากินค่ำจะได้รับผลกระทบหรือไม่ ข้อมูลที่ใช้เป็นบริบทในการถกเถียงประเด็นนี้ได้คือสถิติโดยเว็บไซต์ทางการของซีพี ซึ่งระบุว่าตั้งแต่ปี 2558-2561 มีพนักงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 63,000 เป็น 92,000 รายและมีสัดส่วนผู้หญิงอยู่ที่ร้อยละ 66.2 อย่างไรก็ตาม ในช่วงดังกล่าวมีอัตราลาออกแต่ละปีเฉลี่ยประมาณ 30,000 ราย  

ท่ามกลางกระแสข่าวการปลดพนักงานเซเว่นในญี่ปุ่นในช่วงปลายปีที่แล้ว ซีพีออล์ประกาศว่ายังคงมีการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง และมีการประกาศรับสมัครอีกกว่า 35,000 อัตรา โดยปัจจุบันเซเว่นมีพนักงานกว่า 170,000 คน อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2562-2563 ยังไม่มีการประกาศออกมาว่ามีบุคลากรลาออกทั้งหมดกี่ราย และยังไม่มีการประกาศว่ามีการรับสมัครพนักงานใหม่เข้ามาทดแทนบุคลากรที่ลาออกไปเป็นสัดส่วนเท่าใด สำหรับอัตรารายได้ของพนักงานเซเว่น จากข้อมูลเท่าที่รวบรวมได้พบว่าอยู่ที่ประมาณ 9,000 - 25,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่าเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ พนักงานประจำ หรือเป็นผู้บริหารกิจการ 

หากงดเข้าเซเว่นมาก ๆ เข้า พนักงานของเซเว่นที่หาเช้ากินค่ำจะได้รับผลกระทบหรือไม่ เรื่องนี้ปัจจุบันยังไม่มีการสำรวจผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้อาจร้อนแรงขึ้นได้ในอนาคตหากการงดเข้าเซเว่นมีพลังมากถึงระดับที่นำไปสู่การปลดพนักงาน

เซเว่นไม่ยอมให้ถุงพลาสติก - นอกจากประเด็นต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ส่งผลให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์บางกลุ่มตัดสินใจงดเข้าเซเว่นเป็นเพราะว่าเซเว่นไม่ยอมแจกถุงพลาสติก สำหรับประเด็นนี้ เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่ารัฐบาลได้ร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ต่าง ๆ ในการไม่แจกถุงพลาสติกเพื่อลดปริมาณขยะ หลายคนวิจารณ์ว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้นับว่ายังน่าถกเถียง แม้จะมีการนำเข้าขยะสูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ข้อมูลจากกรมมลพิษก็ชี้ให้เห็นเช่นกันว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นกว่า 2 ล้านตันต่อปี แต่นำกลับมาใช้ใหม่ได้เพียง 0.5 ล้านตันเท่านั้น ส่วนที่เหลือทางการระบุว่านำไปฝังกลบ แต่จากรายงานต่าง ๆ พบว่าขยะดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวยังไม่ได้รับการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ทำให้ไทยมีการปล่อยขยะลงทะเลเป็นอันดับ 10 ของโลก  

ในบทสัมภาษณ์ของเดอะสแตนดาร์ดกับ พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทยระบุว่าการเลิกใช้ถุงพลาสติกถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่มาตรการยังมีช่องโหว่อีกมาก หนึ่งในปัญหาสำคัญคือมาตรการของรัฐบาลไม่ได้นำมาบังคับใช้กับร้านของชำ อีกทั้งขยะพลาสติกก็ยังมาจากส่วนอื่น ๆ ของสินค้าด้วย เช่น แก้วพลาสติก หลอด เศษโฟม กล่องอาหาร ฯลฯ ทางออกคือรัฐบาลควรแก้ไขปัญหาที่ห่วงโซ่การผลิตบรรจุภัณฑ์ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาทั้งระบบ หากมาตรการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพเป็นเช่นนี้ หมายความว่าร้านของชำก็อาจมีความจำเป็นต้องงดแจกถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวในอนาคต และส่งผลต่อความสะดวกสะบายของผู้บริโภคเช่นเดียวกัน  

งานวิจัยต่างประเทศเผย: โอกาสความสำเร็จอาจไม่ได้อยู่ที่ผลกระทบต่อยอดขาย

ประเด็นที่เป็นคำถามใหญ่ต่อขบวนการ #pausemob ในช่วงที่ผ่านมาก็คือ ความพยายามของชาวทวิตเตอร์จะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ เพราะหากพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ จะพบว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 บริษัทซีพีออล์มีรายได้กว่า 282,134 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจร้านเซเว่นเกือบ 1.8 แสนล้านบาท และต่อให้เซเว่นได้รับผลกระทบ ซีพีก็ยังมีรายได้จากธุรกิจอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเกษตรและอาหาร ธุรกิจค้าปลีก อีคอมเมิร์ซและธุรกิจดิจิทัล พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจเวชภัณฑ์ และการเงินและการธนาคาร จริงอยู่ที่ชาวทวิตเตอร์มีความพยายามจะขยายผลไปสู่การงดซื้อสินค้าและบริการประเภทอื่น ๆ แต่หลายคนก็ตั้งข้อสังเกตุว่าความพยายามในการงดเข้าเซเว่นอาจไม่ส่งผลกระทบอะไรอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่าผลกระทบของการงดใช้สินค้าและบริการต่าง ๆ อาจไม่ได้อยู่ที่ยอดขายเสมอไป เบรย์เดน คิง นักวิจัยของ Institute for Policy Research ในปี 2560 ชี้ให้เห็นว่าการคว่ำบาตรส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ส่งผลต่อยอดขาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพฤติกรรมเคยชินของผู้บริโภคเอง นอกจากนี้ คนที่บอยคอตสินค้าบริการของบริษัทก็อาจไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายลูกค้าของบริษัทดังกล่าวตั้งแรก แต่ถึงอย่างนั้น การคว่ำบาตรก็ยังอาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ เพราะการคว่ำบาตรสินค้าและบริการอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของบริษัท ทำให้ราคาหุ้นร่วงลงอย่างมากและจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม 

เนื่องจากผลกระทบมักเกิดขึ้นต่อชื่อเสียงภาพลักษณ์ของบริษัทมากกว่ายอดขาย บทบาทของสื่อจึงมีความสำคัญอย่างมาก “ตัวบ่งชี้ที่สำคัญที่สุดของสิ่งที่ทำให้การบอยคอตมีประสิทธิภาพคือการดูว่าสื่อมวลชนให้ความสนใจกับการบอยคอตดังกล่าวแค่ไหน ไม่ใช่จำนวนผู้ที่ลงชื่อในแถลงการณ์หรือจำนวนผู้บริโภคที่เข้าร่วม” เบรย์เดน คิง กล่าว

แดเนียล เดียร์เมเออร์ นักรัฐศาสตร์และนักบริหารศาสตร์ดูเหมือนจะมีความเห็นไปในลักษณะเดียวกัน ในบทความที่เขาเขียนลงใน Harvard Business Review เขาเสนอว่าในช่วงหลังมานี้นักกิจกรรมใช้การบอยคอตเป็นอาวุธในการต่อสู้มากขึ้น ขณะที่โซเชียลมีเดียก็เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนสามารถแสดงออกความคิดเห็นของตนเองได้มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถควบคุมสารที่ตัวเองต้องการสื่อได้ยาก ในสภาพเช่นนี้ผู้บริหารธุรกิจอาจไม่คุ้นเคยและขาดความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมรูปแบบใหม่

แดเนียล เล่าต่อไปว่าผู้บริหารธุรกิจควรเข้าใจลักษณะของการบอยคอต 2-3 ประการด้วยกัน อย่างแรกคือนักกิจกรรมและ NGOs มักมีความสามารถในการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์อย่างมาก เพราะมักจะวางแผนเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมทั้งหมด แต่มุ่งไปที่เป้าหมายเปราะบางที่สุดก่อน ประการต่อมาคือการบอยคอตบริษัทหนึ่งอาจขยายผลไปสู่การบอยคอตสินค้าและบริการของบริษัทอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าวได้ 

ถ้าหากตกเป็นเป้าหมายของการบอยคอต เขาเสนอให้ลองพิจารณาดูว่าประเด็นที่นำไปสู่การบอยคอตเป็นประเด็นประเภทใด หากเป็นประเด็นที่มีความเห็นประชาชนเทไปด้านเดียว (เช่น มีการใช้แรงงานเด็ก) บริษัทควรยอมถอยและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่หากเป็นประเด็นที่ความเห็นแบ่งขั้วเป็นสองฝ่าย บริษัทควรพยายามหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนั้นตั้งแต่แรก เพราะถ้าเลือกข้างแล้วออกมาแก้ต่างในภายหลัง บริษัทก็อาจตกเป็นเป้าโจมตีของอีกฝ่ายได้อยู่ดี นอกจากนี้ การที่บริษัทเลือกข้างทางการเมืองยังอาจส่งผลให้พนักงานที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามลาออกได้อีกด้วย  

หากหลีกเลี่ยงประเด็นที่ความเห็นแบ่งขั้วเป็นสองฝ่ายไม่ได้หรือไม่ทันการ ประเด็นต่อมาที่น่าคิดต่อคือโดยทั่วไปแล้วการบอยคอตมีโอกาสสำเร็จมากน้อยเพียงใด แดเนียลระบุว่าแม้จะมีบางกรณีที่การบอยคอตส่งผลกระทบต่อยอดขายอย่างมาก เช่น การบอยคอตปั๊มเชลล์โดยกรีนพีซในเยอรมนีที่ส่งผลให้ยอดขายลดลงกว่า 40% แต่ก็มีกรณีจำนวนมากที่การบอยคอตไม่ประสบความสำเร็จ โดยตัวชี้วัดความสำเร็จของการบอยคอตมีอยู่ 4 อย่างด้วยกัน 

1. ผู้บริโภคต้องใส่ใจเกี่ยวกับปัญหาอย่างยิ่ง ยิ่งสิ่งที่บริษัททำขัดกับหลักศีลธรรมมากเท่าไหร่ ผู้บริโภคมีแนวโน้มจะโกรธและบอยคอตมากขึ้นเท่านั้น

2. ผู้บริโภคต้องเข้าร่วมง่าย ถ้าบริษัทหนึ่ง ๆ มีคู่แข่งหลายเจ้าที่ขายสินค้าและบริการประเภทเดียวกัน ผู้บริโภคจะสามารถเข้าร่วมได้ง่ายด้วยการไปซื้อสินค้าและบริการของเจ้าอื่น แต่ถ้าบริษัทมีสินค้าและบริการที่เป็นเอกลักษณ์ การบอยคอตจะสามารถทำได้ยาก

3. ประเด็นต้องง่ายต่อการเข้าใจ หากประเด็นที่สื่อสารออกมาเข้าใจง่าย การบอยคอตมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จมากขึ้น แต่หากเข้าใจยาก โอกาสความสำเร็จก็ลดน้อยลงตามลำดับ

4. สื่อมวลชนยังเป็นปัจจัยสำคัญ แม้ว่าการรณรงค์จะสามารถทำได้ง่ายขึ้นหลังจากมีสื่อสังคมออนไลน์ แต่การนำเสนอข่าวของสื่อรายใหญ่ก็ยังเป็นตัวชี้วัดสำคัญต่อโอกาสความสำเร็จของการบอยคอต โดยการนำเสนอข่าวจะต้องสร้างความสนใจให้กับผู้ฟังอย่างมาก และการบอยคอตจะต้องเชื่อมโยงกับประเด็นที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net