Skip to main content
sharethis

สถานการณ์โควิด-19 รอบวัน พบป่วยในไทยเพิ่ม 30 ราย ครม. ปิดสถานศึกษา สถานบริการ-บันเทิง กทม. - ปริมณฑล 14 วัน สนามมวย สนามม้า สนามกีฬา ปิดไม่มีกำหนด วางมาตรการรับมือ-เยียวยา 6 ด้าน ธนาธร-สุดารัตน์เสนอ ควรทุ่มทุนตรวจหาผู้ป่วย แนะประชาชนดูอาการตัวเอง รักษาระยะห่างระหว่างกัน

17 มี.ค. 2563 สรุปสถานการณ์เกี่ยวกับโควิด-19 รอบวัน ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันทั้งสิ้น 177 คน พบผู้ป่วยรายใหม่ 30 คน อาการรุนแรง 1 คน เสียชีวิต 1 คน กลับบ้านแล้ว 41 คน มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังจำนวนทั้งสิ้น 7,084 คน ในระดับโลก มีผู้ป่วยยืนยัน 186,991 คน เพิ่มจากเดิม 4,551 คน เป็นผู้ป่วยในจีนทั้งหมด 80,881 คน เพิ่มจากเดิม 21 คน (ที่มา:กระทรวงสาธารณสุข [1] [2])

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ในประเทศไทย ระบุว่า ผู้ป่วยในไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มก้อนและมีที่มาชัดเจน ยืนยันว่าไทยยังอยู่ในระยะ 2 แต่ขอความร่วมมือประชาชนนั่งเว้นระยะห่าง รับประทานอาหารคนเดียวหรือเว้นระยะจากกัน งดเดินทางไปในที่แออัด งดสังสรรค์กับเพื่อน แนะนำให้ทำงานที่บ้านและล้างมือบ่อยๆ หากมีอาการสงสัยให้สวมหน้ากากอนามัยและพบแพทย์ทันที

ในวันนี้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีมติให้มีมาตรการหลายประการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุม ระบุว่า ครม. มีมติให้ปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัย สถาบันกวดวิชาในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่ 18-31 มี.ค. 63 และให้ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง อาบอบนวด รวมทั้งโรงหนังเป็นเวลา 14 วัน ส่วนสนามมวย สนามกีฬาและสนามม้าให้ปิดไม่มีกำหนด จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยยืนยันว่านี่ไม่ใช่การปิดปรเทศ ไม่ได้เป็นการปิดเมืองหรือปิดกรุงเทพฯ 

ที่ประชุม ครม. ยังมีมติยกเลิกวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ในช่วงวันที่ 13-15 เม.ย. โดยจะหาโอกาสที่เหมาะสมหยุดชดเชยต่อไป นายกฯ ยังกล่าวว่า คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา(โควิด-19)  ได้เสนอครม.เพื่อพิจารณา 6 ด้าน และ ครม. มีมติดังนี้ 

1.ด้านสาธารณสุข  มติ ครม. ไม่ห้ามการเข้า-ออกประเทศ แต่จะป้องกันและสกัดกั้นการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศทั้งช่องทางบก น้ำ อากาศ ชาวต่างชาติที่มาจากจีน เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี ฮ่องกง ไต้หวัน ต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน ยินยอมให้ใช้แอพพลิเคชั่นติดตามตัวของรัฐ เจ้าหน้าที่จะดูรายละเอียดว่าประเทศสุดท้ายที่เดินทางมาก่อนจะเข้าไทยเป็นประเทศที่มีโรคแพร่ระบาดหรือไม่ เพื่อแจ้งกระทรวงมหาดไทยและเข้าสู่กระบวนการกักตัว เฝ้าระวังสังเกตุอาการ 14 วัน

2.ด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน เร่งผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ให้จัดหาจากทั้งในและนอกประเทศอย่างเพียงพอ กระทรวงอุตสาหกรรมให้นำแอลกอฮอล์มาใช้ผลิตเจลล้างมือได้ ให้นำหน้ากากอนามัยที่เป็นของกลางที่ยึดมากระจายต่อ ตรวจสอบการขายออนไลน์ การกระจายและกักตุนสินค้า ตั้งคณะทำงานสำรวจเวชภัณฑ์ที่จำเป็น

3.ด้านข้อมูลการชี้แจงและรับเรื่องร้องเรียน ารสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ของรัฐบาลมาจาก 2 แหล่งคือ ข้อมูลทางการแพทย์จะแถลงที่กระทรวงสาธารณสุข ส่วนภาพรวมของข้อมูลโควิด-19 แถลงที่ทำเนียบรัฐบาล 

4.ด้านการต่างประเทศ ห้กระทรวงการต่างประเทศใช้ทีมไทยแลนด์ โดยเอกอัครราชทูตเป็นหัวหน้าทีมดูแลคนไทยในต่างประเทศ 

5.ด้านมาตรการป้องกัน ให้ลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง สถานที่ที่คนมาทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกิจวัตรที่อาจแพร่ระบาดเชื้อได้ง่าย แม้จะป้องกันแล้ว สถานที่และเวลาการปิดดังได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น นอกจากนั้นให้ลดจัดกิจกรรมการรวมตัวของคนจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค เช่น คอนเสิร์ต การแสดงสินค้า กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรมและกีฬา โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณา

6. ด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของกิจการโรงงาน ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจะมีมาตรการช่วยเหลือเกี่ยวกับภาระการผ่อนชำระ เช่น ให้สถาบันการเงินผ่อนผันการชำระค่างวด ส่วนประชาชนที่ประกอบอาชีพต่างๆ ที่อยู่นอกระบบ พ่อค้า แม่ค้า ลูกจ้างรายวันและกลุ่มเกษตรกร จะเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจระยะที่ 2 ต่อไป

สุดารัตน์-ธนาธร เสนอแนวทางหาผู้ป่วย คุมโรคระบาด แนะประชาชนกักตัวเอง อุดหนุนทุนขนาดเล็ก มีระยะห่างทางสังคม

เว็บไซต์พรรคเพื่อไทยรายงานว่า สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค เรียกร้องให้รัฐบาลยกระดับป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้ได้ ภายใน 3 สัปดาห์ โดยแนะนำมาตรการเร่งด่วน 2 ข้อ คือ

  1. ประกาศเปิดปฏิบัติการค้นหาผู้ติดเชื้ออย่างเร่งด่วน ขอให้ลงมือทำทันที แบบปูพรมพร้อมกันทั่วประเทศ โดยใช้กลไกของสาธารณสุข ที่มีโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ และ อสม. ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ปฏิบัติการนี้อาจเป็นเหมือนยาแรง แต่เป็นการแก้ปัญหาได้รวดเร็ว เพราะยิ่งค้นหาผู้ติดเชื้อได้รวดเร็วมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็วเท่านั้น
  2. ขอให้เร่งระงับการเพิ่มผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้าประเทศ ซึ่งขอเสนอมาตรการขั้นเด็ดขาดให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศปิดประเทศ โดยไม่รับผู้เดินทางจากต่างประเทศ 14 วัน หรือ ประกาศให้ผู้เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ต้องถูกกักตัวเฝ้าระวังสังเกตอาการ 14 วัน อย่างเคร่งครัด ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคระบาด

นายกรัฐมนตรีควรกล้าตัดสินใจ และทำทันที ยิ่งค้นหาจำนวนผู้ติดเชื้อได้มากเท่าไหร่ ยิ่งสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เร็วเท่านั้น และเพื่อให้ทั้ง 2 มาตรการ สามารถปฏิบัติได้สำเร็จต้องคำนึงถึงพื้นฐานความปลอดภัยของนักรบโควิด-19 ด่านหน้า คือ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ สาธารณสุข เป็นลำดับแรก รัฐบาลต้องทุ่มงบประมาณให้ทุกโรงพยาบาล เพื่อจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ในการป้องกันตัวเองของบุคลากรให้พร้อมเพรียง อย่าให้เป็นปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนอีก และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากร และต้องจ่ายเบี้ยความเสี่ยงให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานทุกคน และที่สำคัญ รัฐบาลต้องจัดอุปกรณ์เวชภัณฑ์ให้เพียงพอรองรับการรักษาผู้ป่วยที่จะมีมากขึ้น

รัฐบาลต้องปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพ คณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้อง มี Single Command ให้มีผู้รับผิดชอบแต่ละด้านอย่างชัดเจน ทั้งด้านการแพทย์ ด้านการควบคุมป้องกัน ด้านอุปกรณ์เวชภัณฑ์ ด้านเศรษฐกิจ และด้านการสื่อสาร การปฏิบัติการเร่งด่วนทั้งหมดนี้ ผู้นำต้องกล้าตัดสินใจ จบเร็ว คนไทยปลอดภัย เศรษฐกิจฟื้นเร็ว จึงจะเป็นชัยชนะที่แท้จริงของคนไทย และประเทศไทย

“เพื่อให้คนไทยปลอดภัย เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็ว นาทีนี้หนทางที่จะทำให้ประเทศไทยชนะได้อย่างแท้จริง คือกุมหัวใจของการควบคุมโรคระบาดให้ได้ นั่นคือ การค้นหาผู้ติดเชื้อให้ได้เร็ว และได้มากที่สุด” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

เมื่อวานนี้ (16 มี.ค.) เฟสบุ๊คเพจ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โพสท์ข้อเสนอแนะต่อประชาชนเกี่ยวกับการรับมือกับปัญหาโควิด-19 และยังระบุว่า หากเป็นรัฐบาลจะมีมาตรการดังนี้

  1. เปิดเผยบันทึกการสอบสวนโรคในส่วนของรายละเอียดการเดินทาง การใช้ชีวิตในวัน เวลา และสถานที่ต่างๆ ของผู้ที่ติดเชื้อก่อนหน้านี้(โดยไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล) เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบจริงๆ และประเมินได้ถูกต้องว่าแต่ละคนมีความเสี่ยงเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขระบุในแผนว่าจะทำอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการทำอย่างจริงจังในแบที่ดูง่าย ละเอียด ไม่กระจัดกระจาย จึงขอเสนอตัวเพื่อช่วยกระทรวงนำเสนอรายละเอียดเหล่านี้อีกที เพราะมีทีมงานที่พร้อมนำข้อมูลมาเสนอให้คนทั่วไปเข้าใจง่าย
  2. ทุ่มสรรพกำลังทุกทางเพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้การตรวจเชื้อให้ทำในเชิงรุกและกว้างขวางมากขึ้นอย่างน้อย 10 เท่า และผู้คนทั่วไปต้องเข้าถึงการตรวจได้ง่ายขึ้น และควรขยายนิยามผู้ป่วยต้องสงสัยตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก ที่ให้มีความหมายกว้างและไวขึ้น ให้ล้ำหน้าสถานการณ์ไปอีกขั้น เพื่อให้เคสอย่างแมทธิว ดีน หรือเซียนมวยบางคนไม่ต้องดิ้นรนไปตรวจเอง
  3. รณรงค์ให้ปฏิบัติตามแนวทางของ WHO ว่าถ้าไม่ป่วย ไม่มีอาการ หรือไม่เสี่ยง ก็ไม่ต้องใส่ เพื่อให้มีสินค้ามากเพียงพอสำหรับผู้ที่จำเป็น ได้แก่ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่ต้องอยู่ในจุดเสี่ยง

สำหรับประชาชน ธนาธรแนะนำว่า 

  1. เริ่มรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ลดละ เลี่ยงการพบปะผู้คนให้มากที่สุด หากจำเป็นก็ต้องรักษาระยะห่างและรักษาความสะอาด 
  2. ศึกษามาตรการกักตนเองอย่างจริงจังเมื่อพบว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองติดเชื้อหรือมีอาการ ให้ทำการ self-quarantine ไปเลยโดยไม่ต้องรอการยืนยันผลตรวจจากทางการ และจะออกสาธารณะอีกครั้งก็ต่อเมื่อพ้นระยะเวลาต้องเฝ้าสังเกตอาการแล้ว หรือเมื่อจำเป็นต้องเขารับการรักษาในโรงพยาบาล
  3. ไม่จำเป็นต้องกักตุนสินค้า ลดความถี่ในการจับจ่ายใช้สอยเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
  4. โควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างเดียว แต่ยังส่งผลรุนแรงต่อการทำมาหากินของประชาชนด้วย ดังนั้น หากเป็นไปได้ ก็ต้องช่วยอุดหนุนสินค้าบริการของประชาชนด้วยกันเองก่อนที่จะไปอุดหนุนกลุ่มทุนใหญ่

“ผมไม่สามารถพูดได้ว่า “ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก” เพราะคนเราจะตระหนกหรือไม่นั้นเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แต่สำหรับผม การที่เราจะใช้มาตรการเข้มงวดจริงจังตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้นน่าจะเป็นผลดีมากกว่าในการควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปจนเราควบคุมไม่อยู่ (และหากควบคุมไม่อยู่ ก็จะมีผู้ป่วยหนักจำนวนมาก ทำให้เตียงและหน่วยดูแลทางการแพทย์มีไม่พอ ทำให้เราอยู่ในสถานการณ์แบบอู่ฮั่นในช่วงแรก หรือแบบอิตาลีในตอนนี้ ที่แพทย์จะต้องเลือกว่าใครจะอยู่หรือจะไป และส่วนใหญ่ก็จำใจเลือกคนหนุ่มสาวก่อนผู้สูงอายุเพราะมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า ซึ่งผมไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น) ดังนั้นมาตรการเหล่านี้ หากเราใช้อย่างจริงจังล่วงหน้าไปเลย น่าจะดีกว่าที่เราจะมาเสียใจในภายหลัง” หนึ่งในข้อความในเพจของธนาธร ระบุ

ที่มาข่าว: สำนักข่าวไทย ไทยพีบีเอส

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net