Skip to main content
sharethis

คำเตือน: เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ 

9 มี.ค. 2563 บริษัท คอมเมทีฟ โปรดัคชั่น จัดฉายภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์เรื่อง Present Still Perfect: แค่นี้...ก็ดีแล้ว 2 ที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ เอสพลานาด รัชดาภิเษก โดยมีผู้กำกับและนักแสดงนำมารวมงาน นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนาก่อนการฉายภาพยนตร์ ซึ่งร่วมเสวนาโดยณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรม และชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้เขียนหนังสือ “นายใน” 

ภาพปก Official Teaser "Present Still Perfect: แค่นี้...ก็ดีแล้ว 2" (ที่มา: YouTube/COMMETIVE PRODUCTION CO.,LTD)

"Present Still Perfect: แค่นี้...ก็ดีแล้ว 2" กำกับโดยอนุสรณ์ สร้อยสงิม เล่าเรื่องราวต่อจากเหตุการณ์ในภาคแรกที่เต้ย (แสดงโดยอดิศร โทณะวณิก) ได้พบรักกับโอ๊ต (แสดงโดยกฤษณะ มฤคสนธิ) ที่ญี่ปุ่น ในขณะที่โอ๊ตกำลังจะเข้าพิธีแต่งงาน 4 ปีต่อมา เต้ยบังเอิญพบกับโอ๊ตที่สนามบิน ความเจ็บปวดจากรักครั้งนั้นที่หวนกลับมาทำให้เต้ยตัดสินใจหนีไปเกาะกูด แต่เมื่อเต้ยได้รับข้อความจากโอ๊ตที่พรรณนาถึงความคิดถึงที่มีต่อเต้ย ทำให้เต้ยบันดาลโทสะส่งข้อความไปต่อว่าโอ๊ตว่าทำให้เขากลายเป็น “ตัวสำรอง” ก่อนจะตกใจเขวี้ยงโทรศัพท์ทิ้งน้ำ ก่อนที่จะพบว่าโอ๊ตเดินทางมาหาเขาถึงเกาะกูดในวันต่อมา

ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงแต่ตั้งคำถามกับศีลธรรมและค่านิยมรักเดียวใจเดียวเท่านั้น แต่ยังวาดภาพของโลกในอุดมคติที่ซึ่งความหลากหลายทางเพศเป็นที่ยอมรับอีกด้วย เช่นที่เห็นในตอนจบของเรื่อง เมื่อน้ำหวาน ภรรยาของโอ๊ตได้เห็นข้อความที่เขาส่งถึงเต้ยและทั้งสองได้เปิดใจพูดคุยกัน โอ๊ตก็กลับมาหาเต้ยที่เกาะกูดเพื่อขอเต้ยแต่งงานโดยที่น้ำหวานก็ตามมาด้วย และอยู่ร่วมในพิธีแต่งงานของทั้งสอง จนอาจทำให้มองได้ว่าเรื่องราวคลี่คลายลงอย่างง่ายดายจนเกินไป ถึงแม้ว่าจะมีการปูพื้นให้เห็นว่าน้ำหวานเป็นคนหัวสมัยใหม่ที่มีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติ สอนลูกชายให้ไม่นับถือศาสนาและทะเลาะกับแม่ที่เป็น กปปส. มาก่อนแล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังสังเกตได้ว่าตัวละครอื่น ๆ เช่น เจน เจ้าของเกสท์เฮ้าส์ ก็ไม่ได้ตั้งคำถามกับการที่เต้ยและโอ๊ตมีความสัมพันธ์ฉันคนรัก แต่กลับมีปัญหากับการที่โอ๊ต “นอกใจ” ภรรยามากกว่า

แต่ถึงอย่างนั้น เราก็อาจจะฝันกันได้บ้างว่าถ้าเราอยู่ในโลกที่อะไร ๆ มันง่ายอย่างในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คงจะดี ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าการรักเพศเดียวกันจะไม่ใช่ความผิดทางอาญาในกฏหมายของประเทศไทย ซึ่งพยายามทำตัวเป็นสวรรค์ของบุคคลเพศหลากหลายในเอเชีย ถึงขนาดมีแคมเปญ “Go Thai, Be Free” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ใช้ภาพของคู่รักเพศเดียวกันในการโฆษณาสถานที่ท่องเที่ยว แต่ในความเป็นจริงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศยังต้องเผชิญกับปัญหาการเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิอยู่เป็นประจำ

นอกจากนี้ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศยังคงขาดโครงสร้างทางกฎหมายรองรับ เช่น กฏหมายสมรสที่ยังคงจำกัดให้การสมรสกระทำได้แค่ระหว่างคู่รักต่างเพศ การไม่มีกฎหมายรับรองเพศสภาพที่จะอนุญาตให้บุคคลข้ามเพศเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ซึ่งนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย เช่นการล่วงละเมิดทางเพศผู้ป่วยหญิงข้ามเพศที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและถูกจัดให้พักในห้องเดียวกับผู้ป่วยชาย และยังมีกรณีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศอื่น ๆ อีกมากมาย 

รายงานฉบับล่าสุดจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรือ UNDP ซึ่งเผยแพร่ในเดือนธันวาคม 2562 ระบุว่าถึงแม้ว่าจะมีการสนับสนุนให้มีการร่างกฏหมายและมีนโยบายที่สนับสนุนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่บุคคลเพศหลากหลายยังคงพบเจอกับการตีตรา อคติ การเลือกปฏิบัติ และความรุนแรง โดยจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 2,210 คน พบว่าถึงแม้ว่า 69% ของกลุ่มผู้เข้าร่วมในการศึกษาที่ไม่ใช่ผู้มีความหลากหลายทางเพศจะสนับสนุนการให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิที่เท่าเทียม 63% ของกลุ่มดังกล่าวบอกว่าจะรู้สึกไม่สบายใจถ้าหากคนในครอบครัวของตนตกหลุมรักกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ และ 44% เชื่อว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่ควรได้รับอนุญาติให้จัดตั้งองค์กรเพื่อทำงานในประเด็นทางเพศ 

ในขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างที่เป็นบุคคลเพศหลากหลายส่วนใหญ่ระบุว่าเคยมีประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติ โดยครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าถูกเลือกปฏิบัติโดยบุคคลในครอบครัว และนอกจานี้ยังมีส่วนหนึ่งที่ระบุว่ารู้สึกว่าได้รับการยอมรับจากคนนอกครอบครัวของตนมากกว่า

ไม่เพียงเท่านั้น สื่อเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เนื่องจากสื่อมักผลิตซ้ำอคติทางเพศและความเกลียดชังต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่นในกรณีที่ตัวแทนจากมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงเลขาธิการ กสทช. กรณีสถานีโทรทัศน์นิวส์วันและสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ใช้คำว่า “ครูเบี่ยงเบนทางเพศ” ในพาดหัวข่าวและเนื้อหาข่าว ซึ่งขัดต่อหลักจริยธรรมขั้นพื้นฐานและแนวปฏิบัติขององค์กรเพื่อความถูกต้องของผู้ประกอบวิชาชีพกระจายเสียงและโทรทัศน์ หรือกรณีที่สำนักข่าวทีนิวส์ใช้พาดหัวข่าว “กระเทยบุกห้องผู้ป่วยกระทืบจมกองเลือด” จนศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระเพื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเข้ายื่นจดหมายร้องเรียนกับคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปกิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) เนื่องจากพาดหัวข่าวดังกล่าวไม่ตรงกับความเป็นจริงและยังเป็นการใช้ถ้อยคำที่สร้างภาพเหมารวมว่าบุคคลหลากหลายทางเพศเป็นกลุ่มคนที่ชอบใช้ความรุนแรงและสร้างความเกลียดชังต่อบุคคลหลากหลายทางเพศ

ไม่เพียงเท่านั้น ภาพของบุคคลหลากหลายทางเพศที่ปรากฏในภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ก็มักมีลักษณะเป็นภาพเหมารวมและลดทอนคุณค่าให้กลายเป็นตัวตลก หรือแสดงภาพในเชิงว่าท้ายที่สุดคนที่รักเพศเดียวกับก็จะต้องเปลี่ยนแปลงมารักคนต่างเพศตามที่สังคมกำหนด ในแง่มุมนี้ การมีภาพยนตร์ที่พูดถึงความรักของคนเพศเดียวกันอย่างเปิดเผย ที่แสดงให้เห็นภาพว่าคู่รักเพศเดียวกันก็ไม่ต่างกับคู่รักต่างเพศ โดยที่ความรักของพวกเขาได้รับการยอมรับจากคนรอบข้างก็อาจถือเป็นการพัฒนาไปในทางที่ดีและเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการเล่าเรื่องราวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยไม่ลดทอนคุณค่าหรือผลักให้พวกเขากลายเป็นบุคคลชายขอบของสังคม และไม่เป็นการบอกกับผู้ชมที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศว่าความรักของพวกเขาเป็นเพียงสิ่งชั่วคราวและพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นไปตามที่สังคมกำหนดในที่สุด 

ประเด็นสิทธิในการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ยกมาชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามว่าเหตุใดคู่รักเพศเดียวกันจึงไม่มีสิทธิได้รับการรับรองทางกฎหมาย ในภาพยนตร์มีฉากที่เต้ยและโอ๊ตคุยกันเรื่องการแต่งงาน ซึ่งเต้ยพูดว่าพวกเขาแต่งงานกันไม่ได้เพราะเป็นเพศเดียวกัน นอกจากนี้ เมื่อเต้ยและโอ๊ตเข้าพิธีแต่งงานในตอนจบเรื่อง พวกเขาก็ยังสาบานว่าจะเป็นคู่ชีวิตกันโดยไม่ต้องให้รัฐบาลมารับรอง ภาพพิธีแต่งงานในเกสท์เฮ้าส์ริมทะเลที่สวยงามเหมือนภาพฝันอาจมองได้ว่าเป็นการกระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถามว่าเหตุใดกฏหมายจึงผลักพวกเขาไปเป็นคนชายขอบแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็อาจจะช่วยให้ผู้ชมเริ่มฉุกคิดเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย และการใช้ชีวิตคู่ไปจนถึงสิทธิในการได้เป็นคู่สมรสตามกฎหมายของบุคคลเพศเดียวกัน และอาจชวนให้ตั้งคำถามว่าจะดีแค่ไหนถ้าเราได้อยู่ในโลกที่ความหลากหลายเป็นที่ยอมรับ ที่ซึ่งความรักระหว่างเพศเดียวกันถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาและไม่มีใครต้องเผชิญกับอคติและการเลือกปฏิบัติเพียงแค่เพราะตกหลุมรักคนเพศเดียวกัน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net