Skip to main content
sharethis

กระแสหวาดวิตกในสังคมต่อการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ตามมาด้วยข้อมูล ความเชื่อสารพัดที่ส่งต่อกันบนอินเทอร์เน็ตทั้งจริง เท็จ และก้ำกึ่ง เช่น เราติดเชื้อผ่านหมา แมว ยุงได้ไหม ติดไวรัสซ้ำได้หรือไม่ ตัวไวรัสจะกลายพันธุ์หรือไม่ สื่อต่างประเทศหลายแห่งรวมเรื่องเหล่านี้เพื่อสร้างความเข้าใจต่อโรคได้ตามความจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์

ความเชื่อ : หน้ากากปิดปาก-จมูก ใช้ป้องกันโรคจากโควิด-19 ไม่ได้
ความจริง : จริงแค่ส่วนเดียว หน้ากากลดความเสี่ยงได้ แต่ไม่ใช่อย่างเดียวที่จำเป็น


แน่นอนว่าการใส่หน้ากากป้องกัน อาจจะไม่ได้การันตีว่าจะป้องกันโรคได้เต็มร้อยเพราะมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น ถ้าหากมีการใช้มือหรือส่วนอื่นๆ ที่มีเชื้อสัมผัสดวงตาก็ทำให้เชื้อเล็ดรอดเข้าไปได้ หรืออนุภาคไวรัสขนาดเล็กสามารถเล็ดรอดหน้ากากเข้าไปได้ อย่างไรก็ตาม หน้ากากจะช่วยสกัดกั้นของเหลวที่เป็นพาหะไว้ได้ นั่นหมายความว่ามันลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อต่อได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่ป่วยไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากทุกที่ทุกเวลาก็ได้ แต่ควรจะสวมเมื่อไปอยู่ในที่ๆ มีคนหนาแน่น หน้ากากสามารถช่วยคนที่ทำงานด้านสาธารณสุขหรือครอบครัวที่ต้องดูแลผู้ป่วยได้มากในแง่ของการป้องกัน แต่ถ้าหากออกไปข้างนอกแต่ไม่ได้อยู่ในที่คนหนาแน่นหน้ากากนี้จะไม่ส่งผลอะไรเท่าไหร่ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องซื้อกักตุนไว้

ความเชื่อ : การวัดอุณหภูมิสามารถคัดกรองโรคได้ทั้งหมด
ความจริง : การวัดอุณหภูมิสามารถวัดได้แค่ในบางส่วน เพราะมีอาการของโรคอย่างอื่นอยู่ด้วย

จากการวิจัยในจีนซึ่งมีการระบาดหนักเป็นแห่งแรกระบุว่า การแพร่เชื้อโควิด-19 บางกรณีเป็นการแพร่เชื้อโดยที่ผู้แพร่เชื้อไม่มีอาการของโรค การวัดอุณหภูมิร่างกายจะช่วยคัดกรองได้บางส่วนเท่านั้น จึงเห็นสาเหตุให้หลายประเทศในปัจจุบันเริ่มใช้วิธีการ "วางระยะห่างทางสังคม" (social distancing) คือการห้ามหรือลดโอกาสไม่ให้คนอยู่รวมกันในพื้นที่แออัด เนื่องจากเชื้อโควิด-19 มักแพร่กระจายผ่านการที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้มีเชื้อในระยะห่าง 6 ฟุต หรือเมื่อคนที่มีเชื้อไอหรือจามแล้วปล่อยให้เชื้อไปติดอยู่กับพื้นที่หรือสิ่งของต่างๆ เมื่อคนหยิบจับสัมผัสพื้นที่หรือสิ่งของเหล่านั้นแล้วสัมผัสใบหน้า หู ตา จมูก ปาก ต่อก็จะติดเชื้อเหล่านั้นได้

อีกกรณีหนึ่งคือการที่คนไอหรือจามแล้วเชื้อลอยอยู่ในอากาศในรูปแบบละออง แล้วมีคนสูดเข้าไปต่อ บางครั้งเชื้อเหล่านี้ลอยอยู่ในอากาศได้นานหลายชั่วโมง (ขณะที่บนพื้นผิวมีโอกาสจะอยู่ได้นานถึง 9 วัน) โดยที่คนทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยรวมถึงแพทย์-พยาบาลมีความเสี่ยงจะติดเชื้อด้วยวิธีนี้มากกว่า

สำหรับการป้องกันจากเชื้อจากพื้นผิวหรือสิ่งของต่างๆ ที่เราจับต้องนั้น WHO แนะนำว่าควรจะหมั่นล้างมือด้วยสบู่เป็นเวลา 20 วินาทีอย่างถูกวิธีหรือล้างด้วยแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันโรค และพยายามไม่ปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการไอหรือจาม

ความเชื่อ : ควรล้างมือด้วยผลิตภัณฑ์ล้างมือโดยเฉพาะเท่านั้น
ความจริง : ไม่จำเป็น แค่สบู่ก็สามารถกำจัดไวรัสได้

เคยมีนักวิทยาศาสตร์อธิบายแล้วว่าสบู่ทั่วไปสามารถละลายเยื่อไขมันของไวรัส ที่จะทำให้ไรรัสแตะสลายและถูกกำจัดไป ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเจลล้างมือต่างๆ ก็สามารถส่งผลแบบเดียวกันได้แต่ไม่ได้ผลดีเทียบเท่ากับสบู่ นอกจากแอลกอฮอล์กับสบู่แล้ว พวกสารกำจัดแบททีเรียทั้งหลายไม่ได้ส่งผลกับไวรัสมากนัก ทั้งนี้ WHO ยังระบุอีกว่ายาจำพวกยาปฏิชีวนะเป็นยาที่ใช้กับแบททีเรีย ดังนั้นจึงไม่ได้ผลกับไวรัส จึงไม่ควรใช้ในกรณีนี้ แต่คนไข้บางรายอาจจะได้รับยานี้ในฐานะเกิดอาการแทรกซ้อนที่มาจากแบคทีเรีย

ความเชื่อ : ผู้สูงอายุเท่านั้นที่ควรจะเป็นห่วงว่าจะติดเชื้อนี้
ความจริง : ทุกคนควรระวังตัวเองไม่ให้ติดเชื้อนี้ แม้ว่าจะยังมีอายุไม่มากและมีสุขภาพดี

ผู้คนที่อายุไม่มากก็มีโอกาสจะได้รับเชื้อและแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้เช่นกัน เคยมีการประเมินว่าถ้าหากไม่มีมาตรการป้องกัน คนๆ หนึ่งจะแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นโดยเฉลี่ย 2.5 คน ทำให้จำนวนผู้ได้รับเชื้อสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด WHO ระบุว่าคนที่มีความเสี่ยงจะทรุดหนักจากโรคนี้คือคนที่มีอาการอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น โรคหอบหืด เบาหวาน และโรคหัวใจ นั่นทำให้ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุใด

ความเชื่อ : ไวรัสโควิด-19 ติดต่อจากยุงผ่านสู่คนได้
ความจริง : ไม่จริง WHO ระบุว่ายุงทำแบบนั้นไม่ได้

ข้อมูลจาก WHO ระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่พบเห็นในตอนนี้ คือการติดเชื้อผ่านพาหะอย่างละอองการไอและจาม

ความเชื่อ : ไวรัสโควิด-19 ติดต่อจากสุนัขและแมวผ่านสู่คนได้
ความจริง : ไม่จริง สุนัขและแมวมีโอกาสได้รับเชื้อจากคน แต่จะไม่มีอาการของโรคใดๆ และไม่ส่งต่อโรคผ่านสู่คนได้

ในจีนมีการพบว่าสุนัขเลี้ยง ได้ติดเชื้ออย่างอ่อนๆ จากเจ้าของที่ติดเชื้อโควิด-19 หมายความว่าสุนัขสามารถได้รับไวรัสจากมนุษย์ได้ แต่สุนัขที่ได้รับไวรัสก็ไม่มีอาการป่วยให้เห็น และไม่มีหลักฐานว่าสัตว์สามารถแพร่เชื้อสู่มนุษย์ ในช่วงที่โรคซาร์ส ที่เป็นไวรัสสายพันธุ์ใกล้เคียงกับโควิด-19 ระบาดในปี 2546 ก็มีข้อมูลว่าแมวและสุนัขไม่สามารถล้มป่วยและแพร่เชื้อไวรัสสู่มนุษย์ได้ 

อย่างไรก็ดี ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ควรให้คนอื่นเป็นคนพาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่น หรือดูแลพวกเขาในเวลาที่เจ้าของป่วย และคนที่เลี้ยงสัตว์ก็ควรจะต้องล้างมือทำความสะอาดหลังสัมผัสตัวสัตว์ เพราะสัตว์อาจเป็นพาหะแพร่เชื้อโรคอื่นๆ เช่น อี.โคไล

ความเชื่อ : คนที่ติดไวรัสแล้วรักษาหาย มีโอกาสกลับไปติดไวรัสซ้ำอีก
ความจริง : จากข้อมูลในปัจจุบัน (วันที่ 17 มี.ค. 2563) ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

เคยมีกรณีในจีนและญี่ปุ่นที่มีคนไข้ที่เชื่อว่าน่าจะรักษาหายแล้วกลับไปติดโรคซ้ำอีก แต่ในกรณีเหล่านั้นทีมแพทย์พยาบาลไม่แน่ใจว่าคนไข้กลับไปติดเชื้อนี้ หรือว่าอาการยังไม่ดีขึ้นเต็มที่แล้วกลับไปทรุดอีก เคย์จิ ฟุคุดะ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกงกล่าวว่าการกลับไปติดเชื้อใหม่นั้นเป็นไปได้น้อยมาก แต่มีความเป็นไปได้สูงกว่าที่กรณีเหล่านี้เกิดขึ้นจากการตรวจที่ผิดพลาดว่าคนไข้ "ฟื้นตัวแล้ว" แต่จริงๆ ยังมีเชื้ออยู่

ฟุคุดะอธิบายว่า เมื่อคนติดเชื้อแล้วระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายคนจะพยายามต่อสู้กับไวรัสและสร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมา ถ้าหากมีใครกลับไปติดเชื้ออีกครั้งเป็นไปได้ว่าเพราะพวกเขามีระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดปกติ

ความเชื่อ : ไวรัสกำลังกลายพันธุ์ไปสู่ชนิดที่ร้ายแรงกว่าเดิม
ความจริง : ไม่ได้แย่ขนาดนั้น ไวรัสตัวที่กลายพันธุ์ไม่ได้ร้ายแรงกว่าเดิมและสามารถควบคุมจำนวนได้แล้ว

ไวรัสทุกชนิดจะมีการกลายพันธุ์หลังจากช่วงระยะเวลาหนึ่งโควิด-19 เองก็ทำเช่นนั้นได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะรุนแรงกว่า เพราะไวรัสที่รุนแรงมักจะสังหารคนหรือทำให้คนทรุดหนักจนทำอะไรไม่ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้แพร่กระจายได้น้อยกว่า นักวิจัยจากในจีนทำการวิเคราะห์กลุ่มยีนของโคโรนาไวรัสโควิด-19 พบว่าพวกมันมีอยู่ 2 ชนิดคือชนิด S และชนิด L โดยที่ตัวชนิด S เป็นไวรัสตัวเดิมที่พบได้มากกว่าในปัจจุบัน ขณะที่ตัวชนิด L เป็นชนิดที่กลายพันธุ์จากเดิมและเป็นชนิดที่แพร่กระจายได้เร็วกว่า อย่างไรก็ตามนักวิจัยระบุว่าไวรัสชนิด L นี้ถูกควบคุมการระบาดเอาไว้ได้แล้ว ทำให้มีโอกาสการแพร่กระจายลดลง ทั้งนี้ยังไม่มีอะไรที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าชนิดหนึ่งมีความร้ายแรงมากกว่าอีกชนิดหนึ่ง

เรียบเรียงจาก

11 things everyone should know about getting the novel coronavirus, Vox, 16-03-2020

Can a face mask stop coronavirus? Covid-19 facts checked, The Guardian, 17-03-2020

COVID-19 virus can be transmitted in areas with hot and humid climates, WHO

How fast can the coronavirus mutate?, Live Science, 07-03-2020

13 Coronavirus myths busted by science, Live Science, 11-03-2020

Can People Who Recover from COVID-19 Become Reinfected?, Snopes, 15-03-2020

Deadly viruses are no match for plain, old soap — here’s the science behind it, Market Watch, 14-03-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net