Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ศ.นพ.ประเวศ วะสีน่าจะเป็นปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ก้าวหน้าที่สุดในยุคปัจจุบัน พิจารณาจากข้อเสนอเรื่อง “กระจายอำนาจ” ทั้งในโครงสร้างทางการเมืองระดับชาติ ระบบราชการ ลงไปถึงระดับชุมชน แต่ความเป็นอนุรักษ์นิยมของเขาคือ การยืนยันหลักพุทธธรรมปรับใช้เป็นทางออกของสังคม การไม่วิพากษ์อุดมการณ์ชาติ ศาสนา กษัตริย์ โดยเฉพาะสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ สถาบันสงฆ์ กองทัพ ตุลาการว่าเป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจตามข้อเสนอของเขาเองหรือไม่อย่างไร ผลก็คือ ทำให้ข้อเสนอด้วย “เจตนาดี” ต่อบ้านเมืองของเขาตกอยู่ในสภาพ “พายเรือในอ่าง” มองไม่เห็นหนทางว่าการกระจายอำนาจที่ฟังดูสวยงามนั้นจะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติอย่างไร

ล่าสุด ในสถานการณ์ที่รัฐบาลสืบทอดอำนาจเผด็จการถูกไล่จากกระแส “แฟลซม็อบ” ที่ขยายไปตามมหาวิทยาลัยในพื้นที่ทุกภาคของประเทศ หมอประเวศออกมาชี้ให้เห็น “วิกฤต” อีกครั้ง (ดู https://www.isranews.org/article/isranews/86362-open00-2.html?fbclid=IwAR1jWbAtVuTtqflDpoUgjGIJcsl3X-zJ9vRwsaPUa9GQ-V9sMVZSmpW-A-4 ) ว่า 

วิกฤตประเทศไทย 2563 เป็นวิกฤตใหญ่ที่วิกฤตทุกด้านเข้ามาบรรจบกันคือ (1) ความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่แก้ไม่ได้ (2) วิกฤตเศรษฐกิจที่เชื่อมกับระบบเศรษฐกิจโลกที่พิกลพิการและผกผันอย่างรุนแรงรวดเร็ว (3) วิกฤตทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ความแห้งแล้งสลับกับน้ำท่วมซึ่งรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาฝุ่นพิษปกคลุมประเทศ (4) วิกฤติการระบาดของโคโรนาไวรัส ซึ่งกระทบองคาพยพของประเทศทุกส่วนอย่างรุนแรง การระบาดทำนองนี้จะเกิด ซ้ำๆ อีก (5) ความขัดแย้งทางการเมืองและอารมณ์ความรู้สึกไม่พอใจในการบริหารจัดการบ้านเมืองของมหาชนที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วการชุมนุมประท้วงของเยาวชนกำลังขยายตัวเป็นตัวอย่าง

จากนั้นก็อธิบายสาเหตุของวิกฤตและทางออกเป็นประเด็นๆ เช่น สมุทัย-สังคมเชิงอำนาจกับการขาดสมรรถนะทางปัญญา, การเมืองที่แตกแยกและมุ่งเอาชนะกันไม่มีสมรรถนะทางปัญญา, รัฐมนตรีโควต้าพรรคไม่การันตีว่าจะมีสมรรถนะทางปัญญา, จะคิดเพียงล้มรัฐบาลเท่านั้นไม่ได้แต่ต้องคิดว่าทำอย่างไร, จะต้องพลิกวิธีคิดจึงจะได้รัฐบาลที่มีสรรถนะและบริหารประเทศได้, วิธีได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีด้วยวิถีทางสายกลางทางการเมืองจะพลิกสถานการณ์

แม้ครั้งนี้หมอประเวศค่อนเข้างจะอธิบายปัญหาได้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่คนระดับชาวบ้านทั่วไปพูดกันมานานมากแล้ว เช่นว่า “...วิกฤตในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถ้าใช้สมรรถนะทางปัญญาก็มีทางออกในระบบรัฐสภา แต่การคิดเชิงอำนาจก็ทำให้มีการรัฐประหาร 2557 ซึ่งสร้างความแตกแยกทางการเมืองเรื่อยมาจนทุกวันนี้ ในช่วงรัฐบาลเผด็จการ คสช.5 ปี ก็เป็นการเสียโอกาสที่ขาดการใช้สมรรถนะทางปัญญาทำให้บ้านเมืองเดินมาสู่จุดวิกฤตใหญ่ในวันนี้”

แต่เมื่อหมอประเวศเสนอทางออกจากวิกฤตโดยอ้างหลักพุทธธรรม “มัชฌิมาปฏิปทา” ที่เขาเรียกว่า “ทางสายกลางทางการเมือง” เขากลับเสนอว่า

สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยวิจารณญาณที่ดีที่สุดของสมาชิกแต่ละท่านอย่างอิสระ ปราศจากอาณัติของการแบ่งข้างแบ่งขั้วใดๆ โดยรับฟังเสียงที่บริสุทธิ์และเชื่อถือได้ทางสังคมโดยคำนึงถึงผู้ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในการเป็นผู้มีจิตสำนึกสาธารณะ ความสุจริตมีสติปัญญาสูงรับฟังผู้อื่นและสามารถสื่อสารสาธารณะอย่างมีสาระและสุนทรียะ การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีให้ทำเป็นการลับหลายๆ รอบจนได้มติเป็นเอกฉันท์ แบบสภาพระคาร์ดินัลเลือกพระสันตะปาปา ที่วิหารซิสทีนวังวาติกัน ที่บางครั้งใช้เวลาหลายวันกว่าจะบรรลุความเป็นเอกฉันท์ ประชาธิปไตยแบบเอกฉันท์ก็ใช้ในทางพุทธไม่ใช่มีแต่ประชาธิปไตยเสียงข้างมาก ซึ่งแม้ภายหลังลงมติก็ยังแตกแยกกันต่อไป...

นายกรัฐมนตรีที่ได้จากการลงมติของ สส.ทั้งสภาอย่างเป็นเอกฉันท์ เป็นผู้ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เหนือการแบ่งแยกทุกชนิด จึงอยู่ในฐานะรวมคนในชาติ และมีอิสระในการสรรหาคนเก่ง คนดีมีสมรรถนะทางปัญญาสูง มาร่วมกันบริหารประเทศพาประเทศออกจากสภาวะวิกฤตได้

วิพากษ์ข้อเสนอของหมอประเวศ

1. ข้อวิพากษ์เชิงหลักการ ถ้าเชื่อว่ามีสิ่งที่เรียกว่า “ทางสายกลางทางการเมือง” คำถามคือ ระหว่าง “ประชาธิปไตยสมานฉันท์” แบบที่หมอประเวศเสนอ กับ “ประชาธิปไตยเสียงข้างมาก” ที่ยอมรับกันทั่วไป อะไรน่าจะเป็น “ทางสายกลาง” ได้มากกว่า 

คำตอบย่อมจะเป็นว่า ถ้าเรายอมรับหลักการพื้นฐานว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เชื่อมโยงประชาชนที่มีความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ที่แตกต่างหลากหลายให้ต่อสู้ต่องรองกันภายใต้กติกาที่เสรีและเป็นธรรม ประชาธิปไตยเสียงข้างมากน่าจะเป็นทางสายกลางมากกว่า เพราะนี่คือทางออกที่ไม่ต้องใช้อำนาจปืน หรือการเข่นฆ่ากันของกลุ่มอำนาจทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ และประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ ความต้องการและอื่นๆ

ส่วนประชาธิปไตยสมานฉันท์น่าจะเป็น “ทางสุดโต่ง” มากกว่า เพราะข้อเรียกร้องให้ประชาชน หรือ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนมีความคิดเห็นแบบเดียวกันและมีมติเอกฉันท์เลือกนายกฯ แม้ในสภาวะปกติก็ยังถือว่าเป็นข้อเรียกร้องที่สุดโต่ง เพราะขัดกับธรรมชาติของความแตกต่างหลากหลายทางความคิดเห็น ยิ่งในสภาวะวิกฤติความขัดแย้งทางความคิดและอุดมการณ์ประชาธิปไตยในปัจจุบัน ข้อเรียกร้องนี้ยิ่งสุดโต่งมากขึ้น

ถามว่า “มติเอกฉันท์” เป็นไปได้ไหม เป็นไปได้ครับ แต่เป็นไปได้ใน “ระบบ คสช.” เช่น สนช.ที่ คสช.ตั้งมาก็มีมติเอกฉันท์บ่อยๆ ในการผ่านร่างกฎหมายงบประมาณประจำปีที่รัฐบาลเผด็จการทหารทำขึ้น และผ่านร่างกฎหมายอื่นๆ จำนวนมหาศาล แต่กฎหมายเหล่านั้นหาใช่กฎหมายที่ยึดหลักความยุติธรรมตามกรอบนิติรัฐ (rule of law) ในระบอบเสรีประชาธิปไตยไม่ หากแต่เป็นกฎหมายตามคำสั่งของกลุ่มผูกขาดอำนาจนำทางการเมืองตามกรอบนิติอยุติธรรม (rule by law) เพราะอะไรครับ ก็เพราะมันเป็นมติเอกฉันที่ได้มาจากวิถีคิดเชิงอำนาจแบบที่หมอประเวศวิจารณ์นั่นเอง 

เราจึงนึกภาพไม่ออกว่า จะให้ ส.ส.เลือกนายกฯ ด้วยมติเอกฉันท์ตามข้อเสนอของหมอประเวศด้วย “กระบวนการที่ชอบธรรม” แบบไหนกัน หมอประเวศเสนอให้เรา “พลิกวิธีคิด” หรือ “เปลี่ยนวิธีคิดใหม่” แต่กลับเสนอว่า ให้ ส.ส.เลือกนายกฯ ด้วยมติเอกฉันท์ตามแบบประชาธิปไตยเอกฉันท์เชิงพุทธ หรือแบบการเลือกพระสันตะปาปา ซึ่งเป็นวิธีการแบบโบราณและยุคกลางของชุมชนนักบวชที่มีลักษณะเฉพาะ หรือไม่ได้ซับซ้อนเหมือนสังคมทางโลกในยุคสมัยใหม่

2. ข้อวิพากษ์เชิงจริยธรรม เป็นข้อวิพากษ์ต่อจริยธรรมของหมอประเวศโดยตรงเกี่ยวกับการอ้างหลักพุทธธรรมในทางการเมือง เช่น อ้างสัมมาปฏิบัติ, มัชฌิมาปฏิปทาเป็นต้น ถ้าคุณอ้างหลักพุทธธรรมดังกล่าวอย่าง “ซื่อตรง” ต่อหลักการที่อ้าง สิ่งแรกที่คุณต้องทำก็คือการต่อต้านรัฐประหารและเผด็จการทุกรูปแบบ เพราะรัฐประหารปล้นอำนาจของประชาชนคือ “มิจฉาปฏิบัติ” เพราะมันคือ “มิจฉากัมมันตะ” (การกระทำที่ผิด) ไม่ใช่ “สัมมากัมมันตะ” (การกระทำที่ถูกต้อง) ในมัชฌิมาปฏิปทา 

พูดอีกอย่างคือ ทางสายกลางตามหลักพุทธธรรมมีหลักเกณฑ์เฉพาะที่ชัดเจนในตัวมันเองว่าทำแบบไหนถูก ทำแบบไหนผิด เช่น ปล้นอำนาจประชาชนยังไงก็ผิดหลักทางสายกลางในพุทธธรรม และไม่ใช่จะอ้างมั่วๆ ได้ว่าการปล้นอำนาจประชาชนเป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตานะเว้ย เมื่อมีนักการเมืองโกงจึงมีการปล้นอำนาจ นี่ไม่ใช่เลย เพราะนักการเมืองโกงไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยรัฐประหาร และหลักมัชฌิมาปฏิปทาก็ไม่ใช่หลักที่จะนำมาอ้างได้อย่างสมเหตุสมผลว่า ให้ทุกฝ่ายหาทางประนีประนอมเพื่อสร้าง “มติเอกฉันท์” เลือกนายกฯ (“คนกลาง” อีกหรือ ใครคือคนกลาง?) เพื่อขจัดความขัดแย้งทางความคิด ทางการเมืองและอื่นๆ   

กล่าวโดยสรุป ปัญหาของหมอประเวศคือ การไม่ยึดอุดมการณ์และแนวทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเพื่อเป็นทางออกของปัญหาขัดแย้งทางการเมือง จึงทำให้สร้างข้อเสนอ “ช่องทางพิเศษ” ซึ่งในที่สุดแล้วก็เข้าทางฝ่ายเผด็จการหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมอยู่ดี และช่องทางพิเศษที่เสนอแต่ละครั้งก็ไม่ใช่ช่องทางที่จะทำให้ระบบอำนาจของสถาบันกษัตริย์ สถาบันสงฆ์ กองทัพ ระบบตุลาการถูกกำกับตรวจสอบภายใต้หลักเสรีภาพและประชาธิปไตยได้จริง

ยิ่งกว่านั้น การตีความพุทธธรรมประยุกต์ใช้ในทางการเมืองก็สะท้อน “ปัญหาทางจริยธรรม” ของหมอประเวศเองว่าเขาได้ยึดถือปฏิบัติตามหลักพุทธธรรมนั้นจริงหรือไม่ เพราะถ้าคุณยึดถือปฏิบัติในหลักพุทธธรรมตามที่อ้างจริง คุณก็ต้องต่อต้านรัฐประหารและเผด็จการเป็นอันดับแรก เนื่องจากการปล้นอำนาจประชาชน หรือการทำลายประชาธิปไตยมันขัดกับหลักทางสายกลางที่คุณเสนอโดยตรงดังที่กล่าวแล้ว 

 

ที่มาภาพ https://prachatai.com/journal/2018/08/78516

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net