Skip to main content
sharethis

คำแถลงจากผู้อำนวยการบริหารองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุ นอกจากมาตรการสาธารณสุขของรัฐที่ต้องตรวจสอบหาตัวผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ประชาชนทั่วไปเองก็ต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามสุขอนามัยอย่างการล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่ ก้มหน้าไอ จามใส่หัวไหล่แทนการใช้มือปิด วางระยะห่างทางสังคม ใช้หน้ากากในที่ชุมชน ดูแลผู้ป่วยในบ้านอย่างถูกวิธี ฯลฯ  ย้ำว่าเรื่องนี้ต้องปฏิบัติในทุกส่วนในพร้อมๆ กันเพื่อที่จะทำให้วิกฤตดีขึ้น

19 มี.ค. 2563 ผู้อำนวยการบริหารองค์การอนามัยโลก เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส แถลงข่าวต่อสื่อเมื่อ 16 มี.ค. ที่ผ่านมาเกี่ยวกับวิกฤตการณ์โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 (COVID-19) ที่กำลังระบาดหนัก โดยเน้นย้ำความสำคัญเรื่องมาตรการ "วางระยะห่างทางสังคม" (Social Distancing) เช่น การปิดสถานทำการที่มีคนหมู่มาก การรวมกลุ่มชุมนุมหรือการจัดแข่งขันกีฬา ทั้งนี้ยังพูดเน้นย้ำเรื่องความสำคัญในการตรวจวินิจฉัยโรคโดยอาศัยเครื่องมือที่เพียงพอและคัดแยกผู้ป่วยโดยเร่งด่วน

นอกจากมาตรการเหล่านี้แล้ว ผู้อำนวยการบริหารของ WHO ยังแนะนำว่าผู้คนทั่วไปก็สามารถช่วยป้องกันการรับเชื้อและแพร่กระจายเชื้อได้ด้วยการล้างมือบ่อยๆ เวลาไอให้มุดหน้าเข้าต้นแขนแล้วไอใส่หัวไหล่ตัวเองแทนการปิดปากธรรมดา เพื่อไม่ให้มือสัมผัสกับละอองเสมหะ เกเบรเยซัสกล่าวย้ำอีกว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่แค่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ต้องทำร่วมกับการวินิจฉัยโรคอย่างทันท่วงที มาตรการป้องกันในระดับสังคมและมาตรการการจัดการตัวเองของผู้คนทั่วไปถึงจะทำให้แก้ปัญหาการระบาดได้

"พวกเรามีข้อความง่ายๆ ให้กับประเทศทุกประเทศ วินิจฉัย วินิจฉัย และวินิจฉัย ...วินิจฉัยกรณีที่ต้องสงสัยว่าจะเข้าข่ายในทุกกรณี" คือข้อความที่เกเบรเยซัสกล่าวเน้นย้ำความสำคัญของการที่ระบบสาธารณสุขจะต้องตรวจเน้นการวินิจฉัยโรคเพื่อควบคุมการระบาด

เกเบรเยซัสเสนอแนะว่าควรมีการใช้เครื่องมือวินิจฉัยเหล่านี้กับผู้ที่แสดงอาการของโรคเท่านั้น เมื่อพิสูจน์ได้ว่าพวกเขาป่วยแล้วก็ทำการคัดแยกพวกเขา แล้วก็สอบถามว่าพวกเขาเข้าใกล้ใครบ้างในช่วง 2 วันที่ผ่านมา โดยที่เครื่องมือวินิจฉัยเหล่านี้มีการผลิตในทุกๆ วันเพื่อให้เข้ากับจำนวนความต้องการรวมทั้ง WHO ได้ส่งเครื่องมือวินิจฉัยเหล่านี้ 1.5 ล้านชุดไปสู่ประเทศ 120 ประเทศ และกำลังร่วมงานกับบริษัทต่างๆ เพื่อเพิ่มการผลิตเครื่องมือตรวจวินิจฉัยเหล่านี้ให้มีมากขึ้น

ถ้อยแถลงตัวแทนของ WHO ระบุว่า ควรจะมีการเน้นให้ความสำคัญกับผู้ป่วยผู้สูงอายุกับผู้ป่วยที่มีสภาพเสี่ยงจากอาการอย่างอื่นอยู่แล้วก่อน จากที่พบว่าสถานพยาบาลเริ่มไม่พอรองรับผู้ป่วยทั้งหมดในหลายประเทศ ทำให้บางส่วนใช้วิธีการให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนักไปอยู่ในสถานพักพิงชั่วคราวอย่างสนามกีฬาหรือโรงยิม มีทางเลือกอีกอย่างหนึ่งคือให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนักถูกคัดแยกและพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน โดยที่ทางการสาธารณสุขควรให้คำแนะนำสำหรับคนที่พักรักษาตัวอยู่ที่บ้านอย่างเคร่งครัดเพราะมีความเสี่ยงที่คนในครัวเรือนจะติดเชื้อต่อ

WHO ให้คำแนะนำสำหรับการดูแลคนป่วยโควิด-19 ในบ้านว่า ให้คนที่ดูแลผู้ป่วยสวมหน้ากากตลอดเวลาในช่วงที่อยู่ห้องเดียวกับผู้ป่วย ให้ล้างมือทุกครั้งที่มีการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับสภาพแวดล้อมที่ผู้ป่วยอยู่ นอกจากนี้ควรให้คนที่ดูแลผู้ป่วยเป็นคนที่่สุขภาพดีและไม่มีอาการป่วยอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว นอกจากนี้คนที่หายจากอาการของโควิด-19 อาจจะยังมีเชื้อแฝงอยู่ในร่างกายไปอีกอย่างมากที่สุด 2 สัปดาห์ จึงควรจะมีมาตรการคัดแยกไปอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังจากที่ผู้ป่วยไม่แสดงอาการแล้ว อีกทั้งไม่ควรจะให้คนนอกเข้าเยี่ยมในช่วงที่มีการคัดแยกนี้

เกเบรเยซัส แถลงว่าในวิกฤตการระบาดครั้งนี้ แม้แต่ประเทศที่มีระบบสาธารณสุขก้าวหน้าแล้วก็ยังต้องดิ้นรนในการแก้ไขปัญหา ยิ่งถ้าโรคนี้แพร่ไปยังประเทศที่ยากจนจะทำให้เกิดความน่าเป็นห่วงในหมู่ประชากรที่มีภูมิต้านทานโรคไม่ดีเช่นกลุ่มที่มีเชื้อเอชไอวีและน่าเป็นห่วงกลุ่มเด็กที่ขาดสารอาหาร

ผู้อำนวยการบริหาร WHO บอกอีกว่าเรื่องนี้ไม่เพียงแค่เป็นการลดความเสี่ยงเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประชาคมโลก พวกเขาจึงขอร้องให้มีการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันตรงนี้ในแง่ที่ไม่ควรกักตุนสิ่งของที่มีความสำคัญ เช่น ยา การขาดแคลนสิ่งของที่จะใช้ตรวจรักษาโรคได้เหล่านี้จะทำให้การแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้นไปอีก ทั้งนี้ WHO ยังขอบคุณประชาชนมากกว่า 110,000 คนที่บริจาคช่วยเหลือกองทุนแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีวงเงินรวมประมาณ 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

"วิกฤตเช่นนี้มักจะทำให้เราได้เห็นทั้งสิ่งที่ดีที่สุดและสิ่งที่แย่ที่สุดของมนุษยชาติ" เกเบรเยซัส กล่าว

เรียบเรียงจาก

WHO Director-General's opening remarks at the media briefing on COVID-19 - 16 March 2020, WHO, Mar. 16, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net