Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาโรคติดต่อจาก โควิท 19 น่าจะเป็นที่จับตามองไปทุกสารทิศ พ่วงด้วยปัญหาหน้ากากอนามัยที่ถูกกักตุนโดย (ถูกกล่าวหาว่า) ผู้ใกล้ชิด รมต. ดำเนินการโดยเพจชื่อดัง “แหม่มโพธิ์ดำ” และหลังจากนั้นได้ไม่นาน ก็มีกระแสข่าวสะพัดทั้งบวกและลบ อาทิ การกักตุนโดยรัฐจริงหรือไม่? แหม่มโพธิ์ดำเป็นใคร? ไทยเราจะส่งออกหน้ากากอนามัยไปจีน จริงหรือ? โฆษกรัฐในหน่วยงานหนึ่งอาจถูกฟ้องโดยอีกหน่วยงานหนึ่ง? ทั้งหมดทั้งมวล เกิดจากสาเหตุเดียว คือ โควิท 19 ซึ่งที่มาของเชื้อโรคดังกล่าวนั้นน่าจะเหลือวิสัยของบทความนี้จะไปถึง แต่ในฐานะอาจารย์กฎหมายซึ่งผมจะเพียรบอกลูกศิษย์ลูกหาให้ฝึกจับประเด็นให้ได้ กล่าวคือ สามารถแยกได้ว่าอะไร คือ น้ำ อะไร คือ เนื้อ แล้วท้ายที่สุดสาระสำคัญของปัญหา (ทางกฎหมาย) คืออะไร 

หากผมจะอธิบายถึงการปรับหลักกฎหมาย บทความนี้น่าจะถูกลดทอนความน่าสนใจของผู้อ่านในแวดวงอื่นพอสมควร แต่ผมน่าจะได้เตือนหรือให้ความรู้แก่สังคมในยุคปัจจุบันที่ข่าวสารที่เราสามารถรับรู้ได้อย่างมหาศาล แต่น่าจะเกินวิสัยที่มนุษย์เราจะจดจำทุกๆ รายละเอียดทั้งหมดของแต่ละข่าวด้วยเวลาอันจำกัด ดังนั้น การจับประเด็นน่าจะถือเป็นสาระสำคัญและอยู่ในวิสัยที่มนุษย์เราสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากที่ผมได้กล่าวข้างต้น เราสามารถจำแนกประเด็นได้ดังนี้ 1) หน้ากากอนามัยใครกักตุน 2) หน้ากากอนามัยมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการป้องกันโควิท 19 หรือไม่ 3)หน้ากากอนามัยขาดตลาดหรือไม่ 4) แหม่มโพธิ์เป็นใคร จากประเด็นเหล่านี้จึงนำไปสู่ข้อวิพากษ์เชิงสังคม /การเมืองว่า ประเด็นใดที่สังคมให้ความสนใจมากกว่ากัน ระหว่าง “การกักตุนหน้ากากอนามัย” และ/หรือ “แหม่มโพธิ์ดำคือใคร” แม้ว่าทางหน่วยงานรัฐจะมีความต้องการกระชากหน้ากากของคุณแหม่มโพธิ์ดำ  อย่างมาก แต่การที่รัฐมีส่วนรู้เห็นหรือไม่กับการกักตุนหน้ากากอนามัยนั้น ส่วนตัวผมว่าประเด็นหลังน่าจะก่อให้เกิดมรรคผลมากกว่า 

หากมองในมุมของผู้ถูกเปิดโปง เมื่อเขา/เธอเผยตัวตนไปแล้ว อะไร/ใครจะคุ้มครองสวัสดิภาพของเขา/เธอ เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันความเชื่อมั่นของประชาชนส่วนใหญ่ที่มีต่อรัฐบาลได้สร้างแรงสั่นสะเทือนหลายริกเตอร์ ยากที่จะต้านทานไหว แม้รัฐบาลจะอยู่ในสภาวะ “ไม่ไหวบอกไหว” แต่เราควรถามภาคประชาชนหรือไม่ครับว่า “เขาไหว?”

ดังนั้นก่อนจะลาไป ผมขอกราบเรียนตามตรงว่า รัฐฯต้องตีประเด็นทางสังคมให้แตกครับว่าอะไร คือ น้ำ อะไร คือ เนื้อ เพราะการเกาไม่ถูกที่คันจะเสียทั้งเวลา และงบประมาณอย่างมากนะครับ ยิ่งการนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เจ้าของเงินจะไม่พอใจได้นะครับ เพราะอย่างน้อยเจ้าของเงินน่าจะคาดหวังว่าผู้แทนของเขาจะนำเงินเหล่านั้นไปใช้แก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างเห็นผล เพราะมาตรา 50 (9) แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับว่า “บุคคลมีหน้าที่... เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ” แต่การเสียภาษีดังกล่าวควรจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความชอบธรรมและเป็นประโยชน์ต่อภาพรวม/สังคมหรือไม่ ไม่เช่นนั้น เราก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีเพื่อให้รัฐบาลนำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตน ดังนั้นผมจึงต้องมาถามหาความชอบธรรมว่า “เราจำเป็นต้องรู้จริงๆ หรือ? ว่าแหม่มโพธิ์ดำเป็นใครเพื่อประโยชน์ทางภาษี? #ฝากไว้ให้คิด

ปล. ประเพณีสงกรานต์ทำไมเราถึงไม่งดสักปี เลื่อนเพราะเหคุใดครับ ลองจินตนาการนะครับ สาดน้ำหน้าฝน มันใช่หรือครับ ยิ่งไปกว่านั้น ได้ข่าวปีนี้แล้งหนัก ทำไมเราไม่กักเก็บน้ำไว้ใช้เมื่อคราวจำเป็น และหากเราจัดประเพณีสงกรานต์แล้วไวรัสแพร่กระจายออกไป รัฐมีมาตรการรองรับแล้วใช่หรือไม่ครับ?
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net