Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สลิ่มเริ่มต้นจากกลุ่มคนเสื้อหลากสีมีชื่อเป็นทางการว่า กลุ่มประชาชนเพื่อพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ รวมตัวเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง และให้กำลังใจรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมตัวกันทำกิจกรรมครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2553 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ การใช้เสื้อหลากสีมีนัยว่าไม่ต้องการแบ่งแยกสี เพื่อให้การชุมนุมมีความแตกต่างจากการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ฝ่ายเสื้อแดงเห็นว่าคนเสื้อหลากสีเป็นแค่การเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนสีเสื้อของคนเสื้อเหลืองเดิมที่ไม่สามารถใช้เสื้อเหลืองในการเคลื่อนไหวสร้างความชอบธรรมได้อีกต่อไป ด้วยความที่ใช้สีเสื้อที่มีสีสันแตกต่างกันมารวมอยู่ในที่เดียวกันคล้ายคลึงกับสีของซาหริ่ม ซึ่งเป็นขนมทําด้วยแป้งถั่วเขียวลักษณะคล้ายวุ้นเส้นแต่มีหลายสี กินกับนํ้ากะทิผสมนํ้าเชื่อม ซาหริ่มเป็นคำที่คนมักจะสะกดผิดเขียนเป็น สลิ่ม กลุ่มคนเสื้อหลากสีจึงถูกเรียกตามชื่อขนมหวานหลากสีในน้ำกะทิว่า “สลิ่ม” (ดู Faris Yothasamuth ในประชาไท  และวิกิพีเดีย, กลุ่มประชาชนเพื่อพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์)

อะไรคือสลิ่ม? ว่าด้วยที่มา บริบทความหมาย และคุณลักษณะเฉพาะ โดย Faris Yothasamuth


ภาพจากไทยรัฐออนไลน์ https://www.thairath.co.th/content/81556

แน่นอนว่ากลุ่มคนเสื้อหลากสีซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของสลิ่มนั้น คือขั้วตรงข้ามกับเสื้อแดง ข้อเรียกร้องสำคัญคือ ต้องการให้รัฐบาลสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ถนนราชประสงค์ (ไทยรัฐออนไลน์ 25 เมษายน 2553) ความคิด พื้นฐานอุดมการณ์ การกระทำ และการแสดงออกของเสื้อหลากสีมีความคล้ายคลึงกับเสื้อเหลือง คืออยู่ฝ่ายตรงข้ามพรรคเพื่อไทย/คนเสื้อแดง และแสดงออกถึงการต่อต้านทักษิณ รวมไปถึงมีคติร่วมกันที่ไม่เชื่อในระบอบประชาธิปไตย ฝักใฝ่ระบอบกษัตริย์ และมักเรียกร้องให้ทหารทำการรัฐประหาร เมื่อสีเสื้อหลากหลายแตกต่างกัน แต่ค่านิยม วิธีคิด และพฤติกรรมทางการเมืองมีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน สลิ่มจึงมีลักษณะเป็นระบบความเชื่อทางการเมืองและการอยู่ร่วมกันในสังคมไทยร่วมสมัย ที่คอยกำกับ ควบคุมการแสดงความคิดเห็น พฤติกรรมทางสังคม และวิธีการเข้าถึงความรู้ของคนไทยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นผู้มีหน้ามีตาได้รับการยกย่องในสังคม

ลักษณะของสลิ่ม

มีการรวบรวมลักษณะของสลิ่มไว้ โดยส่วนใหญ่มีความสอดคล้องกัน คือเกลียดชังทักษิณ และเครือข่ายของทักษิณที่เรียกว่า ระบอบทักษิณ ซึ่งหมายรวมถึงพรรคการเมือง ประชาชนผู้สนับสนุนทักษิณ นโยบาย ความคิดที่มีต่อการพัฒนาประเทศ รวมไปถึงสินค้าและบริการที่ตระกูลชินวัตรเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ปัจจุบันสลิ่มขยายความเกลียดชังออกไปถึงพรรคอนาคตใหม่ และมองว่าประชาชนผู้เลือกพรรคอนาคตใหม่คือผู้หลงผิด ชังชาติด้วย ลักษณะประการที่สองคือ การแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยมีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลางของความเป็นชาติ และศาสนา จะเห็นถ้อยคำที่มักนำมาปิดแสดงให้ผู้อื่นได้รับรู้ ดังเช่น “ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป” “อยู่อย่างจงรักตายอย่างภักดี” ในทางการเมืองก็เช่นกันมีการเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์เข้ามาแทรกแซงทางการเมือง โดยใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ประเด็นการรณรงค์คือ “ถวายคืนพระราชอำนาจ” ความรักเทิดทูลสถาบันกษัตริย์นำไปสู่คติความเชื่อใหม่ของไทยคือ เป็นลูกผู้สืบสานตามรอยเท้าพ่อ ยกย่องพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 เป็นพ่อ (ดู ปวงชน อุนจะนำ. “กษัตริย์กระฎุมพี มรดกทางประวัติศาสตร์จากรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี” ฟ้าเดียวกัน 1 มกราคม-มิถุนายน) 2561) พสกนิกรเป็น “สมมติลูก” หรือลูกสมมติ เมื่อเกิดเป็นลูกแล้ว “ไม่รักพ่อก็ออกไปจากบ้านของพ่อซะ” ความรักพ่อซึ่งเป็นราชานี้ นำไปสู่ความรักที่มีต่อ “ทหารพระราชา” “ทหารเสือราชินี” ที่ถือเป็นผู้ปกป้องสถาบันฯ นายทหารผู้ขึ้นมามีตำแหน่วงทางการเมืองระดับสูงปัจจุบันจึงล้วนเคยเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์มาก่อน 

เรื่องที่ดูว่าสังคมจะยอมรับร่วมกันก็คือ “สลิ่ม” มีปัญหาในการใช้เหตุผล ในวิกิพจนานุกรม (https://th.wiktionary.org/) กล่าวถึงการใช้เหตุผลของสลิ่มไว้ว่า ไม่สามารถใช้ตรรกะหรือแสดงเหตุผลได้ จึงมักอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือมีความเชื่อที่ผิดอยู่เสมอ” การให้เหตุผลมักของผู้ถูกมองว่าเป็นสลิ่ม มักเป็นเหตุผลวิบัติ กล่าวคือ ข้ออ้างที่เป็นประโยคเสนอมักไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผลในตัวเอง คือเหตุกับผลไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มักจะละเว้นประโยคเสนอ ไม่มีข้อความแสดงให้เห็นการเปรียบเทียบหรืออนุมาน แต่มักเสนอข้อสรุปเลย ซึ่งข้อสรุปมักจะอ้างจากความเชื่อ หรือลักษณะความคิดที่ฝังหัวคนรุ่นเก่าในยุค Baby Boomers ผู้เคยผ่านเหตุการณ์ความทุกข์ยากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น การอ้างว่าคนตัดหญ้าหน้าทำเนียบจะไปรู้เรื่องประชาธิปไตยได้อย่างไร หรือสวัสดิการการรักษาพยาบาลของรัฐจะทำให้คนมาใช้บริการโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น เพราะต้องการใช้สิทธิ์รักษาฟรี เมื่อข้าวราคาตกต่ำให้หันไปปลูกอย่างอื่นแทน เช่น หมามุ่ย ราคายางพาราตกต่ำก็ให้นำไปขายที่อื่นซึ่งได้ราคาแพงกว่า เช่น ดาวอังคาร

คนรุ่นนี้ยังคงประทับใจกับวาทะประเภท “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” ชื่นชมการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีมาตรา 17 ให้อำนาจนากยกรัฐมนตรีสั่งประหารชีวิตประชาชนได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม กลุ่มคน Gen X เป็นอีกกลุ่มที่มีแนวโน้มไปทางสลิ่ม แม้ไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมสมัยกับคนรุ่น Baby Boomers แต่จากการถูกหล่อหลอมปลูกฝังจากพ่อ แม่ มาตั้งวัยเด็ก ให้ท่องอาขยาน หน้าที่ 10 ประการของเด็กดี แบบเรียนพลเมืองดี ฝังหัวในความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของทหารไทย ความงดงามของประเพณี วัฒนธรรมไทย ถูกการกล่อมเกลาให้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ผ่านสถานีวิทยุ โทรทัศน์ ของกองทัพทุกค่ำเช้า รวมทั้งข่าวในพระราชสำนักที่เป็นรูปแบบเดียวกัน เวลาเดียวกันทุกสถานีโทรทัศน์ ทำให้กลุ่มประชากรเหล่านี้ยึดมั่นโหยหาภาพฝันความดีงามของสังคมไทยในอดีต อยากจะย้อนเวลากลับไปและอยากจะมีชีวิตดังเช่น สมัยที่แม่พลอยในสี่แผ่นดินเคยมีชีวิตอยู่

ความใฝ่ฝันเหล่านี้สะท้อนผ่านรสนิยมการบริโภคสินค้า และซื้อบริการ เพื่อสร้างตัวตนย้อนกลับไปในอดีต โดยมีชนบทไทยเป็นตัวแทนของภาพฝันดังกล่าว จนเกิดกระแสการบริโภคชนบทเป็นวัฒนธรรมสมัยนิยมในสังคมไทย (ดูสามชาย ศรีสันต์, ชนบท-เมือง การสร้างความสุขภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการสร้างการรับรู้ในสังคมไทย เล่ม2) พวกเขามองโลกสวย และเห็นถึงแต่ความดีงาม พอเพียง ใสบริสุทธิ์ ขอบชนบท (ที่ไม่มีเสื้อแดง) ความเชื่อร่วมกันระหว่างคนรุ่น Gen X กับคนรุ่นพ่อแม่ก็คือ ถือเอาว่าตนเองเป็นลูกของราชา เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า ภายใต้เครือข่ายของสถาบันกษัตริย์ย่อมตั้งอยู่บนเหตุผลเชิงคุณธรรม โดยใช้หลักการตัดสินความดี ความจริง จากพระจริยวัตรและการทรงงานของกษัตริย์ เมื่อทรงเป็นกษัตริย์ที่ดีและมีพระจริยวัตรที่ดีมาตลอดรัชสมัย ย่อมต้องมีพระราชกรณียกิจที่เป็นไปเพื่อความดี เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ซึ่งถือเป็นหลักความดีตามทัศนะของสำนักจริยศาสตร์คุณธรรม (virtue ethics) พระบารมีนี้ช่วยปกแผ่ไปถึงข้าราชบริพาร ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่ถวายงานพระองค์ท่านด้วย ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ แม้เหตุผลของผู้ที่อ้างตนว่าปฏิบัติภารกิจถวายงานจะวิบัติ สับสน ไม่อยู่กับร่องกับรอยอย่างไร “สลิ่ม” ก็ยังคงเชื่อมั่น และยอมรับได้เสมอ พวกเขาเหล่านี้จึงไม่ใช่ว่าไม่มีเหตุผล แต่เป็นเหตุผลที่ลึกซึ้ง และเปี่ยมไปด้วยความจงรักภักดี ยากที่คนรุ่นอื่นที่ไม่ใช่สลิ่มจะเข้าใจได้

เมื่อเป็นบุตรแห่งราชา ย่อมจะเป็นผู้พิทักษ์ คุณงามความดี เป็นผู้คุ้มกัน รักษา และรักประเทศชาติ สลิ่มเชื่อว่าตนเองเป็นกลุ่มคนที่เข้าใจเรื่องประชาธิปไตยดีมาก ดีกว่าใครๆ คิดเอกว่าตนเองคือวีรชนที่ได้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จะเห็นได้จากการประกาศตัวเป็น “นักรบกู้ชาติ” เป็น “ข้ารองพระบาท” มองว่าคนจน คนเรียนหนังสือน้อย ถูกนักการเมืองหลอกและไม่รู้จักประชาธิปไตยดีพอ (ดูอภิชาติ สถิตนิรามัย และอนุสรณ์ อุณโณ. 2560. “การเมืองคนดี : ความคิด ปฏิบัติการและอัตลักษณ์ทางการเมืองของผู้สนับสนุน “ขบวนการเปล่ียนแปลงประเทศ) จึงมีแนวโน้มว่าสลิ่มจะไม่เชื่อเรื่อง “ความเท่าเทียมกัน” ความเข้าใจว่าพวกเขาและเธอเหล่านี้เป็นผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นผู้ประกอบความดีนี้ สามารถพิจารณาได้จากการนิยามตนเองในโลกออนไลน์ของกลุ่มสลิ่ม “พธม.จริงๆ ไม่ใช่สลิ่มเสื้อหลากสีนะครับ เรามีสีเดียวคือสีเหลืองในหลวง” “เรามีชาติและพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่ตั้ง เราเห็นผลประโยชน์ของชาติและสถาบันกษัตรย์มาก่อน พรรคการเมืองที่ชอบนักการเมืองที่รัก ถ้าใครทำไม่ดีต่อชาติและสถาบันเราก็พร้อมออกมาต่อต้านโดยไม่สนใจว่าเคยเป็นพวกกัันหรือไม่” 

ในแง่มุมทางการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งคนดีเหล่านี้จึงประมาณตนว่ามีความรู้ มีความฉลาดเท่าทันมากกว่ากลุ่มผู้เลือกตั้งจากชนบท วิธีคิดเช่นนี้จึงนำไปสู่การพยายามจะลดทอนเสียงของคนชนบท ซึ่งในที่สุดแล้วรัฐธรรมนูญปัจจุบัน จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่มีสมาชิกวุฒิสภา 250 คน มาจากการแต่งตั้ง และใช้ระบบการเลือกตั้งลดทอนคะแนนการเลือกตั้งของเสียงส่วนใหญ่ เรียกว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสม

โควิด-19 ในสายตาของสลิ่ม

ในสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ก็เช่นกัน สลิ่มยังคงมีลักษณะโลกสวย มองสังคมไทยเป็นสังคมที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีความสามารถไม่ด้อยกว่าชาติใดในโลก ซึ่งสอดคล้องกับรัฐบาลที่พยายามจะแถลงข่าวถึงความสามารถของแพทย์ จะเห็นได้ว่าในระยะแรกรัฐบาลโดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขออกมาแถลงข่าวว่า แพทย์ไทยพบวิธีการรักษาซึ่งได้ผลดี ทำให้อาการผู้ป่วยดีขึ้น เสมือนเป็นการค้นพบสำคัญที่สามารถหยุดการเสียชีวิตจากไวรัสได้ ประเทศไทยยังคงเปิดให้นักท่องเที่ยวจีน และทุกชาติเดินทางเข้าประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ยังคงเชื่อมั่นรัฐบาลว่า เป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง ไม่ควรปิดกั้นการเดินทางของคนต่างชาติเข้ามา ขนาดที่ว่ายินดีจะเปิดรับผู้ป่วยจากประเทศจีนให้เข้ามารับการรักษาในประเทศไทยเพราะ “หมอไทยเก่ง”

หรือกรณีมีข่าวการส่งออกหน้ากากอนามัยไปจีน กลุ่มที่ถูกเรียกว่า “สลิ่ม” ยังคงโลกสวย เห็นว่าเป็นการแบ่งปัน ช่วยเหลือประเทศที่เขาเดือดร้อนมากกว่า โควิด-19 ในระยะ 2 สัปดาห์แรกทำให้เห็นการให้เหตุผลของสลิ่มได้ชัดเจน ปัจจุบันสลิ่มยังคงเชื่อมั่นรัฐบาล คิดว่าสามารถควบคุมได้ มีการนำตัวเลขสถิติผู้ติดเชื้อจากทั่วโลกมายืนยันว่า ไทยมีอัตราการติดเชื้อต่ำกว่าประเทศอื่น ทั้งที่ชาวจีนจากเมืองอู่ฮั่นเดินทางเข้ามามากที่สุด เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด แสดงให้เห็นความส่ามารถของรัฐบาลไทย สลิ่มบางคนถึงกับโพสข้อความว่า แทนที่จะปิดประเทศ ให้ปิดสื่อมวลชนบางสำนัก ความรุนแรงของ โควิด-19 ก็จะหมดไปทันที

นอกจากเชิดชูความเป็นไทยแล้ว สิ่งที่มักเกิดขึ้นพร้อมกันคือการกดเหยียดชาติอื่น กรณีการทวิตข้อความของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข “ช่วงนี้เป็นหน้าหนาวที่ยุโรป แล้วยิ่งมีระบาด พวกนี้ยิ่งหนีเข้ามาหลบหนาว หลบโรคในเมืองไทย หลายคนแต่งตัวสกปรกไม่อาบน้ำ เราเจ้าบ้านต้องระวังตัว พวกเขายังไม่อยากคบหากันเอง ปิดประเทศใส่กันแล้ว คนที่เคยวิจารณ์ผม ตำหนิฝรั่งไม่ใส่หน้ากากอนามัย ยังจำได้ไหมครับ” ความเป็นสลิ่มได้รับการตอกย้ำชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อรัฐมนตรีในรัฐบาลแสดงความเชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา “รมต.สำนักนายกฯ ขอพระสงฆ์ ทั่วไทยสวดรัตนสูตร สู้โควิด-19 เหมือนโบราณกาล ปัดเป่าโรคห่า” 

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางการเมือง หรือสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ความคิด ความเชื่อ ก็ไม่แตกต่างกัน คือ เข้าใจว่าคนดีต้องทำเพื่อ ความมั่นคงของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยไม่ตั้งคำถาม ทั้งยังเชื่อว่า 3 สถาบันหลัก เป็นทางออกของทุกปัญหาสำหรับประเทศไทย กล่าวให้ถึงที่สุดในความคิดของสลิ่มแล้วอาจฆ่าคนได้ทั้งประเทศเพียงเพื่อจะรักษา 3 สถาบันหลักนี้ไว้ให้คงอยู่

ความกล้าหาญทางจริยธรรมของการพูดความจริง

ความแตกต่างของสลิ่ม กับไม่ใช่สลิ่ม สามารถอธิบายได้ด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรมของการพูดความจริง ซึ่งมิเชล ฟูโกต์ เรียกว่า “parrhesia” หมายถึงความกล้าหาญที่จะพูดความจริง มีอิสรภาพในการพูดไม่ตกอยู่ภายใต้การกำกับครอบงำของอำนาจ เป็นการพูดความจริงต่อตนเองและผู้อื่น ความจริงในความหมายนี้ต่างจากความจริงในแบบของ อิมมานูเอล คานต์ ที่มีลักษณะเป็นกฎธรรมชาติเป็นสากล (universal) parrhesia เป็นความจริงที่มาจากภายในตัวตนของตนเอง เมื่อเรารับรู้ว่าเพศวิถีของเราต่างไปจากเพศกำเนิดไม่ได้เป็ชาย หรือหญิง บทบาททางเพศหรือเพศสภาพที่สังคมกำหนดให้ ล้วนไม่ใช่สิ่งที่ตรงกับความจริงที่เกิดขึ้นภายใน หากแต่กดทับ สร้างความทุกข์ ที่จะต้องฝืนวางบทบาททางเพศในทางที่แตกต่างจากสิ่งที่ตนเองเป็น การสะท้อนความจริงภายในตัวเองออกมาให้สังคมได้รับรู้ เป็นความรับผิดชอบต่อตนเอง และผู้อื่นที่บุคคลจะไม่เสแสร้งหลอกลวง เป็นความซื่อสัตย์ต่อความจริง และเป็นความกล้าหาญทางจริยธรรม เมื่อเราเปิดเผยความจริงให้สังคมได้รับรู้ การกล้าพูดความจริงเป็นการต่อต้านขัดขืนต่อความจริงที่สังคมยึดถือที่มาพร้อมกับอำนาจ ซึ่งกระทำการกดทับ บีบบังคับ ความจริงจากตัวตนเป็นความจริงในอีกแบบที่ต่างไปจากความจริงที่สังคมยึดถือเชื่อว่าเป็นจริง

จะเห็นว่า คู่ตรงข้ามกับ สลิ่ม ไม่ว่าจะเป็น เสื้อแดง ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ชาวบ้าน ล้วนออกมาพูดความจริงภายในอันเป็นความทุกข์ยากที่เกิดขึ้น เสื้อแดงพูดถึงการถูกกระทำสองมาตรฐาน การถูกกดเหยียดไม่เห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ ขณะที่นักศึกษามองเห็นถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม และความถดถอยของประชาธิปไตย ชาวบ้านที่ออกมาชุมนุมประท้วงพูดถึงความทุกข์ยากที่ได้รับจากนโยบายของรัฐบาล สถานการณ์ไวรัสโควิดฯ ทำให้ประชาชนจำนวนมากออกมาพูดความจริงที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวล ความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาล เรียกร้องให้ระงับการเดินทางเข้าออกประเทศ ขณะที่รัฐบาล และเหล่าบรรดาสลิ่มยังคงยึดมั่นความจริงที่ยึดโยงอยู่กับศีลธรรมแบบขนบ คือ มีความมั่นคงของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นสิ่งยึดโยง พูดในสิ่งดีๆ เพื่อไม่ให้ประเทศเสียหาย พยายามอย่างเต็มที่ที่จะปกป้องความจริงที่ตนเองยึดถือไว้ “ประเทศไทยต้องชนะ” ผลักใสกลุ่มคนที่พูดความจริงในอีกแบบว่าเป็นพวก “ชังชาติ”

ความจริงของสลิ่มจึงเป็นความจริงแบบแช่แข็งหยุดนิ่งอยู่กับความเป็นไทยในอดีต ที่ไม่ยอมจะเปลี่ยนแปลง คงที่ดำรงอยู่เหนือกาละ เทศะ เป็นจริงในทุกที่ทุกเวลา โดยเชื่อว่าผู้มีบุญบารมี มีอำนาจปกครองเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงความจริง แล้วนำความจริงนั้นมาประกาศต่อประชาชน ความจริงแบบนี้จึงเป็นความจริงที่เอื้อต่อการควบคุมประชาชนของผู้มีอำนาจ สลิ่มกับประชาธิปไตยจึงไปด้วยกันไม่ได้ เพราะประชาธิปไตยต้องการความกล้าหาญที่จะพูดความจริงจากภายใน แต่เผด็จการต้องการพูดความจริงตามที่ผู้ปกครองบอกให้พูด สลิ่มเข้าใจว่าการปกป้องประเทศชาติ และสถาบันหลักของชาติ คือการปกป้องความจริงซึ่งเป็นความกล้าหาญ ขณะเดียวกันฝ่ายตรงข้ามคือผู้ขี้ขลาดและเห็นแก่ตัว แต่หากพิจารณาความกล้าหาญภายใต้มโนทัศน์ “parrhesia” แล้ว สลิ่มก็คือผู้ที่ขี้ขลาด สยบยอมต่อความจริงที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ปกครอง เลื่อนลอย ไร้วุฒิภาวะ ขาดเหตุผล และหาตัวตนของตัวเองไม่เจอ

อย่างไรก็ตามบทความนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะประณามอุดมการณ์แบบสลิ่ม เพราะหากย้อนกลับไปสู่ความจริงที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน สถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และความเป็นไทย ย่อมเป็นความจริงสูงสุดที่คนไทยทุกคนจะต้องหวงแหนรักษาไว้แม้ต้องแลกด้วยชีวิต ความเชื่อเหล่านี้ถูกฝังเข้าไปใน DNA การพูดความจริงอันเป็นความทุกข์ยากจากภายใน จึงถูกมองว่าเป็นปัญหาเฉพาะตัว เป็นความเบี่ยงเบนของผู้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน สลิ่มทั้งหลายยึดมั่นและทำหน้าที่เพื่อธำรงสิ่งเหล่านี้ไว้อย่างเหนียวแน่น ขณะเดียวกันชนชั้นสลิ่มในสังคมได้ประโยชน์จากความจริงที่ถูกสร้างขึ้นนี้มาโดยตลอด ดังนั้นประเทศไทยในสายตาของสลิ่มจึงสดใสสวยงาม หอมหวาน ชื่นเย็น ล่องลอยอยู่ในถ้วยน้ำแข็งใส่น้ำกะทิ ซึ่งหากผิดไปจากนี้ก็จะเป็นสลิ่ม เป็นขนมไทยไปไม่ได้ต้องขจัดขับไล่ไปเสีย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net