Skip to main content
sharethis

2 แท็กซี่บอกเล่าลืมตามาก็มีหนี้รายวัน แนะรัฐยืดอายุรถ-ลดค่าธรรมเนียม-ลดค่าเชื้อเพลิง เช่นเดียวกับแม่ค้าร้านลาบหยุดงานไม่ได้ หนี้-รายจ่ายมาทุกวัน ขณะที่ 2 มอเตอร์ไซค์รับจ้างคิดว่าถ้าโดนกักตัวอดตายแน่ๆ ช่างภาพอิสระแนะรัฐช่วยประนอมหนี้ ส่วนแรงงานข้ามชาติขอรัฐช่วยค่ารักษาพยาบาล หมอนวดเผยนักท่องเที่ยวจีนหาย ร้านปิด จากรายได้น้อยกลายเป็นไม่มีเลย 'มัคทายก' ระบุศพยังมาตั้งที่วัดปกติ แต่คนมาร่วมงานบางตามาก

จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา นอกจากตัวโรคจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว ผลสืบเนื่องคงหนีไม่พ้นปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ลดลงส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่กับภาคธุรกิจและภาคบริการการท่องเที่ยว รวมไปถึงมาตรการต่างๆ ที่รัฐออกมา (และยังไม่ออกมา) ย่อมส่งผลอีกทอดหนึ่งเช่นกัน

ในโอกาสนี้ประชาไทได้พูดคุยกับคนหาเช้ากินค่ำ คนงานในภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคบริการ เช่น คนขับแท็กซี่ คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หมอนวด แม่ค้าร้านลาบ แรงงานข้ามชาติร้านก๋วยเตี๋ยว ช่างภาพฟรีแลนซ์ จนถึงมัคทายกในวัด (เขียนเลียนเสียงปากที่คนนิยมเรียก)

2 แท็กซี่ : ลืมตาก็มีหนี้รายวัน แนะรัฐยืดอายุรถ-ลดค่าธรรมเนียม-ลดค่าเชื้อเพลิง

วรมันต์ วัฒนสิงห์ วัย 61 ปี คนขับแท็กซี่รถส่วนตัวที่เพิ่งผ่อนหมดเล่าว่า เขาเริ่มขับแท็กซี่จริงๆ จังๆ ตั้งแต่ปี 2554  และช่วงนี้ผลกระทบจากโควิด 19 หนักมาก รายได้หายไปกว่า 70-80% และยังมีแนวโน้มที่จะหนักขึ้นอีก โดยปกติเขาจะขับผ่านแกร็บประมาณ 90% เมื่อมีปัญหาเรื่องนักท่องเที่ยวหาย จากวันหนึ่งเคยได้ไม่ต่ำกว่า 15-16 งานที่รับจากแกร็บ เหลือวันละ 4-5 งาน จึงต้องมาเปิดไฟว่างรับผู้โดยสารโบกรายทาง 

สำหรับการป้องกันตัวเองเบื้องต้นนั้น วรมันต์ระบุว่ามีการสวมหน้ากากกับใช้เจลแอลกอฮอล์ และหลังรับผู้โดยสารที่มองแล้วไม่สะอาด เมื่อลงจากรถก็จะเอาแอลกอฮอล์ไปฉีดแล้วทำความสะอาดรถ

ขณะที่ข้อเรียกร้องต่อรัฐนั้น วรมันต์เสนอว่า ในฐานะที่เป็นเจ้าของแท็กซี่ ปกติแท็กซี่จะมีการกำหนดอายุใช้งานจำกัด กรณีของเขาผ่อนมา 5 ปีเหลืออายุใช้งานอีก 3 ปีเศษเท่านั้น เมื่อหมดอายุก็ไม่มีราคาซาก ทีแรกเขาวางแผนว่าหลังจากผ่อนหมดจะใช้หากินเก็บเงินให้ได้วันละพันไปสัก 4 ปีซึ่งน่าจะทำให้ได้เงินไม่น้อย หากจะซื้อใหม่จะได้ไม่เป็นภาระมาก แต่เมื่อเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นมา ความฝันก็สลายลง

สิ่งที่เขาอยากให้รัฐช่วยอย่างมากขณะนี้คือ ขยายอายุการใช้งานแท็กซี่ให้ยาวขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีกับอู่ด้วยที่จะได้ลดค่าเช่ากับผู้เช่าแท็กซี่ลง เนื่องจากอายุการใช้งานรถเพิ่มขึ้น ส่วนรัฐจะไปออกมาตรการเข้มงวดอะไรอย่างไรสำหรับการตรวจสภาพรถก็สามารถทำได้และขอให้ทำจริงจัง แต่เขากังวลว่ารัฐจะไม่ทำเสียมากกว่าเพราะมันไปกระทบต่อทุนใหญ่ หากเพิ่มอายุแท็กซี่ บริษัทใหญ่ก็ขายรถไม่ได้ เบื้องต้นอยากให้เพิ่มอายุแท็กซี่จาก 9 ปีเป็น 12 ปี หากเป็นเช่นนั้นก็ยังมองเห็นอานาคตข้างหน้าบ้าง เนื่องจากวิกฤติครั้งนี้น่าจะกินเวลาเป็นปี กว่าจะกลับมาเข้าที่เข้าทาง กว่าที่จะกลับมาหาเงินได้อีก ถึงตอนนั้นรถก็แทบจะหมดอายุใช้งานอยู่แล้ว 

"มันเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นมาความฝันมันสลายลงไปเลย" วรมันต์กล่าว

วรมันต์ยังกล่าวถึงแกร็บว่า แต่ก่อนตลาดผู้โดยสารใหญ่มาก ตอนที่ยังมีนักท่องเที่ยวอยู่ คนขับแท็กซี่อาจไม่สนใจเท่าไรหากมีรถบ้านมารับผู้โดยสารแข่ง เพราะตลาดมันใหญ่มาก มันยังแบ่งกันกินได้ แต่เมื่อเกิดวิกฤติครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่ารถบ้านไปแย่งรับผู้โดยสารในเขตใจกลางเมืองทำให้แท็กซี่ยิ่งลำบาก เมื่อปัญหาสะสมมามากขนาดนี้จนแกร็บเองกลายเป็นทุนใหญ่ไปแล้ว เขามองไม่เห็นทางเลยที่รัฐจะแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ได้ 

"ยังโชคดีมากๆ ที่เพิ่งผ่อนรถหมด ไม่งั้นไม่มีทางเลย ผมมองไม่เห็นทางเลยว่าในสภาวะอย่างนี้ คุณผ่อนรถเดือนละ 2 หมื่น คุณจะไปหาที่ไหน" วรมันต์กล่าว

วรมันต์กล่าวอีกว่า เขาคิดไม่ออกว่ารัฐจะทำอะไรได้ แต่อยากให้ทำอะไรก็ทำให้จริงจัง ขอให้ชัดเจน จะปิดก็ปิดเลย เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น เขาลำบากก็ยอม แต่ที่ผ่านมามันไม่มีความชัดเจน

วันชัย (สงวนนามสกุล) คนขับรถแท็กซี่และ LINE MAN Taxi โดยใช้แบบรถเช่าซื้อ เขาเพิ่งเริ่มขับได้ 3-4 เดือน ก่อนหน้านี้เป็นพนักงานออฟฟิสแต่ถูกเลิกจ้างในวัย 44 ปี เขากล่าวถึงผลกระทบว่า น่าจะเป็นจังหวะร้ายของเขาเพราะว่าตอนที่ตกงานมาได้เงินชดเชยมานิดหน่อยไม่ถึงแสนบาท แล้วอายุมากแล้ว 40 กว่าจะไปสมัครงานใหม่ตามที่ต่างๆ ก็ยาก ที่ผ่านมาเคยขับแท็กซี่สมัยที่เศรษฐกิจดีๆ สามารถขับได้วันหนึ่งถึง 2,000-2,500 บาท 

วันชัยกล่าวว่า เดือนแรกที่เริ่มขับยังไม่มีโควิด ยังพอหารายได้ได้ แต่เมื่อโควิดมาทุกอย่างจบ คนที่เคยเรียกใช้บริการลดลง ผับบาร์ร้านอาหารแหล่งเที่ยวต่างๆ เงียบหมด รายได้ลดลง 50% ปกติขับย่านรัชดาห้วยขวาง ซึ่งลูกค้าเดิมจะเป็นคนจีน แต่ด้วยสถานการณ์นี้ คนจีนหายไปหมด

"ทุกวันนี้วิ่งหาค่าเช่ากับค่าแก๊สให้รอดก็พอ ค่ากินต้องกลับมากินข้าวกับเมียที่บ้าน เป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นกันทุกคัน" วันชัยกล่าวพร้อมระบุด้วยว่า แม้แต่ใน LINE MAN Taxi ก็เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ คนใช้ Taxi น้อย เพราะต้องการประหยัดเงิน ลูกค้าจึงน้อยลงด้วย

สำหรับการป้องกัน มีการล้างอัดฉีดเกือบทุกวันอยู่แล้ว รวมทั้งยังมีหน้ากากและตั้งกระปุกเจลให้ตนเองและลูกค้าใช้ล้างมือ มีการเอาน้ำยาและแอลกอฮอล์เช็ดก่อนออกรถทุกครั้ง ซึ่งนั่นก็เท่ากับมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นด้วย 

เมื่อถามถึงข้อเสนอต่อรัฐบาล วันชัยเริ่มต้นด้วยการถอนหายใจแล้วกล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาชนหาเช้ากินค่ำทั่วไปได้รับการช่วยเหลือน้อยมากจากรัฐบาล ในเบื้องต้นอยากให้ลดค่าเชื้อเพลิงในส่วนที่รัฐบาลทำได้ ทั้ง LPG และ NGV อีกประเด็นคือรัฐควรเข้ามาช่วยค่าภาษี ค่าธรรมเนียมต่างๆ ของแท็กซี่ด้วย ซึ่งมันเกี่ยวพันกับหน่วยงานของรัฐ ถ้าทำได้จะเหมือนต่อลมหายใจให้กับแท็กซี่

"ไม่รู้ว่ารัฐบาลเขาจะช่วยไหม เพราะเขาอาจมองว่าเป็นปัญหาส่วนตัวของคุณ" วันชัยกล่าว 

วันชัยเล่าสภาพปัญหาด้วยว่า คนขับแท็กซี่ค่าเช่าเดินทุกวัน สิ้นเดือนต้องมีค่างวดให้เขา จะหยุดเพราะเจ็บป่วยหรือมีปัญหาทางบ้านอย่างไร ไฟแนนซ์แท็กซี่ไม่สนใจ

"ทุกวันนี้ผมคิดแค่ว่าต้องออกขับทุกวัน ได้ไม่ได้ก็ต้องขอออก เพราะค่าเช่ามันค้ำคอเราอยู่ทุกวัน ตื่นมานี่ผมมีหนี้วันละ 600 กว่าบาทแล้ว" วันชัยกล่าวพร้อมระบุว่า หลายคนไม่เข้าใจว่าทำไมแท็กซี่ผ่อนแพงจัง นั่นเป็นเพราะแท็กซี่เป็นรถที่แพงกว่ารถธรรมดาเนื่องจากสามารถทำมาหากินได้ แท็กซี่ส่วนใหญ่ใช้เป็นโตโยต้า อัลติส รุ่น 1.6 G เป็นตัวท็อปของโตโยต้า ราคารถหากเป็นชาวบ้านทั่วไปซื้อมาใช้เอง 8 แสนกว่า แต่ถ้าเป็นแท็กซี่จะกระโดดไปล้านหนึ่ง ล้านสอง เพราะมีทั้งเรื่องภาษี ทำสีใหม่ ค่าธรรมเนียมขนส่ง ทำให้แท็กซี่ผ่อนแพงกว่ารถทั่วไป 

ร้านลาบ : หยุดงานไม่ได้ หนี้-รายจ่ายมาทุกวัน

นงลักษณ์ แม้ค้าร้านลาบกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่กระทบมาก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ มีเพียงบางวันที่ค่อนข้างเงียบ 

ส่วนเรื่องหน้ากากเรื่องเจลนั้นเธอมีกังวลเหมือนกัน ก่อนหน้านี้เคยซื้อไว้เยอะ เพราะขายของก็ต้องใช้ ป้องกันควัน ก่อนหน้านี้ก็ใช้อยู่แล้ว ถึงตอนนี้คนที่ไม่มีจริงๆ เธอก็แบ่งให้เพราะความเห็นใจ แต่ที่กังวลมากคือของที่ซื้อมาขายราคาไม่คงที่ อย่างพวกเนื้อก็เริ่มปรับราคาขึ้น แต่บางอย่างก็ยังราคาเดิม อาศัยถัวเฉลี่ยกันไป อยากให้รัฐบาลกำหนดราคากลางของอาหาร วัตถุดิบแต่ละอย่าง ไม่ให้มีการโก่งราคา 

"เราคงไม่สามารถหยุดขายของได้ เพราะเดือนหนึ่งค่าใช้จ่าย 30,000 บาท ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ลูกไปโรงเรียน ค่าใช้จ่ายวันหนึ่งต้องหาให้ได้ 1,000 บาทเป็นอย่างน้อย ไฟแนนซ์นี่แค่เลทไป 4-5 วันเขาก็คิดดอกแล้ว ร้อยละ 23-24 ยังไงก็หยุดทำไม่ได้ เพราะอย่างนั้นเราถึงป่วยไม่ได้ ต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุด ไปตลาดเราก็ต้องไปปกติ อาศัยใส่หน้ากากเอา ถ้าไม่ไปที่ชุมชน คนเยอะ เราก็ว่าเราไม่น่าจะเสี่ยง แต่ก็อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแล" แม่ค้าร้านลาบกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ช่วงนี้สามีไม่ได้ทำงาน เนื่องเจ้านายที่รับเหมาก่อสร้างงานไม่ค่อยมี รายได้ของครอบครัวจึงเหลือแค่ร้านลาบ และต้องมาช่วยกันทำ 

2 มอเตอร์ไซค์รับจ้าง : โดนกักตัว อดตายแน่ๆ

ปราโมทย์ (ซ้าย), อภิชาติ (ขวา) คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างกล่าวถึงความกังวลในสถานการณ์นี้ว่า ที่น่ากลัวคือไม่รู้ว่าลูกค้าเป็นหรือเปล่า ตัวพวกเขาเองก็พยายามป้องกัน ใส่หน้ากาก เจลล้างมือก็ไปขอร้านข้าว สำหรับจำนวนผู้โดยสารก็มีลดลงบ้าง เพราะคนไม่ค่อยออกจากบ้านกัน ตามห้างเพิ่งไปมาก็พบว่าเงียบ ไม่มีคน

สำหรับข้อเสนอของคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างทั้ง 2 คน คือ อยากให้รัฐบาลมีโรงพยาบาลสำหรับคนป่วยโควิดโดยเฉพาะ และค่าตรวจค่ารักษาต้องฟรี 

"อดตายแน่ๆ ถ้ารัฐบาลไม่ชดเชยให้เรา ไหนจะค่ากิน ค่าน้ำ ค่าไฟ ตอนนี้ก็ตุนมาม่า ปลากระป๋องไว้เท่าที่ทำได้” คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างกล่าวถึงสถานการณ์ที่หากต้องถูกกักตัวอยู่กับบ้าน

แรงงานข้ามชาติ : ขอรัฐช่วยค่ารักษาพยาบาล

ดา แรงงานข้ามชาติจาก สปป.ลาว อายุ 45 ปี ลูกจ้างร้านก๋วยเตี๋ยวแถวซอยลาดพร้าว-รามคำแหง กล่าวว่า หลังจากสังคมกังวลกับโควิด-19 อย่างหนักในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ลูกค้าก็น้อยลงอย่างชัดเจน น่าจะลดลงไปถึงครึ่งหนึ่ง และเช่นเดียวกันกับคนอื่น หน้ากากอนามัยเป็นสิ่งที่เธอหาซื้อได้ยากและราคาสูง 

ดาเชื่อว่าหากต้องกักตัวเองเป็นเวลา 14 วันก็คงจะพออยู่ได้ 

“มีมากก็ใช้มาก มีน้อยก็ใช้น้อย” ดากล่าว 

เธออยากให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและค่าหน้ากากอนามัย ทั้งนี้ ปัจจุบันเธอได้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเนื่องจากเป็นแรงงานถูกกฎหมาย

ช่างภาพอิสระ :  อยากให้รัฐช่วยประนอมหนี้

แว่น หนุ่มวัยประมาณ 30 กว่าปี ปัจจุบันมีอาชีพเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ รับถ่ายภาพงานรับปริญญา และอีเวนท์ต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานสัมนาของบริษัท งานเปิดตัวสินค้า ให้ข้อมูลว่า หลังจากมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดประกอบกับมาตรการของรัฐในควบคุมการระบาด เขาได้รับผลกระทบทางตรงคือ คิวการจ้างงานที่มีการนัดหมายไว้ล่วงหน้าถูกยกเลิก ขณะที่หลายงานยังไม่แน่นอนว่าจะถูกยกเลิกหรือไม่ แต่มีแนวโน้มว่าจะถูกเลื่อนและยกเลิก เช่นงานรับปริญญา

โดยปกติจะมีการจ้างช่างภาพใน 2 ลักษณะ คือ 

1. งานถ่ายภาพรับปริญญา วันรับจริง/วันซ้อม เป็นการเข้าไปในสถานที่รับปริญญาซึ่งมีคนจำนวนมากอยู่รวมกัน ล่าสุดได้มีประกาศกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ให้แต่ละมหาวิทยาลัยพิจารณาเลื่อนพิธีรับปริญญาออกไปก่อน กรณีนี้ทำให้ถูกยกเลิกการจ้างงาน หรือถูกเลื่อนงานถ่ายภาพออกไปไม่มีกำหนด 

2. งานถ่ายภาพนอกรอบ เป็นนัดถ่ายภาพของกลุ่มบัณฑิตและครอบครัวตามสถานที่ต่างๆ ในหลายมหาวิทยาลัยยังเปิดให้บัญฑิตเข้าไปถ่ายรูปได้ แต่บางสถานที่ภายในมหาวิทยาลัยถูกปิด จึงรู้สึกไม่คุ้มที่จะจ้างถ่ายภาพนอกรอบ และกลายเป็นเงื่อนไขให้ช่างภาพทำงานยากขึ้น บัณฑิตเองก็จะตัดสินใจได้ยากขึ้นว่าจะจ้างถ่ายภาพหรือไม่ ส่วนใหญ่จะเลื่อนเพื่อลดความเสี่ยงในการระบาด

ส่วนงานถ่ายอีเวนท์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานเปิดตัวสินค้า หรืองานสัมนาของบริษัท ส่วนใหญ่แล้วเป็นงานที่คนจำนวนเกินกว่า 100 มาร่วมงาน คาดการณ์ว่างานเหล่านี้ก็จะหายไปเช่นกัน เนื่องจากหลายงานมีการประกาศเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด 

“ที่เขาประกาศเลื่อนไม่มีกำหนด มันมาจากความที่ยังไม่มั่นใจว่าอนาคตข้างหน้าสถานการณ์จะเป็นยังไง ถ้ามันมีความมั่นใจว่า 3 เดือนจะดี เขาก็คงเลื่อนออกไปอย่างมีกำหนดการว่าจะกลับมาจัดช่วงเวลาไหน แต่สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นเลยไง”

“ส่วนงานแต่งบางงานที่เจ้าภาพเตรียมงานไว้หมดแล้ว จ่ายเงินไปแล้ว มันด่วนแล้วเลื่อนไม่ได้ อย่างที่ผมจะไปถ่าย 21 มีนานี้เขาก็ยังจัดต่อ ก็คงมีมาตรการป้องกันอยู่ แต่งานหลังจากนี้ หลายคนก็เริ่มขยับกำหนดการจัดงานออกไป บางคนย้ายไปปลายปีก็มี ช่างภาพหลายคนไม่มีปัญหา เพราะมันเป็นการเลื่อน แต่ถ้าเป็นอีเวนท์ต่างๆ มันยกเลิกไปเลย” ช่างภาพฟรีแลนซ์กล่าว

เมื่อถามว่า ถ้าต้องกักตัวจะทำอย่างไรและจะมีผลกระทบอะไรบ้าง เขาตอบว่า ณ เวลานี้มันก็เหมือนการกักตัวเองอยู่แล้ว เพราะไม่ได้ออกไปไหน เนื่องจากไม่มีงาน ส่วนที่วันที่ 21 ที่จะไปถ่ายงาน เมื่อกลับมาก็ต้องกักกันตัวเองอยู่แล้ว  

แว่นเห็นว่า สิ่งที่รัฐควรจะช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น ในมุมมองของฟรีแลนซ์ซึ่งจริงๆ แล้วมีหลากหลายอาชีพ ทั้งช่างภาพ นักร้อง เทรนเนอร์ ฯลฯ คนเหล่านี้ไม่มีสัญญาจ้าง เมื่อไม่มีงานก็ไม่มีรายได้ แต่รายจ่ายของพวกเขาก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม บางคนมีเงินสำรองที่มากหน่อยก็อาจอยู่ได้ยาว แต่คนที่มีน้อยก็เริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤติ หากรัฐเข้ามาดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี หลายคนไม่ได้ต้องการเงินจากรัฐ แต่ต้องการเข้ามาช่วยประนอมหนี้หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ 

“ประเทศไทยมันมีแรงงานนอกระบบเยอะ และคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ก็ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกๆ แต่รัฐก็ยังไม่มีมาตรการอะไรเลยว่าจะทำอะไรกับเขา" ช่างภาพฟรีแลนซ์กล่าว

หมอนวด : นักท่องเที่ยวจีนหาย ร้านปิด จากร้ายได้น้อยกลายเป็นไม่มี

หมอนวดในร้านนวดแผนไทยแห่งหนึ่งย่านห้วยขวางให้ข้อมูลว่า ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดมาตั้งแต่ก่อนมีคำสั่งปิดร้านนวด เพราะก่อนหน้านี้กลุ่มนักท่องเทียวจีนที่เป็นลูกค้าหลักของร้านทยอยหายไปตั้งแต่กลางเดือน ก.พ. และการที่ต้องปิดร้านก็คือ รายได้ที่น้อยลงกลายเป็นไม่มีรายได้เลย 

เธอเล่าว่า หมอนวดไม่ได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือนจากเจ้าของร้าน แต่ได้เป็นเปอร์เซ็นต์จากงานที่มีเข้ามา

ตอนนี้ก็อาศัยอยู่ที่ร้าน กลับต่างจังหวัดไปช่วงนี้ก็ไม่มีงานทำเพราะเป็นหน้าแล้ง ต้องอยู่รอ ต้องช่วยเหลือตัวเองไปก่อน หมอนวดหลายคนเมื่อร้านไม่สามารถเปิดได้ก็ยังได้อาศัยกันอยู่ในร้าน 

สำหรับข้อเสนอต่อรัฐบาลนั้น เธอต้องการให้รัฐช่วยเหลือเยียวยาเรื่องรายได้ เพราะไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่ายที่ยังอยู่เหมือนเดิม เพียงมีค่าชดเชยรายได้บ้างแค่นั้นก็พอใจแล้ว และดีที่สุดคือการตรวจฟรี เพราะตอนนี้ค่าตรวจแพงมากอย่างไรหมอนวดก็ไม่มีกำลังจ่าย

มัคทายก* : ศพยังมาตั้งบำเพ็ญกุศล แต่คนมาร่วมงานบางตา

พัศกร เงินโพธิ์ มัคทายกวัดฉัตรแก้วจงกลณี ได้รับบำนาญหลังเกษียณ ในอดีตเคยเป็นลูกจ้างกระทรวงแห่งหนึ่งกล่าวว่า เขามาทำอาชีพนี้ด้วยพื้นฐานของจิตอาสา ทางวัดให้ค่าตอบแทนศพละ 200 บาทและเขาก็ยินดีทำ ที่ผ่านมาเมื่อเกิดการระบาดของโควิด การตั้งสวดอภิธรรมศพก็ยังเป็นไปโดยปกติเพราะเราห้ามคนตายไม่ได้ บางทีก็มีหลายศพมาใช้บริการติดต่อกัน บางทีก็เว้นเป็นเดือน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปมากคือ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา คนมาร่วมฟังสดอภิธรรมศพน้อยลงอย่างมาก 

*ราชบัณฑิตฯ ใช้ มัคนายก แต่คนทั่วไปมักเรียก มัคทายก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net