Skip to main content
sharethis

รัฐบาลสหรัฐฯ ตอบสนองต่อการระบาดหนักของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด (COVID-19) โดยออกบัญญัติให้ผู้คนหยุดงานในช่วงที่มีมาตรการสกัดกั้นการระบาดนี้ยังคงได้รับค่าจ้าง แต่ทว่ามีผู้คนจำนวนมากนับล้านคนที่อาจจะไม่เข้าข่ายที่จะได้รับค่าจ้างนี้ เนื่องจากการกำหนดจำนวนลูกจ้างของสถานประกอบการที่มีข้อยกเว้น

20 มี.ค. 2563 หลังจากกรณีโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ระบาดหนักทั่วโลก เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหรัฐฯ แนะนำให้ผู้คนที่มีอาการป่วยควรอยู่แต่ในบ้าน และคนที่ไม่มีอาการป่วยก็ควรจะอยู่ที่บ้านและทำการ "วางระยะห่างทางสังคม" ทุกครั้งที่เป็นไปได้

แต่ทว่า ในเชิงปฏิบัติจริงอาจจะกลายเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับประชากรคนทำงานชาวอเมริกันเกือบ 1 ใน 4 เพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่มีหลักประกันการได้หยุดงานแบบที่ยังได้รับค่าจ้าง ทำให้พวกเขาเผชิญกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกระหว่างหยุดงานเพื่อประโยชน์สาธารณะแต่ไม่ได้รับค่าจ้าง กับไปทำงานทั้งๆ ที่ป่วยแล้วเสี่ยงแพร่เชื้อให้กับลูกค้า

รัฐบาลสหรัฐฯ มีการผ่านร่างบัญญัติของเรื่องนี้ โดยที่ ส.ส. พรรคเดโมแครตพยายามผ่านร่างบัญญัติที่จะให้พนักงานทำงานเต็มเวลาหยุดงานได้ 7 วันโดยยังคงได้รับค่าจ้างตามช่วงเวลาปกติและจะเสริมให้อีก 14 วันสำหรับช่วงเวลาฉุกเฉินทางสาธารณสุข อย่างไรก็ตามเมื่อร่างกฎหมายผ่านออกมาจริงๆ จนได้รับการลงนามจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็มีการแก้ไขบทเฉพาะกาลเปลี่ยนแปลงให้มีการหยุดงานได้ชั่วคราวแบบยังได้รับค่าจ้างสำหรับชาวอเมริกันบางคนที่เข้าข่ายเท่านั้น ทำให้คนทำงานชาวอเมริกันอีกหลายล้านคนกลับถูกยกเว้นไม่สามารถลางานโดยยังคงได้รับค่าจ้างได้

โดยบัญญัติที่ออกมาระบุว่าคนที่ทำงานให้กับรัฐบาลหรือบริษัทที่มีพนักงานน้อยกว่า 500 คน (แต่ไม่ต่ำกว่า 50 คน) สามารถลางานโดยยังคงได้รับค่าจ้างเป็นเวลา 2 สัปดาห์ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุของการกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคหรือเพื่อไปรับการตรวจวินิจฉัย COVID-19 หรือดูแลป้องกันตัวเอง อีกทั้งยังสามารถลางาน 2 สัปดาห์โดยได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 เพื่อดูแลสมาชิกครอบครัวที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคจาก COVID-19 หรือจำเป็นต้องดูแลเด็กที่โรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงปิดทำการจากมาตรการควบคุมโรค สำหรับลูกจ้างเต็มเวลาจะได้รับวันหยุดลาป่วยมากที่สุด 80 ชั่วโมง ส่วนลูกจ้าพาร์ทไทม์จะได้รับเวลาหยุดได้เท่ากับจำนวนชั่วโมงทำงานตามปกติใน 2 สัปดาห์

ปัญหาเกี่ยวกับบัญญัตินี้คือการไม่รองรับคนทำงานในบริษัทที่มีลูกจ้างต่ำกว่า 50 คน ซึ่งในสหรัฐฯ นั้นมีจำนวนลูกจ้างเอกชน 12 ล้านรายที่ทำงานให้บริษัทที่มีจำนวนลูกจ้างต่ำกว่า 50 คน อีกกลุ่มหนึ่งคือคนทำงานในบริษัทที่มีลูกจ้างมากกว่า 500 คน ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ลางานแบบได้รับค่าจ้างอยู่ดี แต่ก็เป็นไปได้ว่าบริษัทใหญ่ๆ บางบริษัทอาจจะตัดสินใจเองที่จะให้ลูกจ้างสามารถลางานแบบได้รับค่าจ้างเนื่องจากความเป็นห่วงเรื่อง COVID-19

ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องจ่ายเงินล่วงหน้าไปก่อนให้กับการลางานแบบยังคงได้รับค่าแรง แต่จะสามารถนำมาเป็นเครดิตเรียกคืนภาษีได้จากรัฐบาลภายหลัง ระดับการเรียกคือก็มีความต่างกัน แยกเป็นการออกค่าแรงให้ลูกจ้างที่ลาเพื่อไปตรวจวินิจฉัยหรือป่วยจาก COVID-19 ซึ่งจะได้รับการคืนภาษีได้ตามจำนวนลูกจ้างที่ลารายละ 511 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 16,600 บาท) และลูกจ้างที่ลาหยุดเพื่อไปดูแลคนในครอบครัวจะได้รับการคืนภาษีตามจำนวนลูกจ้างที่ลารายละ 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 6,500 บาท) ขณะที่คนทำงานอิสระที่ระบุว่าเป็น "ผู้จ้างวานตนเอง" (self-employed) จะสามารถนำการลาหยุดของตัวเองไปลดภาษีได้ด้วย

ทั้งนี้ บริษัทที่มีลูกจ้างต่ำกว่า 50 ราย สามารถติดต่อกับกระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ เพื่อห้ามไม่ให้ลูกจ้างลาหยุดแบบได้รับค่าแรงได้โดยสามารถอ้างว่าการลาหยุดจะเป็นการ "ทำลายความอยู่รอด" ของบริษัทเหล่านี้

ดอว์น ฮัคเคิลบริดจ์ ผู้อำนวยการเพย์ดลีฟฟอร์ออล ที่เป็นองค์กรเรียกร้องการลาหยุดแบบยังได้รับค่าจ้างกล่าวว่าเธอผิดหวังที่บัญญัติว่าด้วยการลาหยุดฉบับใหม่มีคนทำงานจำนวนมากที่จะไม่ได้รับหลักประกันตรงจุดนี้ แต่อย่างน้อยก็เป็นก้าวแรกที่ดีสำหรับการนำไปสู่การออกกฎหมายที่ดีขึ้นกว่านี้เกี่ยวกับการลาหยุดโดยได้รับค่าจ้าง

อย่างไรก็ตาม บัญญัติดังกล่าวหลังจากได้รับการลงนามโดยทรัมป์เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมาแล้วจะมีผลบังคับใช้ 15 วันหลังจากนั้น และส่วนที่ระบุเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของการลาหยุดเกี่ยวข้องกับบัญญัตินี้จะมีผลแค่ถึงสิ้นปี 2563 นี้เท่านั้น

เรียบเรียงจาก

Trump Signs Law to Grant Paid Leave Benefits Amid Coronavirus Crisis—But Millions Won’t Be Eligible, Time, Mar. 18, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net