Skip to main content
sharethis


ที่มาภาพประกอบ: ILO Asia-Pacific

20 มี.ค. 2563 วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดครั้งใหญ่ของโรคติดเชื้อ COVID-19 จะเพิ่มอัตราการว่างงานทั่วโลกได้ 5.3-24.7 ล้านคน อาจสูงกว่าช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่มีคนตกงาน 22 ล้านคน ตามการประเมินใหม่โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

อย่างไรก็ตาม ILO หากมีตอบสนองเชิงนโยบายในระดับสากลเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในวิกฤตการณ์การเงินโลกปี 2008/9 (พ.ศ.2551-2552) ผลกระทบต่อการว่างงานทั่วโลกอาจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

จากรายงานของ ILO ล่าสุดเรื่อง 'COVID-19 and the world of work: Impacts and responses' ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2563 ระบุว่าประชาชนทั่วโลกจะตกงานระหว่าง 5.3 ล้านคน (การประเมินขั้นต่ำ) 13 ล้านคน (การประเมินระดับกลาง) และ 24.7 ล้านตำแหน่ง (การประเมินขั้นเลวร้ายที่สุด) อันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจและแรงงานที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือ COVID-19 ซึ่งสูงกว่าในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551-2552 ที่ทำให้มีคนตกงาน 22 ล้านตำแหน่ง

โดยประเทศกลุ่มรายได้สูงมีความเสี่ยงที่คนจะตกงานในจำนวนที่มากกว่าประเทศยากจน และประเทศกลุ่มรายได้ปานกลาง โดย ILO ประเมินว่าในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคนทำงานในกลุ่มประเทศรายได้สูงอาจตกงานถึง 14.6 ล้านคนจากทั้งหมด 24.7 ล้านคน

รายงานชิ้นนี้ของ ILO คาดการณ์ว่าการทำงานต่ำกว่าระดับจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 ทำให้ชั่วโมงการทำงาน และค่าจ้างลดลง ผู้ประกอบอาชีพอิสระในประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งมักช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง อาจไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ในเวลานี้ อันเนื่องมาจากข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวของประชาชนและสินค้า รายงานระบุด้วยว่าการจ้างงานที่ลดลงจะทำให้แรงงานสูญเสียรายได้จำนวนมากราว 8.6 แสนล้านดอลลาร์ถึง 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปี 2563

นอกจากนี้ ILO ยังระบุว่าความยากจนในที่ทำงานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน โดยรายได้ที่ลดลงจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงวิกฤต จะทำให้สภาพความเป็นอยู่ของคนทำงานขยับเข้าไปใกล้หรือต่ำกว่าเส้นความยากจน ILO ประมาณการว่าจะมีคนยากจนเพิ่มขึ้นระหว่าง 8.8 ถึง 35 ล้านคน ที่ทำงานอยู่ทั่วโลก เมื่อเปรียบเทียบกับประมาณการเดิมในปี 2563 ซึ่งคาดว่าจะลดลง 14 ล้านคนทั่วโลก

ที่มาเรียบเรียงจาก
COVID-19 and the world of work: Impacts and responses (ILO, 18 Mar 2020)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net