Skip to main content
sharethis

'ยูนิเซฟ' เปิดข้อที่ควรรู้เกี่ยวกับการล้างมือในภาวะการระบาดของโควิด-19 'ตื่นตัวแต่ไม่ตื่นกลัว 5 วิธีหนีห่างจาก COVID-19' รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ชี้ ‘พลังชุมชน’ เป็นกำลังสำคัญในการควบคุมและป้องการการแพร่กระจายโควิด 19 เตรียมรวมพลังองค์กรสุขภาพและสังคมหนุนบทบาทชุมชนสู้ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่นดัดแปลงหุ่นยนต์เก็บกู้สู้

ภาพจาก 'ยูนิเซฟ'

20 มี.ค. 2563 ทีมสื่อองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย แจ้งว่า องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ปล่อยวิดีโอ “ตื่นตัวแต่ไม่ตื่นกลัว 5 วิธีหนีห่างจาก COVID-19” https://youtu.be/Ss-EcWTwIjg ที่เน้นย้ำความสำคัญของการล้างมือเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19 พร้อมสร้างต้นแบบให้เด็ก ๆ เห็นว่าทุกคนสามารถดูแลตัวเองให้รอดพ้นจาก โควิด-19 ได้ด้วยการล้างมือและข้อปฏิบัติง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ยูนิเซฟกำลังจัดทำสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับโควิด-19 โปสเตอร์ขั้นตอนการล้างมือ และดำเนินการจัดส่งสบู่และเครื่องวัดอุณหภูมิไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน 3,000 แห่งในประเทศไทย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019

รวมข้อควรรู้เกี่ยวกับการล้างมือเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019

  1. ล้างมืออย่างไรให้ถูกวิธี?

การถูมือไปมาอย่างรวดเร็วและล้างออกด้วยน้ำ ไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสที่อาจปะปนอยู่บนมือได้ วิธีการล้างมือที่ถูกต้องนั้นสามารถทำได้ง่าย ๆ ตาม 5 ขั้นตอนข้างล่างนี้

1) ล้างมือให้เปียกด้วยน้ำ

2) ถูมือด้วยสบู่ในปริมาณที่มากเพียงพอ

3) ถูมือให้ทั่ว รวมทั้งหลังมือ ซอกนิ้ว ข้อมือ หัวแม่มือ และใต้เล็บ เป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที

4) ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำ

5) เช็ดมือให้แห้งด้วยผ้าสะอาดหรือกระดาษที่ใช้แล้วทิ้ง

  1. ควรล้างมือเป็นเวลานานเท่าไหร่?

การล้างมือในแต่ละครั้งควรใช้เวลาอย่างน้อย 20 วินาที หรือร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์ หรือเพลงช้างไปด้วย 2 รอบนั่นเอง เช่นเดียวกับการใช้เจลล้างมือแอลกอฮอล์ที่ต้องมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบอย่างน้อยร้อยละ 70 จากนั้นถูให้ทั่วทั้งบนฝ่ามือและหลังมืออย่างน้อย 20 วินาที

  1. ควรล้างมือเมื่อไหร่ดี?

เพื่อป้องกัน โควิด-19 นั้น ควรล้างมือทุกครั้งหลังจากทำกิจกรรมดังต่อไปนี้

  • สั่งน้ำมูก ไอ หรือจาม
  • หลังจากไปสถานที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ตลาด และสถานที่ทางศาสนา
  • หลังจากสัมผัสกับพื้นผิวหรือวัสดุต่าง ๆ นอกบ้านและเงิน
  • ก่อน ระหว่าง และหลังจากการดูแลผู้ป่วย
  • ก่อนและหลังรับประทานอาหาร
  • หลังจากใช้ห้องน้ำ
  • หลังจากทิ้งขยะ
  • หลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยงและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ
  • หลังเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็กหรือพาเด็ก ๆ เข้าห้องน้ำ
  • และแน่นอน เมื่อเห็นว่ามือมีคราบสิ่งสกปรก 
  1. เริ่มสร้างนิสัยการล้างมือให้กับเด็ก ๆ ล้างมืออย่างไรดี?

เราสามารถสอนเด็ก ๆ และทำให้พวกเขารู้สึกว่าการล้างมือเป็นเรื่องง่าย อย่างเช่น เอาเก้าอี้มาวางเพื่อให้เด็กสามารถเอื้อมหยิบสบู่ได้เอง นอกจากนี้ยังทำให้เป็นกิจกรรมสนุก เช่น ร้องเพลงขณะช่วยเด็ก ๆ ถูสบู่

  1. จำเป็นต้องใช้น้ำอุ่นล้างมือหรือไม่?

ไม่จำเป็น การล้างมือสามารถใช้น้ำอุณหภูมิใดก็ได้ ตราบใดที่ใช้สบู่ จะน้ำเย็นหรือน้ำอุ่นก็สามารถฆ่าเชื้อโรคและไวรัสได้เหมือนกัน

  1. จำเป็นต้องเช็ดมือให้แห้งหรือไม่?

ปกติแล้วเชื้อโรคจะแพร่กระจายจากผิวที่มีความเปียกได้ง่ายกว่าจากผิวที่แห้ง ดังนั้นก็เช็ดมือให้แห้ง ไม่ว่าจะด้วยกระดาษเช็ดมือหรือผ้าสะอาด ก็ถือเป็นอีกขั้นตอนสำคัญในการกำจัดเชื้อโรคและลดการแพร่กระจายต่อไปยังพื้นผิวต่าง ๆ

  1. ระหว่างล้างมือกับการใช้เจลล้างมือแอลกอฮอล์ อย่างไหนดีกว่ากัน?

โดยปกติแล้ว หากทำอย่างถูกวิธี ทั้งการล้างมือด้วยสบู่และการใช้เจลล้างมือแอลกอฮอล์ต่างก็สามารถกำจัดเชื้อโรคและจุลินทรีย์ต่าง ๆ ได้ น้ำยาหรือเจลล้างมือแอลกอฮอล์ให้ความสะดวกเมื่อต้องอยู่นอกบ้านแต่ก็มีราคาสูงหรืออาจจะหายากในสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ เจลล้างมือแอลกอฮอล์นั้นสามารถฆ่าไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ อย่าง โนโรไวรัส (Norovirus) และไวรัสโรต้า (Rotavirus) ได้

  1. วิธีอื่น ๆ ที่จะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019?
  • ปิดปากและจมูกขณะไอหรือจามด้วยข้อพับแขนด้านใน หรือใช้กระดาษทิชชู่ และต้องทิ้งลงถังขยะหลังจากใช้ในทันทีแล้วล้างมือให้สะอาด
  • หลีกเลี่ยงการแตะหรือจับต้องใบหน้า (ปาก จมูก ตา)
  • เว้นระยะห่างในการเข้าสังคม (Social distancing) เช่น อยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีคนจำนวนมาก
  • ควรรับประทานอาหารโดยใช้ภาชนะ ช้อนส้อมของตนเอง ไม่ใช้แก้วน้ำหรือผ้าร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการติดต่อใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการคล้ายไข้หวัด
  • หากตัวเองหรือลูกมีไข้ มีอาการไอหรือหายใจลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์
  • ทำความสะอาดพื้นผิวที่อาจจะมีเชื้อไวรัส และหมั่นเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ (โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ)

สช. ย้ำ ‘พลังชุมชน’ คือปราการด่านหน้าเอาชนะ      

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า อรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีวิทยุ อสมท. คลื่นความคิด FM 96.5 ช่วง ‘สานพลัง สร้างสุขภาวะ’ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา ถึงบทบาทของชุมชนในการช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ว่า ขณะนี้การระบาดดูเหมือนจะกระจายตัวไปยังจังหวัดต่างๆ อย่างรวดเร็วซึ่งเมื่อถึงจุดนี้ ชุมชนจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเป็นเกราะป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส เพราะหากจะรอบุคลากรสุขภาพจากจังหวัดหรือส่วนกลางลงไปตรวจหาบุคคลเสี่ยงคงเป็นไปได้ยากและไม่ทันการณ์

“ใครเสี่ยง ใครเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ นอกจากครอบครัวแล้ว ก็เป็นชุมชนที่จะทราบข้อมูลก่อน ชุมชนจึงต้องยึดแนวปฏิบัติที่เหมาะกับชุมชนนั้นๆ ไม่ต้องรอให้ใครบอก ยกตัวอย่าง อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ มีแรงงานกลับจากประเทศเสี่ยง 20 กว่าคน ชุมชนเขาช่วยกันสนับสนุนการกักกันตัวเองของคนเหล่านั้น ท้ายที่สุด ก็ก้าวผ่านไปได้ คนที่กักตัวครบกำหนดทยอยออกมาใช้ชีวิตปกติ ถ้าชุมชนช่วยกันก็จะทำอะไรได้มาก” รองเลขาธิการฯ กล่าว

อย่างไรก็ดี ด้วยลักษณะของชุมชนที่มีความแตกต่างกัน นางอรพรรณ กล่าวว่า ชุมชนเมืองจะมีความแออัดสูง ต่างคนต่างอยู่ ไม่ค่อยรู้จักกัน อาวุธสำคัญของชุมชนลักษณะนี้คือ สังคมออนไลน์ที่จะส่งต่อข้อมูลข่าวสาร แต่ในทางกลับกัน หากเผยแพร่ข่าวปลอมก็ส่งผลลบได้เช่นกัน จึงจำเป็นต้อง ‘เช็คให้ชัวร์ก่อนแชร์’ นอกจากนี้ ยังต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ ไม่ต่อว่าผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ป่วย เพราะพวกเขาย่อมรู้สึกเสียใจอยู่แล้ว และการต่อว่าจะยิ่งทำให้พวกเขาไม่กล้าเปิดเผยข้อมูล หากมีการปกปิดข้อมูลสุดท้ายจะควบคุมโรคไม่ได้ ซึ่งย่อมกลับมาส่งผลร้ายต่อชุมชนเอง

“ตัวอย่างของชุมชนแนวตั้งอย่างคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง มีคนกลับมาจากต่างประเทศ เขาใช้หลักไม่ปิดบังโดยแจ้งกับนิติบุคคลเลยและทำการกักตัวเอง นิติบุคคลก็เตรียมตัว เตรียมแอลกอฮอล์ เตรียมสิ่งต่างๆเพื่อจัดการความปลอดภัยของสมาชิก ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข  ไม่ขับไล่ เพราะการขับไล่ทำให้เขาไปแพร่เชื้อที่อื่น คนในคอนโดก็ช่วยอำนวยความสะดวก ซื้ออาหาร ซื้อของใช้จำเป็นให้บ้าง ครบ 14 วัน เขาก็ได้ออกมา แล้วเขาก็กลับมาบริจาคเจลล้างมือและหน้ากากอนามัยให้นิติบุคคลด้วย นี่เป็นการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เปลี่ยนความกลัวมาเป็นการช่วยกัน” รองเลขาธิการฯ กล่าว

สำหรับชุมชนชนบทนั้น รองเลขาธิการฯ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลประกาศให้โควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ก็จะมีคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด รวมถึงยังมีเจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้ที่เป็นกลุ่มคนที่อยู่ใกล้พื้นที่ชุมชน ทั้งสาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการ รพ.สต. ผู้อำนวยการ รพ.ชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่ทำงานร่วมกับผู้นำท้องถิ่นอยู่แล้ว ทีมชุมชนนี้จึงมีความชอบธรรมทางกฎหมายแต่ทำงานเองคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยประชาชนที่เป็นจิตอาสาเข้ามาร่วมเป็นทีมด้วย

“สังคมชนบท ควรใช้ความได้เปรียบที่มีความรู้จักมักคุ้นกัน ให้คนในชุมชนเป็นหูเป็นตา เฝ้าระวังซึ่งกันและกัน แต่ต้องไม่กล่าวร้ายกัน ไม่ตระหนกจนเกินไป พวกเราต้องให้ข้อมูลข่าวสารแบบเมตตาและเอื้ออาทรต่อกัน ขณะเดียวกันคนที่แข็งแรง มีสุขภาพดีก็ให้เข้าร่วมทำประโยชน์ ทำให้ชุมชนฮึกเหิมมีพลัง เหมือนตอนกรณีหมูป่า มันจะเกิดพลังสังคมที่คิดว่าตัวเราสามารถช่วยคนอื่นได้ วิกฤตคราวนี้เช่นกัน เมื่อเริ่มเกิดกระแสร่วมกันทำหน้ากากผ้า ทำเจลแอลกอฮอลล์เองในชุมชน พลังบวกของชุมชนก็ริ่มกลับมาอีกครั้ง”

“มีอีกตัวอย่างหนึ่งคือ เทศบาลตำบลน้ำคอก จังหวัดระยอง พื้นที่นี้เคยทำธรรมนูญสุขภาพ เขาใช้ความสัมพันธ์ที่มีต่อกันต่อยอด รวมพลังจิตอาสาผลิตหน้ากากอนามัย 6 พันชุดแจก แกนชุมชนไปเข้าอบรมความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคโควิด19 แล้วมาร่วมทำงานเป็นทีมกับเจ้าหน้าที่ รพ.สต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านออกไปรณรงค์ให้ความรู้กับชุมชนเองเลย จะเห็นว่าชุมชนมีบทบาทอย่างมากในการช่วยยับยั้งการแพร่กระจายไวรัสได้”  รองเลขาธิการฯ กล่าวและย้ำว่า ชุมชนทั้งชนบทและเมืองยังสามารถเครื่องมือสื่อสารที่มีอยู่แล้ว เช่น บอร์ดประจำหมู่บ้าน ป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ รวมถึงเสียงตามสายในการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องได้ด้วยและหากมีข้อมูลที่ไม่แน่ใจให้สอบถามไปยังกรมควบคุมโรคติดต่อ ที่เบอร์ 1422 หรือแอดไลน์ถามตรงได้

“อสม. คือด่านแรกของการทำงานชุมชน แต่เราจะปล่อย อสม.ไปเยี่ยมบ้านคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมกับ รพ.สต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านไปช่วยหนุนการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ที่สำคัญ ข้อมูลที่ให้ประชาชนก็ต้องเท่าทันสถานการณ์ด้วย เช่น เมื่อก่อนเราพูดกันเรื่องช้อนกลาง ตอนนี้รู้แล้วว่าไม่ปลอดภัย ก็ต้องเปลี่ยนเป็นช้อนกลางของแต่ละคนแยกกัน เราจะเห็นการขยับพัฒนาของความรู้ไปตามสถานการณ์ที่เข้มข้นขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เราควรรู้ด้วยว่าต้องให้ความสำคัญกับใครเป็นพิเศษ กลุ่มผู้สูงอายุ คนติดเตียง คนยากไร้ คนเหล่านี้ชุมชนต้องช่วยกันดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย” นางอรพรรณกล่าว

รองเลขาธิการฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า การทำให้ชุมชนเกิดพลังในการทำงานจะเป็นข้อต่อสำคัญที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรสุขภาพที่กำลังอ่อนล้า เนื่องจากโควิด 19 เป็นโรคติดต่อที่สามารถป้องกันได้ เราสามารถใช้บทบาทของชุมชนในการวางกติกาให้ครบวงจร กำหนดจุดเสี่ยงแล้วบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กำลังเร่งหารือร่วมกับองค์กรภาคีสุขภาพและสังคม ทั้ง สปสช. สสส. สวรส. สรพ. สพฉ. พอช. องค์กรสื่อฯลฯ เพื่อบูรณาการภารกิจ เครื่องมือ ทรัพยากร สนับสนุนบทบาทของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ไปหนุนช่วยหน่วยงานภาครัฐและชุมชน ให้ร่วมกันขับเคลื่อนยกระดับการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน เปลี่ยนจากประชาชนที่ตื่นตระหนกเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้และตระหนักในการดูแลตนเอง ครอบครัว สังคม เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ที่จะช่วยประเทศไทยได้ชัยชนะในสงครามโควิดครั้งนี้

มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่นดัดแปลงหุ่นยนต์เก็บกู้สู้

ทีมประชาสัมพันธ์ มทร.อีสาน แจ้งว่า ดร.ปฐมาภรณ์ ชัยกูล อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด 19 ที่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและอาจติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานอย่างหนักและเสี่ยงกับการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด 19 มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น นำโดย อ.บุญกิจ อุ่นพิกุล ผู้ช่วยอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น  อ.ประสาท ภูปลื้ม อ.พิศาล มูลอำคา อ.ทศพล แจ้งน้อย อ.เอกวุฒิ แสนคำวงษ์ อ.ศักดิ์นรา สุวรรณบำรุง และ นักศึกษาสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ และวิศวกรรมเครื่องกล มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น  จึงมีแนวคิดในการดัดแปลงหุ่นยนต์กู้ระเบิดที่สามารถปรับเปลี่ยนการทำงานสู้วิกฤตไวรัสโควิด 19 เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ลดการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง ด้วยการทำงานผ่านรีโมทคอลโทล เพื่อใช้ในการขนส่งอาหาร ยาและเวชภัณฑ์ การรับเสื้อผ้าจากผู้ติดเชื้อ โดยไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง และหุ่นยนต์เก็บกู้สู้วิกฤติโควิดชุดแรกนี้จะมีการส่งมอบให้กับโรงพยาบาลสิรินธร  ต.โนนสมบูรณ์ อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น และภายหลังการหารือกับผู้อำนวยการโรงพยาบาล แพทย์และพยาบาล เราจะทราบว่าจะผลิตเพิ่มอีกจำนวนเท่าไร หากโรงพยาบาลใดสนใจสามารถติดต่อโดยตรงได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น 150 ถนนศรีจันทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000 โทรศัพท์ 043-283-707

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net