Skip to main content
sharethis

ชวนดูงานนิทรรศการ 'Momentos/Monuments & reMinders' ภาพวาดสะท้อนประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางอุดมการณ์ตั้งแต่ยุค 6 ตุลา 19 สู่รัฐประหารปี 57 จนถึงปัจจุบัน โดยสามศิลปิน ล้วน เขจรศาสตร์, วนะ วรรลยางกูร และ อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ

 

 

ย้อนไปตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 มาถึงรัฐประหารปี 49 และ 57 ตามลำดับ ประเทศไทยดูเหมือนกำลังต่อสู้อยู่ในวังวนของอุดมการณ์ต่างขั้วที่ไม่อาจมาบรรจบกันได้ หลายเหตุการณ์ถูกลบเลือนจากหน้าหนังสือแบบเรียนประวัติศาสตร์ และปัจจุบันนับจากที่หมุดคณะราษฎรหายไป ปรากฎการณ์มรดกคณะราษฎรหายก็เริ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การทุบอนุสาวรีย์ปราบกบฎ การหายไปของอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ที่ค่ายทหารลพบุรี และอนุสาวรีย์จอมพล ป. ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กล่าวได้ว่าประเทศไทยยังไม่หลุดพ้นไปจากการต่อสู้ทางอุดมการณ์ที่ดูเหมือนจะทวีความเข้มข้นขึ้นอีกระลอก

'Momentos/Monuments & reMinders' เป็นนิทรรศการที่จัดขึ้นช่วงสั้นๆ ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.-4 เม.ย. นี้ ที่ แผนสำเร็จ แกลอรี่ แอนด์ คอนซัลแตนท์ ใกล้ mrt สามยอด ประกอบด้วยผลงานของศิลปิน 3 คน ได้แก่ ล้วน เขจรศาสตร์, วนะ วรรลยางกูร และ อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ

 

 

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบัณฑิต คือคิวเรเตอร์หรือผู้ดูแลงานนิทรรศการนี้ เล่าให้ฟังว่า งานของล้วน เขจรศาสตร์ เป็นศิลปินที่ล่วงลับไปนานแล้ว ซึ่งวัฒน์ วรรลยางกูร สะสมไว้ ภาพของเขาเขียนระหว่างอยู่ในป่า ช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งเป็นช่วงสงครามอุดมการณ์ ภาพเขียนในป่าภูพานซึ่งเป็นภาพลายเส้นผู้ชายในชุด พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) คาดว่าเป็นวัฒน์ มองไปที่ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นคนรักหรือภรรยา ต่อมาศิลปินได้ตัดแบ่งครึ่งให้เหลือแต่ทิวทัศน์ที่เป็นป่าเพื่อจะขายแต่ก็ไม่มีใครซื้อ งานนี้จึงกลับมาอยู่ในมือของวัฒน์ ซึ่งเป็นคนที่อยู่ในรูปอีกครั้ง

ส่วนที่สองคืองานของวนะกับอาจิณโจนาธาน บัณฑิตเห็นว่ามีประเด็นคล้ายกัน งานของวนะนั้นพูดถึงวีรบุรุษ ชื่องานของเขา 'Momentos/Monuments' คำว่า 'Momentos' แปลว่าชั่วขณะหนึ่ง 'Monuments' คืออนุสาวรีย์ พอพูดถึงอนุสาวรีย์ คือสิ่งที่จัดสร้างขึ้นเพื่อรำลึกเหตุการณ์ บุคคลสำคัญในช่วงใดช่วงหนึ่ง ขณะที่งานของอาจิณโจนาธานพูดถึงเหตุการณ์ทางการเมือง เขาเอาวีรบุรุษและอนุสาวรีย์มาพูดเช่นกัน เป็นการเตือนให้คนไม่ลืมเหตุการณ์เหล่านั้น

"งานของทั้งคู่เล่าเรื่องที่ทำให้เกิดการตั้งคำถาม ทำไมจึงมีคนขี่ม้าซ้อนกันแบบนั้น ทำไมม้าจึงผิดรูปผิดร่าง เมื่อเรานำงานของศิลปินรุ่นพ่ออย่างคุณล้วน มาจัดแสดงกับงานของศิลปินรุ่นใหม่ เราจะเห็นความทับซ้อนของบริบททางการเมือง ผ่านมาหลายสิบปีพวกเราเองก็ยังไม่พ้นจากการต่อสู้ในสงครามอุดมการณ์ ที่เปลี่ยนจากคอมมิวนิสต์เป็นสิ่งที่เราก็รู้กันว่ามันจะค่อนข้างอยู่อีกยาวนาน" คิวเรเตอร์ของงานกล่าว

 

 

วนะ วรรลยางกูร เล่าถึงงานของเขาว่า ธีมคือการทบทวนอดีต ซึ่งตนได้นำวีรบุรุษสงครามจากหลายประเทศมาวาด เช่น นโปเลียน ซีโมน โบลิวาร์ พระเจ้าตาก 

"โดยปกติแล้วอนุสาวรีย์จะเล่าถึงบุคคลทางประวัติศาสตร์ในแง่ของวีรกรรม ความรักชาติ แต่ถ้าเราลองศึกษาประวัติศาสตร์อย่างลงลึก จะพบว่าหลักฐาน ข้อเท็จจริงหลายอย่างก็ขัดแย้งกับความเชื่อที่เล่าควบคู่กับอนุสาวรีย์เหล่านั้น งานผมจึงอยากสะท้อนระหว่างเรื่องความเชื่อกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทางประวัติศาสตร์ อย่างรูปพระเจ้าตาก เราวาดจากตัวอนุสาวรีย์เดิม แต่ม้าที่พระเจ้าตากขี่เราจะแยกไว้สองทาง ให้เป็นการตีความ ประวัติศาสตร์มีสองด้านเสมอ ส่วนตัวนักรบที่ขี่ม้าสะท้อนถึงอำนาจและการควบคุม" วนะกล่าว

 

 

อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ กล่าวว่า ตั้งแต่วิกฤติการเมืองปี 48-49 ที่ผ่านมามีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และทับซ้อนกันมาก จนบางทีคนลืมเหตุการณ์เหล่านั้นไป งานชิ้นนี้จึงเป็นการเตือนให้คนนึกถึงเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ โดยใช้ภาพที่คุ้นตากันในอินเทอร์เน็ต

"ผมใช้ภาพที่มีอยู่แล้วตามสื่อออนไลน์มาวาด แต่วาดแบบไม่ใช่เรียลลิสติก มีการแปลงสี บิดรูปทรง แต่ทุกคนคุ้นแน่นอน แล้วก็ไม่ได้ตัดสินว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกหรือผิด ควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ แต่เพื่อให้คนไม่ลืม และตระหนักถึงเรื่องพวกนี้ เพราะสุดท้ายวงจรการรัฐประหารในประเทศไทยก็วนกลับมาซ้ำเดิมแบบนี้ ในช่วงที่ผมโตมารัฐประหารสองรอบก็เป็นเหมือนเดิม ฉากเดิมตลอด อย่างงานผมก็มีรูปอนุสาวรีย์จอมพล ป. ซึ่งเคยเป็นฮีโร่มาก่อน แต่วันหนึ่งก็หายไป หรืออนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ซึ่งก็เป็นฮีโร่ของรัฐ และถ้ามันยังไม่หายไปแสดงว่ามันยังเป็นอยู่ใช่ไหม แล้วไอเดียแบบไหนถึงทำให้อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ยังอยู่" อาจิณโจนาธานกล่าว

 

 

Momentos/Monuments & reMinders

20 มี.ค.-4 เม.ย. 2563

จัดแสดงที่ แผนสำเร็จ แกลอรี่ แอนด์ คอนซัลแตนท์ 

เลขที่ 362 ถ. จักรพรรดิพงษ์ (แยกแม้นศรี) กรุงเทพฯ 10100

ไม่ไกลจากสถานี MRT สามยอด เดินมาทางประตูผีแล้วมุ่งไปแยกแม้นศรี อยู่ฝั่งซ้ายมือ ก่อนถึงโรงเรียนวัดสระเกศ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net