Skip to main content
sharethis

ดูมาตรการรัฐบาลในจีน เกาหลีใต้ ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ จีน ว่าดูแลคนเล็กคนน้อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างไร หลายประเทศมีการช่วยนายจ้างจ่ายค่าแรง ลดหย่อนภาษี จ่าย "สวัสดิการโควิด-19" ส่งกล่องยังชีพให้กักตัว ช่วยหางานผ่านทางออนไลน์ ฯลฯ 

ที่มาภาพ: pixabay/butti_s

กระแสความกังวลของสังคมต่อโรคจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ขยายตัวไปตามจำนวนผู้ป่วยยืนยันที่พบมากขึ้น มติ ครม. ที่มีขึ้นในวันอังคารที่ผ่านมา (17 มี.ค.) ที่ให้สถานศึกษา สถานบริการ สถานบันเทิงต่างๆ ปิดตัวลงเป็นเวลา 14 วัน ถือเป็นการทิ้งไพ่เศรษฐกิจเพื่อแลกมากับโอกาสในการควบคุมโรค และแน่นอน เมื่อนายจ้างเจ็บ ลูกจ้างก็ต้องเจ็บเช่นกัน 

มาตรการการควบคุมโรคแบบเดียวกันถูกใช้ในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้แรงงานในประเทศเหล่านั้นเจอเงื่อนไขคล้ายๆ แรงงานไทย เช่น จะหาเงินจากไหนมาใช้หากต้องกักตัวเองอยู่ในบ้าน 14 วัน นายจ้างจะทนได้หรือไม่ เศรษฐกิจปัจจุบันก็แย่พออยู่แล้ว จะเอารายได้จากไหนมาใช้จ่ายหนี้สิน ฯลฯ 

ประชาไทยกตัวอย่างมาตรการของประเทศต่างๆ ในการอุดหนุน ช่วยเหลือลูกจ้างและนายจ้างให้ผ่านพ้นช่วงการระบาดของโควิด-19 ให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่าเขาทำอะไรกันบ้าง

จีน 

แม้ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดในจีนดูเหมือนจะควบคุมได้แล้ว แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก่อนหน้าใครในฐานะศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งแรกก็ใหญ่หลวง มีการประเมินจากสำนักข่าว CNBC ว่ามีประชาชนราว 5 ล้านคนที่ตกงานในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 รัฐบาลจีนได้ขอให้ธนาคารยืดกำหนดชำระหนี้สินของธุรกิจ และให้ธุรกิจที่ดินให้เช่าลดค่าเช่าลง

รัฐบาลจีนออกมาตรการลดหย่อนและงดเว้นภาษีและการจ่ายเบี้ยประกันสังคม เพื่อให้บริษัทยังพอดำเนินการไปต่อในช่วงที่มีการระบาดได้ โดยคาดว่ารัฐจะต้องใช้งบประมาณถึง 5 แสนล้านหยวน (2.305 ล้านล้านบาท) ในการอุดหนุนดังกล่าว มีการจ่ายเงินอุดหนุนการจ้างงานใหกับบริษัทต่างๆ ภาครัฐและเอกชนจัดให้มีการฝึกอาชีพออนไลน์ มีบางแห่งจ่ายเงินให้กับแรงงานที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการจัดให้มหาวิทยาลัยมีบริการจัดหางานผ่านระบบออนไลน์ให้กับนักศึกษาจบใหม่ด้วย

สำหรับแรงงาน รัฐบาลจีนจัดให้มีรถและเครื่องบินไปรับพวกเขาให้เดินทางกลับมาทำงานฟรี เพราะในช่วงที่มีการระบาดนั้นคาบเกี่ยวกับวันหยุดตรุษจีนที่มีการหยุดไปเป็นเวลานาน และยิ่งนานไปอีกในช่วงที่มีการระบาด รัฐบาลท้องถิ่นมีการเปิดตำแหน่งงานเพิ่มในโรงงานต่างๆ รวมถึงจ่ายเงินอุดหนุนการจ้างงาน ให้แรงงานที่กลับบ้านได้ทำงานในพื้นที่ไปเลย

ที่มณฑลหูเป่ย ศูนย์กลางการระบาดแห่งแรก ธุรกิจต่างๆ มีมาตรการจูงใจให้คนกลับมาทำงาน โดยเพิ่มเงินชดเชยให้วันละ 100 หยวน (ราว 461 บาท) ให้กับแรงงานในช่วงที่มีการระบาด ส่งผลให้แรงงานร้อยละ 80 กลับมาทำงาน และมีการจ้างงานอีก 32 ตำแหน่งเพิ่มชั่วคราว (ที่มา: CNBC, The Star Malaysia, investopedia)

เกาหลีใต้

ประเทศที่เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมามียอดผู้ป่วยสะสมสูงเป็นอันดับสองรองจากจีน รัฐบาลเกาหลีใต้มีการจัดการกับการกักตัวของผู้คนที่บ้านด้วยการจัดส่งสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเป็นเวลา 2 สัปดาห์ให้กับผู้ที่ต้องกักตัวที่บ้าน โดยมีทั้งอาหาร ชุดยา เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย น้ำดื่ม เทอร์โมมิเตอร์ และถุงทิ้งกระดาษชำระที่ปนเปื้อน

นอกจากนั้นเกาหลีใต้ยังประกาศทุ่มงบประมาณ 9.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่ออุดหนุนค่าจ้างให้กับลูกจ้างในธุรกิจขนาดเล็กและกลาง มีการช่วยเงินอุดหนุนค่าเลี้ยงดูบุตร และจัดให้มีโครงการฝึกฝนอาชีพให้ผู้ที่ตกงาน (ที่มา: Observers, investopedia)

เนเธอร์แลนด์

เมื่อ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา ครม. เนเธอร์แลนด์มีมติออกมาตรการบรรเทาผลระทบให้กับนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยจะช่วยนายจ้างจ่ายเงินเดือนให้กับลูกจ้างที่ถูกลดเวลาทำงานร้อยละ 75 ของเงินที่ถูกลดลงไป นอกจากนั้น หากบริษัทไม่สามารถจ่ายเงินคืนโครงการเงินกู้เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง รัฐบาลจะชำระหนี้ให้สูงสุดร้อยละ 90 นอกจากนั้น ทางรัฐบาลกำลังวางแผนว่าจะมีมาตรการเยียวยาผู้ทำงานที่ทำงานอาชีพอิสระ (self-employed) ที่มีจำนวนมากกว่าหนึ่งล้านคนอีกด้วย (ที่มา:NL Times)

อังกฤษ

ที่อังกฤษ เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุขแจ้งเตือนประชาชนว่าให้สังเกตอาการตนเอง หากพบว่ามีอาการพื้นฐานของโควิด-19 ให้กักตัวเองเพื่อดูอาการ 7 วัน หากถูกตรวจพบว่าเป็นเชื้อโควิด-19 คนในครัวเรือนจะต้องกักตัวดูอาการอีก 14 วันนับจากวันที่มีการตรวจพบโรค ในส่วนนี้ รัฐบาลอังกฤษมีมาตรการช่วยเหลือคนที่ต้องลาป่วย โดยเปลี่ยนให้ได้รับเงินชดเชยการป่วยตามกฎหมาย (Statutory Sick Pay-SSP) ตั้งแต่วันแรกที่มีการลาป่วยซึ่งจากเดิมจะจ่ายในวันที่ 4 ของการลา โดยธุรกิจที่มีลูกจ้างน้อยกว่า 250 คน สามารถเบิกค่า SSP ได้หากเป็นการลาป่วยด้วยสาเหตุว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในส่วนคนทำงานอาชีพอิสระ สามารถสมัครรับเงินอุดหนุนรายเดือนสองประเภท ได้แก่ Universal Credit หรือ Employment and Support Allowance (ESA) ได้ตามเกณฑ์

สำหรับภาคธุรกิจ รัฐบาลให้ความช่วยเหลือด้วยการลดภาษี และให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า ธุรกิจขนาดเล้กสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินสดได้ถึง 25,000 ปอนด์ (9.77 แสนบาท) ธนาคารแห่งอังกฤษ (Bank of England)ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลในราคา 228 ดอลลาร์สหรัฐฯ และลดอกเบี้ยบรรษัทลงจากร้อยละ 0.15 เหลือ 0.1 และลดหย่อนภาษีให้กับผู้ประกอบการในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักสุด เช่นภาคส่วนธุรกิจค้าปลีกและโรงแรม (ที่มา:CNBC, Gov.uk [1] [2] [3])

สหรัฐฯ

ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเข้าถึงเงินกู้หลายขนาด แบ่งตามประเภทของธุรกิจ มีทั้งเงินกู้ที่จะช่วยให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ง่ายขึ้น ข้อเสนอจากฝ่ายบริหารที่เสนอสภาคองเกรสในตอนนี้คือการจ่ายเงินค่าจ้างในวันลาป่วยและการแจกเช็คเงินสดให้ประชาชน โดยกระทรวงการคลังระบุว่าจะการจ่ายให้ 2 รอบ คือวันที่ 6 เม.ย. และ 18 พ.ค. โดยมีการจัดขั้นลำดับปริมาณเงินตามขนาดครอบครัวและรายได้ปกติ นอกจากนั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังจะให้รัฐบาลไม่คิดค่าดอกเบี้ยของเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา

กระนั้นก็มีข้อสงสัยว่า การอุดหนุนค่าจ้างในวันลาป่วยสามารถเบิกได้เฉพาะสถานประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า 50 คนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 500 คน ข้อยกเว้นเช่นนี้จะทำให้มีแรงงานหลักล้านคนที่เข้าไม่ถึงเงินช่วยเหลือดังกล่าว (ที่มา: CNBC, sba.gov)

ไอร์แลนด์

ไอร์แลนด์มีมาตรการควบคุมโรคเหมือนกับที่ไทยทำ คือปิดสถานศึกษา สถานบันเทิง ที่ชุมนุมคนตั้งแต่ 100 คนในที่ปิดและ 500 คนในที่เปิด และสถานที่ด้านวัฒนธรรมของรัฐเป็นเวลา 14 วัน และขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้จัดปาร์ตี้กันที่บ้าน สถานทำงานถูกแนะนำให้เปลี่ยนการทำงานไปทำงานทางไกล 

ในช่วงที่มีการระบาด ไอร์แลนด์มีสวัสดิการใหม่ให้กับผู้ที่ว่างงานจากผลกระทบโควิด-19 (COVID-19 Pandemic Unemployment Payment) โดยผู้ที่เสียงาน ถูกลดเวลาการทำงานหรือเปลี่ยนการจ้างงานเป็นแบบพาร์ทไทม์จากการถูกกักตัว ตั้งแต่อายุ 18-66 ปี ทั้งที่ประกอบอาชีพปกติและอาชีพอิสระ สามารถสมัครเพื่อรับเงินก้อนนี้ นักเรียนก็สามารถสมัครได้ ส่วนประชาชนที่ได้รับการตรวจแล้วว่าติดเชื้อโควิด-19 และต้องกักตัวนั้นให้ไปสมัครสวัสดิการผู้ป่วยแทน

รัฐจะจ่ายสวัสดิการผู้ว่างงานให้กับผู้ลงทะเบียนเป็นเวลาสูงสุด 6 สัปดาห์ ระหว่างนั้นก็มีการแนะนำให้ผู้ว่างงานไปลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนให้ผุ้กำลังหางาน หากแรงงานถูกลดชั่วโมงทำหงานเหลือน้อยกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ ก็มีการแนะนำให้ไปลงทะเบียนรับเงินสนับสนุนผู้ทำงานระยะสั้น ซึ่งเป็นเงินทุนลักษณะคล้ายกับเงินอุดหนุนผู้กำลังหางาน

ชาวต่างชาติที่ทำงานในไอร์แลนด์จะได้รับเงินอุดหนุนสูงสุด 203 ยูโรต่อสัปดาห์เป็นเวลา 6 สัปดาห์จากนายจ้าง ซึ่งนายจ้างสามารถนำไปเบิกกับรัฐได้ภายหลัง ส่วนแรงงานที่มีครอบครัวที่ได้รับเงินอุดหนุนช่วยครอบครัวที่ทำงาน (Working Famliy Payment) แล้วตกงานจากโควิด-19 สามารถสมัครสวัสดิการผู้ว่างงานจากโควิด-19 ได้เช่นกัน ผู้ที่ได้รับทั้งสวัสดิการด้านการจ้างงานและระบบรัฐสวัสดิการ เช่น เงินอุดหนุนครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวหรือเบี้ยผู้พิการ แล้วตกงานเพราะโควิด-19 จะไม่สามารถลงทะเบียนรับเงินกับสวัสดิการโควิด-19 ที่มีใหม่ได้ แต่ให้ไปแจ้งกรมการจ้างงานและการคุ้มครองสังคม (DEASP) เพื่อขอเพิ่มจำนวนเงินสวัสดิการ เพราะเดิมทีเงินสวัสดิการเหล่านั้นจะลดลงเมื่อประชาชนผู้ประกันตนมีงานทำ (ที่มา: citizeninformation.ie [1] [2])

นิวซีแลนด์

รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้เตรียมงบประมาณกว่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3.9 แสนล้านบาท) เพื่อรับมือกับโควิด-19 ผ่านการลงทุนด้านสาธารณสุขและสนับสนุนความมั่นคงภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ ในส่วนเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลมีแผนที่จะมีการอุดหนุนการจ่ายเงินค่าจ้างให้ในวันลาป่วย รวมถึงการช่วยจ่ายค่าจ้างพนักงาน ส่วนลูกจ้างที่ถูกลดชั่วโมงการทำงาน 

สำหรับการช่วยจ่ายค่าจ้าง รัฐบาลจะอุดหนุนค่าจ้างให้แรงงานเต็มเวลา (ทำงาน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) เป็นเงิน 585.80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อสัปดาห์ และ 350 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อสัปดาห์สำหรับแรงงานพาร์ทไทม์ (ทำงานน้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) โดยนายจ้างจะได้รับเงินก้อนนี้เป็นก้อนเดียวเพื่อช่วยแรงงานเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ทั้งนี้ นายจ้างหนึ่งคนสามารถรับเงินอุดหนุนได้ไม่เกิน 150,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนายจ้างทั้งที่เป็นธุรกิจส่วนตัว ผู้รับเหมา หรืออาชีพอิสระในทุกภาคส่วนสามารถลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนนี้ได้

เงินส่วนข้างต้นจะถูกนำไปจ่ายให้กับลูกจ้างที่ต้องกักตัวเองที่บ้านในอัตราส่วนที่ระบุเอาไว้ตามประเภทแรงงาน โดยจะจ่ายให้ลูกจ้างเป็นเวลา 14 วัน ตามระยะเวลากักตัวมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข โดยนายจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินให้มากกว่าจำนวนที่ลูกจ้างจะได้รับในเวลาทำงานปกติ ผู้ประกอบอาชีพอิสระสามารถไปลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนนี้ในกรณีที่ต้องกักตัวเอง คนที่จำเป็นต้องถูกกักตัวซ้ำอีกครั้งก็ให้นายจ้างจ่ายเงินให้ด้วยแนวทางเดียวกันซ้ำอีกครั้ง (ที่มา: employment.govt.nz)

ญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นใช้งบประมาณราว 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วยเหลือประชาชนด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายภาคส่วน รวมถึงเพิ่มกำลังการผลิตหน้ากากอนามัย ช่วยเหลือการป้องกันการระบาดของโรคเข้าไปในสถานเลี้ยงดูคนชรา นอกจากนั้นยังมีเงินช่วยเหลือให้กับผู้ปกครองที่ต้องอยู่บ้านเพื่อดูแลลูกอันเป็นผลจากการประกาศปิดโรงเรียนทั่วประเทศด้วย (ที่มา: Asia Times)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net