Skip to main content
sharethis

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน เพิ่มวันบริการคนไทยที่จะขอใบรับรองแพทย์และหนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยจนถึง 22 มี.ค. นี้ - คนไทยในอังกฤษเผย 'นักเรียน-นักศึกษา' ที่ต้องการเดินทางกลับไทย ประสบความยากลำบาก หลังมีประกาศแนวปฏิบัติสำหรับผู้ขึ้นเครื่องบินมายังประเทศไทย

21 มี.ค. 2563 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน โพสต์ข้อความผ่านทางเฟสบุ๊คข้อความว่า เรื่อง สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน เพิ่มวันบริการคนไทยที่จะขอใบรับรองแพทย์และหนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยจนถึง 22 มีนาคม 2563

ตามที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เปิดบริการขอใบรับรองแพทย์ (fit to fly health certificate) และหนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยของสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อประกอบการเดินทางจากสหราชอาณาจักรกลับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 2563 นั้น ปรากฏว่า คนไทยได้ไปรับบริการจำนวนมาก โดยเมื่อวานนี้ (20 มี.ค.) มีผู้ไปรับบริการถึง 700  ราย  และดูเหมือนจะยังมีความต้องการอยู่อีกมาก ดังนั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงได้เพิ่มบริการอีก 2 วัน คือ วันเสาร์ที่ 21 และวันอาทิตย์ที่ 22 มี.ค. 2563 ระหว่างเวลา 09.00 - 17.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นในสหราชอาณาจักร) ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ โดยใช้บริการแอปพลิเคชัน QueQ สำหรับการจองคิวขอใบรับรองดังกล่าว

สถานเอกอัครราชทูตฯ จะให้บริการเฉพาะหนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทย ในกรณีเร่งด่วนเท่านั้น ที่หน่วยเฉพาะกิจ ที่โรงแรม Hilton Garden Inn Heathrow ท่าอากาศยานฮีธโรว์ โดยไม่ต้องจองคิวผ่านแอปพลิเคชัน ทั้งนี้สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook “Royal Thai Embassy, London UK”

เผยกติกาการบินกลับไทย สร้างความลำบากให้คนไทยในอังกฤษ

ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ปัจจุบัน นักเรียน-นักศึกษาในประเทศอังกฤษ ที่ต้องการเดินทางกลับประเทศไทย ประสบความยากลำบากอย่างแสนสาหัส หลังจากสำนักงานการบินพลเรือนออกประกาศ แนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินมายังประเทศไทย ในภาวะโควิด-19 ระบาด ซึ่งสร้างความลำบากให้กับคนไทยไกลบ้านเหล่านั้น

โดยแนวทางปฏิบัติของสำนักงานการบินพลเรือน ดังกล่าว ระบุให้ คนไทยในต่างประเทศที่ต้องการเดินทางกลับบ้าน จำเป็นจะต้องมีเอกสาร 2 อย่างคือ 1. ใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่า พวกเขามีสุขภาพเหมาะสมที่จะเดินทาง และ 2. หนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งต้องออกโดย สถานเอกอัคราชทูต สถานกงสุลใหญ่ หรือกระทรวงการต่างประเทศ

ปัญหาที่ตามมาคือ การได้มาซึ่งเอกสารดังกล่า ของคนไทยในประเทศอังกฤษค่อนข้างลำบาก และเสี่ยงที่จะทำให้พวกเขาติดโควิด-19

นายศโรมรณ์ (สงวนนามสกุล) นักศึกษาปริญญาเอกชาวไทยอายุ 29 ปี จากเมืองนอริช เปิดเผยว่าเงื่อนไขของการบินพลเรือน เป็นการผลักภาระให้กับทั้งนักศึกษาไทย เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย และแพทย์อังกฤษ

“การบินพลเรือนตั้งเงื่อนไขไม่นึกถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติเลย ต้องเสี่ยงโรคไปขอที่สถานพยาบาล ซึ่งภาวะนี้เขาแนะนำให้หลีกเลี่ยงการไปที่นั่น เพราะเชื้อโรคเยอะ มันเพิ่มภาระให้หมอ-พยาบาลของเขาโดยไม่จำเป็น ศูนย์การแพทย์ของรัฐก็ไม่รับทำให้ พอไปโรงพยาบาลเอกชนก็มีน้อย แพงมาก และก็ไม่ใช่ขอกันง่ายๆ”

“ที่สำคัญใบรับรองแพทย์ fit-to-fly ที่ได้มาก็บอกอะไรไม่ได้ว่า เราติดเชื้อหรือไม่ เพราะ โรคมันฝังตัวนาน ไม่มีอาการก็แพร่เชื้อได้ สุ่มเสี่ยงที่จะนำเชื้อกลับไทยเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ สงสารเจ้าหน้าที่สถานทูต ต้องมาเสี่ยงมากขึ้น ทำงานหนักขึ้นโดยไม่จำเป็นใดๆ เลย มากไปกว่านั้นก็สงสารน้องๆ คนไทยที่กำลังจะกลับบ้าน แล้วต้องมาเจอมาตรการแบบนี้”

นายศโรมรณ์ ถือเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่พยายามเคลื่อนไหวให้มีการแก้แนวปฏิบัติของสำนักงานการบินพลเรือน โดยเขาได้พูดคุยกับนักศึกษาหลายคนที่ประสบปัญหาจากมาตรการดังกล่าว

“น้องคนหนึ่งจองตั๋วกลับบ้านเอาไว้วันที่ 29 มี.ค. แต่มาตรการดังกล่าวออกมาจึงรีบไปหาแพทย์ของมหาลัยเพื่อขอใบรับรองแพทย์ แต่เขาไม่ออกให้ เพราะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน จึงต้องหาแพทย์เอกชนเพื่อออกใบรับรองให้ แต่ก็พบว่าราคาแพงมากที่ 130-200 ปอนด์ และนัดได้อย่างเร็วที่สุดคือวันที่ 27 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่ก่อนเดินทางเพียง 2 วันเท่านั้น น้องเสียใจมาก ไม่คิดว่าการกลับบ้านจะยากขนาดนี้”

“เทียบกับเคสเพื่อนคนสิงคโปร์ในมหาลัย เขามี Singporean Society ที่ประสานงานกับรัฐบาล และจองไฟลท์ของ Singapore Airlines ได้ โดยไม่ต้องใช้ใบรับรองอะไรทั้งนั้น เพียงแค่เป็นพลเมืองของประเทศ ตอนนี้เพื่อนสิงคโปร์ได้วันเดินทางเรียบร้อยแล้ว คือวันจันทร์ที่ 23 มี.ค. โดยไม่ต้องเดินทางไปลอนดอนล่วงหน้าเพื่อขอใบรับรองจากสถานฑูตด้วยซ้ำ”

นายศโรมรณ์ ระบุว่า สิ่งที่สำนักงานการบินพลเรือนที่นอกจากจะไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติทางการแพทย์ ยังอาจขัดต่อกฎหมาย

“ตอนแรกปัญหาคือ ถ้าคุณจะเอาใบรับรองจากสถานทูต คุณต้องไปลอนดอน แต่มีหลายคนที่เรียนเมืองอื่น ตอนหลังโดนด่าเยอะ เขาก็ให้ขอทางอีเมลได้ แต่ปัญหาคือ การได้มาของใบรับรองแพทย์ ยากมาก ถ้าคุณอยู่เมืองใหญ่ การไปขอจากโรงพยาบาลรัฐทำไม่ได้เลย เพราะคนเยอะ คิวยาว ต้องไปขอเอกชนที่แพงมาก ซึ่งพอไปเอกชน นัดแล้วไม่ได้เวลานัด นัดแล้วไม่ได้ตรวจอีก แล้วใบที่ได้ก็ไม่ได้การันตีว่าคุณจะไม่ติด นี่แค่ ข้อโต้แย้งทางการแพทย์นะ ถ้าโต้แย้งทางกฎหมายคือ การที่คุณไม่ให้คนกลับประเทศ นั่นคือขัดรัฐธรรมนูญ”

ก่อนหน้านี้ ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เฟสบุ๊คแฟนเพจ Royal Thai Embassy, London UK และ CAAT - The Civil Aviation Authority of Thailand ถูกนักศึกษาไทยเข้าไปตำหนิเป็นจำนวนมาก และล่าสุดนำมาซึ่งการทำจดหมายเปิดผนึก ส่งไปยังสำนักงานการบินพลเรือน เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติ โดยจดหมายดังกล่าว มีเนื้อหาดังนี้

เรียน ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

เรื่อง ขอให้ทบทวน ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องแนวปฏิบัติ สำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินมายังประเทศไทย

ตามที่ท่านได้ออกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องแนวปฏิบัติ สำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินมายังประเทศไทย คนไทยที่มีรายนามท้ายเอกสารนี้ มีความเห็นว่า ข้อ 4 ของประกาศฉบับนี้ มีผลกระทบโดยตรงต่อบุคคลสัญชาติไทยที่ต้องการเดินทางกลับประเทศไทย

การบังคับให้บุคคลสัญชาติไทยต้องมีใบรับรองแพทย์ประเภท fit-to-fly ตามข้อ 4(1) และหนังสือรับรองจากสถานทูตตามข้อ 4(2) นั้น น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 39 ที่กำหนดว่า ‘การห้ามคนไทยเข้าราชอาณาจักรจะกระทำไม่ได้’ เนื่องจากในขณะนี้ general practice (GP) ในประเทศสหราชอาณาจักรซึ่งสามารถออกใบรับรองดังกล่าวได้ มีภาระที่จะต้องดูแลผู้ป่วย Covid 19 ของประเทศสหราชอาณาจักร จึงไม่น่าจะสละเวลาอันมีค่าของพวกเขามาออกใบรับรองแพทย์ให้กับคนไทยซึ่งต้องการกลับราชอาณาจักรไทยได้ และโดยสภาพการพบแพทย์ซึ่งสามารถออกใบรับรองแพทย์ไม่สามารถกระทำได้โดยง่ายเหมือนอยู่ในประเทศไทย ดังนั้น ข้อกำหนดข้อ 4 จึงมีผลเป็นการห้ามคนไทยกลับเข้าบ้านเกิดของคนเองโดยปริยาย

ทั้งนี้ แม้ทางสถานทูตไทยในประเทศสหราชอาณาจักร จะพยายามบรรเทาภาระของคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับราชอาณาจักรไทย โดยการให้มีจัดให้มีแพทย์มาช่วยออกใบรับรองให้คนไทยที่ประสงค์จะเดินทางกลับราชอาณาจักรที่่สถานทูตไทย แต่การเยียวยานี้ ไม่สามารถบรรเทาภาระที่เกิดกับคนไทยที่อยู่ในเมืองอื่นซึ่งอยู่ห่างไกลจากสถานทูตไทยได้ นอกจากนั้น การเดินทางมายังสถานทูตอาจเป็นการเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ประสงค์จะขอใบรับรองแพทย์ติดเชื้อ Covid 19 ระหว่างทางได้

นอกจากนี้ การจัดให้คนไทยไปขอใบรับรองแพทย์ที่สถานทูต ยังส่งผลให้ คนไทยต้องไปรวมตัวที่สถานทูตอันน่าจะเป็นการขัดนโยบาย social distancing ของประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งอาจจะเป็นเหตุแห่งการแพร่กระจายโรค Covid 19 ต่อบุคคลอื่นอีก

คนไทยที่มีรายนามแนบท้ายเอกสารนี้ จึงขอให้ท่านทบทวน ข้อ 4 ของประกาศฉบับนี้ เพื่อให้เปิดโอกาสให้คนไทยได้กลับมาราชอาณาจักรไทยโดยไม่เป็นการสร้างภาระอันเกิดสมควร แต่สามารถป้องกันโรค Covid 19 ได้ เช่น บังคับให้คนไทยที่เข้าราชอาณาจักรต้องกักตัว ณ สถานที่ใด สถานที่หนึ่งเป็นเวลา 14 วัน เป็นต้น

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาทบทวนประกาศดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีท่าทีจากสำนักงานการบินพลเรือนต่อข้อเรียกร้องนี้


ที่มาเรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย | The Isaander

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net