Skip to main content
sharethis

บอร์ดประกันสังคมเคาะแล้ว มติช่วยเหลือผู้ประกันตน กรณี COVID-19 เพิ่มสิทธิประโยชน์ว่างงาน

นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานคณะกรรมการประกันสังคม เปิดเผยกับสื่อมวลชน กรณีคณะกรรมการประกันสังคมมีมติวันที่ 20 มีนาคม 2563 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนกรณีสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนี้     

1.ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยให้ขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนจากภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ รวมทั้งภัยอื่นๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ หรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป โดยให้         

–ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงาน อัตราร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน          

–กรณีหน่วยงานภาครัฐ มีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงาน ร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน        

2.เห็นชอบให้ลดอัตราเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นอัตราร้อยละ 4 เป็นระยะเวลา 6 เดือน พร้อมทั้งยังเห็นชอบให้ขยายกำหนดเวลาการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33,39 สำหรับงวดค่าจ้างเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม 2563 ออกไปอีก 3 เดือน โดยงวดค่าจ้างเดือนมีนาคม 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15กรกฎาคม 2563 สำหรับงวดค่าจ้างเดือนเมษายน 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 สิงหาคม 2563 และงวดค่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 กันยายน 2563      

3.ในเรื่องการรักษาพยาบาล คณะกรรมการฯ มีมติให้ดูแลรักษาผู้ประกันตน ที่ป่วยจากไวรัสโควิด-19 ให้ดีที่สุดตามมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่กำหนด 

นอกจากนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นไม่ว่าในทางเศรษฐกิจหรือผลกระทบจากปัจจัยอื่นใด คณะกรรมการยังมีมติเห็นชอบให้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพิ่มขึ้นแก่ผู้ประกันตนที่ว่างงานจากกรณีลาออก ร้อยละ 45 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน และจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนที่ว่างงาน จากกรณีเลิกจ้าง ร้อยละ 70 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน ทั้งนี้ มาตรการนี้ให้ใช้บังคับเป็นระยะเวลา 2 ปี หลังจากนี้คณะกรรมการจะพิจารณาวิเคราะห์และมีมติพิจารณาอีกครั้ง

นายสุทธิ กล่าวต่อว่า ตนได้เร่งรัดให้มีผลบังคับโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของภาครัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในการบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนต่อไป

ที่มา: สยามรัฐ, 21/3/2563

จัดทำมาตรการความปลอดภัยในธุรกิจบริการจัดส่งอาหารและพัสดุ ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19

20 มี.ค. 2563 นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการ ครั้งที่ 2/2563 ว่า  ด้วยมาตรการป้องกัน ลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง  ด้านมาตรการสาธารณสุข  มาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในสถานที่ราชการและรัฐวิสาหกิจ   ทุกหน่วยงานให้พิจารณามาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน และทำงานที่บ้าน  จะมีการสั่งซื้อสินค้า จัดส่งอาหารและพัสดุผ่านช่องทาง delivery  ที่มีความสะดวก รวดเร็ว ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการจัดส่งอาหารและพัสดุ  20 ราย ร่วมหารือเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการป้องกันการให้บริการจัดส่งอาหารและพัสดุ ให้มีประสิทธิภาพ ให้เกิดความปลอดภัยและความสะอาดให้แก่ประชาชนและผู้ใช้บริการ ลดความเสี่ยงจากการแพร่เชื้อทั้งจากอาหาร พัสดุ บริการ และบุคลากรในระบบ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและผู้ให้บริการจัดส่งอาหารและพัสดุ ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการกำหนดมาตรการความปลอดภัยในการให้บริการจัดส่งอาหารและพัสดุ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการดูแล  และคุ้มครองประชาชน ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ตลอดจนเพื่อยกระดับและเตรียมความพร้อมของบริการเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ให้บริการ และประชาชนทั้งระบบอย่างบูรณาการ

ที่มา: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล, 20/3/2563

แรงงานลาว-เวียดนาม หนีโควิด ทยอยกลับช่องทางสะพานไทยลาว​ ตม.เข้มคัดกรอง​ คาดทะลักยาวถึงสงกรานต์

20 มี.ค. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ จ.นครพนม ที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร บขส.นครพนม พบว่า ในช่วง 2 -3 วันที่ผ่านมา ได้มีแรงงานต่างด้าว ทั้งชาวลาว และเวียดนาม ต่างทยอยเดินทางมาด้วยรถโดยสารสาธารณ จาก กทม. เข้าพื้นที่ จ.นครพนม เพิ่ม ขึ้นทุกวัน เฉลี่ยวันละประมาณ 200 -300 คน เพื่อเดินทางกลับ ทางช่องทางด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 3 นครพนม – คำม่วน เพื่อ ตรวจเอกสารหลักฐาน ขออนุญาต เดินทากลับผ่าน เมือง ท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว หลังเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ทำให้ สถานประกอบการเสี่ยง ต้องหยุดกิจการ ชั่วคราว ทำให้ แรงงานต่างด้าว ที่ไปรับจ้างตกงาน และแห่กลับบ้าน

รวมถึง บางราย ถือโอกาสกลับ ใกล้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมถึง หวาดวิตก การแพร่ระบาด จึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน เกรงว่าจะติดเชื้อ และมีปัญหาเกี่ยวกับ ค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทย จึงแห่กลับประเทศ ต้นทาง โดยทางด่านตรวจคนเข้าเมือง นครพนม ได้ มีการเข้มงวดตรวจสอบ เอกสารหลักฐาน การเดินทาง พร้อมประสาน เจ้าหน้าที่ จาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม รวมถึง หน่วยงานเกี่ยวข้อง เข้ามาดูแล ตรวจสอบ คัดกรอง เฝ้าระวัง การแพร่เชื้อ สำหรับกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ ที่เดินทางมาจาก กทม. ซึ่งในช่วงนี้ ทางการลาว ยังอนุญาต ให้เดินทางกลับข้ามประเทศได้ แต่ยังคงต้องเฝ้าติดตาม เนื่องจากทางการลาว เริ่มมีการเข้มงวด และอาจปิดชายแดน ห้าม แรงงาน ลาว และเวียดนาม จาก กทม. เข้าประเทศ ส่งผลกระทบต่อไทย ที่จะต้อง รับภาระในการดูแล

ผู้สื่อข่าว รายงานเพิ่มเติมอีกว่า ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมา หลังมีแรงงาน ลาว เวียดนาม ทะลัก แห่ใช้รถโดยสารสาธารณะ ของบริษัทขนส่ง กลับ จาก กทม. เพื่อเดินทางกลับประเทศต้นทาง ผ่านช่องทางด่านพรมแดน ในพื้นที่ ชายแดน ภาคอีสาน รวมถึง จ.สกลนคร ซึ่งถือว่า มีความเสี่ยง ที่จะเกิดปัญหาการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด หากมีแรงงานบางราย มีการติดเชื้อ มาจาก กทม. เพราะผ่านเส้นทางมาหลายจังหวัด อาจมีการพักรถ ในการเดินทาง ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยง ต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด หากไม่มีการตรวจสอบ คัดกรอง ผู้โดยสารแรงงาน ทั้ง ชาวลาว และเวียดนาม และจะส่งผลกระทบต่อการควบคุมโรคติดต่อ โดยทางจังหวัดนครพนม ได้ประสานหน่วยงาน เกี่ยวข้อง เพิ่มมาตรการเข้มงวดในการ ดูแลคัดกรอง ก่อนที่จะมาถึง จังหวัดชายแดน โดยในช่วงนี้คาดว่า จะมีแรงงาน ลาว เวียดนาม ทะลักกลับ มากขึ้น ทุกวัน ยาวจนถึง เทศกาลสงกรานต์

ที่มา: สยามรัฐ, 20/3/2563 

ส.อ.ท. เสนอตั้งกองทุนรับมือโควิด 1 แสนล้านบาท ปล่อยกู้เอสเอ็มอีพยุงกิจการ ช่วยผู้ตกงานระยะสั้น หวั่นเลวร้ายสุดตกงาน 1 ล้านคน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หากการระบาดรุนแรงขึ้นจะกระทบเอสเอ็มอีทั้งภาคท่องเที่ยวและการค้าปลีก รวมทั้งส่งผลต่อยอดขายหลายอุตสาหกรรม และหากระบาดถึงระดับ 3 จนต้องปิดเมืองและประเทศจะกระทบธุรกิจรุนแรง ซึ่งกรณีเลวร้ายสุดอาจตกงานถึง 1 ล้านคน

ทั้งนี้ ส.อ.ท.เห็นว่า รัฐควรตั้งกองทุนรับมือสถานการณ์โควิด-19 วงเงินไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท แบ่งความช่วยเหลือ 2 กลุ่ม คือ 1.เอสเอ็มอี โดยให้กองทุนนี้ใช้กลไกธนาคารรัฐปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี และปล่อยให้หมดภายใน 6-12 เดือน รายละไม่เกิน 20 ล้านบาท ผ่อนชำระ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% เพื่อให้เอสเอ็มอีมีเงินจ่ายค่าจ้างและป้องกันการเลิกจ้าง รวมทั้งมีทุนปรับปรุงกิจการรองรับการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัว

“มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1.5 แสนล้านบาท ผ่านธนาคารพาณิชย์นั้นเอสเอ็มอีเข้าถึงยาก เพราะต้องดูเครดิตและกันสำรองหนี้ตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่หากตั้งกองทุนให้ธนาคารรัฐกู้จะไม่ติดเงื่อนไขนี้”

2.การช่วยลูกจ้างและพนักงานที่ธุรกิจหยุดดำเนินการช่วงนี้ โดยจ่ายเงินรายเดือนๆละ 1-2 หมื่นบาท ช่วงไม่มีงานทำ และจ่ายผ่านระบบประกันสังคม โดยต้องรับการฝึกอบรมเพิ่มทักษะแรง ซึ่งคาดว่าไวรัสจะระบาดไม่เกิน 3-4 เดือน และเมื่อยุติแล้วแรงงานกลุ่มนี้จะมีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น

ส่วนสถานการณ์ด้านแรงงานภาคอุตสาหกรรมยังไม่กระทบมาก ส่วนใหญ่จะลดโอทีและลดสวัสดิการแต่การเลิกจ้างยังมีไม่มาก

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขอความร่วมมือสมาชิก 100,000 ราย ประคองการจ้างงานที่มีรวมกัน 10 ล้านคน ในภาวะที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการระบาด ซึ่งถ้าสมาชิกมีปัญหาการดำเนินกิจการให้แจ้งหอการค้าไทยเพื่อเสนอรัฐบาลหามาตรการช่วย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เดิมมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาด ภัยแล้งและความล่าช้าของงบประมาณต่อเศรษฐกิจ 5 แสนล้านบาท แต่จากการที่รัฐบาลออกมาตรการปิดผับและสถานที่ท่องเที่ยว จะทำให้การใช้จ่ายลดลงไป 2-3 หมื่นล้านบาท และผลจากการยกเลิกการหยุดสงกรานต์จะมีเม็ดเงินหายไป 1 แสนล้านบาท ซึ่งหากรวมกับผลกระทบอื่นคาดว่าจะกระทบเศรษฐกิจ 7 แสนล้านบาท

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า โรคโควิด-19 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2563 ลดลง 30-40% เหลือ 24-28 ล้านคน หรือลดลง 11.7-15.7 ล้านคน จากนักท่องเที่ยว 39.8 ล้านคนของปี 2562

รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงจาก 1.93 ล้านล้านบาทปีที่แล้ว เหลือ1.19-1.39 ล้านล้านบาทในปีนี้ หรือลดลง 5.44-7.4 แสนล้านบาท ด้านรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยที่ปีที่แล้วมี 166.84 ล้านคน-ครั้ง เป็นรายได้ 1.08 ล้านล้านบาท คาดว่าปีนี้จะลดลง 20-25% จากปีที่แล้ว หรือคิดเป็นเงิน 2-2.5 แสนล้านบาท

“รายได้จากตลาดนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติปีนี้ จะลดลง 7.5-9.9 แสนล้านบาทในกรณีที่ระงับการระบาดได้ในเดือน ก.ค.นี้”

ทั้งนี้ ผลกระทบด้านการประกอบธุรกิจ สทท.คาดว่าผู้ประกอบการอาจปิดตัวอย่างน้อย 5,000-10,000 ราย จากปัจจุบัน 50,000 ราย ขณะที่ผลกระทบด้านการจ้างงาน คาดว่าจากตำแหน่งงานในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 4 ล้านตำแหน่ง จะมีผู้ถูกเลิกจ้าง (เลย์ออฟ) ไม่ต่ำกว่า 25-30% หรือคิดเป็น 1-1.2 ล้านตำแหน่ง และมีผู้ถูกลดรายได้จากการถูกลดเงินเดือน พักงาน ลางานโดยไม่รับเงินเดือน 3 ล้านตำแหน่ง

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 19/3/2563 

'สมคิด' วอนเอกชนงดเลิกจ้าง จ่อเพิ่มมาตรการช่วยผู้ประกอบการ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมกับผู้ประกอบการรายใหญ่เพื่อสร้างความมั่นใจถึงสถานการณ์การผลิตสินค้าในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งร่วมมือกับผู้ประกอบการในการรับมือกับผลกระทบการระบาด

การประชุมครั้งนี้มีภาคเอกชนเข้าร่วม เช่น คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เครือสหพัฒน์ ไทยเบฟเวอเรจ ยูนิลิเวอร์ เครือซีพี เครือเซ็นทรัล และผู้ผลิตอาหาหารรายใหญ่

นายสมคิด กล่าวว่า การระบาดโรคโควิด-19 กระทบทุกภาคส่วน ซึ่งรัฐบาลเตรียมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่อง โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้าจะเสนอมาตรการช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงสถานประกอบการที่ต้องหยุดตามมติ ครม.วันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งวันนี้ (19 มี.ค.) จะประชุมกับกระทรวงการคลังเพื่อสรุปมาตรการดังกล่าว

รวมทั้งหารือข้อเสนอเอกชนไ เช่น การนำเข้าหน้ากากอนามัยที่เอกชนชี้แจงว่าติดปัญหาภาษีนำเข้า รวมถึงการเตรียมความพร้อมโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าช่วงที่อาจปิดบางพื้นที่เพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน โดยมอบให้นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นผู้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้

นายสมคิด กล่าวว่า การระบาดจะคลี่คลายใน 2-3 เดือน จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการอย่าเลิกจ้างพนักงาน หรือชะลอการปลดคนงาน แต่ถ้าไม่มีความจำเป็นไม่ควรเลิกจ้าง โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ออกมาตรการแล้ว ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนมาตรการสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการและจะมีมาตรการเพิ่มอีก

"หากเลิกจ้างเขามีภาระดูแลครอบครัวแล้วจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ต้องช่วยกันประคองก่อน อีก 2-3 เดือนจะดีขึ้น ต้องมีวิธีการบริหารจัดการ อาจลดเงินเดือนบ้างแต่ต้องไม่เลิกจ้าง แล้วต้องดูแลสุขภาพอนามัยด้วย อย่าให้มีพนักงานเจ็บป่วยในไลน์การผลิต เพราะต้องปิดโรงงานจะลำบากกันหมด”

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 19/3/2563 

เผยมีคนในธุรกิจบริการทุกระดับร่วมหมื่นโดนผลกระทบ จากการปิดสถานบริการสถานบันเทิง

จากการที่รัฐบาลมีคำสั่งให้สถานบันเทิงทั่วกรุงเทพฯ ปิดการให้บริการเป็นเวลา 14 วัน เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ผู้สื่อข่าวสำรวจสถานบันเทิงอาบอบนวด ย่านถนนรัชดาภิเษก พบว่าทุกแห่งขานรับนโยบายรัฐด้วยการปิดให้บริการ ทั้งบางแห่งยังมีการทำความสะอาดสถานที่ครั้งใหญ่เพื่อฆ่าเชื้อ ที่อาบอบนวดชื่อดัง ย่านรัชดาภิเษก วันนี้บรรยากาศเป็นไปด้วยความเงียบเหงา มีพนักงานบางคนยังเดินทางมาทำงาน เนื่องจากไม่ทราบข่าวว่ามีคำสั่งให้ปิด

จากการสอบถาม “เฮีย บ.” (ขอสงวนนาม) เจ้าของอาบอบนวดชื่อคล้ายอดีตนักฟุตบอล ย่านรัชดาภิเษก เผยว่า ทางร้านมีพนักงานทุกสาขากว่า 200 กว่าคน แม้ปิดบริการก็จะยังคงจ่ายเงินเดือนอยู่ แต่เนื่องจากพนักงานมีรายได้จากเงินทิปจากแขก โดยเฉพาะพนักงานนวดที่ไม่มีแขกทำให้ขาดรายได้

เฮีย บ. กล่าวด้วยว่า ก่อนที่จะเกิดนโยบายปิดสถานบันเทิง สถานการณ์ก็ไม่ดีอยู่แล้ว นักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการหายไปกว่าร้อยละ 60-70 โดยเฉพาะลูกค้าคนไทยหายไปกว่าร้อยละ 50 คงเหลือแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ขณะนี้ทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติหายไปหมด ลองคิดดูว่าจากเดิมพนักงานได้ทิปวันละ 600-700 บาท เหลือแค่วันละร้อยกว่าบาท ส่วนพนักงานนวดนั้นบางวันมาทำงานกลับบ้านโดยไม่ได้แขกก็มี ที่น่าห่วงคือพนักงานเหล่านี้วัยไม่เกิน 30 ปี อยู่ในช่วงสร้างตัว บางคนมีภาระหนี้สินเช่นการปลูกบ้านให้พ่อแม่ ค่าเช่าห้องพัก ค่าผ่อนรถ บางคนบ่นให้ฟังว่ากำลังจะโดนยึดโฉนดที่ดินเพราะขาดเงินจ่ายค่างวด

“ส่วนผลกระทบต่อธุรกิจในภาพรวมใน กทม.มีสถานบันเทิง จำนวน 851 แห่งที่ถูกสั่งปิด หากลองคำนวณว่าแต่ละคนต้องมีญาติมีครอบครัวที่ดูแล นโยบายนี้จึงจะทำให้มีผู้เดือดร้อนจำนวนนับหมื่นนับแสนคน เฉพาะใน กทม.คนที่ทำงานอาชีพพนักงานนวดก็มีกว่า 3 พันคน ที่ขาดรายได้ แต่เมื่อสั่งปิดสถานบันเทิงได้ทำไมภาครัฐกลับไม่ได้สั่งปิดศูนย์การค้าใหญ่ๆ ร้านสะดวกซื้อ เพราะเป็นแหล่งที่มีคนไปรวมกันมากๆ เช่นกัน โดยเฉพาะบ่อนใต้ดินขณะนี้ก็ยังเปิด จึงสงสัยว่าสถานที่เหล่านี้รัฐบาลไม่กล้าปิด เพราะกลัวจะไปกระทบใครหรือเปล่า" เจ้าของอาบอบนวดชื่อดัง กล่าว

เฮีย บ. กล่าวอีกว่า อยากเสนอว่า ถ้าจะแก้ให้ตรงจุดควรต้องปิดเมืองไปเลย คือ ห้ามนักท่องเที่ยวเข้าประเทศแล้วให้ประชาชนที่สงสัยมาตรวจโรคทั้งหมด เพื่อให้การควบคุมการแพร่ระบาดทำได้เร็ว สถานการณ์จะได้กลับสู่ปกติ ทั้งควรมีมาตรการเยียวยาให้ประชาชนที่ไม่ได้ติดเชื้อแล้วต้องได้รับผลกระทบในช่วงนี้

ด้าน น.ส.นุ่มนิ่ม (นามสมมติ) พนักงานนวดสาว กล่าวว่า ทันทีที่นายกฯ ประกาศว่าจะปิดสถานบริการ ก็รู้สึกหดหู่ใจมาก เพราะต้องบอกว่าอาชีพนี้คือคนหาเช้ากินค่ำ แม้บางครั้งหาเงินได้มากแต่ทุกคนมีภาระหนี้สินเหมือนอาชีพอื่น ทั้งผ่อนบ้าน-รถ ส่งให้พ่อแม่ ฯลฯ ถ้าไม่มีแขกก็ไม่มีรายได้ ส่วนตัวแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระหลายหมื่นบาท การขาดรายได้ 14 วัน กระทบหนักแน่ อีกทั้งก่อนหน้าการระบาดของโรคโควิด-19 จะรุนแรง ลูกค้าชาวต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนก็หายไปหมด จากเดิมทั้งร้านมีแขกเข้าวันละหลายร้อยรอบ เหลือวันละไม่เกิน 50 รอบ เด็กบางคนไม่ได้เงินกลับบ้านเลย เป็นแบบนี้ก็ต้องดึงเงินเก็บมาใช้ แต่ส่วนใหญ่คนทำอาชีพนี้ไม่มีเงินเก็บแบบพนักงานบริษัท ดังนั้นช่วงนี้คงต้องขอเลื่อนการชำระหนี้ธนาคารต่างๆ ไปก่อน

"ส่วนการปรับรูปแบบหาลูกค้านั้น ทางเจ้าของอาบอบนวด ก็แนะนำให้ทำงานที่บ้าน หรือ Work at home เช่นกัน โดยหมอนวดคนไหนที่มีลูกค้าประจำ ก็จะโทรไปหาให้มาใช้บริการที่ห้องหรือคอนโดฯ แทน แต่ปัญหาที่พบคือ ไม่มีลูกค้าคนไหนกล้ามา อาจเพราะกลัวโรคโควิด-19 เช่นกัน ไม่อยากเรียกร้องอะไรจากภาครัฐ ขอแค่เร่งแก้ไขสถานการณ์โดยเร็วให้สถานบันเทิงสามารถเปิดได้ก็พอ" พนักงานนวดสาว กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 18/3/2563 

แรงงานไทยตกค้างในมาเลเซีย ทยอยกลับประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ด่านพรมแดนท่าเทียบเรือตำมะลัง อ.เมือง จ.สตูล เป็นวันแรกที่เรือเฟอร์รี่วิ่งระหว่างประเทศ ด่าน จ.สตูล และเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ได้ประกาศหยุดเดินเรือ หลังสถานเอกอัครราชทูต กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้ประกาศ เรื่องการแพร่ระบาดของโรคเชื้อโควิด-19 โดยนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ประกาศมาตรการขั้นสูงสุดเพื่อป้องกันและห้ามนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ และงดให้คนมาเลเซียเดินทางออกนอกประเทศ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 – 31 มี.ค. 2563

ส่วนการเร่งเดินทางกลับประเทศไทยของแรงงานในต่างแดน ทำให้ต้องทยอยเดินทางกลับ โดยหลายคนบอกว่า ยังมีแรงงานไทยที่ตกค้างจะเดินทางกลับมาเพิ่มเติมในวันนี้ โดยทางรถยนต์เข้าตามช่องทางด่านชายแดนต่างๆ โดยเฉพาะด่านวังประจัน อ.ควนโดน และด่านปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ขณะที่วันนี้หลายพื้นที่ใน จ.สตูล แม้จะไม่พบการติดเชื้อในพื้นที่ แต่ทางจังหวัดได้มีมาตรการเฝ้าระวังและรณรงค์ทำความสะอาดเพื่อป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อ

ที่มา: one31, 18/3/2563 

ก.แรงงาน ปรับรูปแบบศูนย์บริการเบ็ดเสร็จใน กทม. ป้องกัน COVID-19

18 มี.ค. 2563 ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน แถลงข่าว “ปรับรูปแบบการให้บริการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service :OSS) ต่อใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ” ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 โดยมี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน และ นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน ณ ห้องประชุมประสงค์ รณนันท์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เผย หม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตระหนักถึงความปลอดภัยในชีวิตของนายจ้าง/แรงงานต่างด้าว และ บุคลากร ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งในประเทศไทยได้ถูกประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตราย ที่สามารถติดต่อจากคนสู่คน โดยระบบทางเดินหายใจ หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ และขณะนี้รัฐบาลได้มีประกาศให้งดอยู่ในสถานที่ที่มีการรวมกลุ่ม และห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่ม จึงสั่งการให้ กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ประกาศปรับรูปแบบการให้บริการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ขออยู่ต่อในราชอาณาจักร และการออกบัตรประจำตัวบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย(บัตรชมพู) ให้กับแรงงานต่างด้าว ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ กรุงเทพมหานคร (One Stop Service : OSS) ทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ 1.ห้างสรรพสินค้า ไอที สแควร์ หลักสี่ 2.ห้างสรรพสินค้า ยู อมูเลท พลาซ่า เพชรเกษม 3.ห้างสรรพสินค้า นัมเบอร์วันพลาซ่า และ4.ตลาดสดสี่แยกหนองจอก

“ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ กรุงเทพมหานคร (One Stop Service : OSS) จะปรับรูปแบบการให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป โดยปิดเฉพาะในส่วนการให้บริการของกทม.และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แต่กรมการจัดหางานยังมีการให้บริการ โดยมีเจ้าหน้าที่อยู่เพื่อให้บริการแจ้งข่าวสาร การบันทึกข้อมูลใน NAME LIST ซึ่งนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานไปดำเนินการด้วยตนเอง ไม่ต้องพาคนต่างด้าวไป และการให้บริการข้อมูลและแนะนำให้ข้อมูล โดยจะปิดระบบนัดหมาย และระบบขอใบอนุญาตทำงาน (ตท.2) ชั่วคราว

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 19-31 มีนาคม 2563 กรมการจัดหางานจะติดต่อนัดหมายนายจ้าง/สถานประกอบการ และบริษัทนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานซึ่งดำเนินการแทนนายจ้าง/สถานประกอบการ ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่แจ้งไว้ในระบบ ซึ่งจะสามารถยื่นขอรับการตรวจลงตรา VISA ได้ที่ ศูนย์ให้บริการแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 3 แห่ง ได้แก่ 1. ห้างสรรพสินค้า อิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว 2. ห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี สาขาดอนเมือง (สะพานใหม่) 3. ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาราษฎร์บูรณะ โดยขอรับใบอนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-10 และเข้ารับบริการทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู)ได้ที่สำนักงานเขต ของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต ส่วน ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) ภูมิภาค ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถพิจารณาปรับรูปแบบได้ตามความเหมาะสม ต่อไป” ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง กล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 18/3/2563

แรงงานไทยทยอยกลับภูมิลำเนา หลังมาเลเซียประกาศปิดประเทศ 14 วัน

หลังจากที่รัฐบาลประเทศมาเลเซียได้ออกประกาศด่วนในสถานีโทรทัศน์ของประเทศมาเลเซียถึงมาตรการณ์การควบคุมโรคcovic 19 โดยนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน แถลงข่าว ประกาศปิดประเทศมาเลเซีย เป็นเวลา 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ 18-31 มี.ค. 2563 นี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยมีคำสั่ง- ห้ามจัดกิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมการกีฬา วัฒนธรรมและกิจกรรมทางสังคม ห้ามคนมาเลเซียออกนอกประเทศ ใครที่กลับมาจากต่างประเทศ ต้องกักตัว 14 วัน ห้ามชาวต่างชาติ เข้า-ออกประเทศมาเลเซีย ปิดโรงเรียนทุกแห่ง ปิดหน่วยงานราชการทั้งหมด ยกเว้น การประปา การไฟฟ้า ไปรษณีย์ โทรคมนาคม ปั๊มน้ำมัน สถานีโทรทัศน์ ธนาคาร กระทรวงเศรษฐกิจ กระทรวงสาธารณสุข เรือนจำ สถานีดับเพลิง ท่าเรือ สนามบิน ร้านขายของใช้ประจำวัน เป็นต้น หลังจากที่มีประกาศออกมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้มยำกุ้งไทย ต่างตกใจกับประกาศดังกล่าวเพราะต้องปิดร้านตามประกาศเตือนของรัฐบาล เจ้าของร้านอาหารจำเป็นต้องส่งคนงานกลับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อลดค่าใช้จ่าย

ล่าสุด วันที่ 17 มี.ค. 2563 ที่ด่านพรหรมแดนสุไหงโก-ลก อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ติดด่านรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว นักวิชาการสาธารณสุขด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศสุไหงโกลก ได้ทำการตรวจผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง โดยใช้เครื่องเทอร์โมสแกน กล้องอินฟราเรด และ เครื่องแฮนด์เทล วัดอุณหภูมิบริเวณหน้าผากและหูซ้ำ รวมทั้งแนะนำให้ใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว

ที่มา: NEW18, 17/3/2563 

สถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทยขอความร่วมมือแรงงานในไทยงดกิจกรรมสงกรานต์และไม่เดินทางกลับไปที่เมียนมาช่วงนี้ เพื่อป้องกันปัญหาโควิด-19

17 มี.ค. 2563 หลังจากที่มีแรงงานชาวเมียนมาจำนวนมาก พากันกลับประเทศทางด่านถาวรสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา วันละไม่ต่ำกว่า 3,000 คน ซึ่งบางส่วนกลับไปเพื่อทำเอ็มโอยูแรงงาน บางส่วนกลับไปเที่ยวเล่นสงกรานต์ในประเทศตามปกติ และมีบางส่วนที่หนีไวรัสโควิด-19 ที่พบมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในประเทศไทย

ล่าสุด มีหนังสือสั่งการจากสถานทูตเมียนมา ประจำประเทศไทย ให้งดกิจกรรมสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. - 30 เม.ย. และขอความร่วมมือ คนงานเมียนมาในประเทศไทย ไม่เดินทางกลับไปที่เมียนมาช่วงนี้ เพื่อจะป้องกันปัญหา โควิด-19 หากใครเดินทางกลับเมียนมาจะต้องเสียค่า re-entry 1,000 บาท (ปกติช่วงสงกรานต์ ตม.ไทยจะยกเลิกการเก็บเงินค่า re-entry 1,000 บาท) และเมื่อเดินทางเข้ามาที่ประเทศไทยแล้วจะต้องสังเกตอาการของตนเอง 14 วัน

ส่งผลให้ช่วงเช้าวันนี้แรงงานเมียนมาที่รอข้ามแดนลดน้อยลงเหลือแต่คนที่ต้องการกลับไปทำเอ็มโอยูและนักท่องเที่ยวเท่านั้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ด่านกักกันโรคระหว่างประเทศยังมีการตรวจคัดกรองชาวจีนที่เดินทางข้ามไปมาอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 17/3/2563 

ก.แรงงาน ส่งคณะทำงานเฉพาะกิจฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบ โรงแรมย่านรัชดาพังทับคนงานเสียชีวิต

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบการเกิดอุบัติภัยหรือการประสบอันตรายจากการทำงานกรณีร้ายแรงโดยให้เดินทางเข้าไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุทันทีเมื่อมีเหตุการณ์หรืออุบัติภัยที่มีแรงงานบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและแจ้งความดำเนินคดีกับผู้รับผิดชอบ โดยล่าสุด นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส ผู้ตรวจราชการกรม ในฐานะคณะทำงานเฉพาะกิจฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุการณ์อาคารโรงแรมรัชดาซิตี้พังถล่มขณะทำการรื้อถอนจนเป็นเหตุให้มีลูกจ้างเสียชีวิต 1 ราย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นพบว่า อาคารโรงแรมรัชดาซิตี้ ซึ่งตั้งอยู่ที่ซอยประราษฎร์บำเพ็ญ 6 เขตห้วยขวาง มีบริษัท เรียลพาร์ทเนอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นเจ้าของอาคาร ได้ว่าจ้างให้บริษัท ดี.อาร์.พี.สตีล จำกัด รื้อถอนอาคารซึ่งจุดเกิดเหตุเป็นอาคารที่พักสูง 11 ชั้น อยู่ระหว่างการรื้อถอนอีก 7 ชั้นได้พังถล่มลงมาเนื่องจากแผ่นปูน เกิดการสไลด์ตัวทำให้รถแบคโฮพร้อมคนขับตกลงมาเป็นเหตุให้นายอดิศักดิ์ เจือรัมย์ อายุ 43 ปี ที่เป็นผู้ขับรถเสียชีวิต

นายอภิญญา กล่าวต่อว่า ขณะนี้พนักงานตรวจความปลอดภัยได้รวมรวมพยานหลักฐานและได้ออกหนังสือเชิญให้นายจ้าง บริษัท ดี.อาร์.พี.สตีล จำกัด มาพบเพื่อสอบข้อเท็จจริงว่านายจ้างได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 หรือไม่ในวันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม 2563 หากตรวจสอบพบว่านายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามก็จะดำเนินการตามกฎหมายกับนายจ้างทันที ทั้งนี้ ได้กำชับให้พนักงานตรวจความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่ประสานประกันสังคมพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์การคุ้มครองเยียวยาตามกฎหมายอย่างเต็มที่

ที่มา: ryt9.com, 16/3/2563

ผู้ประกอบการสถานบันเทิงเชียงใหม่ ค้านแนวคิดปิดสถานบริการป้องกัน COVID-19 หวั่นจะทำให้พนักงานนับหมื่นตกงาน

กรณีที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อคณะกรรมการโควิด-19 แห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 16 มี.ค. 2563 ทั้งการประกาศพื้นที่เขตติดต่อโรคร้ายแรงเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นมาตรการทำให้การแพร่เชื้อลดน้อยลงมากที่สุด และมีความจำเป็นที่จะต้องสั่งปิดสถานบริการ เช่น ผับ บาร์ ซึ่งผู้ป่วยที่มีไม่กี่คน ทำให้ต้องไปติดตามผู้เสี่ยงติดโรคกว่า 100 คน นำมาสืบสวนโรค เพื่อหยุดการระบาดของโรค จึงจำเป็นต้องปิดผับ บาร์ เพราะได้ขอความร่วมมือไปแล้วแต่ก็ยังไปเที่ยวกันอย่างเต็มที่ จนทำให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นจะต้องบังคับใช้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้ประกอบการสถานบริการในพื้นที่ จ.เชียงใหม่รายหนึ่ง เปิดเผยว่า รู้สึกไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าวเพราะส่งผลกระทบ อย่างหนักต่อร้านของตนและร้านอื่นๆ ซึ่งทางภาครัฐน่าจะมีวิธีการหาทางออกและวิธีการป้องกันที่ดีกว่านี้ และช่วงที่ผ่านมาหลังจากที่ได้มีการเริ่มระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการของสถานบันเทิงของตนหายไปกว่าครึ่ง ซึ่งถือว่าเดือดร้อนหนักแล้วและหากยังยืนยันว่าจะปิดสถานประกอบการ พนักงานของร้าน เจ้าหน้าที่ส่วนต่างๆ ก็คงต้องตกงานกันนับร้อยชีวิต

อย่างไรก็ตาม ในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นหัวเมืองใหญ่รองมาจากกรุงเทพฯ มีสถานบันเทิง ผับ บาร์ ร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะเป็นจำนวนมาก มีพนักงานทำงานในสถานบริการเหล่านี้มีจำนวนนับหมื่นคน หากรัฐบาลจะใช้มาตรการปิดสถานบริการดังกล่าว ผู้ประกอบการพร้อมให้ความร่วมมืออยู่แล้ว แต่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือพนักงานนับหมื่นคนต้องตกงานแน่นอน

ขณะนี้ ในทุกๆ คืนที่ สถานบันเทิงหลายแห่งในตัวเมืองเชียงใหม่ ได้เพิ่มมาตรการในการสกรีนคนที่เข้าไปใช้บริการ โดยพนักงานของทางร้านจะตรวจ อุณหภูมิในร่างกายของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ จากนั้นจะได้มีการตรวจบัตรประชาชน ก่อนที่จะมีการอนุญาตให้เข้าไปใช้บริการในสถานบริการ หากใครมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส จะไม่อนุญาตให้เข้าทุกกรณี

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ บรรยากาศสถานบันเทิงในตัวเมืองเชียงใหม่หลายแห่งเต็มไปด้วยความเงียบเหงา มีลูกค้าไม่กี่โต๊ะ เนื่องจากนักท่องเที่ยวอาจมีความวิตกกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงพากันเก็บตัวอยู่กับบ้าน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 16/3/2563 

กสร. อบรมเพิ่มประสิทธิภาพหัวหน้าผู้ประเมินมาตรฐานแรงงานไทย เน้นคุณภาพการตรวจรับรอง สร้างความเชื่อมั่นสถานประกอบกิจการ

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ประกาศใช้มาตรฐานแรงงานไทย (มรท.) ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือให้สถานประกอบกิจการนำไปใช้ในการบริหารจัดการด้านแรงงานให้มีการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบทางสังคมด้านแรงงานของสถานประกอบกิจการ ซึ่งจะส่งให้คู่ค้ามีความเชื่อมั่นและลดอุปสรรคในการกีดกันทางการค้า ทั้งนี้ สถานประกอบกิจการที่ได้รับรองมาตรฐานแรงงานไทยจะต้องผ่านการตรวจประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้การตรวจประเมินเพื่อการรับรองมาตรฐานแรงงานไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสถานประกอบกิจการที่ขอการรับรองและผู้เกี่ยวข้อง

โดย กสร. ได้จัดการอบรมโครงการพัฒนาสมรรถนะผู้ประเมินมาตรฐานแรงงานไทย หลักสูตรหัวหน้าผู้ประเมินมาตรฐานแรงงานไทยขึ้น ระหว่างวันที่ 16 – 20 มีนาคม 2563 ณ โรงแรมฮิพ รัชดา กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วย หัวหน้าผู้ตรวจประเมินจากภาครัฐและภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ในการตรวจประเมินและผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ประเมินมาตรฐานแรงงานไทยแล้ว จำนวน 25 คน

พร้อมเชื่อมั่นว่า หัวหน้าผู้ประเมินที่ผ่านการอบรมจะสามารถทำหน้าที่ในการนำตรวจประเมิน เพื่อการรับรองและให้คำแนะนำแก่สถานประกอบกิจในการพัฒนาการบริหารจัดการแรงงานได้ ตรงตามวัตถุประสงค์ของมาตรฐานแรงงานไทย ซึ่งจะส่งผลให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสถานประกอบกิจการต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 16/3/2563 

'การบินไทย' ประกาศโครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนด้วยความสมัครใจ

15 มี.ค. 2563 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีประกาศเรื่องการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนด้วยความสมัครใจ โดยระบุว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่แพร่กระจายทั่วโลก ทำให้หลายประเทศออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอยางเข้มงวด รวมถึงการห้ามขนส่งผู้โดยสารจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด ห้ามเดินทางไปยังประเทศที่มีการแพร่ระบาด ทำให้ปริมาณผู้โดยสารใช้บริการของบริษัท จนทำให้บริษัทตกอยู่ในสภาวะวิกฤต

บริษัทจึงมีความจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายทุกประเภทให้ได้ในภาพรวมอย่างน้อยร้อยละ 30 ดังนั้นเพื่อให้พนักงานมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของบริษัทในภาวะวิกฤต จึงจัดโครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนด้วยความสมัครใจ โดยขอความร่วมมือจากพนักงานเข้าร่วมโครงการ

สำหรับช่วงระยะในการลา ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2563 พนักงานสามารถสมัครใจลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนอย่างน้อย 8 วันทำงานขึ้นไปในแต่ละเดือน โดยไม่จำกัดจำนวนวันที่หยุดต่อเนื่องและจำนวนครั้งในการลาหยุด สำหรับนักบิน ลูกเรือและพนักงานที่ทำงานเป็นผลัด ให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้พิจารณา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 15/3/2563 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net