Skip to main content
sharethis

สธ.แถลง พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 122 ราย ผู้ป่วยสะสมพุ่ง 721 ราย พร้อมข้อเสนอมาตรการผ่านวิกฤติต่างๆ We Fair ชู 10 ข้อผ่าวิกฤติการณ์ ช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ ลูกจ้างรายวัน ฟรีแลนซ์ 'ธนาธร' เปิดตลาดนัดออนไลน์ประชาธิปไตย กสทช. ไฟเขียวช่วย ปชช. ใช้เน็ตมือถือเพิ่มเป็น 10 GB เน็ตบ้าน 100 Mbps สมาคมผู้ซื้อบ้านแนะให้ลดดอกกู้ พักชำระหนี้ ตั้งกองทุนซื้อบ้าน กสม. แนะ รบ. ผู้ว่า ปชช. 4 ข้อ ปิดการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติและวนอุทยานทุกแห่ง

 

23 มี.ค.2563 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รวมทั้งผลพวงจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในก่อนหน้านี้ สร้างผลกระทบจำนวนมากนั้น วันนี้ (23 มี.ค.63) กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ประจำวันจันทร์ที่ 23 มี.ค. 2563 โดยวันนี้ พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา เพิ่ม 122 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม 721 ราย กลับบ้านได้แล้ว 7 ราย โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตยังคงอยู่ที่ 1 ราย

 กลุ่มผู้ติดเชื้อจำแนกเป็นกลุ่มที่ 1 1.1 กลุ่มผู้ติดเชื้อ มาจากสนามมวย 4 ราย เป็นพี่เลี้ยงนักมวย 1.2 กลุ่มพบกับผู้ป่วยมาแล้ว 16 ราย เช่น นั่งรถคันเดียวกัน พูดคุยกัน เป็นพนักงานบริษัท นักเรียน พนักงานนวด ทั้งนี้ กลุ่มจากสถานบันเทิงไม่พบผู้ติดเชื้อแล้ว

กลุ่มที่ 2 เดินทางจากต่างประเทศ ทำงานในสถานที่แออัด เกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ ยอดผู้ติดเชื้อที่เหลือกลุ่มนี้อยู่ที่ 92 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนโรคอยู่ ผู้ป่วยอาการหนักยังอยู่ที่ 7 ราย ยังรักษาอยู่ใน รพ. ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ขณะมีผู้หายกลับบ้านได้แล้ว 52 ราย

โฆษก สธ. กล่าวต่อว่า ตอนนี้มีแนวโน้ม เจอผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมากขึ้น จากกรณีมีการย้ายถิ่นฐานกลับไปภูมิลำเนา เนื่องจากประชาชนเดินทางออกไปก่อนมีประกาศของ สธ. ทั้งนี้ขอให้ทุกท่าน ได้รายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ที่ รพ.ที่ใกล้บ้านที่ท่านพักอาศัยอยู่ หรือจะเป็น อสม. หรือผู้นำชุมชนที่อยู่ใกล้ ขอให้กักกันตัวเอง 14 วันอย่างเคร่งครัด งดเดินทางไปในที่ไม่จำเป็น

(ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์)

We Fair ชู 10 ข้อผ่าวิกฤติการณ์ ช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ ลูกจ้างรายวัน ฟรีแลนซ์

ขณะที่ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) ออก 10 ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขวิกฤติการณ์ COVID-19 โดยมีมาตรการเพื่อการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในระยะสั้น และการดำเนินนโยบาย “รัฐสวัสดิการ” เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว

โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

10 ข้อเสนอฝ่าวิกฤตโควิด 19 COVID-19 มาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ ลูกจ้างรายวัน ฟรีแลนซ์!!!

รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าแก้ปัญหาวิกฤตโควิด 19
เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม(We Fair)

จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รวมทั้งผลพวงจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในก่อนหน้านี้ ถือเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสังคมเศรษฐกิจไทยทุกภาคส่วน ส่งผลให้ประชากรวัยทำงานส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระกว่า 21 ล้านคน เผชิญความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้าง การขาดรายได้จากการหยุดงานตามมาตรการของภาครัฐ และอาจนํามาสู่การสูญเสียรายได้ยาวนานหากเศรษฐกิจถดถอยยาวนาน ทั้งนี้แม้ว่าภาครัฐจะบรรเทาผลกระทบกับแรงงานในระบบประกันสังคม แต่ยังไม่ครอบคลุมคนทำงานส่วนใหญ่ ไม่สามารถสร้างหลักประกันพื้นฐานรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (เครือข่าย We Fair) มีความเห็นว่า วิกฤตการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นสถานการณ์ที่สังคมไทยไม่เคยประสบมาก่อน ย่อมไม่สามารถคลี่คลายด้วยการแก้ปัญหาแบบเดิม

ในขณะที่มาตรการแก้ไขปัญหาของภาครัฐขาดการสร้างหลักประกันทางสังคมเชิงรุก ขาดการประกันรายได้ขั้นต่ำสำหรับคนทำงาน ไร้มาตรการช่วยเหลือประชากรกลุ่มเปราะบาง แรงงานนอกระบบ แรงงานฟรีแลนซ์ คนมีรายได้น้อย แม่ค้าพ่อค้า หาบเร่แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ พนักงานบริการ เกษตรกร คนพิการ มาตรการภาครัฐที่ผ่านมาจึงสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสวัสดิการสังคมและสุขภาวะ นับตั้งแต่หน้ากากอนามัย การเข้าถึงการรักษา รวมถึงการจัดสรรงบประมาณที่ยังมุ่งเน้นภาคธุรกิจ

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (เครือข่าย We Fair) จึงมีข้อเสนอ เพื่อการแก้ไขวิกฤติการณ์ COVID-19 โดยมีมาตรการเพื่อการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในระยะสั้น และการดำเนินนโยบาย “รัฐสวัสดิการ” เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว ดังต่อไปนี้
.
>>> มาตรการระยะสั้นเฉพาะหน้า

1) ให้ชดเชยรายได้คนทำงานในระบบประกันสังคมทุกมาตรา อย่างน้อย 75% กรณีว่างงานหรือการหยุดงานหรือการปิดกิจการชั่วคราวจากมาตรการภาครัฐ หรือจัดให้มีมาตรการทางการเงิน งบประมาณ เงินกู้ หรือการลดหย่อนภาษีแก่ผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่เลิกจ้าง ทั้งนี้ การกักตัวเป็นสิทธิของลูกจ้าง นายจ้างห้ามบีบบังคับให้มาทำงานในภาวะเสี่ยง

2) ให้ชดเชยรายได้คนทำงานอิสระ แรงงานนอกระบบ ฟรีแลนซ์ อย่างน้อย 75% กรณีว่างงานหรือการหยุดงานหรือการปิดกิจการชั่วคราวจากมาตรการภาครัฐ โดยให้รายงานตัวและแจ้งขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม และให้เกิดสิทธิในทันทีเมื่อเข้าสู่ระบบประกันสังคม

3) พักการชำระสินเชื่อตามระยะเวลาที่ได้รับผลกระทบ อย่างน้อย 6 เดือน ได้แก่ พักการชำระหนี้บ้าน 12 เดือน และปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อช่วยเหลือบุคคลธรรมดาที่ต้องผ่อนบ้าน พักการชำระหนี้สินเกษตรกร ธกส. บรรเทาภาระหนี้สินเกษตรกร สินเชื่อการศึกษา กยศ. เงินกู้ยืมการศึกษา ค่าเช่าหอพักนักเรียนนิสิตนักศึกษา สินเชื่อผู้ประกอบการ SMEs

4) ลดค่าบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อย่างน้อย 6 เดือน ได้แก่ ค่าไฟฟ้า น้ำประปา ค่าเช่าบ้าน ค่าทางด่วน ค่าโดยสารทุกประเภท รถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง

5) งดภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้าจำเป็นพื้นฐาน อย่างน้อย 6 เดือน อาทิ น้ำ นม ยารักษาโรค อาหารสำเร็จ ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านต่าง ๆ รวมทั้งลดภาษีน้ำมัน

>>>มาตรการระยะกลางและระยะยาว

1) รัฐควรมีมาตรการเชิงรุก ในการสร้างหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐาน Universal Basic Income เป็นระบบถ้วนหน้า การเข้าถึงสิทธิเสมอกันไม่แบ่งแยก เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตในช่วงรับมือภาวะวิกฤต

2) ปฏิรูประบบประกันสังคมเป็นประกันสังคมถ้วนหน้า ครอบคลุมคนทำงานทุกกลุ่ม จูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยรัฐจ่ายเงินสมทบให้เป็นผู้ประกันตน จำนวน 3 เดือน

3) สนับสนุนเงินสนับสนุนเด็กและเยาวชน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพคนพิการ เป็นระบบถ้วนหน้าและเพียงพอต่อการดำรงชีพพื้นฐาน

4) ส่งเสริมและพัฒนาทักษะการทำงานของประชาชน โดยมีงบประมาณสนับสนุนตามช่วงวัย รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการเพิ่มขีดความสามารถของสถานพยาบาลท้องถิ่น การสร้างกลไกการดูแลประชากรกลุ่มเฉพาะ เช่น เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยผู้สูงอายุ ผู้ช่วยคนพิการ เป็นต้น

5) ทบทวนการจัดสรรงบประมาณปี 2563 โดยลดรายจ่ายที่ไม่จําเป็นเลื่อนออกไปก่อน อาทิ การจัดซื้ออาวุธหรือการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ และจัดทำงบประมาณรายจ่าย ปี 2564 โดยคำนึงถึงการปฏิรูประบบภาษีเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ

ส่วนมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงการรักษาพยาบาลนั้น ประชาชนต้องมีสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลเท่าเทียมกัน กลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ารับการคัดกรองฟรีทั้งของรัฐและเอกชน ส่วนการรักษาพยาบาลให้เป็นไปตามสิทธิของบุคคล ทั้งนี้ ให้มีงบประมาณสมทบกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น เพื่อเข้าถึงการคัดกรองและการกักตัวผู้มีความเสี่ยงภายในชุมชน

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรมเชื่อว่าการดำเนินนโยบายตามแนวทาง “รัฐสวัสดิการ” โดยการสร้างหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐาน Universal Basic Income จะเป็นมาตรการที่ยั่งยืนในการสร้างหลักประกันให้ประชาชนผ่านพ้นวิกฤตนี้ ด้วยระบบการคลังและบริการสาธารณะจะมีกลไกที่ยึดโยงกับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเอื้อให้ประชาชนทุกชนชั้นที่มีความสามารถและความสร้างสรรค์ มีโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง โดยไม่ถูกกีดกันด้วยฐานะ เพศ วัย การศึกษา ความพิการ สถานะบุคคล เครือข่าย We Fair จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนมาร่วมกันผลักดันภารกิจในการสร้างสังคมรัฐสวัสดิการ เพื่อผ่านวิกฤติ COVID-19 ในครั้งนี้ และฟื้นฟูชาติที่ประชาชนมีส่วนร่วมไปพร้อมกัน

ด้วยจิตคารวะ
ไม่มีรัฐสวัสดิการเราจะตายกันหมด
#มมรสวดกรจตกม
เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม
(เครือข่าย We Fair)
วันที่ 23 มีนาคม 2563

กสม. แนะ รบ. ผู้ว่า ปชช. 4 ข้อ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แนะ 4 ข้อ ให้นายกรัฐมนตรีควรมีอำนาจเต็มในการแก้ไขปัญหา ควรบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแนวทางการจัดการ “การสื่อสารในภาวะวิกฤติ”  อย่างเป็นระบบ ผู้ว่าราชการจังหวัดพึงกระทำด้วยความรอบคอบ และไม่เลือกปฏิบัติ  พร้อมกำหนดมาตรการเยียวยาอย่างเป็นธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง
รัฐบาลจะพิจารณานำยุทธการปิดเมือง พึงระมัดระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยุทธการดังกล่าว และควรวางแผน "ยุทธบริการ" อย่างรอบคอบ ประชาชนควรแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการปฏิบัติตามคำสั่ง หรือข้อเสนอ หรือมาตรการของรัฐบาล ทีมแพทย์ และหน่วยงานของรัฐ เพื่อร่วมมือกันป้องกันและควบคุมการระบาดควรให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการของรัฐเพื่อป้องกันและลดการแพร่กระจายของโรคอย่างเคร่งครัด  

โดยมีรายละเอียดแถลงการณ์ดังนี้

แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

เรื่อง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (ฉบับที่ 2)

ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (COVID-19) เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 โดยมีข้อห่วงใยและมีข้อเสนอต่อทุกภาคส่วนเพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย รวมทั้งการเยียวยาความเสียหาย ซึ่งทุกภาคส่วนก็ได้พยายามช่วยกันสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคนี้อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้อย่างกว้างขวางให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ตระหนักถึงวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันอันตรายอันเกิดจากการติดเชื้อโรคโควิด 19  

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยกลับขยายตัวสูงขึ้น อันเนื่องจากสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เปลี่ยนแปลงไป คล้ายกับสถานการณ์ในหลายประเทศ และเพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวลุกลามมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลกระทบโดยเฉพาะต่อสิทธิในการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนคนไทย และสิทธิด้านแรงงาน ซึ่งพึงได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม  

กสม. ขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศในสถานการณ์ปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

1. นายกรัฐมนตรีควรมีอำนาจเต็มในการแก้ไขปัญหา ควรบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาให้มีแนวทางการจัดการในทิศทางเดียวกัน ควรวางแนวทางการจัดการ “การสื่อสารในภาวะวิกฤติ”  อย่างเป็นระบบ การเผยแพร่คำสั่ง หรือมาตรการใด ๆ ควรออกมาจากแหล่งเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนสับสนจนนำไปสู่ความตื่นตระหนก และควรกำหนดมาตรการในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคอย่างรัดกุมและเป็นเอกภาพ ตลอดจนการวางแผนในการแก้ปัญหาในกรณีมีการระบาดในวงกว้าง

2. แม้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จะมีอำนาจในการสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ก็ตาม ก็พึงกระทำด้วยความรอบคอบ และไม่เลือกปฏิบัติ  พร้อมกำหนดมาตรการเยียวยาอย่างเป็นธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ผู้ใช้แรงงานซึ่งต้องหยุดงานตามคำสั่ง ทั้งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางตรงข้าม เป็นเหตุให้ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด อันสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคนี้ไปยังคนใกล้ชิดในท้องถิ่น แม้กรมควบคุมโรคจะมีหนังสือขอความร่วมมือในการจัดทำแผนปฏิบัติการค้นหา เฝ้าระวัง และป้องกันโรค ระดับอำเภอและหมู่บ้านแล้วก็ตาม ทั้งยังไม่มีหลักฐานที่ชัดแจ้งว่า ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์เป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรคโควิด 19 จนถึงกับต้องสั่งปิดสถานประกอบการดังกล่าว

3. ในสถานการณ์ปัจจุบัน หากรัฐบาลจะพิจารณานำยุทธการปิดเมือง (Lockdown ) มาใช้ในพื้นที่และช่วงเวลาที่กำหนด พึงระมัดระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยุทธการดังกล่าว และควรวางแผน "ยุทธบริการ" อย่างรอบคอบ ตั้งแต่กระบวนการผลิต รวบรวม และจัดส่งอาหารให้ถึงทุกวัน การเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย และการเข้าถึงการรับบริการสาธารณสุขของรัฐ โดยเฉพาะในกลุ่มคนยากจนในเมือง

4. ประชาชนควรแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการปฏิบัติตามคำสั่ง หรือข้อเสนอ หรือมาตรการของรัฐบาล ทีมแพทย์ และหน่วยงานของรัฐ เพื่อร่วมมือกันป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 เช่น มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)  และ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และควรให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการของรัฐเพื่อป้องกันและลดการแพร่กระจายของโรคอย่างเคร่งครัด  

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเชื่อมั่นว่า ด้วยการดำเนินการของรัฐบาลอย่างจริงจังและด้วยความร่วมมือของประชาชนทุกคน จะช่วยกันป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง เพื่อให้เราผ่านพ้นวิกฤติการณ์อันยากลำบากในครั้งนี้ไปด้วยกัน

กสทช. ไฟเขียวช่วย ปชช. ใช้เน็ตมือถือเพิ่มเป็น 10 GB เน็ตบ้าน 100 Mbps

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) รายงานว่า กสทช. เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ระบาด ให้ประชาชนสามารถใช้งานเน็ตมือถือเพิ่มเป็น 10 GB เน็ตบ้านอัพสปีดให้เป็น 100 Mbps พร้อมเสนอ ครม. ออกเป็นมาตรการเร่งด่วน

พล.อ. สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาและสกัดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นั้น โดยที่เชื้อโควิด-19 ไม่สามารถเคลื่อนที่ด้วยตัวเองได้ต้องมีพาหะที่สำคัญคือคนที่ติดเชื้อ ดังนั้นมาตรการที่จะลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 หรือหยุดการแพร่กระจาย คือการที่ทำให้คนอยู่กับที่ อยู่กับบ้าน ไม่เคลื่อนที่ หรือเดินทางสัญจร จึงเกิดมาตรการทำงานที่บ้านหรือ Work from Home ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนมีความจำเป็นต้องใช้ในการติดต่อสื่อสาร ทำงาน คือบริการทางด้านโทรคมนาคม จึงเป็นที่มาของมติ กสทช.ว่าด้วยมาตรการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด-19ในวันนี้เพื่อรองรับมาตรการส่งเสริมการทำงานที่บ้านหรือ Work from Home ของรัฐบาล และเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเห็นชอบโดยเร่งด่วน และสืบเนื่องมาจากที่การนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ก.ดีอีเอส) ได้ขอความร่วมมือสำนักงาน กสทช. เชิญผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมาประชุมหารือเป็นการเร่งด่วนเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2563 เพื่อนำผลการประชุมนำเสนอที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจาณาในวันนี้ (23 มี.ค.)

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ได้นัดประชุมวาระพิเศษเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือประชาชนทุกระดับ โดยที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ โดยการลดค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคม และส่งเสริมการทำงานที่บ้าน รวมทั้งสนับสนุนการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนต่อไป ดังนี้

1. สนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) เพิ่ม 10 กิกกะไบต์ ต่อคน ต่อเดือน ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยผู้ใช้บริการ 1 คนจะได้รับการสนับสนุน 1 เลขหมาย ต่อ 1 ผู้ให้บริการ โดยจะสนับสนุนเป็นระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบมาตรการดังกล่าว จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 โดยใช้ฐานลูกค้าที่มีผู้ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เท่านั้น ให้หักจากเงินที่ผู้ให้บริการมีหน้าที่ จะต้องชำระค่าประมูลคลื่นความถี่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใบอนุญาตที่ กสทช. กำหนด จนกว่าจะครบจำนวน และให้ กสทช. นำเงินส่วนที่เหลือส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป โดยประชาชนจะสามารถรับสิทธิได้ด้วยการลงทะเบียนผ่านระบบ USSD ของผู้ให้บริการแต่ละค่ายที่ตนใช้งานอยู่

2. สนับสนุนการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Broadband) ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยปรับเพิ่มขนาดความจุ (Capacity) เท่าที่ผู้ให้บริการจะสามารถดำเนินการได้ กล่าวคือ กรณีบริการ ADSL/VDSL/Copper ให้ปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดที่สามารถทำได้ และกรณีบริการ FTTX ให้ได้ระดับความเร็ว (Download) 100 Mbps โดยหักเป็นค่าใช้จ่ายจากเงินที่ต้องนำส่งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) 

สมาคมผู้ซื้อบ้านแนะให้ลดดอกกู้ พักชำระหนี้ ตั้งกองทุนซื้อบ้าน

โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะนายกสมาคมผู้ซื้อบ้าน (www.thaihomebuyers.org) ได้เสนอรัฐบาล 4 ข้อ

1. ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โดยให้อยู่ในกรอบที่ไม่เกิน 3% ของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก  (เช่น ถ้าดอกเบี้ยเงินฝากคือ 1% ดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ควรเกิน 4%) ในประเทศไทยค่านายหน้าเป็นเงิน 3% ของมูลค่าบ้าน ดังนั้นสถาบันการเงินต่างๆ ที่รับฝากเงินจากประชาชน จึงควรมีกำไรในสัดส่วนไม่เกิน 3% เช่นกัน  ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลพึงเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินจากต่างประเทศมาเปิดให้บริการแข่งขันกับสถาบันการเงินไทยมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงอย่างแน่นอน

2. พักการชำระหนี้เงินต้น ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของสถาบันการเงินในกรณีสินเชื่อบ้านและสินเชื่ออื่นๆ เป็นเวลา 6 เดือน หรือหากสถานการณ์เลวร้ายลงไปกว่านี้ ก็ให้พักชำระหนี้เป็นเวลา 1 ปี และเมื่อครบกำหนดค่อยกลับมาชำระหนี้ตามปกติโดยยืดเวลาการผ่อนชำระออกไป

3. หยุดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมโอนอสังหาริมทรัพย์ในกรณีต่างๆ รวมทั้งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นเวลา 1 ปี

4. จัดตั้งกองทุนซื้อบ้านสำหรับเจ้าของบ้านและห้องชุดที่ไม่สามารถที่จะผ่อนต่อหรือมีหนี้จำเป็นต้องขาย โดยกองทุนนี้รับซื้อในราคา 75% ของมูลค่าตลาดที่ผ่านการประเมินค่าทรัพย์สินตามมาตรฐานวิชาชีพโดยเคร่งครัดก่อน ทั้งนี้ให้บริษัทประเมินซื้อประกันความรับผิดชอบทางวิชาชีพไว้ด้วย  กรณีนี้จะทำให้ผู้จำเป็นต้องขายบ้านเกิดสภาพคล่องทางธุรกิจ และในอนาคตอาจสามารถซื้อคืนในราคาต้นทุนบวกดอกเบี้ย หรืออาจทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อบ้านได้ในราคาถูก เป็นการช่วยให้ประชาชนสามารถมีที่อยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

'ธนาธร' เปิดตลาดนัดออนไลน์ประชาธิปไตย

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และแกนนำ"คณะก้าวหน้า" โพสต์เฟซบุ๊กเปิด #ตลาดนัดออนไลน์ประชาธิปไตย ให้พ่อแม่พี่น้องทุกคนได้มาฝากร้าน ลงประกาศ ซื้อ-ขาย-แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกัน โดยหวังว่าพวกเราทุกคนช่วยอุดหนุนคนเล็กคนน้อย อุดหนุนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง และผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

ปิดการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติและวนอุทยานทุกแห่ง

ขณะที่เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'สำนักอุทยานแห่งชาติ' โพสต์ประกาศปิดการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติและวนอุทยานทุกแห่ง เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. เป็นต้นไปจนกว่าจะมีประกาศยกเลิก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net