สุรชาติ บำรุงสุข กับ 8 ข้อเสนอปลดชนวนระเบิดทางการเมืองไทย

เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2563 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเสวนาเรื่อง อนาคตทางการเมืองไทยหลังยุบพรรคในยุค COVID-19 

สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาว่า ยิ่งนานวัน การเมืองไทยยิ่งเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่รอการระเบิดครั้งใหญ่ สิ่งที่ต้องคิดต่อคือ ถ้าจะรั้งไม่ให้ระเบิดมีโอกาสไหม หรือสังคมไทยต้องการจุดระเบิดเพื่อการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม เขาได้นำเสนอข้อเสนอไปถึงผู้กุมอำนาจและสังคมให้พิจารณาเพื่อการถอดชนวนระเบิดของสังคมไทย ดังนี้

ข้อเสนอทางการเมือง

1. แก้ไขรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาอย่างมาก เป็นไปได้ไหมที่จะยกร่างใหม่ ขอระยะเวลา 90 วัน โดยใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ไปก่อน แล้วเมื่อครบกำหนดประกาศใช้ทันที โดยวุฒิสภา องค์กรอิสระต้องถูกยุบ

2. แก้ไขบทบาทองค์กรอิสระ

ทำอย่างไรที่องค์กรอิสระจะเป็นหลักประกันที่จะไม่เป็นตัวที่ทำให้การเมืองแบ่งฝ่าย หรือไม่กลายเป็นตุลาการธิปไตย ตรวจสอบไม่ได้ วิจารณ์ไม่ได้ เพราะองค์กรอย่างนี้กลายเป็นองค์กรสร้างปัญหาให้ประชาธิปไตยโดยตรง

3.ยกเลิกยุทธศาสตร์ 20 ปี

แม้รัฐบาลปัจจุบันเป็นผู้จัดทำแต่ก็ไม่ได้ทำตามนั้นด้วยซ้ำ

4.ผู้นำพิจารณาตนเอง

รัฐบาลนี้มาด้วยการสืบทอดอำนาจ ท่านผู้นำต้องพิจารณาตัวเอง 3 ป.จะกลายเป็น 3 ท.(ทรราชย์) ในปี 2516 หรือไม่ หรือจะตัดสินใจก่อนจะไปถึงจุดนั้น  

5.หยุดการใช้อำนาจไม่เป็นธรรม

กระบวนการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลายต้องหยุด วิธีเดียวที่การเมืองจะไม่เป็นระเบิดเวลา การใช้อำนาจต้องมีหลักนิติธรรม มีหลักกฎหมาย เมื่อไรก็ตามที่กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้ามมันคือการจุดระเบิด

6.รัฐบาลเลิกเป็นเบี้ยล่างทุนใหญ่

เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะเป็นอิสระ และแบกรับหรือสนับสนุนทุนระดับกลาง ทุนระดับเล็ก ให้ได้ลืมตาอ้าปากบ้าง

7.ยกเลิกคดีการเมือง

คดีการเมืองต่างๆ ตั้งแต่ก่อนปี 2557 ถึงเวลาล้างและสะสางคดีทิ้งได้แล้ว

8.ยกเลิกกฎหมายยุบพรรคการเมือง

เมื่อบุคลในพรรคการมีความผิด ควรตัดสินตามกฎหมายและสำหรับบุคคลนั้นแต่ไม่กระทบองค์กร วิธีทำลายประชาธิปไตยวิธีหนึ่งคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้พรรคการเมืองอ่อนแอและไม่มีทางเติบโต

ข้อเสนอในทางการทหาร

สุรชาติกล่าวว่า ถ้ากองทัพเป็นอีกโจทย์คู่ขนานของปัญหาการเมือง ถึงเวลาแล้วต้องตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อการปฏิรูปกองทัพ การใช้คำว่า คณะกรรมการ ก็เพื่อสร้างจินตนาการว่าสิ่งนี้เป็นของทุกส่วนในสังคมเหมือนตัวแบบในเยอรมันที่ระดมความคิดในการดีไซน์กองทัพใหม่หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2  

ข้อเสนอต่อกองทัพ 

1. ลดบทบาทการเมืองของทหาร ถึงเวลาที่ทหารต้องออกการเมือง

2. ปรับเลิกคำสั่ง คสช.ว่าด้วยเรื่อง กอ.รมน.

3. ยุติบทบาทเสนาพาณิชย์นิยม

4. ผู้นำทหารออกจากรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปธุรกิจกับกองทัพ

5. ยุติการซื้ออาวุธของกองทัพไทยชั่วคราว เพราะภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่เรากำลังประสบมันใหญ่ไม่ต่างกับต้มยำกุ้ง 40 ตอนนั้นกองทัพไทยคืนการจัดซื้อจากสหรัฐ ฯ

ข้อเสนอการต่างประเทศ

1. เมื่อสร้างการเมืองใหม่ได้ ต้องปรับระดับความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจ ไม่เป็นเบี้ยล่างรัฐมหาอำนาจ

2. สร้างภาพลักษณ์ของไทยในเวทีโลกใหม่ ในรอบสิบปีมานี้ ประเทศที่มีรัฐประหาร 2 ครั้งคือ ฟิจิ บูกินาฟาโซ (รัฐประหารรอบที่สองอยู่ได้เจ็ดวันก่อนถูกประชาชนล้ม) และ ไทย

3. ถ้าต้องสร้างภาพลักษณ์ใหม่ก็ต้องสร้างขีดความสามารถในการต่อรองในเวทีโลก เราต้องไม่ใช่รัฐอารักขาของชาติมหาอำนาจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ควรทบทวนกรณีคอคอดกระ ไม่อย่างนั้นจะสร้างปัญหาระยะยาวในทางยุทธศษสตร์

4. ยกเลิกเมกกะโปรเจ็คจากสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม 

ในส่วนของคำอธิบายการเคลื่อนไหวเฟลชม็อบของนักศึกษาทั่วประเทศในช่วงที่ผ่านมานั้น สุรชาติกล่าวว่า การยุบพรรคเหมือนจุดไฟหรือจุดไม้ขีดโยนใส่เชื้อเพลิงความไม่พอใจที่สะสมมากขึ้นในสังคมไทย ก่อนหน้านี้ก็มีหลายครั้ง แต่ไม่ติดไฟ ครั้งนี้ไฟเริ่มติด “เราเห็นปรากฏการณ์ที่ไม่เห็นมานานมาก เราเห็นระดับมัธยมปลายออก เมื่อไรนักเรียนกออกแล้วรวมกับนักศึกษา นั่นคือเรากำลังเริ่มเห็นการก่อตัวของตัวแบบฮ่องกง”

สุรชาติกล่าวต่อว่า แล้วสุดท้ายมันจะจบตรงไหน ส่วนตัวเห็นว่าการต่อสู้ทางการเมืองในปี 2563 เวทีนี้ มวยจะชกไม่ครบ 12 ยก เป็นมวยระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายประชาธิปไตย แล้วถ้าชกไม่ครบยก สิ่งที่เราอาจได้เห็นคือ หลังชกแล้วเพลี่ยงพล้ำมากก็จะใช้วิธียึดเวที

“ผมใช้คำว่ายึดเวที เพราะวันนี้เราไม่มีกรรมการมวย กรรมการกลายเป็นนักมวยบนเวทีแล้วชกฝ่ายประชาธิปไตยด้วย เป็นไปได้ไหมว่า นักมวยกับกรรมการอาจไล่คนดูออกจากสนาม แล้วไล่คู่ชกอีกฝ่ายลงไป แล้วยึดเวที ตัดสินใจยึดอำนาจ”

หรืออีกแบบหนึ่ง สุรชาติบอกว่า เมื่อเกิดการเพลี้ยงพล้ำ ปรากฏว่ากรรมการช่วย การช่วยมีอย่างเดียว คือ ประกาศไล่นักมวยอีกฝ่ายลงจากเวที ประกาศยุบเวที เตรียมชกใหม่ ยุบสภา เตรียมเลือกตั้งใหม่ ส่วนแบบที่สามคือ ไม่ไหว ยอมโยนผ้า ลงจากเวที หรือสุดท้ายแบบที่สี่ ยื้อต่อ ตัดสินใจวิ่งรอบเวทีไม่ชก แล้วกรรมการช่วยชกอีกฝ่ายแทน แล้วอาศัยความได้เปรียบยื้อไปเรื่อยๆ

“เป็นอะไรที่อาจตอบไม่ได้ แต่ถ้าตัดสินใจแบบนี้ ยิ่งอยู่นาน นักมวยฝ่ายรัฐบาลหมัดตกแล้ว รออย่างเดียว่าจะถูกน็อคบนเวทีไหม หรือใช้วิธีให้กรรมการช่วยชกอีกฝ่ายหนึ่งแทน ถ้าเป็นอย่างนั้น คนดูมวยคงรู้สึกเยอะ หลายปีที่ผ่านมาเราดูการเมืองไทยเหมือนนั่งดูมวย แล้วเรารู้สึกว่าเวทีไม่มีความยุติธรรม ไม่เกิดการชกแบบเสรี” สุรชาติกล่าว

เขายังกล่าวเปรียบทางเลือกสถานการณ์สำหรับผู้นำด้วยว่า เหมือนการเสี่ยงเซียมซีที่มีฉากดังนี้  

เซียมซีแผ่นที่1 ‘นิราศต่างแดน’ เป็นยุคจอมพล ป. โดยเชื่อว่าโกงแล้วเป็นรัฐบาลได้ ใช้กฎเกณฑ์ทางการเมืองพาตัวเองเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งได้ในสภา แต่มันนำไปสู่การเลือกตั้งสกปรกปี 2500 จนถึงจุดที่ประชาชนไม่พอใจ เป็นจุดเริ่มต้นของการประท้วงใหญ่แล้วจบด้วยการรัฐประหาร จนจอมพล ป.ต้องลี้ภัยต่างแดน

เซียมซีแผ่นที่2  ‘สุขก่อนตาย’ แผ่นนี้บันทึกอายุขัยของสฤษดิ์ ซึ่งขึ้นสู่อำนาจโดยรัฐประหาร ใช้อำนาจปราบปรามประชาชน มีความสุขด้วยการใช้อำนาจ คอร์รัปชั่น ขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารครั้งที่สอง แล้วป่วยตาย

เซียมซีแผ่นที่3  ‘สามชาย’ ทหาร 3 คนตัดสินใจคุมอำนาจบนฐานความไม่พอใจของประชาชน ยุคจอมพลถนอมช่วงปลายเห็นชัด เศรษฐกิจตกต่ำ เป็นวิกฤตแล้วระเบิดเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ 14 ตุลา

เซียมซีแผ่นที่4 ‘ป๋าพอแล้ว’ ยุคพล.อ.เปรม เป็นทหารไทยยุคหลังสงครามโลกครั้งที่2 ที่อยู่นาน เมื่อเผชิญกับแรงกดดันหนักเข้าก็ตัดสินใจในช่วงสุดท้าย ซึ่งสำคัญที่สุด เอาตัวเองออก ลงจากเวทีเอง ไม่ต้องถูกการประท้วงใหญ่หรือรัฐประหาร ทำให้ดำรงสถานะทางการเมืองไทยไว้ได้

เซียมซีแผ่นที่5 ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ พล.อ.สุจินดา เชื่อว่าทำอะไรก็ได้ภายใต้เงื่อนไขการมีอำนาจของฝ่ายทหาร แต่กระแสความไม่พอใจของประชาชนที่มากขึ้น มีการปราบประชาชนครั้งใหญ่

“ไม่แน่ใจว่าผู้นำทหาร 3 ป. หรือ ป.ใด ป.หนึ่ง ถ้าเลือกเซียมซี ใจท่านอยากได้ชะตากรรมแผ่นไหน หรือเชื่อว่ามีเซียมซีแผ่นที่ 6 เชื่อว่าปราบแล้วชนะ เหตุการณ์ 6 ตุลา จะเห็นความเปลี่ยนแปลง กลัวแล้วปราบ แต่ปราบแล้วก็โดนรัฐประหาร”  

“ประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีบทเรียนให้ผู้นำทหารคิดเยอะ แต่เขาอาอยู่บนเงื่อนไขที่เชื่อว่า คุมสังคมไทยได้ หลังปี 2549 2557 เราเห็นการรัฐประหารที่ทหารพยามอยู่ในอำนาจอย่างไม่เคยเห็น ความชัดเจนคือ การเมืองไทยกำลังถูกปกครองโดยเสนาธิปไตย ประชาธิปไตยเป็นของต้องห้ามในระบอบนี้ เราเห็นชัดว่า รัฐบาลทหารเชื่อในอำนาจปืนอย่างเดียว ไม่ต่างกับ พคท.ที่ถูกสอนว่า อำนาจรัฐเกิดจากกระบอกปืน แต่วันหนึ่งเราก็เห็นว่าภายใต้แรงกดดัน ระบอบเสนาธิปไตยจำเป็นต้องรักษาภาพพจน์ เป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง ใช้สถาบันทางกฎหมายเข้ามามีบทบาททางการเมือง ไทยไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ตุลาการภิวัตน์  นักวิชาการฝ่ายขวาพยายามสร้างวาทกรรมให้เราเชื่อว่ามันคือการใช้อำนาจทางการเมืองของตุลาการอย่างไรก็ได้ไม่มีข้อจำกัด แต่จริงๆ แล้วสิ่งนี้คือ ตุลาการธิปไตย เป็นการใช้อำนาจทางกฎหมายจัดการกับรัฐบาลที่ฝ่ายตนไม่เห็นชอบ ในการเมืองไทยระบบเปิดที่มีเงื่อนไขการเลือกตั้ง การใช้ตุลาการธิปไตยเป็นเงื่อนไขที่ดีที่สุด ภาพลักษณ์จะไม่เป็นเผด็จการเต็มรูป”

“แล้วตกลงนิติธรรมที่ควรมีในระบบกฎหมายไทยอยู่ตรงไหน ถ้าเราเห็นในจุดเริ่มต้นอย่างนี้ ด้านหนึ่งรัฐบาลทหารมีอำนาจมากขึ้น ปืนบวกตุลาการ และความเปลี่ยนแปลงใหญ่สุดหลังรัฐประหาร 2557 การผนวกอำนาจเข้ากับระบบเศรษฐกิจ เวลาพูดทุนขุนศึก ตอนยุคสงครามเย็นมันเป็นทุนกลุ่มทหาร แต่มันเปลี่ยนรูปเป็นการผนวกอำนาจทหารกับทุนผูกขาด ทุนใหญ่ในไทยเป็นทุนผูกขาด การขยายอำนาจของเสนาธิปไตยผ่านทุนเป็นเงื่อนไขใหญ่ เราอาจต้องยอมรับว่ารัฐประหารทั้งสองครั้งหลังนี้มีบทบาทของกลุ่มทุนเข้าไปเกี่ยวข้อง การสนับสนุนทางทุนต่อการรัฐประหารที่เกิดขึ้นทั้ง 2549 และ 2557 มีมูลค่าเท่าไร”

“การผนวกอำนาจที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ยังรวมถึงการขยายบทบาทของกองทัพช่วงหลังปี 2557 ขยายไปทั้งเวทีการเมืองและสังคมไทย โดยเฉพาะคำสั่ง คสช.ที่ขยายและยกสถานะของ กอ.รมน. แทบจะเป็นกระทรวงแล้ว ได้รับงบประมาณและจัดสรรต่างๆ ไม่แตกต่างจากโครงสร้างของกระทรวง สิ่งที่จะถูกทิ้งไว้จากรัฐประหารรอบนี้คือ แม้ทหารจะออกจากเวทีการเมือง มรดกใหญ่คือจะมีทหารในการเมืองผ่าน กอ.รมน. และการออกแบบยุทธศาสตร์ 20 ปี ทั้งหมดเกิดบนความเชื่อว่า รัฐบาลทหารได้รับการสนับสนุนจากอำนาจตุลาการ ทุนนิยมผูกขาด ชนชั้นกลางปีกขวาสายอนุรักษ์นิยม ในบริบทที่ชนชั้นกลางขวาเป็นทนายแก้ต่าง ปกป้องระบอบอำนาจนิยม ซึ่งตรงนี้จะเป็นภาพที่แตกต่างจากปี 2516 2535 แต่อีกมุมเราก็เห็นปีกของชนชั้นกลางก้าวหน้า เมื่อเราเห็นการขยับตัวในลักษณะแฟลชม็อบของนักศึกษา นักเรียน คำถามที่ถูกทิ้งไว้คือ สุดท้ายการชุมนุมเหล่านี้จะออกนอกรั้วมหาลัยหรือไม่ คำถามอีกมุมคือ ชนชั้นกลางไทยที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอยู่ในสังคมสิ้นหวัง ไร้สมรรถภาพในการจัดการปัญหา ถ้าชนชั้นกลางปีกประชาธิปไตยลงถนนเมื่อไร เราก็จะเห็นขบวนนักศึกษา นักเรียนลงถนน หรือกลับกันก็ได้ มันใกล้เคียงกับอาหรับสปริง และฮ่องกง แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่า จุดนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร” สุรชาติกล่าว

เขากล่าวว่า นี่เหมือนระเบิดเวลา สิ่งที่จะรั้งไม่ให้ระเบิดคือทำตามข้อเสนอที่ได้กล่าวไปแล้วในช่วงต้น  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท