Skip to main content
sharethis

ในกรณีการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือ COVID-19 นั้น นักวิทยาศาสตร์เรียกร้องให้มีการศึกษาวิจัยอย่างเร่งด่วนเพื่อหาว่ามีผู้คนที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการล่าช้าอยู่ในอัตราส่วนเท่าใด เพราะมีความกังวลว่ากลุ่มที่มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการอาจจะมีโอกาสแพร่เชื้อได้โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัวด้วย จึงควรมีการตรวจสอบเรื่องนี้ให้มากขึ้น

การคัดกรองอุณหภูมิของผู้เดินทางด้วยเครื่องบินในอิตาลี ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 (ที่มา: วิกิพีเดีย/Dipartimento Protezione Civile, Italia)

24 มี.ค. 2563 สื่อเซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานโดยอ้างอิงจากข้อมูลที่เป็นความลับทางราชการของรัฐบาลจีนระบุว่า มีประชากร 1 ใน 3 ที่ตรวจพบว่ามีเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือ COVID-19 แต่ไม่มีการแสดงอาการหรือมีการแสดงอาการล่าช้าหลังจากติดเชื้อแล้ว นอกจากนี้ยังมีการตรวจวินิจฉัยจากประเทศอื่นๆ ที่ระบุพบคนที่มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการเช่นกัน เช่น ในประเทศไอซ์แลนด์ที่มีการตรวจพบว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีเชื้อไม่แสดงอาการ ในเกาหลีใต้มีร้อยละ 20 กรณีที่มีเชื้อแต่ไม่มีอาการป่วย

สก็อต กอตต์ลีบ อดีตหัวหน้าองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ระบุว่ากลุ่มคนติดเชื้อ COVID-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจจะเป็นกลุ่มคนที่ทำให้เชื้อแพร่กระจายมากกว่าที่พวกเขาคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยหลายฏบับที่บ่งชี้ว่าโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้อาจจะแพร่ระบาดได้ตั้งแต่ก่อนหน้าที่ผู้ติดเชื้อจะแสดงอาการป่วยอย่างการมีไข้ ไอ หรืออาการเหนื่อยล้าที่เกี่ยวข้องกับปอดอักเสบ

มีงานวิจัยจากจีนที่ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างผู้ป่วย 18 ราย โดยมีการสังเกตอย่างใกล้ชิดในช่วงหลายสัปดาห์ มีการเผยแพร่ผลการวิจัยเมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมาระบุว่าชิ้นส่วนทางพันธุกรรมของ COVID-19 ที่ถูกสลัดออกมามีลักษณะคล้ายกับที่พบในผู้ป่วยโรคหวัด แต่แตกต่างจากที่พบในโรคซาร์สเมื่อ 17 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังพบว่าหนึ่งในผู้มีเชื้อ 18 รายนี้ไม่มีอาการป่วยใดๆ เลย แต่ก็มีการเกาะกลุ่มกันของไวรัสแบบที่เรียกว่า "ไวรัสโหลด" แบบเดียวกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งไวรัสโหลดเช่นนี้มักจะพบในช่องจมูกของผู้ติดเชื้อ และเป็นจุดบ่งชี้ว่าคนไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยก็อาจจะแพร่กระจายเชื้อต่อได้

นักวิจัยระบุว่าการค้นพบในเรื่องนี้เน้นให้เห็นว่า "การแพร่กระจายเชื้ออาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงระยะต้นของการติดเชื้อ และเสนอว่าการวินิจฉัยกรณีบุคคลและการคัดแยกผู้ติดเชื้ออาจจะต้องใช้ยุทธวิธีคนละแบบกับที่เคยใช้กับการควบคุมโรคซาร์ส"

ทั้งนี้ ยังมีงานวิจัยจากวิทยาลัยแพทย์ มหาวิทยาลัยฮอกไกโดของญี่ปุ่นที่นำเสนอว่าคนที่ติดเชื้อใหม่ๆ อาจจะสามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ในช่วงเวลาประมาณ 4.6 วันแรกโดยเฉลี่ย ซึ่งน้อยกว่าระยะเพาะเชื้อโดยทั่วไป นั่นหมายความว่าการแพร่เชื้ออาจจะเกิดขึ้นในช่วงก่อนที่จะมีอาการป่วยก็ได้

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียประเมินว่ามีคนที่ติดเชื้อ COVID-19 แต่ไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยอยู่ราวร้อยละ 86 ก่อนหน้าวันที่ 23 ม.ค. ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะมีการจำกัดการเดินทางและมีมาตรการควบคุมเข้มงวดขึ้นในจีน พวกเขาระบุอีกว่าอาจจะมีจำนวนมากในผู้ที่ไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยเหล่านี้จะมีอาการในแบบที่ไม่ได้เป็นหนัก แต่ก็สามารถทำให้เกิดการแพร่กระจายไปทั่วประเทศได้ การแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์อย่างรวดเร็วนี้ทำให้เป็นปัญหาเฉพาะทางในการควบคุม

เรียบเรียงจาก

Coronavirus Cases Without Symptoms Spur Call for Wider Tests, Bloomberg, Mar. 22, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net