Skip to main content
sharethis

โควิด-19 รอบครึ่งวัน ไทยเสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวมทั้งหมดเป็น 4 ราย นายกฯ ประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 คุมสถานการณ์เป็นเวลา 1 เดือน จะแต่งตั้งศูนย์อำนวยการการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้ารับผิดชอบ

24 มี.ค. 2563 สถานการณ์โควิด-19 รอบครึ่งวัน ในวันนี้ไทยมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวมทั้งหมดเป็น 4 ราย โดย 3 รายที่เพิ่มขึ้นมานั้น รายแรกเป็นชายไทยอายุ 70 ปี ป่วยเป็นวัณโรค รายที่สองเป็นชายไทยอายุ 79 ปี เกี่ยวข้องกับสนามมวย มีโรคประจำตัวหลายโรค อีกรายเป็นชายอายุ 45 ปี มีภาวะโรคเบาหวานและโรคอ้วน ติดเชื้อใหม่เพิ่ม 106 รวมผู้ป่วยสะสมเป็น 827 ราย

หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแถลงว่า รัฐบาลขอประกาศใช้ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) โดยจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 26 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป เพื่อจัดการปัญหาทั้งหมด รับมือกับวิกฤติโควิด-19 โดยจะมีแต่งตั้งศูนย์อำนวยการการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โควิด-19 มีปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องมารับผิดชอบ กฎหมายทั้งหมดจะมาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี และจะบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 เดือน

สำนักข่าวไทยรายงานแนวปฏิบัติหลังจากประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินโดยประยุทธ์ว่า จะมีการจัดประชุมทุกเช้า ออกข้อกำหนดได้ตลอดทุกวันตามสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน ระยะที่ 1 คือทำอย่างไรให้ลดการแพร่ระบาด อาจจะเป็นขอความร่วมมือหรือมีการบังคับบ้าง เรื่องการเปิด-ปิด จะเป็นมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ขอความร่วมมือประชาชนอย่าเดินทางกลับภูมิลำเนา หากเดินทางกลับก็จะเจอมาตรการของการคัดกรองที่มีอยู่ในขณะนี้ ให้ความสำคัญกับการกักตัวที่บ้าน ในพื้นที่อาจมีสถานที่กักตัวของรัฐเพิ่มขึ้น จัดหาโรงพยาบาลสนามหรือพื้นที่กักตัวขนาดใหญ่เพื่อรองรับผู้ป่วย จะดำเนินการจัดซื้อจัดหาเวชภัณฑ์เพิ่มเติม ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก 

โดยการให้ข้อมูล มี 2 ช่องทาง ได้แก่ 1) ในสื่อ social ต่าง ๆ ศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ มีช่องทางให้โทรสอบถาม และ 2) ศอฉ. สรุปประเด็นสำคัญในแต่ละวัน ให้ติดตามรัฐบาลเป็นหลัก

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สิ่งสำคัญในการลดการแพร่ระบาดโรค คือให้ทุกคนร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้ได้ดำเนินการปิดด่านแนวชายแดนแลว้ ยกเว้นเพียงจุดที่คนไทยต้องเดินทางกลับเข้ามา เรื่องสำคัญสำหรับประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ขอให้ระมัดระวังและป้องกันตัวเองทั้งระหว่างเดินทางและช่วงที่กักตัวอยู่ที่ภูมิลำเนา 14 วัน ขอให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัดไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย ทั้งนี้ขอให้สื่อช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลทำให้เกิดความร่วมมือ สร้างการรับรู้ให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

อนุพงษ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ประชาชนและแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับภูมิลำเนาหลังสถานประกอบการบางแห่งทยอยยุติการดำเนินการว่า วันนี้คาดว่าจะได้รับข้อมูลรายละเอียดการเดินทางจากทุกจังหวัด มั่นใจว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่จะตามควบคุมดูแลผู้เดินทางกลับให้ปฏิบัติตามหลักการสาธารณสุข ทั้งการกักตนเองและการป้องกันดูแลไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อต่อไป (ที่มา:ไทยรัฐ)

ดูใจความสำคัญใน พรก. ฉุกเฉิน 2548

มาตรา 4 “สถานการณ์ฉุกเฉิน” หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบ หรือ อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือ อาจทำให้ประเทศ หรือ ส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือ การกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบ หรือ การสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้นครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือ การป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง

มาตรา 5 วรรคสอง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับตลอดระยะเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด “แต่ต้องไม่เกินสามเดือนนับแต่วันประกาศ”

ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศขยายระยะเวลาการใช้บังคับออกไปอีกเป็นคราว ๆ คราวละไม่เกินสามเดือน

มาตรา 5 วรรคสาม เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลงแล้ว หรือ เมื่อคณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบ หรือ สิ้นสุดกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น

มาตรา 6 ให้มีคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินคณะหนึ่ง ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ

มาตรา 9 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือ ป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด

(1) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ เป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น

(2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

(3) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

(4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

(5) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ

(6) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

มาตรา 18 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net