รัฐงัดมาตรการ 7 ช่วยแรงงาน 8 ช่วยนายจ้าง แจกเงิน เลื่อนจ่ายภาษี เงินกู้ดอกต่ำ

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อธิบดีสรรพากรแถลง 8 มาตรการช่วยลูกจ้าง 7 มาตรการช่วยนายจ้างกระทบจากโควิด-19 แจกเงินเดือนละ 5 พัน 3 เดือน ขยายเวลาชำระ-ยื่นภาษี เปิดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ยกเว้นอากรขาเข้าอุปกรณ์ที่ใช้รักษา วินิจฉัย ป้องกันโควิด-19

24 มี.ค. 2563 สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ร่วมกันเปิดเผยมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม 

เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขยายวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม มาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส การสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเช่นห้างสรรพสินค้า การระวับการให้บริการของสถานบริการต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และในอีกหลายพื้นที่ งดกิจกรรมอย่างการแข่งขันกีฬา งานบันเทิง งานอบรมสัมมนา การแสดงสินค้า เป็นต้น 

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเรื่องมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. มาตรการดูแลและเยียวยา “แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบ ประกันสังคม” ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ประกอบด้วย 8 มาตรการ

1.1 ชดเชยรายได้แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้รับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ เป้าหมายรวมทั้งสิ้น 3 ล้านคน โดยสนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่ เม.ย. - มิ.ย. 2563 ผ่านการลงทะเบียนแสดงความจำนงตรวจสอบคุณสมบัติและการโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น พร้อมเพย์ตามเลขบัตรประจำตัวประชาชน โอนเข้าบัญชีธนาคาร กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

วิธีการขอรับความช่วยเหลือจะเป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด กลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดประกอบกิจการที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสเช่น สนามมวย สนามกีฬา ผับ สถานบันเทิง โรงมหรสพ นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส สถานบริการอื่นๆ เป็นต้น หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ทั้งนี้ ไม่รวมผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจาก สำนักงานประกันสังคม ไม่รวมข้าราชการและข้าราชการบำนาญ และไม่รวมเกษตรกร (กลุ่มเกษตรกรได้รับความ ช่วยเหลืออื่น ๆ จากรัฐบาลอยู่แล้ว)

1.2 โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและ สหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท) วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธ.ค. 63 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชน

1.3 โครงการสินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม เพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่มีรายได้ประจำ ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

1.4 โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อม ธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในนามของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) โดยคิด ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.10 ต่อปี และ สธค. คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.125 ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี

1.5 มาตรการเสริมความรู้ พิจารณาดำเนินการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ เสริมอาชีพ เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 หรือผู้ที่สนใจ พร้อมทั้งจัดทำกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR)

1.6 มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เลื่อนชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ส.ค. 2563 เพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น

1.7 มาตรการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จากเดิมจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับการหัก ลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไป เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นและมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพลดลง และรัฐสามารถ นำรายจ่ายด้านสาธารณสุขที่ลดลงจากการทำประกันสุขภาพของประชาชนไปช่วยเหลือประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งในด้านสาธารณสุขและด้านอื่นๆ ได้มากขึ้น

1.8 มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากร ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับ (1) ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยจากโควิด-19 (2) ค่าตอบแทนบุคคลที่มิใช่ข้าราชการหรือข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษี 2563 เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ไม่มีภาระภาษีสำหรับค่าตอบแทนพิเศษจากการปฏิบัติงานดังกล่าวและมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น

2. มาตรการดูแลและเยียวยา “ผู้ประกอบการ” ประกอบด้วย 7 มาตรการ

2.1 โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของไวรัส COVID-19 บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร โดยธนาคาร พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินต่อ รายไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 สำหรับ 2 ปีแรก ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี รับคำขอสินเชื่อถึง วันที่ 30 ธันวาคม 2563 เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่ เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า)

2.2 มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล เลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้ นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

  • รอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 (ภ.ง.ด. 50) สำหรับกรณีที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่ วันที่ 1 เม.ย. 2563 ถึงวันที่ 30 ส.ค. 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 ส.ค. 2563
  • รอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 (ภ.ง.ด. 51) สำหรับกรณีที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่ วันที่ 1 ก.ค. 2563 ถึงวันที่ 29 ก.ย. 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 ก.ย. 2563 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากการเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด. 50 ประมาณ 120,000 ล้านบาท และจาก การเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด. 51 ประมาณ 30,000 ล้านบาท

2.3 เลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการนำส่งและชำระภาษี เลื่อนเวลา ยื่นแบบแสดงรายการนำส่งและชำระภาษีทุกประเภทที่กรมสรรพากรจัดเก็บ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แก่ (1) ผู้ประกอบการที่ต้องปิดสถานประกอบการตามคำสั่งของทางราชการ เช่น กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น (2) ผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เฉพาะที่มีเหตุอันสมควรให้เลื่อนเวลาออกไป โดยกระทรวงการคลังจะพิจารณา เป็นรายกรณีเพื่อลดภาระในการจัดทำเอกสารและเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

2.4 มาตรการขยายเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน กรมสรรพสามิตให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากเดิมยื่นขอชำระภาษีภายใน 10 วันเป็นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรมหรือคลังสินค้าทัณฑ์บน โดยให้ดำเนินการเป็นระยะเวลา 3 เดือน (เม.ย. – มิ.ย. 2563) เพื่อบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้เสียภาษีที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

2.5 ขยายเวลายื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของการประกอบ กิจการสถานบริการที่จัดเป็นบริการตามบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต กรมสรรพสามิตขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของการ ประกอบกิจการสถานบริการ ได้แก่ ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ รวมถึงสถานที่ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 น. และสถานอาบน้ำหรืออบตัว และนวด ตลอดจนกิจการเสี่ยงโชคประเภทสนามแข่งม้า และสนามกอล์ฟ ให้ยื่นแบบรายการและชำระภาษีภายในวันที่ 15 ก.ค. 2563 เพื่อบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้ประกอบกิจการ

2.6 ยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโควิด-19 ยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัยหรือป้องกันโรค ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามรายการที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด ตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงการคลังมีผลบังคับใช้ จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2563 เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงการรักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโควิด-19 มากขึ้น

2.7 มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

  • ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้สำหรับ เงินได้ที่ได้จากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้
  • ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้จากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือ การให้บริการ และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
  • ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้จากการโอนอสังหาริมทรัพย์ ที่จำนองเป็นประกันหนี้ของเจ้าหนี้ให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ ดังกล่าว โดยลูกหนี้ต้องนำเงินนั้นไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระหรือมีภาระผูกพันตาม สัญญาประกันหนี้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดี
  • ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้สำหรับหนี้ที่เจ้าหนี้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ปกติ ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนและการจำนอง อสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดินและห้องชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สำหรับกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามกรณีที่กำหนด ซึ่งกรมที่ดินจะดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าว ร้อยละ 0.01 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564

การดำเนินการข้างต้นเป็นการขยายหลักเกณฑ์จากมาตรการภาษีอากรและค่าธรรมเนียมภายใต้มาตรการ ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 เพื่อให้ครอบคลุมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่นซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นและสามารถฟื้นฟูฐานะและกิจการ แล้วประกอบอาชีพและธุรกิจต่อไปได้ และเจ้าหนี้และระบบสถาบันการเงินในภาพรวมมีต้นทุนลดลงและสามารถให้ สินเชื่อแก่ประชาชนและธุรกิจต่าง ๆ เพิ่มเติมได้

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท