ใครรับผิดชอบ? โควิด-19 แพร่ระบาดใหญ่และรวดเร็วจากสนามมวยลุมพินี

ปฎิเสธไม่ได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนหลักมาจากการจุดแพร่กระจายเชื้อในการแข่งขันชกมวยที่สนามมวยลุมพินีเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ซึ่งปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อที่เข้าชมมวยในวันนั้นไม่น้อยกว่า 84 ราย ขณะที่การกีฬาแห่งประเทศไทยเผยทำหนังสือขอความร่วมมือเลื่อนการแข่งขันออกไป แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนอง ส่วนผู้มีอำนาจใช้มาตรการสั่งปิดสถานประกอบการที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด หลังเกิดการแพร่ระบาดแล้ว คำถามสำคัญคือ ใครกันที่ต้องรับผิดชอบกับเรื่องดังกล่าว

การแข่งขันชกมวยที่สนามมวยลุมพินีเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ภาพจาก อินสตราแกรม lumpineeboxingst

จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในวันที่ 24 มี.ค. 2563 คือ 106 ราย รวมจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 827 ราย ในจำนวนนี้รักษาหายแล้ว 57 ราย เสียชีวิตแล้ว 4 ราย อย่างไรก็ตามในระยะเริ่มแรกของการระบาดที่มีผู้ติดเชื้อสะสมประมาณ 30-40 ราย และเสียชีวิต 1 รายนั้น สถานการณ์การระบาดในไทยยังถือว่านิ่งอยู่หลายสัปดาห์ จนกระทั่ง มีการแพร่กระจายเชื้อครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่สนามมวยลุมพินี ซึ่งมีการจัดแข่งขันชกมวย รายการลุมพินีแชมป์เปี้ยนเกียรติเพชร โดยมีผู้เข้าชมการชกมวยรายหนึ่งได้รับเชื้อจากคนในครอบครัวซึ่งเดินทางกลับจากประเทศอิตาลี 

ทั้งนี้ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นผู้ที่เข้าไปรับชมการชกมวยที่สนามมวยลุมพินี เมื่อวันที่ 22 มี.ค. มีตัวเลขอยู่ที่ 84 ราย ทั้งยังพบการระบาดเพิ่มเติ่มจากผู้ที่ติดเชื้อจากสนามมวยซึ่งได้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ตามภูมิลำเนาอีก แพร่เชื้อให้คนในจังหวัดต่างๆ การแพร่กระจายเกิดขึ้นเป็นวงกว้างจากกรุงเทพไปอย่างน้อย 16 จังหวัด คือ นนทบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ลพบุรี สุโขทัย นครสวรรค์ นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช พัทลุง

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ เเพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้ตั้งข้อสังเกตในเฟสบุ๊คระบุว่า การแพร่ระบาดที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นคงจะไม่เกิดขึ้น หากมีการปิดสนามมวยซึ่งเป็นสถานที่ที่คนมารวมตัวเป็นจำนวนมากและมีสภาพเเวดล้อมที่แอดอัด และหากกลุ่มคนที่เข้าชมการชกมวยในวันนั้นใช้มาตรการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน เพราะเชื้อที่มีการแพร่ระบาดนั้นเป็นเชื้อที่มาจากประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นเชื้อที่มีการเพิ่มจำนวนในปอดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เเพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้จำนวนมาก 

การกีฬาแห่งประเทศไทยทำหนังสือขอความร่วมมือนายสนามมวยลุมพินี งดจัดการแข่งขัน แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง 

ทั้งนี้ได้มีการเผยแพร่ เอกสารของ สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง นายสนามมวยลุมพินี ที่ ฝอม 5110.3/ว 202  เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2563 ลงชื่อโดย นายวิบูณ จำปาเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย มีใจความว่า 

“ด้วย มติการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2563 ในวาระสำคัญถึงมาตรการการป้องกันไวรัส โควิด-19 นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในมาตรการระยะเร่งด่วนสำหรับการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 “มาตรการป้องกันโรคและสุขภาพ” ข้อ1.14 ให่ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐ ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการเอกชนให้หลีกเลี่ยง หรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก และอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยไม่จำเป็นเช่น การแข่งขันกีฬา การจัดคอนเสิร์ต และการจัดมหรสพ เว้นแต่ เป็นกิจกรรมที่เป็นการดำเนินการของสถานประกอบการค้าตามปกติ ให้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง และป้องกันตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่เป็นกิจกรรที่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาความเหมาะสมของกิจกรรมอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อสาธารณชนโดยรวมต่อการแพร่ระบาดของโรคเป็นสำคัญ 

สำนักคณะกรรมการกีฬามวย จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการสนามมวย นายสนามมวย ในความดูแลของท่าน เพื่อพิจารณาให้ความร่วมมือตามข้อสั่งการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และหวังเป็นอย่างยิ่งคงได้รับความร่วมมือด้วยดีเช่นเคย และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา และถือปฎิบัติตามข้อสั่งการต่อไป”

กระนั้นก็ตามเมื่อวันที่ 5 มี.ค.พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ในฐานะนายสนามมวยเวทีลุมพินี มอบให้ พ.อ.มงคล บุตรดาวงษ์ หัวหน้าฝ่ายธุรการสนามมวยเวทีลุมพินี นำเจ้าหน้าที่ทีมรักษาความสะอาดเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. ฉีดพ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อพื้นที่ภายในและภายนอกสนามมวยเวทีลุมพินี เพื่อเป็นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด -19 และเรียกความเชื่อมั่นให้กับแฟนมวย ณ สนามมวยเวทีลุมพินี โดยยืนยันว่าจะไม่เลื่อนการแข่งขันออกไป แต่จะมีมาตรการป้องกัน ตรวจอุณหภูมิ แฟนมวยก่อนเข้าสนาม พร้อมรณณรงค์ให้ใส่หน้ากากป้องกันไวรัส

ซึ่งการจัดการแข่งขันยังเกิดขึ้นในวันที่ 6 มี.ค. จนนำไปสู่การแพร่ระบาดตามที่เป็นข่าว สำหรับสนามมวยลุมพินีนั้นก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2499 ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของกรมสวัสดิการทหารบก/กองทัพบก ตั้งอยู่ในพื้นที่ของศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก ถนนรามอินทรา แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน โดยมีพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานอำนวยการสนามมวย 

นายกเทศมนตรีกรุงโซลฟ้องผู้นำลัทธิ ชินชอนจิ ฐานฝืนมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ

สำหรับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในต่างประเทศที่เกิดจากการรวมตัวทำกิจกรรมร่วมกันของคนจำนวนมากอย่างในประเทศเกาลีใต้ ที่มีจุดเริ่มต้นของการระบาดมาจาก รวมตัวประกอบพิธีทางความเชื่อของลัทธิ “ชินชอนจี” เกิดจากหญิงวัย 61 ปี ซึ่งมีอาการป่วยได้เข้าไปร่วมพิธีกรรมในโบสถ์พร้อมสมาชิกคนอื่น จนทำให้เกิดการระบาดอย่างหนัก โดยหญิงคนดังกล่าวปฏิเสธการเดินทางไปยังต่างประเทศ ก่อนที่จะยอมรับในภายหลังว่าเดินทางไปยังเมืองอู่ฮั่นเมื่อปลายเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา

ต่อกรณีดังกล่าว ปาร์ค วอน-ซุน นายกเทศมนตรีกรุงโซล ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการกรุงโซล ให้จับกุมนายลี มาน ฮี วัย 88 ปี ผู้ก่อตั้งโบสถ์ชินชอนจี รวมถึงสมาชิกอีก 11 คน ในข้อหาฆาตกรรม, ทำให้ผู้อื่นเจ็บป่วย และฝ่าฝืนมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ โดยพยายามปกปิดรายชื่อของสมาชิกลัทธิ ซึ่งขัดต่อมาตรการของกรมควบคุมและป้องกันโรค ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่พยายามตามหาตัวผู้ป่วย

กรณีสนามมวยลุมพินี ยังคลุมเครือว่าใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ

สำหรับกรณีของประเทศไทยนั้น ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 หมวด 6 เรื่องการป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ มาตรา 34 (6) บัญญัติไว้ว่า 

มาตรา 34 เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ เมื่อเกิดโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาด หรือมีเหตุสงสัยว่าได้เกิดโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาดในพื้นที่ใด ให้เจ้าหนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่นั้นมีอำนาจที่จะเดินการเองหรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ใดดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(6) ห้ามผู้ใดกระทำการหรือดำเนินการใด  ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป 

มาตรา 35 ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ของ โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบ ของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีอำนาจในพื้นที่ความรับผิดชอบ ของตน ดังต่อไปนี้  

(1) สั่งปิดตลาด สถานที่ประกอบหรือจำหน่ายอาหาร สถานที่ผลิตหรือ จำหน่ายเครื่องดื่ม โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่ อื่นใดไว้เป็นการชั่วคราว  

(2)สั่งให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือ โรคระบาดหยุดการประกอบอาชีพเป็นการชั่วคราว

(3) สั่งห้ามผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือ โรคระบาดเข้าไปในสถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

ขณะที่มาตรา 51 บัญญัติว่า ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุม โรคติดต่อตามมาตรา 34 (1) (2) (5) หรือ (6) มาตรา 39 (1) (2) (3) หรือ (5) มาตรา 40 (5) หรือไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามมาตรา 39 (4) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

ส่วนมาตรา 52 บัญญัติว่า ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุม โรคติดต่อตามมาตรา 34 (3) (4) (7) หรือ (8) หรือมาตรา 40 (3) หรือ (4) หรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามมาตรา 35 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2563 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID -19) เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย ลงนามโดย อุนทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 

อย่างไรก็ตามยังไม่แน่ชัดว่า คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ ได้อาศัยอำนาจสั่งการ ตามมาตรา 34(6) กับกรณีการจัดการแข่งขันชกมวยที่สนามมวยลุมพินี ก่อนวันที่ 6 มี.ค. หรือไม่

พบเพียงการอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 (1) แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ออกประกาศกรุงเทพมหานคร สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. -31 มี.ค. 2563 ซึ่งประกอบด้วย 8 ประเภทสถานประกอบการคือ 1.สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด 2.สถานบริการอบไอน้ำ อบสมุนไพร 3.โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ โรงละคร 4.สถานที่ออกกำลังกาย 5.สถานบริการและสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ 6.สนามมวย 7.สนามกีฬา และ 8.สนามม้า

จากนั้นคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานครได้มีมติเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ให้ปิดสถานที่ต่าง ๆ เพิ่มเติมจากที่ประกาศปิดไปแล้วส่วนหนึ่ง รวมแล้วมีสถานประกอบการทั้งหมด 26 ประเภทที่ต้องปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. - 12 เม.ย.

กระนั้นก็ตามทั้งการประกาศมาตรการทั้งสองครั้งของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานครเป็นมาตรการที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดการระบาดจากเวทีมวยลุมพินี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท