Skip to main content
sharethis

วิกฤตโควิด-19 กำลังเข้าหัวเลี้ยวหัวต่อ "เราจะตายกันหมด" ไหม เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งไม่หยุด ตัวเลขวันพฤหัสบดีพุ่งไป 2 เท่า ทั้งจากเวทีมวย สถานบันเทิง คนกลับจากต่างประเทศ คนที่สัมผัส ฯลฯ แพร่กระจายไปหลายจังหวัด ทำให้หวาดวิตกว่าจะ "เอาไม่อยู่"

เราควร "ปิดประเทศ" ไหม ปิดให้เรียบเหมือนจีน อิตาลี ฝรั่งเศส มาเลเซีย ให้ประชาชนทุกคนอยู่ในบ้าน ออกไปได้เฉพาะซื้อยาซื้ออาหาร?

ตลกร้ายคือ คนไทยก็ยังเห็นต่าง 2 ขั้ว พวกที่เคยชัตดาวน์กรุงเทพฯ เมื่อ 6 ปีก่อน วันนี้กลับสนับสนุนมาตรการของรัฐบาล ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องปิดเมือง ทั้งที่อีกใจก็หวาดกลัว เพราะส่วนหนึ่งเป็นผู้สูงวัย ซึ่งเสี่ยงอันตราย แต่ทำไงได้ ลุงกำนันขอร้องให้หันหน้าเข้าพึ่งธรรมะ อย่าซ้ำเติมรัฐบาล เดี๋ยวเรือแป๊ะจะพลิกคว่ำ ต้องกัดฟันหนุนกันไป

ขณะที่คนส่วนใหญ่ แม้ยังลังเลว่าปิดดีไหม ก็ไม่ค่อยเชื่อมาตรการรัฐบาล เพราะความเชื่อมั่น "รัฐล้มเหลว" เหลือน้อยเต็มที แม้อาจจะยังเชื่อหมอ เชื่อระบบสาธารณสุข แต่ไม่เชื่ออำนาจที่บริหารจัดการ

จะให้เชื่อได้อย่างไร เมื่อ "จังหวัดภูมิใจไทย" ชิงปิดเมืองหนีก่อนรัฐบาล ประกาศลั่น GU ต้องรอด (อ้าว งั้นจังหวัดอื่นก็ไม่รอดสิ)

ประชาชนต้องการคำอธิบายที่ชัดเจน จากแพทย์ จากผู้เชี่ยวชาญ ว่าโควิด-19 ระบาดถึงขั้นไหน แต่กลับได้ฟัง "ศรีธนญชัย" บอกยังอยู่ในขั้น 2 ตามนิยามแบบไทยๆ ซึ่งถ้าใครสงสัย คงต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

เพลียกว่านั้น ประชาชนอุตส่าห์รอฟังผู้นำแถลง แต่กลับได้เห็น "ตาลอย ผอมโกรก" ออกมาพูดไม่มีน้ำหนัก นี่ว่าตาม ดี้ นิติพงษ์ นะครับ

ไม่ได้พูดเกินเลย ว่าวันนี้คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นมาตรการรัฐบาล ไม่ใช่คนที่ต่อต้าน หรืออยู่ฝ่ายตรงข้าม ส้มเน่า ควายแดง ทำนองนั้น

ต้องทำความเข้าใจว่า ประการแรก คนไทยแม้ติดประมาท แต่ถึงจุดหนึ่งก็ตื่นกลัว เมื่อเห็นข่าวคนป่วยคนตายทั่วโลก จากจีนลามยุโรป อิตาลี สเปน ฯลฯ ใครบ้างไม่วิตกอกสั่น อยากเห็นมาตรการที่แข็งขันด้วยกันทั้งนั้น

ข้อสอง คนไทยไม่เชื่อระบบราชการ ไม่เชื่อประสิทธิภาพ ว่าจะปฏิบัติได้จริง ปกติเช้าชามเย็นชาม ทำงานเอาหน้า พอถูกกวดขันก็บ้าจี้ล้นเกินเป็นพักๆ บ้าอำนาจ แล้วเดี๋ยวก็กลับไปหย่อนยาน

ข้อสาม คนไทยยี้นักการเมือง มีแนวโน้มจะเชื่อเรื่องฉ้อฉล ไม่เชื่อความสามารถรัฐมนตรีที่จัดสรรเก้าอี้ตามโควตา

ข้อสี่ จึงค่อยมาทะเลาะกันทางการเมือง ว่ารักลุงหรือเบื่อตู่ ซึ่งพูดกันตรงๆ ฝ่ายหลังก็เยอะกว่า

อย่าหาว่าอคติ นี่คือการเปรียบเทียบต้นทุน ที่มีผลต่อความเชื่อถือ ความไว้วางใจ โดยแต่ละข้อยังเกี่ยวเนื่องกัน เช่น แกนนำรัฐบาลคือทหาร ที่ทำงานตามระบบราชการ 5 ปี คสช. ก็ส่งเสริมรัฐราชการเป็นใหญ่ ซ้ำร้าย นักการเมืองที่ชาวบ้านยี้ ท่านก็ไปกวาดต้อนมา

อะไรคือปัญหาของระบบราชการ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ชี้ว่า ราชการไทยทุกยุคสมัย กลัวเสียหน้า กลัวประชาชนแตกตื่น พอมีปัญหาก็จะควบคุมข่าวสารอย่างเข้มงวด เน้นแถลงข่าวดี ชะลอหรืองดข่าวร้าย ย้ำลอยๆ ว่าขอให้ประชาชนมั่นใจ อย่าแตกตื่น สามัคคีกัน

แต่ปัจจุบัน รัฐไม่ได้ผูกขาดข้อมูลข่าวสารอีกแล้ว ประชาชนเข้าถึงเร็วกว่า ลึกกว่า รัฐตามไม่ทัน พอรัฐให้ข่าวล่าช้า หรือปกปิด ประชาชนก็ไม่เชื่อถือ

เกษียร เตชะพีระ ก็ชี้ว่า แบบแผนการตัดสินใจในภาวะฉุกเฉินของรัฐบาลนี้คือ ลังเล ไม่ประกาศอะไรให้ชัดเจน พูดคลุมเครือ แบ่งรับแบ่งสู้ แล้วแต่หน่วยราชการไหนหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดเข้าถึงและกดดันหนัก ก็จะเอนเอียงคล้อยตามไปทางนั้น ซึ่งก็จะส่งผลให้โดนสาธารณชนด่าหนัก สุดท้ายรัฐบาลค่อยออกมาพูดชัดว่าเอาอย่างไร ซึ่งก็ช้าเกินการณ์ไปแล้ว เป็นอย่างนี้เสมอ "ไม่มีความเป็นผู้นำ ขี้ขลาด กลัว ไม่กล้ารับผิดชอบ"

เหล่านี้คือสิ่งที่สะท้อนออกมาในการทำงาน จนทำให้รัฐบาลล้มละลายทางความเชื่อถือ และไม่ว่าจะตัดสินใจทำอย่างไรต่อไป ก็ล้มละลายทางความเชื่อถืออยู่ดี

พูดอย่างให้ความเห็นใจ การตัดสินใจ "ปิดประเทศ" หรือไม่ปิด เป็น dilemma ที่โคตรยาก หากปิดสนิท ห้ามออกจากบ้าน สิ่งที่จะตามมาคือปัญหาปากท้อง อย่างสาหัสสากรรจ์ เพราะคนไทยจำนวนมากหาเช้ากินค่ำ ไม่สามารถบอกให้ทำงานอยู่บ้านโดยใช้เน็ต

ตรงกันข้าม ถ้าตัวเลขผู้ป่วยยังพุ่งเป็นกราฟแนวชันอย่างนี้ อีกไม่กี่วัน ก็คือความฉิบหายนั่นเอง ถ้ารอกระทั่งพบผู้ป่วยเพิ่มวันละเป็นร้อย แล้วค่อยปิดประเทศ ก็จะสายเกินการณ์ จะไม่มีทางเอาอยู่ ถึงตอนนั้นผู้ป่วยจะล้น ระบบสาธารณสุขรับมือไม่ไหว ไม่ต้องพูดถึงว่ารัฐบาลจะถูกก่นด่าเพียงไร

จะตัดสินใจทางไหน เมื่อไหร่ ก็ลำบากทั้งสิ้น และด้วยต้นทุนอย่างนี้ มีแต่เจ๊ากับเจ๊ง ไม่มีกำไร พ้นช่วงนี้เมื่อไหร่ ก็ไปไม่รอดอยู่ดี

 

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/hot-topics/news_3784901

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net