Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางสถานการณ์ของภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่กลายเป็นข้อจำกัดและข้ออ้างเพื่อไม่ให้นักศึกษาออกมาชุมนุมแสดงออกทางการเมือง แต่กระแสการเติบโตของคนรุ่นใหม่ที่พยายามปลดแอกตัวเองจากการควบคุมของคนที่ครองอำนาจและฝากเอาผลพวงของการแย่งชิงอำนาจและสงครามไว้ให้เป็นภาระของคนรุ่นต่อไปนั้นกำลังแพร่สะพัดและกระจายไปทั่วโลก โดยในบาร์เซโลนา ณ แคว้นกาตาลุญญา เองก็เช่นกัน คนรุ่นใหม่มากมายออกมาเข้าร่วมกับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชที่ไม่ใช่แค่การดำเนินการทุกอย่างตามลำพัง เพราะนอกจากการศึกษาเรื่องราวการต่อสู้ของขบวนการอื่นๆ ในโลกนี้ผ่านหน้าข่าวและอินเทอร์เน็ตแล้ว แคว้นกาตาลุญญายังจัดการประชุมแลกเปลี่ยนให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสศึกษาและแลกเปลี่ยนกับขบวนการอื่นๆ ในโลกด้วย

ข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ของผู้ประท้วงชาวฮ่องกง

ผู้เขียนได้พบกิจกรรมในเฟสบุ๊ค เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา จึงตัดสินใจจะเข้าร่วมแม้ว่าจะต้องเสียเงินลงทะเบียน 4 ยูโร ก็ตาม เมื่อถึงสถานที่จัดงานที่มันไม่ใช่แค่ห้องประชุม สตูดิโอ หรือ การจัดงานขององค์กรเอ็นจีโออย่างที่เราคิดหรือมักเห็นกัน หากแต่มันคือการจัดงานในนามแคว้น ที่ Centre de Cultura Contemporania de Barcelona (CCCB) หรือศูนย์วัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งบาร์เซโลนา โดยมีแขกรับเชิญในงานนี้คือ Jason Y. Ng (เจสัน วาย เอ็นจี) นักกฎหมาย นักข่าว และนักกิจกรรมชาวฮ่องกง

ระหว่างงานเริ่มสังเกตได้ว่าผู้ที่รออยู่ด้านนอกล้วนเป็นผู้สูงอายุด้วยกันทั้งนั้น ทำให้เริ่มคิดว่า "หรือนี่จะเป็นงานที่จัดเพื่อผู้สูงอายุกันแน่" ทันทีที่เดินเข้าไปในหอประชุม คนยังไม่เต็มเท่าไร ส่วนมากที่จับจองที่นั่งด้านหลังเป็นวัยนักศึกษา จึงเลือกนั่งตรงกลางเพื่อให้เห็นความเป็นไปของทุกๆ อย่างง่ายขึ้น มีการไล่คนให้ขึ้นไปนั่งข้างหน้าเหมือนในการประชุมที่ประเทศไทย

เมื่อ เจสัน ตัวแทนจากฮ่องกงขึ้นเวที เสียงหายใจของผู้คนในห้องก็ชัดเจนขึ้น พวกเขาตั้งใจฟังและรอจนกระทั่งชายที่อยู่บนเวทีเริ่มต้นพูดขึ้น ผู้ดำเนินรายการพูดเปิดงานเป็นภาษากาตาลัน ซึ่งงานนี้จะนำเสนอเป็นภาษากาตาลันและอังกฤษ ไม่มีภาษาสเปน ทำให้คนกาตาลันที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษต้องมีชุดหูฟังล่ามแปลสดตลอดการบรรยาย

“เราอยู่กับคำโกหกของรัฐบาลจีนมา 40 ปี เขาบอกว่าเราจะสามารถกำหนดชะตากรรมของตัวเองได้ จะสามารถเลือกผู้นำของตัวเองได้ แต่พอเข้าสู่ปี 2557 จริงๆ เรื่องที่พวกเราหวังมาตลอดกลับกลายเป็นแค่คำโกหก” เจสัน เริ่มเล่าถึงสาเหตุแห่งการลุกฮือของประชาชนชาวฮ่องกง

พร้อมกล่าวต่อว่า “คนรุ่นใหม่ของเราถูกปลุกขึ้นมาให้สนใจการเมืองมากขึ้น คนเริ่มตระหนักว่ามันต้องมีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ไม่ใช่แค่ใช้ชีวิตเพื่อซื้อของกินของใช้ไปวันๆ เพราะอย่างไรเงินที่ได้มามันก็ไม่พอยาไส้อยู่แล้ว สิ่งที่จีนทำคือการค่อยๆ ต้มกบ ถ้าเราเอากบใส่ในหม้อที่มีน้ำในอุณหภูมิปกติ กบจะไม่รู้ว่ามันกำลังถูกต้ม มันจะไม่ไปไหน ไม่หนี มันจะว่ายน้ำอย่างมีความสุข จนน้ำในหม้อค่อยๆ ร้อนขึ้นมันก็ตายแล้ว ฮ่องกงเป็นกบตัวนั้นที่กำลังถูกต้ม เราไม่อยากถูกต้มจนตาย เราจึงต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง”

ภาพเจสันที่ CCCB ใช้โปรโมท

“บางทีมันก็ช่างเป็นเรื่องที่น่าเศร้าเมื่อวันนี้เราพบว่าคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง วัยรุ่น นักเรียน นักศึกษาในฮ่องกงไม่ได้พูดเรื่องอนาคต ไม่ได้คุยเรื่องหนังที่จะดู ไม่ได้ไปเล่นดนตรีหรือหมกมุ่นกับซีรีส์ตามวัยของเขา แต่สิ่งที่พวกเขาทำคือการหาข้อมูลว่าคุกไหนดี คุกไหนอาหารอร่อย คุกไหนมีที่นอนที่ดี คุกไหนร้อนหรือหนาว พวกเขาเตรียมตัวเพื่อวันหนึ่งจะต้องไปติดคุกเพราะการออกมาชุมนุม พวกเขาแชร์ข้อมูลกันว่าจะไปซื้อหน้ากากกันแก๊สน้ำตาได้ที่ไหนบ้าง นี่คือเรื่องที่เราชื่นชมความกล้าหาญของพวกเขาแต่อีกทางหนึ่งมันก็น่าเศร้ามาก เวลาที่เพื่อนๆ ของเราติดคุก เราต้องไปเยี่ยมพวกเขา พวกเขาดูมีสุขภาพดี แต่มันก็ยังน่าเศร้าอยู่ดีที่เราต้องเห็นเพื่อนเราอยู่ในคุก แม้แต่คนที่อ่านเรื่องราวจากข่าวก็หดหู่ทุกวัน แต่เราต้องยืนยันสิ่งที่เรากำลังทำ กำลังเรียกร้องอยู่” นักกิจกรรมชาวฮ่องกงกล่าว

ในขณะที่คนรุ่นใหม่ในฮ่องกงต้องถูกจับติดคุกกันจนเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับสภาพ แต่ในจำนวนของนักโทษการเมืองกาตาลุญญายังไม่มีคนรุ่นใหม่ที่ต้องโทษจำคุกจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองเลย

นูรียา สาวน้อยวัย 16 ปี ที่เข้าร่วมขบวนประท้วงเพื่อเอกราชกาตาลัน

ผู้เขียนย้อนกลับไปคิดถึงการพูดคุยกับ Nuria Copez หรือ นูรียา สาวน้อยวัย 16 ปี ที่เข้าร่วมขบวนประท้วงเพื่อเอกราชกาตาลันตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ตอนนั้นเราถามเธอว่ารู้สึกอย่างไรที่รู้ว่าศาลตัดสินลงโทษจำคุกนักโทษการเมืองชาวกาตาลันคนละหลายปี ซึ่งเธอก็ตอบว่า “ตอนที่พวกเรารู้ พวกเราช็อกมาก เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้รับคำตัดสินให้พวกเขาต้องติดคุกหลายปีแบบนี้ คำตอบของผู้คนมีแค่ต้องออกไปที่ถนน และบอกให้โลกรู้ถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น การเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “Tsunmi Democratic” จึงได้เกิดขึ้น มันเป็นการรวบรวมผู้คนเพื่อยึดครองพื้นที่ไว้และกำหนดการเคลื่อนไหวในแต่ละวันต่อไป”

“ทำไมถึงต้องเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ทั้งๆ ที่สิ่งที่พวกคุณต้องการคือเอกราชไม่ใช่หรือ” ผู้เขียนถามต่อไปเพราะครั้งนี้หมายจะคุยกับเธอให้ลึกขึ้น เธอตอบกลับมาด้วยแววตาที่หรี่ลงเล็กน้อยพร้อมกับคิ้วเล็กๆ ที่ขมวดกันว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือการเรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษการเมือง ถ้าเราไม่ทำเรื่องนี้เราจะไม่สามารถไปถึงการเรียกร้องเอกราชได้เลย และการสู้เพื่อปลดปล่อยนักโทษการเมืองคือสิทธิ์ที่เราสมควรต่อสู้เพื่อให้ได้มา ก่อนที่จะเรียกร้องเอกราช รัฐบาลสเปนพูดเสมอว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ดูสิ สิ่งที่พวกเขาทำกับเรานั้นตรงกันข้าม เราแค่ต้องการเจรจาเท่านั้น”

ภาพขณะเจสันบรรยาย

หลังจากการบรรยายไปสักระยะ ผู้ดำเนินรายการก็ได้เริ่มให้คนในหอประชุมตั้งคำถามต่อวิทยากร มีหลายคนยกมือขึ้นถาม การส่งไมค์เป็นไปตามลำดับใกล้ไกลของที่นั่ง คำถามแรกจากหญิงสาวชาวอังกฤษที่มาใช้ชีวิตอยู่ที่บาร์เซโลน่าและสนใจการเมืองของที่นี่และที่ฮ่องกง เธอเล่าคร่าวๆ ว่าเธออยู่ที่ฮ่องกงในเวลาที่มีการปราบปรามผู้ชุมนุมเมื่อกลางปี 2562 โดยที่คำถามของเธอถือเป็นคำถามเปิดที่มีค่ามากสำหรับการบรรยายครั้งนี้ “อะไรที่ทำให้การชุมนุมในฮ่องกงยืนหยัดมาได้หลายปีแบบนี้”

เจสัน ตอบว่า อย่างแรกที่พวกตนต้องมี คือ จุดมุ่งหมายร่วมกัน พวกตนต้องการอำนาจในการปกครองตนเอง และหลังจากเหตุการณ์เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว มีการปราบปรามผู้ชุมนุม มีคนกว่า 7,000 คนถูกจับเข้าคุก พวกตนได้เสนอข้อเรียกร้องที่ชัดเจน 5 ข้อต่อรัฐบาล คือ ให้ถอดถอนการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศจีน, ไม่ให้มีการแจ้งข้อหาต่อผู้ชุมนุม, เลิกเรียกพวกเราว่าผู้ก่อการจราจล, ตั้งกรรมการอิสระตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจว่าทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ และ สุดท้ายที่จะไม่ลืมเลยก็คือการเรียกร้องให้เริ่มกระบวนการปฏิรูปการเลือกตั้ง เพื่อให้ฮ่องกงได้กำหนดอนาคตตนเอง จะเห็นได้ว่าพวกตนไม่ทิ้งเป้าหมายสูงสุดของพวกตนไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้าอย่างไร

"มือหนึ่งเรารับมือกับสถานการณ์ตรงหน้า อีกมือหนึ่งเราต้องพยายามคว้าเป้าหมายของเราไว้ แม้เราจะรู้ดีว่าเราไม่มีทางได้รับมันจากรัฐบาลจีนก็ตาม และที่สำคัญที่สุดเราต้องมีระบบเก็บข้อมูลของเหยื่อที่เป็นจริงและทันท่วงที เราต้องมีระบบการบันทึกว่าเกิดอะไรขึ้นกับประชาชนชาวฮ่องกงบ้าง” เจสัน กล่าว

ไร้เสียงปรบมือแทรกกลางระหว่างการส่งไมค์ไปที่ผู้เข้าร่วมรับฟังคนต่อไป คำถามที่สองเกิดขึ้นจากชายสูงอายุคนหนึ่งที่พยายามจะใช้ภาษาอังกฤษขออภัยต่อวิทยากรว่าเพราะเขาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ขอใช้ภาษากาตาลันในการสื่อสารแทน แน่นอนว่ามีล่ามแปลเป็นภาษาอังกฤษให้วิทยากรฟัง คำถามของเขาดูเหมือนจะต่อยอดมาจากคำตอบของผู้บรรยายเมื่อสักครู่ว่า “ในการต่อสู้ของชาวฮ่องกง นอกจากการออกมาเดินขบวนประท้วงแล้ว พวกคุณทำอะไรเพื่อเป็นการสั่นสะเทือนอำนาจของรัฐบาลจีนบ้าง อย่างไร?”

เจสัน ตอบว่า โดยภาพรวมนั้นคือทำการรณรงค์ให้แบนธุรกิจและสินค้าที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลจีนอย่างจริงจัง ถ้าใครสักคนในโลกโซเชียลถ่ายรูปคู่กับแก้วสตาร์บัคส์ เขาจะโดนถล่มทันที นี่คือสิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรก ต่อมาคือหาคนช่วย เพราะถ้านับกันหมัดต่อหมัดแล้วพวกตนสู้เขาไม่ได้อยู่แล้ว จึงต้องนำเรื่องนี้ไปหาคนช่วย คนที่ทำได้ก็พากันออกไปหาการสนับสนุนจากนานาชาติ ต้องบอกให้คนทั้งโลกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับฮ่องกง และต้องใช้ทีมค้นคว้าและวางแผนการสื่อสารที่สวยงาม สร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน ต้องใช้เทคโนโลยี ใช้สื่อ ใช้โซเชียลให้เป็นประโยชน์ สร้างภาพที่สื่อความหมายทำให้ทั้งคนภายนอกและคนในประเทศเข้าใจได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ไม่ต้องใช้ภาษาหรือคำพูดมาก ใช้รูป ใช้วิดีโอ สื่อสารไปเลย ทำให้การเล่าเรื่องเป็นเรื่องเข้าใจง่ายและรวดเร็ว เพราะผู้คนมองหาเรื่องราวเสมอ พวกตนก็แค่เล่าเรื่องออกไป

คำถามต่อมาจากชายท่าทางคล้ายนักศึกษาที่นั่งข้างๆ กันนี่เอง เขาถามเรื่องวิธีการสื่อสารของผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงผ่านแอพพลิเคชันที่ต่างๆ ในขณะที่ถูกบล็อกการติดต่อสื่อสารและถูกแทรกแซงจากทีมงานของรัฐบาล ทั้งกระบวนการก่อนและหลังการชุมนุม ทำไมผู้ชุมนุมถึงรู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อไปและทำอย่างไรมันจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกันได้

เจสัน อธิบายว่า ความโชคดีของพวกตนคือมีอาสาสมัครที่นั่งคิดและสร้างแอพพลิเคชันสำหรับการสื่อสารกันในทุกๆ วัน เมื่อรัฐบาลจีนปิดแอพหนึ่งเราก็ใช้อีกแอพหนึ่ง พวกตนก็มีช่องทางการติดต่อสำรองหลายทางเพื่อให้ไม่ขาดออกจากกัน อย่างที่เคยกล่าวไว้คือพวกตนจะต้องเก็บข้อมูลด้วยว่าเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นการสื่อสารจึงต้องมีช่องทางที่มากที่สุดและปลอดภัยที่สุด พวกตนมีกรุ๊ปที่ใช้พูดคุยและประเมินสถานการณ์ต่างๆ ร่วมกัน แบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน พวกตนรีวิวกันในกรุ๊ปว่าวันนี้เป็นอย่างไร ทดสอบว่ามันใช้ได้ผลไหม ใช้การสื่อสารแบบไหนถึงจะดี หรือปฏิบัติการไหนจะต้องปรับปรุงแก้ไข แน่นอนว่าระบบมันไม่เคยสมบูรณ์ในช่วงเวลาสู้รบอยู่แล้ว ต้องปรับปรุงมันไปเรื่อยๆ

จากนั้นคำถามของผู้เขียนก็ได้ถูกถามขึ้นว่า “ทำอย่างไรเหยื่อของความรุนแรงในฮ่องกงจึงกล้าเปิดเผยตัวเองต่อสื่อ เพราะบางคนหลังจากเจอกับเหตุการณ์ความรุนแรงแล้วพวกเขาเลือกที่จะเงียบ พวกคุณให้กำลังใจเหยื่ออย่างไรในการก้าวออกมาเป็นตัวแทนเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น”

นักกิจกรรมชาวฮ่องกง ตอบว่า ไม่ใช่ทุกคนที่มีความกล้าหาญ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่หวาดกลัว พวกตนรวบรวมคนที่พร้อมจะเปิดเผย คนที่ตัดสินใจจะต่อสู้มาเป็นตัวแทนในการเล่าเรื่องต่างๆ ผ่านภาพถ่ายหรือการให้สัมภาษณ์ แต่บางคนก็ไม่กล้า ที่คุณเห็นว่ามีคนมากมายกล้าที่จะออกมาเปิดเผย แต่ตนอยากบอกว่ามันเป็นเพราะเหยื่อมีมากกว่านั้น และส่วนใหญ่ไม่กล้าเปิดเผย พวกเขาเป็นห่วงครอบครัวและคนรอบข้าง บางครั้ง พวกตนก็ให้คนนอกเป็นคนเล่า บางครั้งก็อาศัยปากคนอื่นเล่าเรื่องราว ใครที่พร้อมก็เล่าไปก่อน อย่างตน หรือบางคนที่ไม่มีห่วงแล้ว แล้วค่อยดูว่าคนที่ยังไม่กล้าเขามีความกล้ามากขึ้นไหมที่จะเล่า ใครกล้าก็เล่าไปก่อน คนที่ยังก็รอได้

“เราควรจะทิ้งสันติวิธีไหม คุณเคยคิดไหมว่าถ้าเราใช้การต่อสู้ด้วยอาวุธอาจจะชนะได้” คำถามของผู้หญิงที่นั่งอยู่ด้านหลังทำเอาบรรยากาศตึงเครียดขึ้นมาเล็กน้อย

“เราต้องคงคอนเซปต์ สันติวิธีไว้ บางคนบอกเราว่าเราควรจะละทิ้งสันติวิธี ควรจะทำให้มันรุนแรงไปเลย แต่เมื่อปี 2014 เราเรียนรู้ว่าเราจะไม่ต้องทำไปซะทุกอย่าง ไม่ต้องจับอาวุธ ไม่ต้องใช้ความรุนแรง เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรเหมือนกัน เราทุกคนทำงานร่วมกันได้ตามความถนัด มีทีมที่เกิดขึ้นมาเพื่อปกป้องผู้ชุมนุม ฝึกซ้อมหาข้อมูลการรับมือกับความรุนแรงจากรัฐในรูปแบบต่างๆ มีคนใช้ศิลปะในการต่อสู้ มีคนใช้เรื่องราว มีคนใช้แฟชั่น แล้วเราก็ให้คนเลือกว่าเขาชอบแบบไหน มันมีทางอื่นมากมายกว่าการใช้ความรุนแรง ทำไมต้องมีสงครามเดียวล่ะ เราสร้างสงครามเพิ่มสิ เราผุดการก่อกวนต่างๆ เพิ่มสิ วันนี้บอกว่าจะมีที่นี่ แต่มีอีกสามที่เพิ่มขึ้นมาสิ สร้างความปวดหัวให้มันเพิ่มขึ้นไปสิ” เจสัน ตอบ

ชายชราอีกคนขึ้นถามว่าสหรัฐอเมริกาสนับสนุนและอยู่เบื้องหลังขบวนการเคลื่อนไหวของฮ่องกงหรือไม่และการเจรจาจะเป็นไปอย่างไร “เพราะพวกเราเองก็ถูกกล่าวหาว่ามีอเมริกาอยู่เบื้องหลังเหมือนกัน” เขาพูดติดตลกก่อนจบคำถาม

“เราเข้าใจนะ สำหรับคนที่จะคิดแบบนี้ และตอนนี้ฮ่องกงทำเท่าที่ทำได้ ใครที่ช่วยเราได้เรารับทุกความช่วยเหลือ แต่สำหรับการเจรจา มันจะไม่มีการยกให้คนใดคนหนึ่ง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตัดสินใจเด็ดขาด จะต้องมีกระบวนการทางประชาธิปไตยที่แท้จริงและแน่นอนว่าเราจะต้องจัดลำดับความสำคัญของฝ่ายที่มีอำนาจตัดสินใจ แต่ไม่ว่าอย่างไรตอนนี้รัฐบาลจีนก็ไม่ได้อยากจะคุยอยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงยังไม่ได้คิดเรื่องนี้”

ภาพคนรุ่นใหม่ของกาตาลันมักจะเป็นแนวหน้าปิดถนน 

ส่วนคำถามถัดมากลับย้อนกลับมาที่เรื่องใกล้ตัวจากนักศึกษาชาวกาตาลันคนหนึ่ง “คุณจัดการกับปัญหาความขัดแย้งทางความคิดในครอบครัวอย่างไร”

“พวกเรามีทฤษฎีในการแบ่งเฉดสีต่างๆ ของความคิดเห็นทางการเมืองของผู้คนในฮ่องกง และคุณรู้ไหมว่ากลุ่มคนที่เราต้องทำงานด้วยมากที่สุดกลับเป็นกลุ่มคนที่เราทำงานด้วยยากที่สุดเช่นกัน คนในครอบครัวนี่แหละที่เป็นส่วนที่ยากที่สุด แต่เราต้องเริ่มจากตรงนั้น ผมรู้ว่ามันยากนะ และยากเสมอ พวกเราเองก็พยายามอยู่” เสียงหัวเราะครืนใหญ่เกิดขึ้นในหอประชุม ปิดคำถามสุดท้ายของค่ำนี้ ก่อนจากเจสัน ยังทิ้งท้ายความเป็นไปได้หนึ่งอย่างไว้ให้ได้เห็นเงารางของการแลกเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต “ถ้าคนจากแคว้นกาตาลุญญาเดินทางไปเที่ยวฮ่องกง ผมรับรองว่าพวกคุณจะป๊อบปูล่ามากๆ เพราะสถานการณ์ของเราคล้ายกัน เด็กวัยรุ่นจะเข้ามาพูดคุยกับคุณมากมาย เพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ ตอนนี้ตั๋วถูกมากเพราะสถานการณ์ภายในของเราหนักหนา นี่จะเป็นโอกาสดีที่เราจะได้รู้จักกันมากขึ้น”

นูรียาสาวน้อยของเราไม่ได้มาเข้าร่วมการบรรยายครั้งนี้ สิ่งที่เธอทำได้คือการสะท้อนถึงความคิดเห็นของวัยรุ่นกาตาลันต่อสถานการณ์โลกทุกวันนี้

“บางทีอาจจะเพราะว่าเราอยากจะฟังว่าเกิดอะไรขึ้น ได้คิดร่วมกัน ได้รับฟังกันและกัน และเพราะว่าสเปนไม่เคยเล่าเรื่องของพวกเราให้ใครฟัง เราแค่ต้องการให้สหภาพยุโรปฟังเราบ้าง” นูรียา ตอบคำถามว่าทำไมเธอต้องออกไปร่วมทุกม๊อบ ทุกการชุมนุมเมื่อมีโอกาส              

ผู้เขียนจึงถามเธอต่อไปว่าการเรียกร้องเอกราชในลักษณะนี้เพียงพอหรือเปล่า มีกลุ่มไหนที่ต้องการใช้ความรุนแรงเพื่อเอกราชบ้างไหม

“ตอนนี้มันไม่ใช่ปัญหาหรอก ความรุนแรงก็มีบางคนพยายามสร้างขึ้นแต่คนส่วนใหญ่ไม่เลือกทางนั้น เรามีผู้คนมากมายที่พร้อมจะฟังและพร้อมที่จะเคลื่อนไหวเพื่อกาตาลุญญา ปัญหาคือ รัฐบาลสเปนไม่เคยสนใจเสียงของพวกเราเลยต่างหาก พวกเราเป็นแค่ชุมชนนิรนามที่สร้างรายได้มากมายให้กับประเทศ พวกเขาไม่เคยฟังเรา และนี่คือเหตุผลที่การเคลื่อนไหวไม่เคยได้ผลเลย”

และเมื่อผู้เขียนถามเธอเพิ่มเติมว่าเธอเห็นตัวเองอย่างไรกับอนาคตของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชนี้ ได้คำตอบจากนูรียา คือ "ไม่เห็นตัวเองเพียงแค่เฉพาะตัวฉันเองหรอก ฉันโชคดีที่ไม่เคยเจอกับความรุนแรงจากตำรวจ ฉันเพียงแค่ติดตามข่าวในทุกๆ วัน ผ่านทีวี ผ่านโซเชียลมีเดีย แต่เรารู้ว่าข่าวจากสเปนนั้นมีแต่เรื่องโกหก เขาแค่นำเสนอด้านเล็กๆ ของความรุนแรงเท่านั้น และนำเสนอแค่ด้านที่ผู้ชุมนุมต่อสู้กับตำรวจ พวกเขาไม่เคยบอกเล่าเรื่องรัฐชาติกาตาลัน (Catalan nation) พวกเขาไม่เคยเล่าว่าผู้คนกาตาลันต้องเจอกับความรุนแรงใดบ้าง”

และคิดว่าจะก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำขบวนการไหมในอนาคต? นูรียาตอบยืนยันอย่างแข็งขันพร้อมรอยยิ้มเล็กๆ บนริมฝีปากว่า ตนจะยังสู้ต่อแน่ๆ เพื่อคนรุ่นต่อไปของกาตาลุญญา เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของคนรุ่นหลัง

เธอคิดว่าอีกนานแค่ไหนกว่าจะได้รับเอกราช “น่าเสียดายที่ไม่มีใครรู้ว่ามันจะนานแค่ไหน การเรียกร้องเอกราชถึงจะเป็นไปได้จริงๆ ฉันรู้แค่ว่ามันคงจะนานมากทีเดียวเหมือนกับไวรัสตอนนี้ พวกเราน่าจะเป็นไวรัสที่ยังอยู่อีกนาน” นูรียาตอบคำถามสุดท้ายของเธอ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net