Skip to main content
sharethis

'ไอลอว์' รวมมาตรการปล่อยนักโทษลดความแออัดรับมือโควิด-19 ในต่างประเทศ ได้แก่ ที่อิหร่าน ปล่อยผู้ต้องขังชั่วคราว 85,000 ราย คดีความมั่นคง รัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลียเล็งปล่อยผู้ต้องขังที่ได้รับการประเมินว่าความเสี่ยงต่ำราว 14,000 โดยคุมขังในบ้านหรือสวมกำไลข้อเท้าติดตามตัว มลรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกาจะปล่อยผู้ต้องขังราว 1,000 ในคดีไม่ร้ายแรง

25 มี.ค. 2563 วันนี้ เฟสบุ๊คแฟนเพจไอลอว์รวมมาตรการปล่อยนักโทษลดความแออัดรับมือโควิด-19 ในต่างประเทศ โดยระบุว่า การอยู่รวมตัวกันอย่างแออัดใกล้ชิด เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไวรัสโควิดแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ หรือสนามกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรือนจำ เป็นพื้นที่ปิดที่มีคนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก จึงเป็นสถานที่ที่เอื้อต่อการแพร่เชื้อไปสู่คนหมู่มาก อย่างไรก็ตามห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ และสนามกีฬา ต่างเป็นสถานที่ที่การรวมตัวเกิดขึ้นในระยะเวลาที่จำกัด ต่างจากเรือนจำที่ผู้ถูกคุมขังจะต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมง

หากไวรัสโควิด-19 เริ่มการติดต่อกันในเรือนจำ สถานที่ที่ไม่สามารถแยก "กักตัว" หรือปฏิบัติการตามนโยบาย Social Distancing ได้ และโอกาสการเข้าถึงระบบสาธารณสุขก็จำกัด อาจจะเกิดปรากฏการณ์การระบาดของโรคที่อันตรายอย่างมาก

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไวรัสโควิด19 กำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว รัฐบาลบางประเทศได้ตัดสินใจปล่อยผู้ต้องขังในเรือนจำบางส่วนเพื่อลดความแออัดในพื้นที่อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่มีผลต่อการแพร่กระจายของไวรัส ซึ่งจากการสำรวจมีอย่างน้อยสามประเทศที่เริ่มใช้หรือพิจารณาบังคับใช้มาตรการนี้แล้ว ได้แก่ ที่อิหร่าน ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา

 

อิหร่านปล่อยผู้ต้องขังแล้ว 85,000 ราย

ฟ็อกส์นิวส์รายงานเมื่อวันที่ 17 มีนาคมว่า ทางการอิหร่านได้ปล่อยผู้ต้องขังจำนวน 85,000 คน เพื่อลดความแออัดในเรือนจำ โดยครึ่งหนึ่งของผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยเป็นผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ทั้งนี้การปล่อยตัวดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว ผู้ต้องขังเหล่านั้นจะต้องกลับมารับโทษต่อ แต่ทางการอิหร่านยังไม่ได้ประกาศกำหนดเวลาดังกล่าวออกมา

แม้จะมีการปล่อยตัวผู้ต้องขังบางส่วนแล้วแต่สภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวก็ยังคงมีความน่ากังวล ฟ็อกซ์นิวอ้างถ้อยคำของนักโทษรายหนึ่งซึ่งได้รับผ่านทาง the National Council of Resistance of Iran ซึ่งเป็นองค์กรการเมืองฝ่ายซ้ายที่มีที่ทำการในประเทศฝรั่งเศสว่า

"สถานการณ์ในนี้ (เรือนจำอีวินในกรุงเตหะราน) แย่มาก พวกเราป่วยกันหมด พวกเราไอแห้งและมีไข้ ในนี้ไม่มีอุปกรณ์ทดสอบหาไวรัส พวกเราทำได้แค่แย่งกันไปรับการรักษาในคลินิค" "เมื่อไปถึงที่นั่นยามก็จะบอกว่าไม่มีหมอ ให้กลับไปยังห้องขังเสีย ไม่อย่างงั้นก็จะต้องใช้กำลัง และบางครั้งถึงแม้พวกเราจะได้เจอหมอแต่สิ่งที่พวกเขาทำก็เป็นแค่การส่องเครื่องวัดไข้ใส่เราเท่านั้น"

 

รัฐนิวเซาท์เวลส์ ของออสเตรเลียพิจารณาให้อำนาจอธิบดีเรือนจำปล่อยผู้ต้องขัง

ที่ประเทศออสเตรเลีย สำนักข่าว ABC รายงานเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ว่า ผู้ต้องขังในเรือนจำของรัฐนิวเซาท์เวลส์ประมาณ 14,000 คน อาจได้รับการปล่อยตัว โดยอธิบดีที่รับผิดชอบระบบเรือนจำของรัฐจะมีอำนาจพิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องขังบางส่วนภายใต้ทัณฑ์บน โดยผู้ต้องขังที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับทัณฑ์บนในสถานการณ์พิเศษนี้จะต้องได้รับการประเมินว่า มีความเสี่ยงต่ำ และจะต้องปฏิบัติตามทัณฑ์บนอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการคุมขังในบ้าน หรือสวมกำไลข้อเท้าติดตามตัว เป็นต้น

อัยการสูงสุด Mark Speakman ซึ่งเป็นผู้เสนอมาตรการพิเศษนี้ต่อสภาแห่งรัฐเมื่อวันที่ 24 มีนาคมระบุว่า มาตรการที่ยืดหยุ่นนี้จะทำให้อธิบดีผู้รับผิดชอบเรือนจำสามารถรักษาสุขภาวะที่ดีของทั้งผู้ต้องขังและผู้คุมที่ปฏิบัติหน้าที่ในเรือนจำ

สำนักข่าว ABC รายงานเพิ่มเติมว่า ผู้ต้องขังที่จะได้รับการพิจารณาปล่อยตัวตามทัณฑ์บน คือ ผู้ต้องขังสูงอายุหรือบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว โดยฐานความผิดและระยะเวลาต้องโทษที่เหลือก็จะถูกนำมาพิจารณาด้วย ขณะที่ผู้ต้องโทษในความผิดฐานฆาตกรรม ก่อการร้าย หรือการล่วงละเมิดทางเพศอย่างรุนแรงจะไม่ได้รับการพิจารณาปล่อยตัว รวมถึงผู้ที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต

แม้จะมีอำนาจพิเศษ แต่อธิบดีผู้รับผิดชอบเรือนจำก็จะต้องประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อความปลอดภัยของชุมชนที่ผู้ต้องขังจะกลับไปอยู่และต้องตรวจสอบด้วยว่า ผู้ต้องขังคนดังกล่าวเคยมีประวัติหรือมีความผิดฐานก่อความรุนแรงในครอบครัวด้วยหรือไม่

ขณะที่ Andrew Christopoulos ประธานของ The Australian Lawyer Alliance ซึ่งเป็นองค์กรทนายความก็ตอบรับข้อเสนอนี้ด้วยความยินดี

"ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในเรือนจำเป็นเรื่องร้ายแรงมาก" "มันอาจเป็นหายนะของสิทธิมนุษยชนในออสเตรเลีย รัฐบาลควรต้องตอบสนองความเสี่ยงนี้อย่างทันท่วงที"

 

มลรัฐนิวเจอร์ซีย์เตรียมปล่อยผู้ต้องขังราว 1,000 คน

ที่สหรัฐอเมริกา The New York Times รายงานเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ว่า มลรัฐนิวเจอร์ซีย์จะปล่อยผู้ต้องขังราว 1,000 คนจากเรือนจำ โดย Stuart Rabner ผู้พิพากษาศาลสูงประจำมลรัฐอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังที่กำลังรับโทษบางประเภทในเรือนจำระดับท้องถิ่น (county) เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ไวรัสกำลังระบาดในเรือนจำทั่วประเทศ

ผู้มีสิทธิได้รับการปล่อยตัวตามคำสั่งนี้ได้แก่ผู้ที่ถูกพิพากษาจำคุกโดยศาลแขวง หรือถูกพิพากษาจำคุกในคดีที่ไม่ร้ายแรงโดยศาลที่สูงกว่าศาลแขวง ทั้งนี้ผู้ต้องขังบางส่วนได้รับการปล่อยตัวตั้งแต่วันอังคารที่ 24 มีนาคม แล้ว ผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวก็จะต้องกักตัวเอง 14 วันเพื่อดูอาการของโรคด้วย

ขณะที่ในมลรัฐนิวยอร์ค ซึ่งมีการยืนยันในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (เสาร์อาทิย์ที่ 21 - 22 มีนาคม 2563) ว่า มีผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ของเรือนจำติดเชื้อแล้ว 36 ราย ปล่อยตัวผู้ต้องขังไปแล้วประมาณ 20 คน

ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า ประธานาธิบดี Trump ก็กำลังพิจารณาที่จะใช้อำนาจออกคำสั่งฝ่ายบริหารให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังชราหรือกระทำความผิดที่ไม่มีความรุนแรงและกำลังรับโทษอยู่ในเรือนจำของรัฐบาลกลางด้วยเช่นกัน

 

สถิติบางประการเกี่ยวกับผู้ต้องขังในไทยและความน่ากังวลด้านสาธารณสุขในเรือนจำ

สำหรับกรณีของประเทศไทย ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ระบุว่า ทั่วประเทศมีผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งสิ้น 377,834 ราย เป็นชาย 329,850 ราย หญิง 47,984 ราย นักโทษเด็ดขาดชายที่คดีถึงที่สุดแล้ว 270,515 ราย หญิง 40,022 ราย เป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์ ฎีกา เป็นชาย 26,538 ราย หญิง 3,634 ราย และประเภทอื่นๆ เช่น ผู้ต้องกักกัน และผู้ต้องขังระหว่างการไต่สวน และสอบสวน เป็นชาย 3,2797 ราย หญิง 4,319 ราย ขณะที่ตัวเลขของผู้ต้องขังในกรุงเทพมหานครอยู่ที่ 37,158 ราย

ในส่วนของรายงานความแออัดของเรือนจำซึ่งทางราชทัณฑ์ทำการสำรวจเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพซึ่งเป็นเรือนจำชายที่รับควบคุมผู้ต้องขังชายที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีหรือคดีที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 15 ปี มีจำนวนผู้ต้องขัง 4,192 ราย ความจุเต็มที่เดิม 4,518 ราย ความจุเต็มที่ใหม่ (เพิ่ม 30%) 5,874 ราย รองรับเพิ่มได้ 1,682 ราย

ส่วนที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางซึ่งใช้คุมขังผู้ต้องขังคดียาเสพย์ติดที่รับผู้ต้องขังโทษจำคุกสูงสุดถึงตลอดชีวิต มีจำนวนผู้ต้องขัง 8,411 ราย ความจุเต็มที่เดิม 4,678 ราย ความจุเต็มที่ใหม่ (เพิ่ม 30%) 6,082 ราย จำนวนผู้ต้องขังเกิน 2,329 ราย หรือคิดเป็น 38.29 %

ในวันที่ 25 มีนาคม 2563 โพสต์ทูเดย์รายงานว่า พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวภายหลังศูนย์แถลงข่าวโควิดแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล แถลงข่าวว่า พบผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 ราย ว่า กรมราชทัณฑ์ยังไม่มีรายงานผู้ต้องขัง ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แต่จะเร่งตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียด เบื้องต้นยังไม่ปรากฏข้อมูลชัดเจนว่า เป็นผู้ต้องขังในการควบคุมของหน่วยใด อยู่ในการควบคุมตัวของตำรวจหรือเรือนจำ

ขณะที่ นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคก็ระบุว่า ยังไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลรายบุคคลเกี่ยวกับผู้ต้องขังที่ติดเชื้อว่า เป็นผู้ต้องคุมขังในสถานที่ใด แต่ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยกรมควบคุมโรคร่วมกับกรมราชทัณฑ์วางมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด ทุกเรือนจำประกาศปิดงดเยี่ยมญาติ กรณีผู้ต้องขังเข้าใหม่ ผู้ต้องขังย้ายเรือนจำต้องคัดกรอง รายใดพบว่ามีไข้หรือมีความเสี่ยงจะใช้พื้นที่แยก เพื่อป้องกันการติดต่อไปยังผู้ต้องขังรายอื่นๆ

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ หรือ "ไผ่" นักกิจกรรมทางสังคมจากกลุ่มเพื่อนประชาชนและอดีตคณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เคยรับโทษจำคุกที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็นเวลาห้าเดือน 15 วันตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 จนถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2561 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกยึดสถานีโทรทัศน์ NBT (ช่อง 11) เมื่อปี 2551 เคยให้สัมภาษณ์กับทางไอลอว์ไว้ว่า

ในแต่ละวันผู้ต้องขังจะใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมงอยู่บนเรือนนอนของแต่ละแดน เรือนนอนแดนแปดที่เขารับโทษอยู่ มีลักษณะเป็นตึกสี่เหลี่ยมสูงสี่ชั้น ชั้นล่างเป็นโถงว่างๆ ใช้ทำกิจกรรม ชั้นสองจะเป็นล็อกเกอร์ที่ผู้ต้องขังใช้เก็บของใช้ประจำตัว ส่วนชั้นสามและชั้นสี่จะเป็นห้องขัง แต่ละชั้นจะมี 16 ห้อง

ด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่ ผู้ต้องขังจะต้องนอนเรียงหันหัวชนกำแพงห้องตามยาวฝั่งละประมาณ 12 - 14 คน และมีอีกประมาณสี่ถึงห้าคนนอนเรียงแถวยาวอยู่ตรงกลาง จากสภาพที่นิติรัตน์เล่ามาจะเห็นได้ว่าหากมีผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโควิดก็มีความเสี่ยงที่จะแพร่ระบาดได้ง่ายเพราะผู้ต้องขังต้องนอนใกล้กันเป็นเวลาหลายชั่วโมงทุกๆคืน

ขณะที่การเข้าถึงการรักษาพยาบาลแม้ในยามปกติที่ไม่มีภาวะโรคระบาดก็เข้าถึงยาก นิติรัฐเล่าว่า ระบบการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพจะมีสถานพยาบาลอยู่สองแบบ หนึ่ง คือ สถานพยาบาลซึ่งตั้งอยู่ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และอีกอันหนึ่ง คือ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งอยู่นอกเรือนจำพิเศษกรุงเทพ แต่อยู่ในบริเวณรั้วใหญ่ของกลุ่มเรือนจำคลองเปรมด้วยกัน

หากผู้ต้องขังต้องการไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ผู้ต้องขังจะต้องแจ้งชื่อและอาการป่วยของตัวเองกับผู้ช่วยผู้คุม ซึ่งเป็นนักโทษด้วยกัน หลังจากนั้นผู้ช่วยผู้คุมจะนำเรื่องไปให้ผู้คุมพิจารณา เมื่อผู้คุมพิจารณาแล้ว ผู้ต้องขังที่ยื่นเรื่องก็จะได้ไปพบพยาบาลที่สถานพยาบาล

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยทั่วไปจะออกไปสถานพยาบาลได้เฉพาะวันธรรมดาเท่านั้น วันหยุดเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการอื่นๆ จะไม่สามารถออกไปได้ เว้นแต่เป็นกรณีป่วยฉุกเฉินที่ผู้คุมจะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจนำตัวออกไป เท่ากับว่า หากผู้ต้องขังที่ไม่ได้มีอาการเข้าขั้นวิกฤตจะเข้าถึงการรักษาพยาบาลในวันหยุดได้ลำบาก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net