ไปต่ออย่างไร? มองการเคลื่อนไหวทางการเมืองในภาวะวิกฤติโควิด ไทย-ต่างประเทศ

กระแสการชุมนุมทางการเมือง ‘แฟลชม็อบ’ ในประเทศไทยเพื่อต่อต้านรัฐบาล และผลักดันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังเข้มข้น ขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาวิกฤติในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การรวมตัวต้องหยุดชะงัก ขบวนการเคลื่อนไหวจะปรับตัวอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ ชวนคุยกับ ‘จันจิรา’ นักวิชาการรัฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเคลื่อนไหวทั่วโลก และประธาน สนท. ที่ยอมรับว่าไวรัสโควิดทำกระแสการชุมนุม ‘หดหาย’

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ก่อนหน้านี้การชุมนุม “แฟลชม็อบ” ของนักศึกษาและประชาชนเพื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มขยายวงกว้างไปยังหลายพื้นที่ในประเทศไทย ทว่าการจัดกิจกรรมรูปแบบดังกล่าว ก็เริ่มหายไป นับว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส ไวรัสโควิด-19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่เพียงแต่ประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากเป็นปัญหาที่ทั่วโลกต้องเผชิญ ในหลายประเทศที่กำลังมีการเคลื่อนไหว ได้เริ่มปรับเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปแบบที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 มากขึ้น เห็นได้จากในประเทศสเปน ประชาชนหลายพันคน ได้แสดงออกทางการเมืองภายใต้มาตรการปิดเมืองจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการ “ตีหม้อและกระทะ” จากบริเวณระเบียงห้องพัก ด้วยการชักชวนกันทางโซเชียล มีเดีย เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากสมเด็จพระราชาธิบดี เฟลิเป ที่ 6 แห่งสเปน ที่ตรัสกับประชาชนทั่วประเทศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ เรียกร้องให้ร่วมมือกันเอาชนะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่มีรายงานว่า พระบิดาของพระองค์ คือสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน คาร์ลอสที่ 1 ได้รับบริจาคเงินหลายล้านดอลลาร์จากซาอุดีอาระเบีย ประชาชนจึงต้องการเรียกร้องให้สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน คาร์ลอสที่ 1 บริจาคเงินให้ระบบสาธารณสุขที่กำลังดิ้นรนต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ในขณะนี้ (ที่มา : TNN, 19 มี.ค.63)

บทความเรื่อง “การเคลื่อนไหวเรื่องความเป็นธรรม และการขับเคลื่อนในสถานการณ์โคโรน่าไวรัสโดยปลอดภัย” ระบุถึงทางเลือกการขับเคลื่อนในแต่ละประเทศอย่างปลอดภัยในช่วงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในบทความนี้ยังพูดถึง 'CACEROLAZO' หรือ “การเคลื่อนไหวด้วยหม้อและกระทะ” ซึ่งเป็นรูปแบบการประท้วงที่ใช้หม้อ กระทะ หรือเครื่องครัวอื่นๆ มาตีให้เกิดเสียงดัง รูปแบบการประท้วงแบบตีหม้อนี้เคยพบมาก่อนหน้าแล้วในประเทศ ชิลี อาร์เจนตินา เวเนซุเอลา อุรุกวัย เอกวาดอร์ คิวบา เปรู บราซิล เปอร์โตริโก ตุรกี ควิเบก และทั่วละตินอเมริกา (อ้างถึงใน David Solnit, draft #3, March 11, 2020  ในบทความ Climate Justice Actions & Mobilizations; Plan Now to Adapt to Coronavirus Safety)

ในช่วงเวลาเช่นนี้ ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองจะเดินหน้าขับเคลื่อนในประเด็นของตัวเองอย่างไร? เป็นคำถามที่ท้าทายอย่างยิ่ง จึงชวนคุยกับแกนนำนักศึกษา และนักวิชาการรัฐศาสตร์ ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั่วโลก เพื่อสะท้อนถึงมุมมองต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในภาวะวิกฤติโรคระบาด

โรคระบาด ทำกระแสชุมนุม ‘แฟลชม็อบ’ หดหาย?

หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา เกิดกระแสการชุมนุมแฟลชม็อบของนักศึกษา เพียงไม่กี่สัปดาห์จากนั้น การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ลุกลามมากขึ้น การชุมนุมจึงหดหายลงไปโดยปริยาย จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่ง ประเทศไทย (สนท.) หนึ่งในแกนนำนักศึกษาที่ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง สะท้อนถึงผลกระทบว่า การระบาดของโรคที่หนักขึ้นทำให้ภาคการศึกษาเริ่มสั่งหยุดการเรียนการสอนภายมหาวิทยาลัย โดยจัดให้มีการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์แทน

จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธาน สนท.

จุฑาทิพย์ เล่าถึงสถานการณ์ของการปรับตัวในการขับเคลื่อนทางการเมืองว่า ตอนนี้ สนท. และเครือข่าย ได้เปลี่ยนมาเคลื่อนไหวในทางออนไลน์ โดยที่เนื้อหาของการขับเคลื่อนจะยังคงพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มากขึ้น ซึ่งเธอยอมรับว่าไม่เข้มข้นเหมือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากอุปสรรคในเรื่องการรวมตัว

“ในช่วงนี้แผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ยุติการเคลื่อนไหวแบบออฟไลน์ ในอนาคตถ้าสถานการณ์ดีขึ้นก็คงจะมีการนัดรวมตัวกันใหม่ เพราะว่าในระหว่างที่สถานการณ์มันแย่อยู่ เราต้องยุติไปก่อน มาทำงานเบื้องหลังมากขึ้น เตรียมการเบื้องหลัง และงานที่เป็นออนไลน์แทน การจัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นต้องใช้คนเยอะ ไม่ไปพื้นที่เสี่ยง” จุฑาทิพย์ กล่าว

การขับเคลื่อนที่พลิกวิกฤติ ‘ฉวยโอกาสเชิงโครงสร้าง’ สะท้อน ‘รัฐ’ จัดการปัญหาล้มเหลว

รศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และนักวิจัยประจำสถาบัน German Institute of Global and Area Studies (GIGA) และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการชุมนุม และการเคลื่อนไหวโดยสันติวิธี ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาการชุมนุม ‘แฟลชม็อบ’ ของนักศึกษาเป็นรูปแบบการชุมนุมที่มีการรวมตัวในที่สาธารณะ ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ลักษณะการรวมตัวในที่สาธารณะเป็นไปโดยยาก เนื่องจากจะทำให้ผู้ชุมนุมเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดมากขึ้น แต่ยังมีรูปแบบกิจกรรมอย่างอื่นที่ยังสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ในช่วงเวลาวิกฤติ เพื่อพยุงกระแสของการตื่นตัวของภาคประชาสังคม

จันจิรา สมบัติพูนศิริ (แฟ้มภาพ : ประชาไท)

จันจิรา ยกตัวอย่างของการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ และมีความร่วมสมัย อย่างกลุ่มนักศึกษาใน ‘ฮ่องกง’ ที่ออกมาแจกหน้ากากอนามัยให้กับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงหน้ากากอนามัยได้ โดยการระดมเงินซึ่งอาศัยเทคโนโลยี

“ขบวนการส่วนใหญ่คงเปลี่ยนรูปแบบมาที่ออนไลน์ เพียงแต่ในเวลานี้เราไม่แน่ใจว่ามีคนสนใจเรื่องอื่นนอกจากเรื่องโรคระบาดหรือไม่ การสื่อสารออนไลน์​ไม่ว่าคุณจะเป็นขบวนการประท้วงเรื่องไหนก็ตามจะต้องโยงมาเรื่องความสนใจเฉพาะหน้าของคนในสังคม”

จันจิรา กล่าวต่อว่า การเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ เป็นรูปแบบการประท้วงที่เราอาจไม่คุ้นเคย เพราะนัยยะของการประท้วงคือ การบอกว่าต่อต้านอะไร ไม่เอาอะไร การออกมาแสดงความรู้สึกคับข้องใจ ฯลฯ แต่ในสถานการณ์แบบนี้คนในสังคมอาจไม่ค่อยอยากได้ยินเรื่องที่เพิ่มความเครียดไปกว่าเดิม ขบวนการประท้วงที่ดีควรจะอาศัยจังหวะนี้ ในการเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมที่ทำให้คนรู้สึกว่าขบวนการประท้วงทำอะไรที่สร้างสรรค์ก็ได้ ช่วยเหลือคนก็ได้ เพราะฉะนั้น ฮ่องกงก็เป็นตัวอย่างที่ดี เป็นการปรับทิศทางให้เข้ากับบริบท

เธอกล่าวอีกว่า ในประวัติศาสตร์การชุมนุมในโลกก็มีการปรับเปลี่ยนทิศทางในลักษณะแบบนี้หลายครั้ง ยกตัวอย่าง เช่น ตอนที่เกิดวิกฤติพายุเฮอริเคนที่สหรัฐอเมริกา กลุ่มที่เคยทำกิจกรรมต่อต้านเกี่ยวกับความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ ได้จัดระดมเงิน และได้รับการร่วมมือขยายไปในระดับโลก โดยปรับทิศทางการประท้วงบนท้องถนน สู่การระดมเงินช่วยเหลือเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ซึ่งในประเทศไทยมีช่องทางในการทำกิจกรรมรูปแบบนี้เยอะ อาจจะเป็นรูปแบบที่ไม่ทำให้กระแสที่จุดติดแล้วมันคลายลงไป

จากตัวอย่างข้างต้นของ จันจิรา ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ก่อนหน้านี้ทั้งภาคประชาสังคม และนักศึกษาพยายามขับเคลื่อนประเด็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเนื้อหาหลักที่ใช้ในการเคลื่อนไหว จันจิรา มองว่า ขณะนี้เรื่องรัฐธรรมนูญ คนอาจจะไม่ได้สนใจเท่ากับเรื่องปากท้องความเป็นอยู่ โดยสิ่งสำคัญที่คนสนใจในเวลานี้มีอยู่ 2 มิติ คือ หนึ่งโรคระบาด สอง เรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจ

“ถามว่าการเชื่อมโยงเรื่องพวกนี้เข้ากับรัฐธรรมนูญเป็นยุทธวิธีที่ดีไหม เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าต้องเลือกให้น้ำหนักให้ถูก รัฐธรรมนูญสำคัญ แต่รู้สึกว่าการเน้นเรื่องรัฐธรรมนูญมากไปในช่วงเวลานี้ อาจทำให้คนรู้สึกไม่ค่อยอินกับการรณรงค์ ในด้านยุทธศาสตร์จะต้องให้น้ำหนักกับประเด็นเรื่องปากท้อง เรื่องการให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า เพื่อที่จะรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญในระยะยาว แต่ต้องพยุงกระแสในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนไหวในอนาคต” จันจิรา กล่าว

“โควิด-19 ไม่ใช่ปัญหาแค่โรคระบาด แต่สะท้อนปัญหาที่ลึกและใหญ่กว่าระบอบเศรษฐกิจในโลก ของการเมืองในแต่ละประเทศ เพราะฉะนั้น สถานการณ์แบบนี้ ในทางรัฐศาสตร์เราเรียกว่าเป็นจุดแตกหัก (Rupture) เป็นวิกฤติที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งสำคัญได้”

เธอขยายความว่า วิกฤติจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หรือเป็นจุดแตกหักทางการเมืองได้อย่างไรนั้น ต้องอาศัย ‘พลังคน’ ในการ ‘ฉวยโอกาสเชิงโครงสร้าง’ เพื่อสะท้อนว่าปัญหาเชิงโครงสร้างที่ประเทศเรามีอยู่คืออะไร ซึ่งไวรัสโควิด-19 สะท้อนปัญหาหลายเรื่องของรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะเป็น ธรรมาภิบาล การจัดการเชิงนโยบายสาธารณสุข สวัสดิการของสาธารณสุข งบประมาณของรัฐ การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่มากว่าตกลงแล้ว ระบอบที่เรามีอยู่มันตอบสนองกับปัญหาความเป็นความตายของคนได้มากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้น วิกฤตินี้ โดยตัวมันเองเป็นโอกาสที่ขบวนการขับเคลื่อนจะพูดถึงประเด็นที่ตัวเองสนใจได้มาก เพียงแต่ทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่าขบวนการเคลื่อนไหวมีส่วนร่วมกับปัญหาที่คนในสังคมสนใจ ไม่ใช่เพียงการพูดแต่เรื่องที่ตัวเองสนใจแล้วคิดว่าสำคัญเท่านั้น

จันจิรา กล่าวต่อว่า ขณะนี้เริ่มมีหลายขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในโลก เริ่มปรับเปลี่ยนทิศทาง ที่เห็นได้ชัด คือ สหรัฐอเมริกา ภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวในการต่อต้านประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ ก็เริ่มที่จะมีการพูดถึงวิธีการจัดการของ ทรัมป์ ต่อปัญหาไวรัสโควิด-19 ว่าสะท้อนปัญหาด้านการเมืองลึกๆ อย่างไร ถึงการที่รัฐไม่สนใจ ไม่ฟังเสียงประชาชน

เช่นเดียวกับ จุฑาทิพย์ แกนนำนักศึกษา ที่กล่าวว่า การบริหารจัดการของรัฐบาลที่ส่งผลกระทบกับคนทุกคน โดยเฉพาะคนที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยง แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ครอบคลุมการช่วยเหลือ ทางแกนนำนักศึกษากำลังระดมความคิดกันอยู่ว่าจะพูดคุยกับสังคมอย่างไรดี เพราะในขณะที่เราไปกังวลกับเรื่องการสนใจการเมือง แต่คนเขากังวลกับชีวิตโดยตรงมากกว่า เธอยังกล่าวว่า ขณะที่ผู้ติดเชื้อของไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ว่ามาตรการที่รัฐบาลออกมาและรับมือไม่ได้ เช่น การกักตัว การตรวจวัดไข้ และการตรวจหาเชื้อ รวมถึงประเด็นเรื่องหน้ากากอนามัยที่หายไป การทำงานที่ไม่โปร่งใส ค่ารักษาพยาบาลที่สูงมาก สิ่งที่ สนท. พยายามเคลื่อนไหวคือการรณรงค์ว่าทำอย่างไรให้คนมาสนใจเรื่องการเคลื่อนไหวที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยเน้นที่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็จะยกระดับการเคลื่อนไหวมากขึ้น

วิพากษ์รัฐบาล ไม่เหมาะสมในภาวะที่ไทยเผชิญวิกฤติ?

จันจิรามองว่า การวิพากษ์รัฐบาลสามารถทำได้ แต่จะทำอย่างไรให้ขบวนการเคลื่อนไหวเป็นศูนย์กลางของการสร้างสังคม เธอเสนอว่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐ ต้องทำให้คนรู้สึกว่า สังคมสามารถช่วยกันจัดการปัญหาด้วยตัวเองได้ ผู้คนช่วยเหลือกันได้ โดยทำให้เห็นว่า รัฐพึ่งพาไม่ได้ ขบวนการเคลื่อนไหวจะเป็นแนวหน้าของการจัดระบบในสังคม ที่จะฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ หมายความว่าในเชิงปฏิบัติจะต้องทำกิจกรรมทางการเมืองในรูปแบบที่เฉพาะ เช่น มีการจัดการความช่วยเหลือ ผู้สูงอายุที่ไม่มีคนดูแล  มีการจัดการให้ความช่วยเหลือผู้คนที่ประสบปัญหา ฯลฯ

“การช่วยเหลือมันเป็นการแสดงในตัวมันเอง ให้คนที่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลเห็นว่า รัฐบาลทำงานล้มเหลวขนาดไหน แล้วภาคประชาสังคมทำได้ดีกว่ารัฐบาลขนาดไหน เพราะฉะนั้น การลุกขึ้นมาพูดประเด็นทางการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเดียว แต่ว่าการกระทำสามารถเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ได้ในตัวมันเอง บางทีอาจสร้างสรรค์กว่าการออกมาวิพากษ์วิจารณ์เพียงอย่างเดียว” จันจิรา กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท