Skip to main content
sharethis

ที่มาภาพ : www.pixabay.com

  • ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติภายใต้ระบบทุนนิยมทำลายระบบนิเวศวิทยาและย้อนกลับมาสร้างผลกระทบต่อมนุษย์อย่างใหญ่หลวงดังเช่นการเกิดโรคระบาดโควิด-19
  • การจัดการโรคระบาดภายใต้ระบบสุขภาพที่ถูกแปรรูปกับอำนาจของผู้นำที่บูชาลัทธิทุนนิยมกำลังตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในการดูแลประชาชน ที่คนจนไม่ได้รับความยุติธรรม

จากการบุกรุกธรรมชาติ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ข้อมูล ณ วันที่ 25 มี.ค.นี้ จากเว็บไซต์ Worldmeter จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกอยู่ที่ 422,829 คน เสียชีวิต 18,907 คนและหายป่วย 109,102 คน  สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจาก The Standard จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมรวม 934 คน หายและกลับบ้านแล้ว 70 คน ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 860 คน เสียชีวิตสะสม 4 คน

ตามรายงานของ Louise Boyle ที่เผยแพร่ทาง The Independent เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา อ้างถึงความเป็นมาของนักนิเวศวิทยาทางทะเล ที่ชื่อ เอนริค ซาลา (Enric Sala) ซึ่งเขากล่าวอย่างมั่นใจว่า จะมีโรคระบาดเช่นนี้อีกในอนาคตหากเรายังคงทำลายธรรมชาติต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการทำลายป่าไม้ การจับสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือทำเป็นอาหารและทดลองยา ซึ่งคือ การที่เรายังคงเพิกเฉยต่อความเชื่อมโยงระหว่างโรคติดเชื้อกับการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่มาจากสัตว์สู่คน มาจากตลาดสดที่ขายอาหารทะเลและสัตว์ที่ยังมีชีวิตในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อเดือนธันวาคม 2562 แต่ยังไม่มีการยืนยันที่ชัดเจน นักวิจัยในจีนยังบอกว่าตัวนิ่มอาจสามารถเป็นแหล่งที่มาของเชื้อนี้ได้ ไม่ใช่แค่ค้างคาวหรืองูตามที่เราได้ยินจากสื่อต่างๆ

แม้จีนจะสั่งห้ามการบริโภคและทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ป่าและตลาดขายสัตว์ป่าไปแล้ว แต่สิ่งที่นักสิ่งแวดล้อมต้องการยกปัญหา คือ การทำลายระบบนิเวศวิทยาที่หลากหลายของมนุษย์นำเราไปสู่การสัมผัสสัตว์ป่ามากยิ่งกว่าแต่ก่อน

ในอดีตมีการระบาดของเชื้ออีโบล่าซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโรคติดเชื้อที่นำมาสู่การแพร่ระบาดทั่วโลก เพราะในระบบนิเวศวิทยาที่มีความหลากหลายของพันธุ์สัตว์ป่า พันธุ์พืช เชื้อรา และแบคทีเรียก็จะมีไวรัสสายพันธุ์เฉพาะอยู่ในนั้นด้วย แต่เมื่อเราทำลายป่าร้อนชื้นเพื่อสร้างหมู่บ้าน ทำเหมืองแร่ จับสัตว์ป่าเป็นอาหารก็เป็นการนำตัวเราเข้าใกล้ไวรัสเหล่านั้น เมื่อแหล่งของมันถูกทำลาย ไวรัสพันธุ์ต่างๆ จะกระจายและเข้าหาคน อันจะเป็นแหล่งที่อยู่ใหม่ของมัน

  ที่มาภาพ : www.pixabay.com

แซมมวล ไมเออร์ส (Samuel Myers) นักวิทยาศาสตร์จากภาควิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และผู้อำนวยการองค์กรพันธมิตรสาธารณสุขโลก หรือ พีเอชเอ (Planetary Health Alliance) ให้สัมภาษณ์กับ The Independent เช่นเดียวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ที่มนุษย์เขาไปบุกรุกที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านำไปสู่การที่มนุษย์สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ป่ายิ่งขึ้น และเกิดโรคติดเชื้อจากสัตว์ เช่น เชื้อเอชไอวี อีโบล่า เมอร์ส ซาร์ส ที่ผ่านมา จากนั้นเมื่อเชื้อไวรัสจากสัตว์เข้าสู่คน การระบาดก็ขึ้นอยู่กับระบบโลกาภิวัตน์และระบบนิเวศวิทยาของมนุษย์ เช่น การเดินทางโดยเครื่องบิน การเอาเปรียบธรรมชาติเพื่อประโยชน์ของมนุษย์ก็จะทำให้ตัวเองมีโอกาสติดเชื้อไวรัสต่างๆ ปัญหาโรคระบาดก็เช่นเดียวกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น และการต่อสู้แก้ไขปัญหา รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายเพื่อคุ้มครองปกป้องธรรมชาติ เช่น ห้ามค้า-กินสัตว์ป่า และเมื่อเราควบคุมโรคระบาดได้ สิ่งสำคัญที่จะต้องคิดต่อไปคือ จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก และจะทำอย่างไรให้ระบบนิเวศวิทยายั่งยืน เนื่องจากระบบนิเวศวิทยาที่สมบูรณ์ทำให้สุขภาพของมนุษย์แข็งแรง

การจัดการของรัฐทุนนิยมสู่วิกฤตสังคมที่คาดการณ์ได้

เมื่อโควิด-19 ถูกประกาศว่าเป็นโรคระบาด ผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะต้องร่วมมือกันเพื่อหยุดยั้งการระบาดอย่างรวดเร็ว  แต่สิ่งที่พบ คือ โรคระบาดสร้างผลกระทบทางสังคมการเมืองมากยิ่งขึ้น เช่นในอเมริกา จูดิธ บัตเลอร์ (Judith Butler) นักปรัชญาชาวอเมริกันกล่าวในบทความ Capitalism Has Its Limits 

จูดิธ บัตเลอร์ (Judith Butler) นักปรัชญาชาวอเมริกัน (ภาพจาก wikipedia.org)

การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างความตระหนักถึงระบบเชื่อมโยงกันของคนทั่วโลกอย่างมาก ความจำเป็นของมาตรการกักตัวเอง ทิ้งระยะห่างทางสังคมเพื่อสกัดการแพร่ระบาด ซึ่งเป็นแนวรัฐชาติ สิ่งที่ตามมาทำให้เราคิดถึงเรื่องความเท่าเทียม ความเชื่อมโยงกันของประชาคมโลกกับความรับผิดชอบซึ่งกันและกัน เพราะเชื้อไวรัสไม่มีการเลือกปฏิบัติ 

บัตเลอร์ มองว่า ตอนนี้เราได้เห็นแล้วว่า รัฐบางรัฐ เช่น สหรัฐอเมริกา ไม่สามารถเตรียมการล่วงหน้า เช่น ออกนโยบายต่างๆ การปิดชายแดน การเล็งเห็นถึงการฉวยโอกาส การเอาเปรียบของพวกผู้ประกอบการ สภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคมรวมถึงปัญหาลัทธิชาตินิยม การใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงและกลุ่มหลากหลายทางเพศและการขูดรีดแรงงาน ถูกตอกย้ำผลิตซ้ำ ซึ่งเราสามารถคาดการณ์ได้ 

ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ พยายามหาทางซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อสร้างคะแนนนิยม ที่จะทำให้เขาได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอีกสมัย เขาพยายามซื้อวัคซีนจากบริษัทเคียววัคในเยอรมนี ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมัน โดยนายกรัฐมนตรีสาธารณสุขเยอรมันยืนยันกับสื่อว่า มีการซื้อขายจริง นักการเมืองคนหนึ่งกล่าวว่า จะต้องยับยั้งทุกวิถีทางไม่ให้มีการซื้อขายวัคซีนให้กับสหรัฐอเมริกา ซึ่ง Butler หวังว่าจะไม่มีการนำวัคซีนไปใช้เพียงประเทศใดประเทศหนึ่งในยุโรปหรือในอเมริกา ระบบทุนนิยมมีข้อจำกัดมากมาย แนวคิดการตลาดไม่ควรนำมาใช้กับเรื่องนี้ สุขภาพของคนทั้งโลกสำคัญกว่า

ผู้นำในประเทศมหาอำนาจเช่นประธานาธิบดีทรัมป์ มีแนวคิดว่าเชื้อไวรัสมาจากประเทศอื่น มองว่าจะต้องปกป้องคนในประเทศของตัวเองก่อน ซึ่งเป็นแนวคิดที่เข้ากันได้กับลัทธิชาตินิยม ทุนนิยม จากข่าวอัลจาซีรา เขาตำหนิจีนที่เป็นต้นเหตุ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว Robert O’Brie กล่าวหาจีนที่ปกปิดการแพร่เชื้อของไวรัสแต่แรก อีกทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารก็เรียกเชื้อนี้ว่าอู๋ฮั่นไวรัสโดยเพิกเฉยคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

อ่านรายละเอียด World Health Organization guidelines for naming infectious diseases

ซึ่งในคู่มือการตั้งชื่อโรคติดเชื้อของมนุษย์ ปี 2558 ขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ไม่ควรตั้งชื่อที่เกี่ยวข้องกับชื่อสถานที่ คน อาชีพเฉพาะ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดจากตีตราบาปนี้ (ดูเพิ่มเติม Brett Dahlberg และ Elena Renken ก.พ. 2563) 

บัตเลอร์ มองว่า เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าในระบบที่เหลื่อมล้ำจะทำให้การกระจายวัคซีนไม่ทั่วถึงและคนกลุ่มเปราะบางจะถูกทอดทิ้ง สอดคล้องกับความเห็นของนาโอมิ ไคลน์ นักกิจกรรมและสื่อ ในวิดีโอของ The Intercept (Coronavirus capitalism-how to beat it 17 มี.ค.2563) ว่า วิกฤตไวรัสโคโรน่าก็คล้ายกับครั้งที่ผ่านมาคือ เป็นตัวกระตุ้นให้มีการช่วยเหลือคนรวยในสังคม ในขณะที่แทบไม่ให้อะไรกับคนงานและธุรกิจขนาดย่อม เมื่อวิกฤตหนึ่งเกิดขึ้น การปฏิบัติการก็ขึ้นอยู่กับแนวความคิดที่แวดล้อม ณ ขณะนั้น ความคิดที่ดูเป็นไปไม่ได้อาจจะเป็นไปได้ และความคิดใดจะมีอิทธิพลกว่ากัน  ในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีทรัมป์ประชุมกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทประกันชีวิต  ซึ่งคนอเมริกันไม่สามารถจ่ายเบี้ยประกันได้ ดูท่าว่าโรคระบาดจะถูกเหมาช่วงให้เอกชนดูแล การแก้ปัญหาครั้งแรกของมลรัฐคืออัดฉีดเงิน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่ตลาดการเงิน แต่ถ้าคุณเป็นคนงานโดยเฉพาะอุตสาหกรรมงานอิสระเหมาช่วง (Gig economy) คุณอาจมีโอกาสที่จะไม่มีใครช่วยคุณจ่ายค่าหมอได้ ถ้าคุณไม่มีสวัสดิการครอบคลุมทั้งหมด ผลกระทบที่เกิดขึ้นสามารถคาดการณ์ได้ เช่น การมีโอกาสที่เราจะตกงานไม่ได้ค่าชดเชย ไม่ได้ค่าจ้าง ไม่สามารถจ่ายบิลค่ารักษา ในอนาคตก็อาจจะมีการล้มละลายและมีคนไร้บ้านมากขึ้น

“ทั้งนี้ ในความเป็นจริง เราพอจะเห็นผลกระทบที่ตามมาได้เมื่อดูตัวอย่างจากวิกฤติการเงินปี 2551 ที่มีการทำลายระบบการคุ้มครองทางสังคม การแปรรูปประกันสังคม การอุ้มเอกชน ธุรกิจมากกว่าประชาชนคนทำงาน การที่คนทำงานต้องเสียสละตัวเองให้ระบบเศรษฐกิจอยู่รอด ส่วนในประเทศอื่นก็จะมีการใช้มาตรการที่เลวร้ายของรัฐบาลฝ่ายขวา เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่น่ากลัว เช่น สงคราม การรัฐประหาร การก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ คนเหล่านี้ก็จะขูดรีดผลประโยชน์ของประชาชน สั่งแขวนระบอบประชาธิปไตย ใช้นโยบายกลไกตลาดสุดขั้วที่ให้ประโยชน์คนรวย 1% และให้คนจนคนชั้นกลางเป็นผู้เสียสละ”  นาโอมิ ไคลน์ กล่าว

  นาโอมิ ไคลน์ นักเขียน นักกิจกรรมทางสังคมชาวแคนาดา (ที่มาภาพ wikipedia.org)

ไคลน์ ชี้ให้เห็นอีกว่า แนวความคิดที่รายล้อมประธานาธิบดีทรัมป์เป็นภัยต่อสังคมมายาวนานแล้ว คือ การแปรรูประบบประกันสังคมไปจนถึงการปิดชายแดนและกักขังผู้อพยพย้ายถิ่น ที่แย่กว่านั้น เขาอาจจะยกเลิกการเลือกตั้งประธานาธิบดีในอนาคต

อย่างไรก็ตาม  ยังมีความคิดที่ก้าวหน้าไปไกลกว่าพวกทุน คือ การต่อสู้เพื่อสวัสดิการของประชาชน โดยเฉพาะการเข้าถึงสุขภาพถ้วนหน้า การยกเลิกหนี้สินของนักศึกษา การเรียกร้องให้มีการตรวจเชื้อทุกคนอย่างทั่วถึง การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจสังคมในอเมริกาอย่างถอนรากถอนโคน การสร้างอุตสาหกรรมที่สะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มของ เบอร์นี แซนเดอร์ส ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และนี่จึงเป็นเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบที่ยุติธรรม

 

แปลสรุปจาก :

  1. Worldmeter. (25 มี.ค. 2563). สืบค้นจาก https://www.worldometers.info/coronavirus/
  2. The Standard. (25 มี.ค. 2563).  สืบค้นจาก  https://thestandard.co/coronavirus-coverage/?fbclid=IwAR2xlarOqB-9rwU7FwTeHQDBj8pNKrJuzYuJ5ZIDinggLRYbiQNFaCEJbSU
  3. Louise Boyle. (21 มี.ค. 2563).  'We should start thinking about the next one': Coronavirus is just the first of many pandemics to come, environmentalists warn. สืบค้นจาก https://www.independent.co.uk/environment/coronavirus-uk-pandemics-environmentalists-warning-a9413996.html?fbclid=IwAR1drG3JbY_wvoM-LtTxmNNkRQP_t_8C73k-yNtdbTZkoTeA4pq32BU7ipQ
  4. Judith Butler. (19 มี.ค. 2563).  Capitalism Has Its Limits. Verso. สืบค้นจาก https://www.versobooks.com/blogs/4603-capitalism-has-its-limits
  5. Joseph Stepansky (14 มี.ค. 2563).  Trump, coronavirus and the politics of a pandemic.  Al Jazeera. สืบค้นจาก https://www.aljazeera.com/news/2020/03/trump-coronavirus-politics-pandemic-200313174546799.html
  6. Brett Dahlberg และ Elena Renken.  (11 ก.พ. 2563).  New Coronavirus Disease Officially Named COVID-19 By The World Health Organization.  สืบค้นจาก https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2020/02/11/802352351/new-coronavirus-gets-an-official-name-from-the-world-health-organization
  7. Naomi Klein.  (17 มี.ค. 2563).  Coronavirus Capitalism – And How To Beat It. The Intercept.  สืบค้นจาก https://theintercept.com/2020/03/16/coronavirus-capitalism/

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net