Skip to main content
sharethis

ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ประเมินไวรัสโควิด-19 ระบาดหนักกระทบทั่วโลกรวมถึงไทย คาดปีนี้เศรษฐกิจติดลบ 5.3% ก่อนกลับมาบวกในปีหน้า ขณะที่ผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องโดยเฉพาะภาคครัวเรือนและ SMEs ให้เป็นรูปธรรม

25 มี.ค. 63 - ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 25 มีนาคม 2563 โดยคณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่าน
ลาประชุม

เลขานุการ กนง. ระบุว่าการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบ อย่างไรก็ดี ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ตลาดการเงินได้เริ่มกลับมาทำงานปกติ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการระบาดของ COVID-19 ในระยะข้างหน้ายังมีความรุนแรง รวมทั้งจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งในภาวะเช่นนี้ คณะกรรมการฯ สนับสนุนมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดของรัฐบาลที่ได้ประกาศไปแล้ว รวมทั้งจะต้องดำเนินการช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องและเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ให้เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมเพิ่มเติมจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนัดพิเศษที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ เห็นพ้องว่าต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุด กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี กรรมการ 2 ท่านเห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกร้อยละ 0.25 เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวแรง

ดอน นาครทรรพ  ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธปท. (ที่มา: YouTube/ธนาคารแห่งประเทศไทย)

ขณะที่ ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคระบาดไวรัส COVID-19 กระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงไทย ทั้งด้านตลาดการเงิน เศรษฐกิจ และสังคม ภายใต้สถานการณ์ข้างต้น กนง. คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวติดลบ 5.3% ในปี 2563 ก่อนจะกลับมาขยายตัวเป็นบวก 3% ในปี 2564

โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มาจากสถานการณ์ของโรค COVID-19 ที่ส่งผลต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวราว 60% ในปีนี้ และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกจะชะลอตัวแรง หรืออาจถึงขั้นหดตัวในหลายประเทศ หาก COVID-19 ระบาดรุนแรงและยาวนาน ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ ความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจในวงกว้าง อย่างไรก็ดี แนวโน้มของเศรษฐกิจในระยะถัดไปจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในด้านต่างๆ การปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน และความยาวนานของสถานการณ์โรค COVID-19

คลิปการแถลงหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อ 25 มีนาคม 2563

ขณะเดียวกัน ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการ กนง. ยังเห็นว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวแรงเนื่องจากการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของ COVID-19 การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตในหลายประเทศ ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจและครัวเรือนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างขึ้น เป็นผลให้อุปสงค์ภายในประเทศทั้งการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัว ในสถานการณ์เช่นนี้ มาตรการด้านการคลังจะต้องเป็นกลไกหลักในการบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้ และช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในปี 2564 หากสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 มีแนวโน้มติดลบตามราคาพลังงานที่ลดลงและเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัว ทั้งนี้ คณะกรรมการจะติดตามความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ประสิทธิผลของมาตรการดูแลและเยียวยาของภาครัฐ รวมถึงการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด

เสถียรภาพของตลาดการเงินไทยโดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ปรับดีขึ้นหลัง ธปท. ออกมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดการเงิน แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด ด้านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาซึ่งมีส่วนช่วยลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่งโดยเฉพาะสกุลเงินหลักและมีแนวโน้มผันผวน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์เข้มแข็งสะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดท่ามกลางความไม่แน่นอนที่มีอยู่สูง

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ดี ระบบการเงินมีความเปราะบางมากขึ้นในบางจุด โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ที่อาจด้อยลงในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวแรง ในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประสานมาตรการทั้งทางการเงินและการคลังเพื่อดูแลครัวเรือนและธุรกิจ SMEs

มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายเพิ่มเติมทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการการเงินอื่นที่จะช่วยเสริมกลไกการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยและการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินให้ตรงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก จดหมายข่าว ธปท. ฉบับที่ 16/2563, 25 มี.ค. 63

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net