Skip to main content
sharethis

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้หารือกับสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ร่วมกันกำหนดมาตรการขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อ ลีสซิ่ง สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อธุรกิจ SMEs ซึ่งยังไม่เป็นหนี้ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน โดยจะลดวงเงินผ่อนขั้นต่ำ เลื่อนการชำระ ลดดอกเบี้ย ฯลฯ มีผลตั้งแต่งวด 1 เม.ย. 63

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

25 มี.ค. 63 - ในจดหมายข่าว ธปท. ฉบับที่ 17/2563 วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยเมื่อวันที่ 25 มี.ค.นี้ว่า ภายหลังจากที่ ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 สถาบันการเงินมีความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 30,000 ราย ยอดหนี้ 234,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 เป็น 156,000 ราย ยอดหนี้ 310,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563

ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างต่อเนื่อง โดยได้ประสานงานและหารือร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ให้บริการทางการเงินอื่นผ่านสมาคมและชมรมต่าง ๆ รวม 9 แห่ง ได้แก่ 1. สมาคมธนาคารไทย 2. สมาคมธนาคารนานาชาติ 3. สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ 4. สมาคมลีสซิ่งไทย 5. สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย 6. สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ 7. สมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย 8. ชมรมธุรกิจบัตรเครดิต-สมาคมธนาคารไทย และ 9. ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล

โดยทั้งหมดมีความเห็นตรงกันว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ขยายวงกว้างไปยังประชาชนและธุรกิจในทุกภาคส่วน จึงต้องร่วมมือกันอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามภาวะที่ยากลำบากนี้ได้ จึงตกลงร่วมกันที่จะกำหนดมาตรการขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อ ลีสซิ่ง สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อธุรกิจ SMEs ซึ่งยังไม่เป็นหนี้ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน (NPL) มีผลตั้งแต่งวดการชำระหนี้ วันที่ 1 เมษายน 2563 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

แนวทางการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ สำหรับลูกหนี้ที่มีศักยภาพและยังไม่เป็น NPL

ประเภทสินเชื่อ / แนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ขั้นต่ำ

1. บัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน (revolving loan)
ลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ จากเดิม 10% เหลือ 5% (ในปี 2563-2564) 8% (ในปี 2565) 10% (ในปี 2566)
นอกจากนี้ ลูกหนี้สามารถแปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาวที่ดอกเบี้ยต่ำลงได้

2. สินเชื่อส่วนบุคคล ที่ผ่อนชำระเป็นงวด (installment) และ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ
- ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน
- ผู้ให้บริการอื่นเลือกดำเนินการระหว่าง เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือ ลดค่างวดอย่างน้อย
30% ของค่างวดเดิม เป็นเวลา 6 เดือน 

3. สินเชื่อเช่าซื้อ (hire purchase)
 (1) รถมอเตอร์ไซค์: วงเงินไม่เกิน 35,000 บาท
 (2) รถทุกประเภท: วงเงินไม่เกิน 250,000 บาท
และ  4. ลีสซิ่ง (leasing) มูลหนี้คงเหลือไม่เกิน 3 ลบ.

ผู้ให้บริการเลือกดำเนินการระหว่าง
- เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา3เดือน หรือ
- พักชำระหนี้เงินต้น เป็นเวลา 6 เดือน

5. สินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 3 ลบ. 
และ 6. สินเชื่อธุรกิจ SMEs ไมโครไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์วงเงินไม่เกิน 20 ลบ.

พักชำระเงินต้น 3 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตาม ความเหมาะสมของลูกหนี้แต่ละราย

หมายเหตุ: ลูกหนี้ที่มีสินเชื่อหลายประเภท สามารถได้รับความช่วยเหลือได้ทุกประเภทตามเงื่อนไข 

000

ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่ามาตรการดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการช่วยเหลือขั้นต่ำ โดยผู้ให้บริการทางการเงินแต่ละแห่งยังมีโครงการช่วยเหลือเพิ่มเติมที่ดีกว่ามาตรการขั้นต่ำดังกล่าวสำหรับลูกหนี้ในภาคธุรกิจ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรม การบิน หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ website หรือโทรสอบถามได้ที่ call center ของแต่ละสถาบันการเงิน

ลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการนี้ จะยังคงมีประวัติการชำระหนี้เป็นลูกหนี้ปกติในฐานข้อมูลเครดิตบูโร แต่ลูกหนี้ยังคงมีภาระการจ่ายชำระคืนหนี้ตามเงื่อนไขที่ตกลงกับผู้ให้บริการทางการเงิน สำหรับลูกหนี้ที่ชำระหนี้ที่จะได้ตามปกติตามเงื่อนไขเดิม ผู้ให้บริการทางการเงินอาจให้สิทธิประโยชน์หรือเงื่อนไขพิเศษตามความเหมาะสม เพื่อสนับสนุนให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงินที่ดี

อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการทางการเงินจะต้องสื่อสารการให้ความช่วยเหลือขั้นต่ำตามมาตรการนี้ และโครงการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเฉพาะกลุ่มให้ลูกหนี้ทราบอย่างทั่วถึง รวมทั้งชี้แจงให้ลูกหนี้ทราบสิทธิประโยชน์ แนวทางปฏิบัติการขอรับความช่วยเหลือ และภาระหน้าที่ในการชำระหนี้ตามมาตรการการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net