การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในวิทยานิพนธ์: ข้อพิจารณาทางจริยธรรมการวิจัยในคนกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อไม่นานมานี้ ลูกศิษย์เก่าท่านหนึ่งที่ผมเคยสอนสมัยที่เขาเรียนปริญญาตรี ซึ่งตอนนี้เขาเพิ่งจบปริญญาโททางด้านสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มาขอคำปรึกษา เนื่องจากเขากำลังจะถูกร้องเรียนจากผู้เข้าร่วมการวิจัย (ผู้ให้ข้อมูลหลักในวิทยานิพนธ์) สาเหตุเกิดจากเขาได้เปิดเผยชื่อนามสกุลจริง อาชีพ ตำแหน่งงาน และสถานที่ทำงานปัจจุบันของผู้เข้าร่วมการวิจัยโดยไม่มีวิธีการปกปิดข้อมูลใด ๆ ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ลูกศิษย์คนดังกล่าวทำการวิเคราะห์และตีความคำสัมภาษณ์แบบใส่สีตีไข่เกินเจตนารมณ์ของผู้เข้าร่วมงงานวิจัย จึงทำให้ผู้เข้าร่วมวิจัยได้รับความเสียหายและโกรธมาก

ผมถามเขาว่า “อาจารย์ที่ปรึกษา (วิทยานิพนธ์) ของคุณได้แนะนำให้ขออนุญาตสัมภาษณ์ตามแนวทางจริยธรรมการทำวิจัยในคนทางสังคมศาสตร์และ เคยได้ยินเกี่ยวกับพ.ร.บ. การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่กำลังจะบังคับใช้หรือไม่”

ลูกศิษย์ตอบว่า “ได้ทำหนังสือขออนุญาตสัมภาษณ์เก็บข้อมูล แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการทำวิจัยในคนเพราะคิดว่าไม่ใช่การวิจัยทางการแพทย์ ส่วนเรื่อง พ.ร.บ. การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่เคยได้ยินมาก่อน”

ผมเปิดดูวิทยานิพนธ์เล่มจริงที่ลูกศิษย์ถือมาด้วย พบว่า ในภาคผนวกของวิทยานิพนธ์ ลูกศิษย์ของผมนำหนังสือขออนุญาตเข้าสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ และถอดเสียงบันทึกบทสนทนาระหว่างสัมภาษณ์แนบไว้ ซึ่งผู้เข้าร่วมการวิจัยท่านนั้นเกรงว่าตนจะได้รับผลกระทบเชิงลบ หากผู้ที่เกี่ยวข้องมาอ่านหรือถูกนำไปอ้างอิงต่อในอนาคต จึงขอให้แก้ไขโดยลบข้อมูลสำคัญที่ระบุถึงตัวตนของตนเองออกไป หากไม่แก้ไขจะร้องเรียนต่อมหาวิทยาลัยแห่งนั้น ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้น คือ วิทยานิพนธ์เล่มนี้ได้ถูกเผยแพร่เรียบร้อยแล้วทั้งแบบรูปเล่มและอิเล็กทรอนิกส์ (e-Thesis) จึงยากที่จะบอกได้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องได้เห็นวิทยานิพนธ์เล่มนี้แล้วหรือไม่ ปัญหานี้จึงนำมาสู่คำถามว่า การสัมภาษณ์เก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างหรือกลุ่มเป้าหมายจากผู้เข้าร่วมการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยทางสังคมศาสตร์เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการศึกษานั้น สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลได้หรือไม่ ถ้าเปิดเผยได้สามารถเปิดเผยได้มากน้อยเพียงใด ยิ่งในยุคนี้ ข้อมูลข่าวสารบนโลกอินเตอร์เน็ตเข้าถึงและเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในวิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์หรืองานวิจัยต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและกว้างไกลเป็นทั้งข้อมูลที่ยินยอมให้เปิดเผยและอาจถูกเปิดเผยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่างไรก็ตาม วิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์หรืองานวิจัย ไม่ว่าจะทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ หากเกี่ยวข้องกับคนหรือเก็บข้อมูลส่วนบุคคลอันมีผลต่อศักดิ์ศรี สิทธิ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้เข้าร่วมวิจัย ต้องดำเนินการภายใต้กรอบ “แนวทางจริยธรรมการทำวิจัยในคนในประเทศไทย พ.ศ. 2550” ของชมรมจริยธรรมการทำวิจัยในคนแห่งชาติ เป็นกรอบให้ทั้งคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน และนิสิตนักศึกษาหรือนักวิจัยทุกสาขาให้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติด้านจริยธรรมในการทำวิจัยในคน นิสิตนักศึกษาในฐานะผู้วิจัยที่กำลังทำวิทยานิพนธ์หรือดุษฎีนิพนธ์อาจยังไม่ทราบว่า นอกจากแนวทางจริยธรรมการทำวิจัยในคน (ในบทความนี้ ผมขอกล่าวถึงการวิจัยด้านสังคมศาสตร์เท่านั้น) จะมีขั้นตอนและกระบวนการรัดกุมหนาแน่นเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว (Rights of Privacy) ของผู้เข้าร่วมการวิจัยแล้วก็ตาม ในทางกฎหมายนั้น ยังมีข้อถกเถียงกันว่าแนวทางจริยธรรมการทำวิจัยในคนนั้น มีผลทางกฎหมายมากน้อยเท่าไร ส่วนการเปิดเผยข้อมูลบางส่วนที่อาจส่งผลทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อผู้เข้าร่วมการวิจัยนั้น เท่าไรจึงถือว่าเปิดเผยมาก เท่าไรถือว่าเปิดเผยน้อย แน่นอนว่าไม่มีเกณฑ์กำหนดตายตัวไว้อย่างชัดเจน เพราะเหตุใดในวิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์หรืองานวิจัยบางชิ้น จึงต้องการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้คนอื่นทราบ อาจมีสาเหตุ ต่อไปนี้

1) ผู้วิจัยเชื่อว่าการแสดงข้อมูลส่วนบุคคลจริง ได้แก่ ชื่อนามสกุล อาชีพ ตำแหน่ง สถานที่ทำงาน หรืออื่น ๆ ทำให้งานวิจัยมีภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือสูงขึ้น

2) ผู้วิจัยขาดความรู้เรื่องแนวทางจริยธรรมการทำวิจัยในคนสำหรับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ถูกต้อง

3) ผู้วิจัยขาดการทบทวนวรรณที่เกี่ยวข้องและระเบียบวิธีวิจัยไม่รัดกุม

4) ผู้วิจัยประมาทเลินเล่อ ยังด้อยประสบการณ์การวิจัย และขาดที่ปรึกษาที่ดี

5) ผู้วิจัยบางกลุ่มต้องการแสดงให้เห็นการเข้าถึงศักยภาพของตนที่สามารถเข้าถึงบุคคลตำแหน่งใหญ่โตและมีชื่อเสียง

สาเหตุข้างต้น เป็นข้อสรุปจากประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อมของผม โดยเฉพาะผู้วิจัยที่ยังเป็นนิสิตนักศึกษามักอ้างชื่อนามสกุล ตำแหน่งของผู้เข้าร่วมการวิจัย ยิ่งผู้เข้าร่วมการวิจัยมีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โต หรือบางครั้งนิสิตนักศึกษาได้ข้อมูลเชิงลึกจากการสัมภาษณ์ก็มักจะไม่ปิดบังการได้มาของแหล่งข้อมูลนั้น เพราะเกรงว่า ผู้อ่านงานวิจัย กรรมการคุมสอบวิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์ หรือแม้แต่อาจารย์ที่ปรึกษาจะไม่เชื่อมั่นในข้อมูลที่ได้มา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หากการวิจัยมีกระบวนการที่เหมาะสมและถูกหลักการก็ย่อมไม่มีปัญหาเรื่องขาดความน่าเชื่อถือ จึงเป็นไปได้ว่าผู้วิจัยไม่มั่นใจและไม่แม่นยำในระเบียบวิธิวิจัยของตนเอง

 

แนวทางจริยธรรมการวิจัยในคนทางสังคมศาสตร์ คืออะไร

ใบบทความนี้ ผมขอแนะนำให้นิสิตนักศึกษาในฐานะผู้วิจัย จงให้มั่นใจในระเบียบวิธีวิจัยของตนเอง ทั้งงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และเชิงปริมาณ (Quantitative Research) จะตัองปฏิบัตตามแนวทางจริยธรรมการทำวิจัยในคนในประเทศไทย พ.ศ. 2550 ของชมรมจริยธรรมการทำวิจัยในคนแห่งชาติ [1] ผู้วิจัยต้องพึงคำนึงถึง 3 หลักการใหญ่ ๆ ทั่วไป คือ หลักความเคารพในบุคคล (Respect for Person) หลักคุณประโยชน์และไม่ก่ออันตราย (Beneficence) และหลักความยุติธรรม (Justice)  นอกจากนี้ ผู้วิจัยต้องทราบว่างานวิจัยของตนเองนั้น เป็นงานวิจัยด้านใดก็ให้ยึดข้อปฏิบัติตามแนวทางจริยธรรมการทำวิจัยในคนในประเทศไทย พ.ศ. 2550 อย่างเคร่งครัด สำหรับหลักจริยธรรมการวิจัยในคนสำหรับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ (Social Science Research) ประกอบด้วย ข้อปฏิบัติ 10 ข้อ คือ

1) นักวิจัยพึงปกป้องผู้เข้าร่วมการวิจัยจากอันตรายใด ๆ ทั้งต่อร่างกายและจิตใจ

2) นักวิจัยพึงเคารพในศรัทธา ความเชื่อ วัฒนธรรม ศาสนา และสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้เข้าร่วมการวิจัย

3) นักวิจัยพึงทำการศึกษาสิ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษยชาติ

4) นักวิจัยต้องแน่ใจว่าการออกแบบการศึกษามีความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการศึกษา

5) นักวิจัยพึงให้ข้อมูลผู้เข้าร่วมการวิจัยอย่างครบถ้วนเพื่อประกอบการตัดสินใจเข้าร่วมการวิจัยโดยอิสระ

6) นักวิจัยพึงรักษาความลับและปกปิดชื่อผู้เข้าร่วมการวิจัย

7) นักวิจัยพึงให้การดูแลสุขภาพผู้เข้าร่วมการวิจัยในระดับสูงสุดเท่าที่จะทำได้

8) ถ้าเกณฑ์การเลือกผู้เข้าร่วมการวิจัยเป็นเรื่องละเอียดอ่อน นักวิจัยพึงทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงการเปิดเผยผู้เข้าร่วมการวิจัย บางครั้งนักวิจัยอาจต้องทำการศึกษาในประชากรที่ไม่ใช่เป้าหมายด้วย เพื่อป้องกันการสืบทราบโดยสมาชิกในชุมชน

9) กรณีที่ศึกษาจากเวชระเบียนซึ่งเป็นความลับของผู้ป่วย เฉพาะบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ที่จะเข้าถึงข้อมูลในบันทึกซึ่งสามารถระบุรายละเอียดของผู้ป่วย โดยได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจในสถาบันนั้น

10) นักวิจัยพึงให้ค่าตอบแทน ผลประโยชน์หรือสิทธิพิเศษแก่ผู้ร่วมการวิจัยอย่างเหมาะสม ไม่มากเกินไปจนเป็นเหตุจูงใจให้เข้าร่วมการวิจัย

จากแนวปฏิบัติทั้ง 10 ข้อ จะเห็นได้ว่าแนวทางจริยธรรมการวิจัยในคนสำหรับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ในข้อ 6 เน้นย้ำให้เห็นชัดเจนว่า นักวิจัยจะต้องปกปิดชื่อและรักษาความลับของผู้เข้าร่วมการวิจัย เพื่อปกป้องผู้เข้าร่วมการวิจัยจากอันตรายใด ๆ ทั้งต่อร่างกายและจิตใจ เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ที่ลูกศิษย์ของผมได้เปิดเผยชื่อนามสกุลจริงของผู้เข้าร่วมการวิจัย จึงไม่สอดคล้องกับหลักการนี้โดยสิ้นเชิงและเป็นเรื่องที่ขาดจริยธรรมการวิจัยอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม นิสิตนักศึกษาหรือนักวิจัยอีกจำนวนหนึ่งอาจถกเถียงและโต้แย้งว่า แนวทางจริยธรรมการทำวิจัยในคนในประเทศไทย พ.ศ. 2550 ยังไม่ใช่กฎหมายที่ต้องปฏิบัติตามและไม่มีการกำหนดโทษ และในหลายกรณี อาจารย์ที่ปรึกษาผู้ควบคุมวิทยานินพนธ์และดุษฎีนิพนธ์ยังด้อยประสบการณ์การวิจัยทางสังคมศาสตร์ และอาจไม่เห็นถึงความสำคัญในหลักการนี้จึงมองข้ามการให้คำปรึกษาและขาดความรอบคอบ จึงส่งผลเสียหายแก่ผู้เข้าร่วมการวิจัยได้

 

แนวทางจริยธรรมการวิจัยในคนทางสังคมศาสตร์ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือไม่

นิสิตนักศึษาหรือนักวิจัยมือใหม่ควรตระหนักถึงความสำคัญและหลักการไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วยการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเกินขอบเขต อีกทั้งต้องคำนึกถึงแนวทางจริยธรรมการวิจัยในคนสำหรับการวิจัยทางสังคมศาสตร์โดยตลอด ทั้งยังต้องคำนึงถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เข้าร่วมการวิจัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 [2] ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 28 พ.ค.2563 มีมาตราสำคัญเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อการศึกษาวิจัยและให้ความหมาย คำจำกัดความ การปฏิบัติ และบทลงโทษเพื่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดย มาตรา 6 นิยามคำที่บ่งถึงตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง คือ

“ข้อมูลส่วนบุคคล” หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ

 “ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล” หมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจ เกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล

“ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล” หมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับ การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามคำสั่งหรือในนามของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการดังกล่าวไม่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล

ผมขอขยายความและเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจน สำหรับ “ข้อมูลส่วนบุคคล” ในวิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์ หรืองานวิจัย หมายถึง ข้อมูลที่นิสิตนักศึกษาหรือผู้วิจัยได้จากการเก็บแบบสอบถามหรือสัมภาษณ์จากผู้เข้าร่วมการวิจัย ได้แก่ ชื่อและนามสกุลจริง อาชีพ ตำแหน่ง สถานที่ทำงาน เป็นต้น เป็นข้อมูลที่อาจสามารถระบุถึงตัวตนของผู้เข้าร่วมการวิจัยได้ ส่วน “ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล” และ “ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล” ในวิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์ หรืองานวิจัย หมายถึง นิสิตนักศึกษาที่ทำการศึกษาวิจัย และอาจรวมถึงอาจารย์ที่ปรึกษาผู้กำกับดูแลการศึกษาวิจัยด้วย เป็นผู้เก็บรวบรวม วิเคราะห์ เปิดเผย และเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เข้าร่วมการวิจัย

ผมขอออกตัวไว้ก่อนว่า ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางนิติศาสตร์โดยตรง ไม่สามารถวิเคราะห์ความแตกต่างเชิงมิติกฎหมายได้อย่างลึกซึ้ง จึงมีเพียงข้อห่วงใยก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะบังคับใช้จริงและขอเปรียบเทียบแนวทางจริยธรรมการวิจัยในคนสำหรับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ทั้ง 10 ข้อข้างต้น กับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2563 ที่กำลังจะบังคับใช้ในเร็ววันนี้ เพื่อให้เห็นว่าทั้งสองอย่างนี้มีความสอดคล้องกัน และเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติให้เหมาะสม ดังตารางต่อไปนี้

 

แนวทางจริยธรรมการวิจัยในคนสำหรับการวิจัยทางสังคมศาสตร์

พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

1) นักวิจัยพึงปกป้องผู้เข้าร่วมการวิจัยจากอันตรายใด ๆ ทั้งต่อร่างกายและจิตใจ

มาตรา 24 (2) เพื่อป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพของ

บุคคล

2) นักวิจัยพึงเคารพในศรัทธา ความเชื่อ วัฒนธรรม ศาสนา และสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้เข้าร่วมการวิจัย

มาตรา 26 (1) เพื่อป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพของ

บุคคลซึ่งเจ้าของข้อมูล ส่วนบุคคลไม่สามารถให้ความยินยอมได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม

3) นักวิจัยพึงทำการศึกษาสิ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษยชาติ

มาตรา 24 (4) เป็นการจำเป็นเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินภารกิจเพื่อ

ประโยชน์สาธารณะของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล หรือปฏิบัติหน้าที่ในการใช้อำนาจรัฐที่ได้รับมอบให้แก่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล

4) นักวิจัยต้องแน่ใจว่าการออกแบบการศึกษามีความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการศึกษา

มาตรา 21 (1) ได้แจ้งวัตถุประสงค์ใหม่นั้นให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบและ

ได้รับความยินยอมก่อน เก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยแล้ว

5) นักวิจัยพึงให้ข้อมูลผู้เข้าร่วมการวิจัยอย่างครบถ้วนเพื่อประกอบการตัดสินใจเข้าร่วมการวิจัยโดยอิสระ

มาตรา 22 การเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล ให้เก็บรวบรวมได้เท่าที่จำเป็นภายใต้ วัตถุประสงค์อันชอบด้วยกฎหมายของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล

 

6) นักวิจัยพึงรักษาความลับและปกปิดชื่อผู้เข้าร่วมการวิจัย

มาตรา 19 ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะกระทำการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้หากเจ้าของข้อมูลไม่ได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนหรือในขณะนั้น เว้นแต่บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้กระทำ

7) นักวิจัยพึงให้การดูแลสุขภาพผู้เข้าร่วมการวิจัยในระดับสูงสุดเท่าที่จะทำได้

มาตรา 24 (2) เพื่อป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพของ

บุคคล

8) ถ้าเกณฑ์การเลือกผู้เข้าร่วมการวิจัยเป็นเรื่องละเอียดอ่อน นักวิจัยพึงทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงการเปิดเผยผู้เข้าร่วมการวิจัย บางครั้งนักวิจัยอาจต้องทำการศึกษาในประชากรที่ไม่ใช่เป้าหมายด้วย เพื่อป้องกันการสืบทราบโดยสมาชิกในชุมชน

มาตรา 19 ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะกระทำการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูล ส่วนบุคคลไม่ได้หากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนหรือในขณะนั้น เว้นแต่บทบัญญัติ แห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้กระทำได้

การขอความยินยอมต้องทำโดยชัดแจ้ง เป็นหนังสือหรือทำโดยผ่าน

ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่ โดยสภาพไม่อาจขอความยินยอมด้วยวิธีการดังกล่าวได้

 

9) กรณีที่ศึกษาจากเวชระเบียนซึ่งเป็นความลับของผู้ป่วย เฉพาะบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ที่จะเข้าถึงข้อมูลในบันทึกซึ่งสามารถระบุรายละเอียดของผู้ป่วย โดยได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจในสถาบันนั้น

มาตรา 26 (5) (ก) เวชศาสตร์ป้องกันหรืออาชีวเวชศาสตร์ การประเมินความสามารถในการทำงานของ ลูกจ้าง การวินิจฉัยโรคทางการแพทย์ การให้บริการด้านสุขภาพหรือด้านสังคม การรักษาทางการแพทย์ การจัดการด้านสุขภาพ หรือระบบและการให้บริการด้านสังคมสงเคราะห์ ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่ใช่การปฏิบัติ ตามกฎหมายและข้อมูลส่วนบุคคลนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพหรือผู้มีหน้าที่ รักษาข้อมูลส่วนบุคคลนั้นไว้เป็นความลับตามกฎหมาย ต้องเป็นการปฏิบัติตามสัญญาระหว่างเจ้าของ ข้อมูลส่วนบุคคลกับผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์

10) นักวิจัยพึงให้ค่าตอบแทน ผลประโยชน์หรือสิทธิพิเศษแก่ผู้ร่วมการวิจัยอย่างเหมาะสม ไม่มากเกินไปจนเป็นเหตุจูงใจให้เข้าร่วมการวิจัย

-ไม่มี-

 

สำหรับแนวทางจริยธรรมการวิจัยในคนสำหรับการวิจัยทางสังคมศาสตร์กับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2563 มีความสอดคล้องกันอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทั้งสองอย่างนั้นมีฐานความคิดริเริ่มจากแนวทางวิชาการตะวันตก ฉะนั้น หากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว นิสิตนักศึกษาหรือผู้วิจัยไม่สามารถหลีกเลี่ยงจะไม่ทำตามได้ เพราะมีทั้งโทษปรับจนถึงจำคุก ซึ่ง iLaw [3] สรุปหลักการสำคัญตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2563 ไว้อย่างน่าสนใจ ผมนำมาประยุกต์อธิบายสำหรับการศึกษาวิจัยที่นิสิตนักศึกษาหรือนักวิจัยควรเตรียมพร้อมและทำความเข้าใจก่อนลงมือเก็บข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เข้าร่วมการวิจัยในอนาคตอันใกล้นี้อย่างระมัดระวัง

 

1. การเก็บข้อมูล ใช้ข้อมูล และเปิดเผยข้อมูล ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเสมอ

นิสิตนักศึกษาหรือผู้วิจัยต้องไม่ละเว้นการขอความยินยอมใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลเพียงเล็กน้อยก็ต้องให้เจ้าของข้อมูลยินยอมเสมอ โดยต้องทำเป็นหนังสือขอความยินยอม ระบุเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และการปฏิบัติต่อข้อมูลส่วนบุคคลอย่างชัดเจน ดังความใน มาตรา 19 ที่ว่า "ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะกระทำการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้ หากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนหรือในขณะนั้น เว้นแต่บทบัญญัติ แห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้กระทำได้" หากละเว้นไม่กระทำการขอความยินยอมอย่างชัดเจนอาจผิดตามมาตรา 79 ได้กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500,000 บาท และมาตรา 83 กำหนดโทษปรับทางปกครองไว้ สูงสุดไม่เกิน 3,000,000 บาท ถ้าผู้วิจัยไม่ได้รับความยินยอมแต่นำข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษไปเปิดเผย อาจผิดตามมาตรา 79 วรรคสอง ซึงกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท  

 

2. การขอความยินยอม ต้องทำเป็นหนังสือหรือผ่านระบบออนไลน์ตามแบบที่กำหนดไว้เท่านั้น

นิสิตนักศึกษาหรือผู้วิจัยต้องทำการขอความยินยอมเป็นหนังสือทางการหรือผ่านระบบออนไลน์ อาจเป็นข้อความ อีเมล หรือข้อความพูดคุย โดยต้องระบุรายละเอียดอย่างชัดเจน ตามมาตรา 19 วรรคสอง หากไม่กระทำตามจะต้องโทษตามมาตรา 82 กำหนดโทษปรับทางปกครองไว้ สูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท

 

3. การเก็บข้อมูล ต้องแจ้งรายละเอียดและแจ้งสิทธิต่อเจ้าของข้อมูล

ในมาตรา 23 กำหนดว่า แม้จะได้รับความยินยอมให้เก็บข้อมูลแล้วก็ตาม แต่ในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ วัตถุประสงค์ของการเก็บรวบรวมข้อมูล ข้อมูลที่จะเก็บรวบรวมและระยะเวลาที่คาดหมายได้ว่า จะเก็บข้อมูลไว้ บุคคลหรือหน่วยงานที่ข้อมูลอาจจะถูกเปิดเผย ข้อมูลของผู้ประกอบการและตัวแทนที่เป็นผู้เก็บข้อมูล สถานที่ติดต่อ และวิธีการติดต่อ  

เพราะฉะนั้น นิสิตนักศึกษาหรือนักวิจัยอย่าชะล่าใจและวางไจว่า การส่งเพียงหนังสือขออนุญาตเข้าสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูล โดยที่ไม่ได้แจกแจงอธิบายรายละเอียดของการวิจัยให้ชัดแจ้ง ไม่ได้แจ้งสิทธิของเจ้าของมูล เช่น การเข้าถึงข้อมูล การทำลายข้อมูล ตามความในมาตรา 29 รวมถึงไม่ได้ทำเป็นเอกสารหรือหนังสือยินยอมของผู้เข้าร่วมการวิจัย อาจเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมาย มาตรา 82 กำหนดโทษปรับทางปกครองไว้ สูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท

 

4. ต้องเก็บข้อมูลจากเจ้าของข้อมูลเท่านั้น ห้ามเก็บจากแหล่งอื่น เว้นแต่ต้องรีบแจ้งภายใน 30 วัน

แม้นิสิตนักศึกษาหรือผู้วิจัยจะได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลหรือผู้เข้าร่วมการวิจัยแล้วก็ตาม แต่มาตรา 25 กำหนดว่า การเก็บข้อมูลต้องเก็บจากเจ้าของข้อมูลเท่านั้น นั่นหมายความว่า ข้อมูลส่วนตัวต้องได้จากเจ้าตัวผู้เป็นเจ้าของข้อมูลโดยตรง ห้ามไม่ให้นำหรือใช้ข้อมูลส่วนบุคคลจากแหล่งอื่น ยกเว้นว่าจะได้ติดต่อหรือแจ้งเจ้าของข้อมูลนั้นเพื่อบอกกล่าวและขอความยินยอมตามมาตรา 29 โดยไม่ชักช้าหรือภายใน 30 วัน นับจากวันที่นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ และการใช้ประโยชน์ข้อมูลต้องเป็นไปตาม มาตรา 19 และ 24 หากนิสิตนักศึกษาหรือผู้วิจัยเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากแหล่งอื่นที่ไม่ได้จากเจ้าของข้อมูลโดยตรง โดยไม่มีข้อยกเว้นให้เก็บข้อมูลได้ กฎมายมาตรา 83 กำหนดโทษปรับทางปกครองไว้ สูงสุดไม่เกิน 3,000,000 บาท

 โดยสรุปแล้ว ในกรณีของลูกศิษย์ของผม ถ้าผู้เข้าร่วมการวิจัยในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้รับผลกระทบจริง จากการที่ลูกศิษย์ของผมไม่ได้ปฏิบัตตามแนวทางจริยธรรมการวิจัยในคนสำหรับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ผู้เข้าร่วมการวิจัยย่อมมีสิทธิทำหนังสือร้องเรียนไปยังมหาวิทยาลัยเพื่อตั้งกรรมการสอบสวน เพื่อแก้ไขเนื้อหาวิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์หรืองานวิจัยนั้นได้ ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการสถานเบาเท่านั้น แต่เมื่อผลการสอบสวน พบว่า การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวร้ายแรงมาก ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงบทลงโทษทางวิชาการหรือตามกฎหมายถึงขั้นถอดถอนวิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์หรืองานวิจัย ยิ่งไปกว่านั้น เป็นข้อห่วงใยในอนาคต อาจมีลักษณะการขุดคุ้ยหรือกลั่นแกล้งทางวิชาการจากผู้ไม่หวังดีเกี่ยวกับการที่ผู้วิจัยไม่ดำเนินการตามหลักการที่ถูกต้อง ดังนั้น ผมขอแนะนำนิสิตนักศึกษาหรือผู้วิจัยว่า การศึกษาวิจัยไม่ว่ากรณีใด ๆ ต้องรัดกุมและยึดหลักปฏิบัติตามแนวทางจริยธรรมการวิจัยในคนสำหรับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ต้องมีหลักฐานชี้แจงได้ ป้องกันตนเองไว้ก่อน และที่สำคัญยิ่ง คือ ต้องดำเนินการตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ. คุ้มครองส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่กำลังจะบังคับใช้ในอีกไม่ช้า คงต้องติดตามต่อไปว่า ผลการบังคับใช้กฎหมายนี้จะเปลี่ยนแปลงการเก็บข้อมูลของของนิสิตนักศึกษาหรือนักวิจัยอย่างไร

 

อ้างอิง

[1] ชมรมจริยธรรมการทำวิจัยในคนแห่งชาติ แนวทางจริยธรรมการทำวิจัยในคนในประเทศไทย พ.ศ. 2550 (ออนไลน์).

(2550). สืบค้นจาก: http://www.fercit.org/file/Thai_Ethical_Guidelines_Full.pdf, [23 มีนาคม 2563].

[2] พระราชบัญญัติ คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (ออนไลน์). (2562). สืบคนจาก:

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/069/T_0052.PDF, [23 มีนาคม 2563].

[3] ธุรกิจเตรียมปรับตัว 10 ข้อควรรู้ ก่อน พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลฯ เริ่มใช้บังคับ. (2562). สืบค้นจาก:

https://ilaw.or.th/node/5332, [23 มีนาคม 2563].

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท