ปัญหาศีลธรรม และความรับผิดชอบของผู้นำในสถานการณ์ไวรัสโคโรน่า

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ณ วันนี้ (19 มีนาคม) จังหวัดเชียงใหม่เปิดเผยรายงานผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าป่วยด้วยโรคระบาดโควิด-19 มีจำนวนเพิ่มขึ้น 6 ราย และจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในไทยมี 272 ราย ในโซเชียลเริ่มมีกระแสเรียกร้องให้ยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดให้เข้มงวดขึ้น ข้อเขียนนี้พิจารณาทางเลือกของผู้มีอำนาจกำหนดมาตรการในการป้องกันการระบาดของเชื้อและมีข้อเสนอว่า การตัดสินใจของผู้มีอำนาจกำหนดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าในขณะนี้กำลังก่อให้เกิดภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางศีลธรรมในอนาคตอันใกล้

 

เมื่อวันก่อน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคได้ออกมาแถลงว่ามีการเตรียมความพร้อมด้วยแผนบูรณาการทั้งภาครัฐและเอกชนให้สำรองเตียงผู้ป่วยไว้เจ็ดพันกว่าเตียง รวมถึงเวชภัณฑ์ แต่ดีที่สุดคือไม่อยากให้มาใช้ ขอให้ประชาชนดูแลตนเองให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงที่เสี่ยงต่าง ๆ[1] การแถลงดังกล่าวสะท้อนความพยายามของรัฐในขณะนี้คือการออกมาตรการเพื่อชะลอการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสให้เป็นไปอย่างช้าที่สุด เพราะหากล้มเหลวในการควบคุมปริมาณผู้ติดเชื้อจนประเทศไทยเข้าสู่ภาวะการระบาดแบบรวดเร็ว คือมีปริมาณคนไข้เพิ่มสูงขึ้นในระยะเวลาอันสั้น จะส่งผลให้ทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วย ยิ่งไปกว่านั้นหากบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขต้องทำงานหนักจนล้มป่วยสถานการณ์ก็จะยิ่งเลวร้ายลง

 

ผู้แทนสาธารณสุขยังไม่เคยชี้แจงว่าหากสถานการณ์เลวร้ายลงจนถึงจุดที่การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขล้มเหลว ประเทศไทยจะถูกผลักให้ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาทางศีลธรรมที่ยากลำบากคือ การต้องเลือกรักษาผู้ป่วยบางราย และปล่อยให้ผู้ป่วยที่เหลือเผชิญยถากรรมโดยปราศจากการรักษา

 

หากสถานการณ์ดำเนินไปถึงจุดนั้น อะไรคือแนวปฏิบัติในการคัดกรองผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษาสำหรับแพทย์พยาบาล และบุคคลากรสาธารณสุขซึ่งเป็นแนวหน้าในการรับมือกับผู้ป่วยและญาติ? บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณะสุขจำต้องมีความรับผิดชอบทางศีลธรรมต่อการตัดสินใจเลือกรักษาผู้ป่วยหรือไม่? ในเมื่อความรับผิดชอบดังกล่าวตกลงมาสู่มือของพวกเขาตามหน้าที่โดยที่พวกเขาไม่ได้เลือก ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ หากเราไม่คิดว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ทำหน้าที่อย่างหนักควรต้องมารับผิดชอบความผิดดังกล่าว เราก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า แล้วใครกันที่เป็นตัวแปรสำคัญที่สุดที่ทำให้สถานการณ์การระบาดอาจดำเนินไปสู่ทางสองแพร่งทางศีลธรรมดังกล่าว? ซึ่งควรจะเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

ณ เวลานี้การตอบปัญหาสุดท้ายให้ชัดเจนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะประเทศไทยยังอยู่ในสถานการณ์ที่พอจะเลือกได้ บทความนี้เสนอว่า หากผู้มีอำนาจในขณะนี้เข้าใจภาระความรับผิดชอบทางศีลธรรมของพวกเขาอย่างแท้จริง พวกเขาย่อมสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และโดยเฉพาะเมื่อการตัดสินใจจะกระทบกับความเป็นความตายของคนหมู่มาก ดังนั้นความเข้าใจรอบด้านย่อมเป็นประโยชน์

 

ก่อนอื่นเราลองมาทำความเข้าใจว่าทำไมผู้มีอำนาจของไทยจึงกำหนดนมาตรการอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และมาตรการดังกล่าวมีลักษณะอย่างไร อย่างที่ได้เกริ่นไว้แล้วว่า จุดประสงค์หลักของการกำหนดมาตรการคือ การชะลอการระบาดเพื่อให้ระบบสาธารณะสุขยังสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวมีที่มาจากการเลือกระหว่างสองแนวทางการป้องกันการระบาด คือ แนวทางป้องกันแบบภูมิคุ้มกันกลุ่ม (herd immunity) และแนวทางการป้องกันแบบเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) แนวทางแรกคือ แนวคิดที่ปล่อยให้ไวรัสสามารถแพร่กระจายได้อย่างอิสระ จนมีปริมาณผู้ที่ติดเชื้อและได้รับการรักษาหาย โดยเชื่อว่าจะมีภูมิคุ้มกันและไม่กลับมาติดเชื้ออีก[2] หากมีผู้มีภูมิคุ้มกันในสังคมมากพอสมควร (จากการศึกษาประเมินว่าควรมีประมาณร้อยละ 60) ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันจะทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันการติดต่อตามธรรมชาติเนื่องจากจะไม่เป็นพาหะส่งต่อเชื้อจากคนสู่คน ภาวะการกระจายเชื้อก็จะได้รับการควบคุมไปโดยปริยาย หากดำเนินตามแนวทางนี้จะส่งผลให้เกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว แต่การระบาดก็จะยุติเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน ส่วนแนวทางที่สองเสนอว่า มาตรการที่ออกมาต้องสามารถกันผู้ติดเชื้อออกจากสังคมให้ได้ เพื่อที่จะรอให้ผู้ติดเชื้อหายจากโรค และไม่เป็นพาหะแพร่เชื้อให้ผู้อื่น กรณีนี้ถูกอ้างถึงบ่อยครั้งโดยการอธิบายด้วยการเปรียบเทียบความชันของกราฟเส้นโค้งเสนอข้อมูลสถิติการติดเชื้อตั้งแต่คนแรกจนครบวงจรการระบาด แนวทางเว้นระยะห่างทางสังคมคือความพยายามที่จะำให้เส้นกราฟจำนวนผู้ติดเชื้อมีความชันน้อยที่สุด (flatten the curve) ประเทศที่มีการระบาดส่วนใหญ่ล้วนเห็นด้วยต่อมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เพราะความเสี่ยงของวิธีแรกมีมากเกินไป ปริมาณผู้ติดเชื้ออาจสูงเกินกว่าระบบสาธารณะสุขจะรับได้ และจะเกิดความเสียหายแก่ชีวิตของประชาชนในวงกว้าง

 

ที่มา: https://www.vox.com/2020/3/10/21171481/coronavirus-us-cases-quarantine-cancellation

 

 

อย่างไรก็ตาม ความเข้มงวดในการบังคับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมมีระดับความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ตั้งแต่ขอความร่วมมือให้ประชาชนยินยอมพร้อมใจกันโดดเดี่ยวตัวเอง (self-isolation) ไปจนถึงการ lock down ประเทศชั่วคราว จากการศึกษาจะเห็นได้ว่า มาตรการกักตัวเองนั้นมีประสิทธิภาพที่สุด หากเราต้องการลดความชันของกราฟผู้ติดเชื้อ แต่ทั้งนี้รัฐบาลต้องให้การสนับสนุน และมีคำสั่งเด็ดขาดเพื่อให้มาตรการสามารถบังคับใช้ได้อย่างแท้จริง (โปรดดูแผนภูมิที่ 2)

 

credit: Imperial College London

 

หันกลับมามองประเทศไทย เราเพิ่งมีการประกาศปิดสถานที่เสี่ยงทำให้ติดเชื้อบางแห่ง เช่น สถานบันเทิง ฟิตเนส สนามกีฬา ฯ แต่ยังไม่มีมาตรการสกัดกั้นการเดินทางที่เข้มงวด สถาบันการศึกษาก็ยังไม่มีคำสั่งปิด ลักษณะดังกล่าวพอจะวิเคราะห์ได้ว่า ประเทศไทยประกาศมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม แต่ไม่ได้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อส่งเสริมให้มาตรการดังกล่าวสัมฤทธิ์ผล ซึ่งก็พอทำความเข้าใจได้ว่า ผู้มีอำนาจยังห่วงเรื่องความพร้อมหากต้องประกาศมาตรการเข้มงวด เพราะจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น เชียงใหม่เพิ่มประกาศปิดสถานที่เสี่ยง 14 วัน ผลกระทบที่ตามมาทันทีคือ คนทำงานที่ได้รับค่าจ้างรายวันขาดรายได้ เช่น กลุ่มนักดนตรี และบริกรจากสถานบันเทิง หรือหมอนวด เป็นต้น คนเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของรัฐโดยที่ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม การขาดรายได้เป็นเวลา 14 วันต้องกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ราวกับว่าโจทย์ของผู้นำในตอนนี้คือการชั่งน้ำหนัก และการบริหารความเสี่ยงระหว่างความพยายามชะลอเรทการติดเชื้อให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณะสุขรองรับได้ และประคองเศรษฐกิจให้ไม่หยุดนิ่งจนกระทบผู้มีรายได้รายวัน แต่หากวิธีที่รัฐกำลังดำเนินด้วยอยู่นี้ไม่เด็ดขาดพอก็มีความเสี่ยงสูงว่า จะนำพาประเทศเข้าสู่ความยากลำบาก โดยเฉพาะหากผู้มีอำนาจให้น้ำหนักไปทางการพยุงเศรษฐกิจมากกว่าการป้องกันการแพร่ระบาด

 

โดยสรุปแล้วผู้มีอำนาจในรัฐจะต้องเลือกระหว่าง การดำเนินนโยบายครึ่ง ๆ กลาง ๆ เพื่อหวังว่า การพัฒนาวัคซีนจะเกิดขึ้นก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะการระบาดครั้งใหญ่ หรือตัดสินใจใช้มาตรการเด็ดขาด หันมาเคร่งครัดกับการควบคุมการระบาด และต้องตัดสินใจอย่างเร่งด่วนในขณะที่ยังพอมีโอกาสเลือกได้อยู่ มิเช่นนั้นปัญหาจะแปรเปลี่ยนไปจากการเลือกระหว่างความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพื่อรักษาสวัสดิภาพพื้นฐานอันดีของประชาชนคือการมีสุขภาพที่ดี กลายเป็นการถูกบังคับให้เลือกระหว่างการรักษาชีวิตของคนบางกลุ่มและต้องปล่อยให้คนที่เหลือต้องรับมือกับโรคโดยปราศจากการรักษา หากประเทศเราต้องดำเนินไปถึงจุดนั้น แม้ภาระหนักที่สุดจะอยู่ที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณะสุขที่จะต้องทำงานอย่างหนัก และอาจต้องลำบากใจเป็นอย่างมากที่จะต้องเป็นหน้าด่านในการคัดกรองเลือกรักษาผู้ป่วย แต่ขอให้ตระหนักไว้ว่าการปฏิเสธการรักษาคือผลพวงของการตัดสินใจของผู้นำในวันนี้ และถ้าเหล่าผู้มีอำนาจเชื่อเรื่องบาปบุญอย่างที่เขาพยายามฉายภาพให้พวกเราเห็น บาปของการคร่าชีวิตก็จะตกอยู่กับพวกเขาแน่นอน

 

 

อ้างอิง

 

[2] ที่ยังวิเคราะห์ว่าเป็นความเชื่อเนื่องจากมีข่าวว่ามีผู้ที่หายจากโรค covid-19 แล้วกลับมาติดเชื้อได้อีก https://www.msn.com/en-ca/health/medical/covid-19-can-you-be-infected-with-coronavirus-more-than-once/ar-BB10Ho8l

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท